หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันพฤหัสบดีที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2560
โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์การเจริญปัญญานี่แหละ เป็นการทำลายความหลง ทำลายความหลงที่ฉกาจฉกรรที่สุดเลย มันเริ่มจากความหลงผิดเบื้องต้นก่อน เราหลงว่าเรามีตัวตนอยู่จริงๆ หรือบางคนที่คิดว่าตอนนี้มี แต่ว่าพอต่อไปตายแล้วก็หายสูญไปเลย นี่เป็นความหลงนะ หลงชนิดพวกนี้เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ หลงว่าเราจะต้องเป็นอมตะถาวร หลงว่าเราจะต้องสูญไปเลย พวกนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เราจะต้องมาภาวนา มาเจริญปัญญา ถึงจะสู้กับโมหะ ความหลงตัวฉกาจฉกรรได้ แล้วความหลงตัวสุดยอดเลย คือตัวอวิชชา ถ้าเราทำลายอวิชชาได้นะ เราจะไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดให้ต้องทุกข์ยากอีกต่อไปแล้ว อย่างทำลายอวิชชาไม่ได้ ทำลายความหลงตื้นๆได้ ความหลงลึกซึ้งถึงขั้นอวิชชายังทำลายไม่ได้ ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก ทีนี้วิธีเจริญปัญญานะ ปัญญากับความหลงเป็นสิ่งตรงข้ามกัน ถ้ามีปัญญาจะไม่หลง ตัวหลงคือตัวโมหะ ปัญญานี้มีชื่ออีกชื่อหนึ่งว่าอโมหะ ปัญญาคือตัวอโมหะ ไม่หลง เราหลงผิดนะ หลงผิดว่าเรามีตัวมีตนที่แท้จริง แล้วก็หลงลึกซึ้งลงไปอีก เราหลงเห็นว่าตัวตนที่เราว่าเรามีนี้เป็นของดีของวิเศษ ถ้าอย่างนี้เราปล่อยวางธาตุปล่อยวางขันธ์ไม่ได้หรอก จะทำลายอวิชชาได้ ต้องเห็นถึงขนาดว่า ธาตุขันธ์ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราๆนี้ มันไม่ใช่ตัวเรา มันเป็นตัวทุกข์ มันไม่ใช่ของดีของวิเศษ มันเป็นตัวทุกข์ ถ้าไม่เห็นทุกข์ จิตทำลายอวิชชาไม่ลงหรอก ทำลายไม่ได้จริง ต้องค่อยๆเรียนไป วิธีที่จะเจริญปัญญา พวกเราเคยได้ยินคำว่าสติปัฏฐานไหม? มหาสติปัฏฐาน มหาสติปัฏฐานสูตร เคยได้ยินไหม? สติปัฏฐานนะ ถ้าเราดูให้ดีนะ มันจะเป็นเรื่องกายกับใจ กายานุปัสสนาใช่ไหม เป็นเรื่องของกายใช่ไหม เวทนานุปัสสนา เป็นนามธรรม จิตตานุปัสสนา เป็นเรื่องความปรุงดีปรุงชั่วของจิตนะ ก็เป็นนามธรรม ธรรมมานุปัสสนา มีทั้งรูปธรรมและนามธรรมนะ เคล้ากันอยู่ งั้นถ้าเราจะเจริญสติปัฏฐานนะ เราก็ต้องมาหัดรู้จักรูปธรรมนามธรรม ก็กายกับใจของเรานี้แหละ ถ้าลืมกายลืมใจนะ เดินปัญญาไม่ได้จริง ก็กันหลงได้ด้วยสติ เช่นจิตหลงไปพุทโธอยู่ จิตหลงไปแล้วรู้ทันเนี่ย กันหลง อย่างนี้แค่ไม่หลงลืมกายลืมใจเท่านั้นเอง แต่ว่ายังโง่อยู่นะ หลงมีหลายเกรดนะ หลงอันแรก หลงลืมนะ หลงลึกซึ้งลงไปเนี่ย หลงโง่ หลงเข้าใจผิด หลงลืมนี่ แค่เรามีสติรู้ทันว่าจิตหลงไปคิด ก็ไม่ลืมแล้ว มีกายก็รู้สึกถึงกาย มีใจก็รู้สึกถึงใจ แต่หลงโง่นี่นะต้องเจริญปัญญา วิธีเจริญปัญญาต้องมีจิตที่ตั้งมั่นก่อนนะ ต้องมีจิตที่ตั้งมั่น จิตที่ทรงสมาธิ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานขึ้นมาก่อน เมื่อก่อนหลวงพ่อหาครูบาอาจารย์นะ เมื่อสามสิบปีก่อน หาครูบาอาจารย์ เข้าวัดไหนวัดไหนท่านพูดแต่คำว่าจิตผู้รู้นะ ไปวัดนี้ท่านก็พูดเรื่องจิตผู้รู้ ไปวัดนี้ก็พูดเรื่องจิตผู้รู้นะ อือ หลังๆนี่หายไป ไม่ค่อยได้ยินนะคำนี้ พวกเราลองนึกถึงนะ จิตมันจะต้องเป็นคนรู้นะ จิตของเราไม่มีผู้รู้หรอก มันจะเป็นจิตผู้คิดลูกเดียว งั้นคอยรู้ทันจิตคิดนะ แล้วจิตรู้จะเกิดขึ้น พอจิตรู้เกิดขึ้น ต่อไปนี้เราจะเจริญปัญญา อาจารย์มหาบัวท่านบอกว่า ถ้าไม่พิจารณาแยกธาตุแยกขันธ์นะ อย่ามาอวดเลยว่าเจริญปัญญา เนี่ยท่านพูดฟันธงขนาดนี้เลยนะ คำสอนของครูบาอาจารย์สายกรรมฐานนะ ไม่ผิดไม่ต่างอะไรกับตำราอภิธรรมเลย ในตำราอภิธรรมเนี่ย ปัญญาตัวที่หนึ่งเลยชื่อ นามรูปปริจเฉทญาณ นามรูปปริจเฉทญาณ มีปัญญาที่จะแยกรูปนามได้ แยกกายแยกใจได้นะ มันจะเห็นเลย ร่ายกายเคลื่อนไหว ใจเป็นคนดู ใจเป็นคนดู เราได้มาจากการฝึกสมาธิให้จิตตั้งมั่น เราได้ใจที่เป็นคนดูมาแล้ว เมื่อเราได้ใจที่เป็นคนดูมาแล้ว เรามาคอยดูร่างกาย เห็นร่างกายมันนั่งอยู่ ค่อยๆรู้สึกลงไป ร่างกายที่นั่งอยู่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ จะดูทีละส่วนก็ได้ หรือจะดูรวมก่อนก็ได้ ดูรวมก่อนก็ได้นะ หรือจะดูเป็นส่วนๆก็ได้ ทั้งร่างกายที่กำลังนั่งอยู่นี่เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่ยืน ที่เดิน ที่นั่ง ที่นอน เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจดู เป็นของถูกรู้ถูกดู ร่างกายที่หายใจเข้า เป็นของถูกรู้ถูกดู ผมก็เป็นของถูกรู้ถูกดู เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก อะไรพวกนี้เป็นของถูกรู้ถูกดู ใครเป็นผู้รู้ผู้ดู? จิตนั่นแหละเป็นผู้รู้ผู้ดู ต้องฝึกให้ได้จิตเป็นผู้รู้ก่อนนะ ถ้าไม่มีจิตที่เป็นผู้รู้อย่าไปดูกายก่อนนะ ไม่ได้เลย เลอะเทอะเลย ใจจะฟุ้งซ่าน ดูไม่ได้จริงหรอก ต้องมาฝึกให้จิตตั้งมั่นเป็นคนดูแล้วมาดูกาย เห็นร่างกายมันนั่ง เรารู้สึกไหมบางคนนั่งพัดด้วย บางคนพยักหน้า รู้สึกไหมร่างกายพยักหน้า เวลาฟังหลวงพ่อเทศน์นะ ฟังไปฟังมา เห็นด้วยเห็นด้วย พยักหน้า แต่พยักหน้านะ ใจอยู่ที่ไหน? ใจอยู่ที่หลวงพ่อ ใจไม่ได้อยู่กับตัวเองนะ ถ้าพยักหน้าแล้วใจอยู่ที่ตัวเอง จะเห็นทันทีเลย ตัวที่เคลื่อนไหวอยู่นี่ไม่ใช่ตัวเรานะ แต่ถ้าหลงอยู่นะ มันไม่ได้ดูกายดูใจ ลืมกายลืมใจ นี่จิตฟุ้งซ่านแล้ว จิตไม่ตั้งมั่น ไม่มีสมาธิแล้วถ้าลืมกายลืมใจ ต้องรู้กายรู้ใจ รู้สึกตัวให้ได้ พอรู้สึกตัวแล้ว ดู เห็น ร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนดู ร่างกายยืน ร่างกายเดิน ร่างกายนั่ง ร่างกายนอน ใจเป็นคนดู ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด ร่างกายหายใจออก หายใจเข้า ใจเป็นคนดู หัดดูไปเรื่อย หัดดูไปเรื่อยนะ บางคนทำสมาธิมาจิตมันนิ่งเกิน สมาธิลึกเกินไป จิตมันจะไม่ยอมพิจารณากาย อันนี้ต้องช่วยมันคิดก่อนนะ เพราะงั้นบางคนเนี่ยพอออกจากสมาธิแล้วก็สบายเพลินเฉยอยู่ นี่สมาธิอย่างนี้เหลวไหลที่สุดเลย สมาธิที่ติดโลกติดสงสารอยู่อย่างนี้ ถ้าออกจากสมาธิแล้วจิตก็เพลิน มีแต่ความสุขนะ ติดอยู่ในความสุข ใจก็เคลิ้มๆ เยิ้มๆ อยู่อย่างนั้น อย่างนี้พิจารณากายเข้าไปก่อนเลย ใช้การคิดเลย พิจารณาร่างกายเป็นส่วนๆนะ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ฯลฯ พิจารณาเป็นส่วนๆไป เป็นการกระตุ้นไม่ให้จิตติดนิ่งติดเฉย แต่ถ้าเราชำนาญพอนะ จิตออกจากสมาธิเราไม่ไปติด จิตออกจากสมาธิมา จิตจะเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน รู้เนื้อรู้ตัวอยู่ เรารู้ลงในกาย เราเห็นกาย รู้ลงไปเลยไม่ต้องคิดด้วยซ้ำไป มันจะเห็นเลยร่างกายนี้ไม่ใช่ตัวเรา เพราะงั้นบางคนต้องคิดก่อน บางคนที่เคยเดินปัญญามาแต่ชาติปางก่อนแล้ว พอมีผู้รู้ขึ้นมามันจะเห็นร่างกายแยกออกไปเองเลย พอเห็นร่างกายแยก ดูไปสิ ไม่ใช่ตัวเราหรอก ดูไป ร่างกายมีแต่ของไม่เที่ยง ร่างกายมีแต่ความทุกข์ พวกเราดูออกไหมกายมีแต่ทุกข์ ถ้าไม่คอยรู้สึกอยู่ที่กายเราก็ไม่เห็นหรอก อย่างนั่งอยู่นี่ใครเกาแล้วบ้างมีไหม ใครนั่งแล้วขยับตัว ขยับเอวบ้าง ลุกจากเก้าอี้ไม่ได้ใช่ไหม ทำไมขยับ? เพราะมันทุกข์ นึกออกไหม มันเมื่อย นั่งนานๆยังเมื่อยเลยนะ ขนาดนั่งเก้าอี้นะ นั่งเก้าอีกตัวละแสนก็เมื่อยนะ ไม่ใช่ไม่เมื่อย เพราะอะไร เพราะกายนี้เป็นตัวทุกข์นะ ร่างกายนี้เป็นตัวทุกข์ นอนให้สบายที่สุดเลย เมื่อยไหมนอน? เมื่อย คืนหนึ่งเราพลิกหลายครั้ง พลิกแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว ขยับไป เมื่อยก็พลัก ขยับไป ไม่เคยเห็นทุกข์เห็นโทษในกายเลย มีสติอยู่ในกายนะ เห็นกายนี้เป็นทุกข์เป็นโทษนะ หายหลง หายหลงว่ามันเป็นของดีของวิเศษ คอยดูลงไปที่กายก็จะเห็นกายมีแต่ของไม่เที่ยง กายมีแต่ของเป็นทุกข์ กายมีแต่ก้อนธาตุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เราไม่ใช่เขา มาหัดดูกายดูใจให้เห็นเลย เดี๋ยวจิตก็สุข เดี๋ยวจิตก็ทุกข์ เดี๋ยวจิตก็เฉยๆ จิตสุขก็ไม่เที่ยง จิตทุกข์ก็ไม่เที่ยง จิตเฉยๆก็ไม่เที่ยง จิตทุกชนิดทนอยู่ไม่ได้ ทนอยู่ไม่ได้เรียกว่าเป็นทุกขัง จิตจะสุขหรือจิตจะทุกข์ จิตจะดีหรือจิตจะร้าย สั่งไม่ได้ เราสั่งให้จิตมีความสุขได้ไหม? สั่งไม่ได้ ไม่มีใครสั่งจิตให้มีความสุขได้ สั่งห้ามอย่าให้มีความทุกข์ได้ไหม? ห้ามไม่ได้ เราสั่งไม่ได้ สั่งไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ บังคับไม่ได้ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราสั่ง ตัวนี้แปลว่าอนัตตา อนัตตาคือมันไม่อยู่ในอำนาจของเรา บังคับมันไม่ได้ ควบคุมมันไม่ได้ นี่ดูของจริงนะ หัดดู มันลงที่เดียวกันหมด สุดท้ายมันเห็นว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จิตเป็นอนิจจจัง ทุกขัง อนัตตา ดูกายก็เห็นกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สุดท้ายมันก็จะเห็นนะ โลกนั่นแหละ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หัดรู้หัดดูบ่อยๆนะ ดูไปเรื่อยๆ ดูกายรู้สึกอยู่ในกาย เห็นกายมันทำงาน รู้สึกอยู่ที่จิต เห็นจิตมันทำงาน เห็นมันปรุงดีปรุงร้าย ปรุงสุขปรุงทุกข์ ใครถนัดดูกายก็ดูกายไป มีจิตเป็นผู้รู้ผู้ดู ใครถนัดดูจิตก็ดูไป เห็นความสุขความทุกข์ เป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู เห็นกุศล อกุศล ที่เกิดขึ้นเป็นของถูกรู้ถูกดู จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู นี่หัดอย่างนี้บ่อยๆ หัดบ่อยๆ ถึงวันหนึ่งปัญญามันจะเกิด ปัญญาเบื้องต้นมันจะเห็นเลยว่า กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา เพราะอะไร กายนี้เกิดแล้วก็ดับ เช่นร่างกายที่หายใจออกเกิดแล้วก็ดับ ร่างกายที่หายใจเข้าเกิดแล้วก็ดับ ผมก็ไม่ใช่เรา ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เอ็น กระดูก ฯลฯ ก็ไม่ใช่เรา มันเห็นของมันนะ เห็นถ่องแท้ด้วยใจของเราเอง มาดูจิตดูใจก็เห็นเลย จิตใจก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่ใช่เราเหมือนกัน ถ้าเห็นกายเห็นใจ เห็นทั้งหมดเลย ขันธ์ ๕ ซึ่งมันประกอบกันขึ้นมาแล้วเรารู้สึกว่าเป็นตัวเราๆนี้ พอเราเห็นว่าขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรานะ เราจะได้ธรรมะเบื้องต้นแล้ว ธรรมะเบื้องต้นเรียกว่าพระโสดาบัน พระโสดาบันท่านมีปัญญาเห็นความจริงว่าขันธ์ ๕ ไม่มีตัวเรา ไม่มีตัวเราในขันธ์ ๕ ไม่มีตัวเราที่ไหนด้วย นอกขันธ์ ๕ ก็ไม่มี ตอนนี้เรามีตัวเราเพราะว่าขันธ์ ๕ มันมารวมกัน แล้วเราไปหมายรู้ผิดๆว่ามันเป็นตัวเรา หัดให้จิตเป็นผู้รู้ผู้ดู แล้วก็หัดแยกขันธ์ไปนะ “รู้ทัน กันหลง” งานธรรมะเปลี่ยนชีวิต ครั้งที่ ๕ หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันอาทิตย์ ที่ ๓๑ กรกฎาคม ๒๕๕๔
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น