หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ความประพฤติของพระโพธิสัตว์โพธิปักขิยธรรม ๓๗ (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งการตรัสรู้ คือเกื้อกูลแก่การตรัสรู้ ) ๑. สติปัฏฐาน ๔ ๒. สัมมัปปธาน ๔ ๓. อิทธิบาท ๔ ๔. อินทรีย์ ๕ ๕. พละ ๕ ๖. โพชฌงค์ ๗ ๗. มรรคมีองค์ ๘ สติปัฏฐาน ๔ (การตั้งสติกำหนดพิจารณาสิ่งทั้งหลายให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ) ๑. กายานุปัสสนา สติปัฏฐาน.....(การตั้งสติกำหนดพิจารณากาย ) ๒. เวทนานุปัสสนา สติปัฏฐาน.....(การตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนา) ๓. จิตตานุปัสสนา สติปัฏฐาน.....(การตั้งสติกำหนดพิจารณาจิต ) ๔. ธัมมานุปัสสนา สติปัฏฐาน.....(การตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรม) (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๐ ข้อ ๒๗๓-๓๐๐) สัมมัปปธาน ๔ (ความเพียรอันชอบธรรม) ๑. สังวรปธาน (เพียรระวังยับยั้งบาปอกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด มิให้เกิดขึ้น) ๒. ปหานปธาน (เพียรละบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้ว) ๓. ภาวนาปธาน (เพียรทำกุศลธรรมที่ยังไม่เกิด ให้เกิดมีขึ้น) ๔. อนุรักขนาปธาน (เพียรรักษากุศลธรรมที่เกิดขึ้นแล้วให้ตั้งมั่น และให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์) (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๒๑ ข้อ ๖๙) อิทธิบาท ๔ (คุณธรรมที่นำไปสู่ความสำเร็จแห่งผลที่มุ่งหมาย) ๑. ฉันทะ (ความยินดีพอใจในกุศล) ๒. วิริยะ (ความเพียรเข้มแข็ง อดทน เอาธุระไม่ท้อถอยในกุศล) ๓. จิตตะ (เอาจิตฝักใฝ่ในกุศล ไม่ปล่อยใจให้ โลภะ โทสะ โมหะ ครอบงำ ) ๔. วิมังสา (ใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญคิดค้น ปรับปรุงแก้ไข ไม่หยุดอยู่ในกุศล) (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๑ ข้อ ๒๓๑) อินทรีย์ ๕ (ธรรมอันเป็นใหญ่) ๑. สัทธินทรีย์ (อินทรีย์คือ ศรัทธา) ๒. วิริยินทรีย์ (อินทรีย์คือ วิริยะ) ๓. สตินทรีย์ (อินทรีย์คือ สติ) ๔. สมาธินทรีย์ (อินทรีย์คือ สมาธิ) ๕. ปัญญินทรีย์ (อินทรีย์คือ ปัญญา) (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๑ ข้อ ๓๐๐) พละ ๕ (ธรรมอันเป็นกำลัง) ๑. สัทธาพละ (กำลังคือศรัทธา) ๒. วิริยพละ (กำลังคือวิริยะ) ๓. สติพละ (กำลังคือสติ) ๔. สมาธิพละ (กำลังคืสมาธิ) ๕. ปัญญาพละ (กำลังคือปัญญา) (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อ ๑๓) โพชฌงค์ ๗ (ธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้) ๑. สติ (ความระลึกได้) เปรียบเหมือนจักรแก้ว ๒. ธัมมวิจยะ (ความเฟ้นธรรม) เปรียบเหมือนช้างแก้ว ๓. วิริยะ (ความเพียร) เปรียบเหมือนม้าแก้ว ๔. ปีติ (ความอิ่มใจ) เปรียบเหมือนแก้วมณี ๕. ปัสสัทธิ (ความสงบจากกิเลส) เปรียบเหมือนนางแก้ว ๖. สมาธิ (ความมีใจตั้งมั่น) เปรียบเหมือน คหบดีแก้ว ๗. อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามความเป็นจริง) เปรียบเหมือนปริณายกแก้ว (พระไตรปิฏกฉบับหลวง เล่ม ๑๑ ข้อ ๓๒๗) มรรคมีองค์ ๘ ๑. สัมมาทิฏฐิ ปัญญาอันเห็นชอบ คือเห็นอริยสัจ ๔. ๒. สัมมาสังกัปปะ ดำริชอบ คือ ดำริจะออกจากกาม ๑. ดำริในอันไม่พยาบาท ๑. ดำริในอันไม่เบียดเบียน ๑. ๓. สัมมาวาจา เจรจาชอบ คือเว้นจากวจีทุจริต ๔. ๔. สัมมากัมมันตะ ทำการงานชอบคือเว้นจากกายทุจริต ๓ ๕. สัมมาอาชีวะ เลี้ยงชีวิตชอบ คือเว้นจากความเลี้ยงชีวิตโดยทางที่ผิด. ๖. สัมมาวายามะ เพียรชอบ คือเพียรในที่ ๔ สถาน. ๗. สัมมาสติ ระลึกชอบ คือระลึกในสติปัฏฐาน ๔. ๘. สัมมาสมาธิ ตั้งใจไว้ชอบ คือเจริญฌานทั้ง ๔. …………………………………………. “โพธิปักขิยธรรม” ธรรมปราบมาร ท่านได้จาร ไว้ใน ปิฎกสาม สามสิบเจ็ด ธัมมา สง่างาม ควรติดตาม ฝึกไว้ ให้คล่องจินต์ องค์ที่หนึ่ง ให้ตรึง ฐานที่มั่น ถูกมารรัน โรมรุด อย่าหยุดถวิล สติมั่น ในฐาน เป็นอาจิณ สติสิ้น ก็จะจบ พบปราชัย ธรรมนั้นคือ สติปัฏฐาน ทั้งสี่นั่น รู้แจ้งพลัน จิตจะสม ดั่งหมายได้ ทั้งกายา เวทนา ฐานมั่นไว้ จิตตาไซร้ อีกธัมมา รักษาญาณ ในองค์ธรรม ที่สอง จิตต้องสู้ ต้องเรียนรู้ เพียรละ และประหาน เพียรสร้างสม บ่มจิตไว้ ให้ทรงฌาน สัมมัปปธาน ทั้งสี่พร้อม น้อมสู่ตน ธรรมที่สาม ประสานสี่ คือ อินทรีย์ ทำหน้าที่ เป็นใหญ่ ไม่สับสน เป็นธรรมเกิด ร่วม พละ ทั้งห้าดล เพื่อหลุดพ้น การครอบ ของหมู่มาร ธรรมที่ห้า โพชฌังคา ทั้งเจ็ดนั่น เป็นองค์ธรรม์ ที่ตรัสรู้ ผู้ประสาน มีสติ วิริยะ ธัมมวิจารณ์ (ธัมมวิจัย) ปีติสาน ปัสสัทธิ สมาธิครอง (และอุเบกขา) ยี่สิบห้า องค์ธรรม ยังมิจบ ยังไม่ครบ ธรรมเอกที่ มิมีสอง ทางประเสริฐ อริยมรรค คือครรลอง จะประคอง เข้าสู่ทาง แห่งสัมมา กลุ่มสุดท้าย อิทธิบาท ทั้งสี่นั่น รวบรวมกัน ประสานธรรม ให้แน่นหนา ทั้งสามสิบเจ็ด เกิดร่วม ในจิตตา หยุดสังสาร์ หลุดวัฏฏา พานิพพาน ที่มา http://www.dhammathai.org/ ……………………………………….. ไร้โพธิปักขิยธรรม ไร้นิพพาน ดูกร ภิกษุทั้งหลาย แม้เราก็ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟังมาแล้วว่า สมณะหรือพราหมณ์ ประกอบการนอนสบาย(เสยยะสุขัง) เอนข้างสบาย(ปัสสะสุขัง) นอนหลับสบาย(มิทธะสุขัง) ตามประสงค์ ไม่คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ไม่รู้ประมาณในโภชนะ ไม่ประกอบความเพียร ไม่เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลาย. ไม่ประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งวันคืนแล้วกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย จักเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายจักเป็นผู้รู้ประมาณในโภชนะ จักเป็นผู้ประกอบความเพียร จักเป็นผู้เห็นแจ้งกุศลธรรมทั้งหลายจักประกอบการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้งเบื้องต้น และเบื้องปลายแห่งวันคืนอยู่ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล (พุทธพจน์จากพระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่ม ๒๒ ข้อ ๒๘๘) โพธิปักขิยธรรม ความอัศจรรย์ของพุทธ ดูกร ปหาราทะ มหาสมุทรมีรัตนะมากมาย หลายชนิด รัตนะในมหาสมุทรนั้นมีดังนี้คือ แก้วมุกดาแก้วมณี แก้วไพฑูรย์ สังข์ ศิลา แก้วประพาฬ เงิน ทอง ทับทิม มรกต ฉันใด ดูกร ปหาราทะ ฉันนั้นเหมือนกัน ธรรมวินัยนี้ ก็มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือ สติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ ,โพชฌงค์ ๗ , มรรคมีองค์ ๘ ดูกร ปหาราทะ ข้อที่ ธรรมวินัยนี้ มีรัตนะมากมายหลายชนิด รัตนะในธรรมวินัยนั้นมีดังนี้ คือสติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ , โพชฌงค์ ๗ , มรรคมีองค์ ๘ นี้เป็นธรรมที่น่าอัศจรรย์ อันไม่เคยมีมา ที่ภิกษุทั้งหลายเห็นแล้ว ๆ จึงอภิรมย์อยู่ (ปหาราทสูตร จากพระไตรปิฏก ฉบับหลวง เล่ม ๒๓ ข้อ ๑๐๙) ผู้เจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นเจริญภาวนาแม้จะพึงเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอ ขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมไม่หลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร จะพึงกล่าวได้ว่า เพราะไม่ได้เจริญ เพราะไม่ได้เจริญอะไร เพราะไม่ได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ , อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ , โพชฌงค์ ๗ , อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกไม่ดีให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี แม่ไก่นั้น แม้จะเกิดความปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอขอให้ลูกเราพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกระเปาไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีก็จริงแต่ลูกไก่เหล่านั้นไม่สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกระเปาไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะแม่ไก่กกไม่ดี ให้ความอบอุ่นไม่พอ ฟักไม่ดี ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนา แม้จะไม่พึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า โอหนอขอจิตของเราพึงหลุดพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ก็จริง แต่จิตของภิกษุนั้นย่อมหลุดพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุไร พึงกล่าวได้ว่า เพราะเจริญ เพราะเจริญอะไร เพราะสติปัฏฐาน ๔ , สัมมัปปธาน ๔ ,อิทธิบาท ๔ , อินทรีย์ ๕ , พละ ๕ , โพชฌงค์ ๗ , อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ เปรียบเหมือนแม่ไก่ มีไข่อยู่ ๘ ฟอง ๑๐ ฟอง หรือ ๑๒ ฟอง ไข่เหล่านั้น แม่ไก่กกดีให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี แม้แม่ไก่นั้น แม้จะไม่พึงปรารถนาขึ้นอย่างนี้ว่า โอหนอขอให้ลูกเราพึงใช้ปลายเล็บเท้า หรือจะงอยปากเจาะกระเปาไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีก็จริงแต่ลูกไก่เหล่านั้นก็สามารถที่จะใช้ปลายเล็บเท้าหรือจะงอยปากเจาะกระเปาไข่ ฟักตัวออกมาโดยสวัสดีได้ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะไข่เหล่านั้นแม่ไก่กกดี ให้ความอบอุ่นเพียงพอ ฟักดี ฉะนั้น ฯ เปรียบเหมือนรอยนิ้วมือ รอยนิ้วหัวแม่มือที่ด้ามมีดย่อมปรากฏแก่นายช่างไม้หรือลูกมือนายช่างไม้แต่เขาไม่รู้อย่างนี้ว่า วันนี้ด้ามมีดของเราสึกไปเท่านี้เมื่อวานสึกไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสึกไปเท่านี้ ที่จริง เมื่อด้ามมีดสึกไป เขาก็รู้ว่าสึกไปนั่นเทียว ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่ก็ฉันนั้นเหมือนกัน แม้จะไม่รู้อย่างนี้ว่าวันนี้ อาสวะของเราสิ้นไปเท่านี้ เมื่อวานสิ้นไปเท่านี้ หรือเมื่อวานซืนสิ้นไปเท่านี้ แต่ที่จริงเมื่ออาสวะสิ้นไป ภิกษุนั้นก็รู้ว่าสิ้นไปนั้นเทียว ฯ เปรียบเหมือนเรือเดินสมุทรที่เขาผูกหวาย ขันชะเนาะแล้วแล่นไปในน้ำตลอด ๖ เดือนถึงฤดูหนาวเข็นขึ้นบก เครื่องผูกประจำเรือตากลมและแดดไว้ เครื่องผูกเหล่านั้นถูกฝนชะ ย่อมชำรุดเสียหายเป็นของเปื่อยไป โดยไม่ยาก ฉันใด ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นเจริญภาวนาอยู่สังโยชน์ย่อมสงบระงับไปโดยไม่ยาก ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ภาวนาสูตร รุกขสูตรที่ ๑ ปัญญินทรีย์เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรม ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ในชมพูทวีปชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นหว้าโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ในชมพูทวีปชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นหว้าโลกกล่าวว่า เป็นยอดแห่งต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. รุกขสูตรที่ ๒ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นปาริฉัตตกะ โลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฯลฯ ปัญญินทรีย์เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของเทวดาชั้นดาวดึงส์ชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นปาริฉัตตกะ โลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ฉันนั้นเหมือนกัน. รุกขสูตรที่ ๓ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของพวกอสูรชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นจิตตปาฏลีโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฯลฯ ปัญญินทรีย์เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของพวกอสูรชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นจิตตปาฏลีโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านี้ แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. รุกขสูตรที่ ๔ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของพวกครุฑชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นโกฏสิมพลี(ไม้งิ้วป่า) โลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งปัญญินทรีย์ บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฯลฯ ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต้นไม้ของพวกครุฑชนิดใดชนิดหนึ่ง ต้นโกฏสิมพลีโลกกล่าวว่า เป็นยอดของต้นไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์บัณฑิตกล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้น โกสลสูตร ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ โกสลพราหมณคาม ในแคว้นโกศล ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาแล้วตรัสว่า. ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก สีหมฤคราช โลกกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น เพราะมีกำลัง มีฝีเท้า มีความกล้า ฉันใด บรรดาโพธิปักขิยธรรมทุกอย่าง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาสัตว์ดิรัจฉานทุกจำพวก สีหมฤคราช โลกกล่าวว่า เป็นยอดของสัตว์เหล่านั้น เพราะมีกำลัง มีฝีเท้า มีความกล้า ฉันใด บรรดาโพธิปักขิยธรรมทุกอย่าง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. สารสูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย รอยเท้าของสัตว์ผู้เที่ยวไปบนพื้นแผ่นดิน ชนิดใดชนิดหนึ่ง รอยเท้าเหล่านั้นทั้งหมด ย่อมรวมลงในรอยเท้าช้าง รอยเท้าช้าง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของรอยเท้าเหล่านั้น เพราะเป็นรอยใหญ่ แม้ฉันใด บทแห่งธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ บท คือ ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดของบทแห่งธรรมเหล่านั้นเพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่า เป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็โพธิปักขิยธรรมเป็นไฉน? คือ สัทธินทรีย์ ...วิริยินทรีย์ ... สตินทรีย์ ... สมาธินทรีย์ ... ปัญญินทรีย์ เป็นโพธิปักขิยธรรม ย่อมเป็นไปเพื่อความตรัสรู้. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ไม้มีกลิ่นที่แก่นชนิดใดชนิดหนึ่ง จันทน์แดง โลกกล่าวว่าเป็นยอดของไม้เหล่านั้น แม้ฉันใด โพธิปักขิยธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ปัญญินทรีย์ เรากล่าวว่าเป็นยอดแห่งโพธิปักขิยธรรมเหล่านั้น เพราะเป็นไปเพื่อความตรัสรู้ ฉันนั้นเหมือนกัน. กัลยาณสูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม มีปัญญางามเรากล่าวว่าเป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษผู้สูงสุดในธรรมวินัยนี้ ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีลงามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีลสำรวมแล้วด้วยความสำรวมในปาติโมกข์ ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจรมีปรกติเห็นภัยในโทษมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีศีลงามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีลงามด้วยประการดังนี้ ฯ ภิกษุเป็นผู้มีธรรมงามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นผู้ประกอบด้วยความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการเนืองๆ ดูกรภิกษุทั้งหลายภิกษุเป็นผู้มีธรรมงามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม ด้วยประการดังนี้ ฯ ภิกษุเป็นผู้มีปัญญางามอย่างไร ภิกษุในธรรมวินัยนี้กระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเป็นผู้มีปัญญางามอย่างนี้แล ภิกษุเป็นผู้มีศีลงาม มีธรรมงาม มีปัญญางาม ด้วยประการดังนี้ เรากล่าวว่า เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ เป็นบุรุษสูงสุดในธรรมวินัยนี้ ฯ ดูกรวาเสฏฐะและภารทวาชะ กษัตริย์ก็ดี ... พราหมณ์ก็ดี ... แพศย์ก็ดี ... ศูทรก็ดี ... สำรวมกาย สำรวมวาจา สำรวมใจ อาศัยการเจริญโพธิปักขิยธรรม ทั้ง ๗ แล้ว ย่อมปรินิพพานในปัจจุบันนี้ทีเดียว ฯ สัททสูตร ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียง (ที่เกิดขึ้นเพราะปีติ) ของเทวดา๓ อย่างนี้ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย ๓ อย่างเป็นไฉนดูกรภิกษุทั้งหลาย ในสมัยใด พระอริยสาวกย่อมคิดเพื่อจะปลงผมและหนวด นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่าพระอริยสาวกนี้ย่อมคิดเพื่อทำสงครามกับมาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๑ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย ฯ อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด พระอริยสาวกประกอบความเพียรในการเจริญโพธิปักขิยธรรม๗ ประการ ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนั้นทำสงครามกับมาร ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดา ข้อที่ ๒ ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย อีกประการหนึ่ง ในสมัยใด พระอริยสาวกกระทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบัน เข้าถึงอยู่ในสมัยนั้น เสียงของเทวดาย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาว่า พระอริยสาวกนี้พิชิตสงครามชนะแดนแห่งสงครามนั้นแล้วครอบครองอยู่ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเสียงของเทวดาข้อที่ ๓ย่อมเปล่งออกไปในเหล่าเทวดาเพราะอาศัยสมัยแต่สมัย ดูกรภิกษุทั้งหลาย เสียงของเทวดา ................................ ความสำคัญของโพธิปักขิยธรรมในมิลินทปัญหา พระเจ้ามิลินท์ได้ตรัสถามว่า “ดูก่อนพระนาคเสน พระคุณเจ้าเคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่” พระนาคเสนตอบว่า “ขอถวายพระพร ไม่เคยเห็น” พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามต่อว่า “แล้วอาจารย์ของพระคุณเจ้า อาจารย์เคยเห็นพระพุทธเจ้าหรือไม่” พระนาคเสนทูลตอบไปว่า “ตัวอาจารย์ก็ไม่เคยเห็นเหมือนกัน” พระเจ้ามิลินท์จึงตรัสสรุปว่า “พระพุทธเจ้าไม่มีอยู่จริง เพราะไม่มีใครเคยเห็น” พระนาคเสนท่านจึงย้อนกลับทูลถามพระเจ้ามิลินท์ว่า “อาตมาภาพขอถามพระองค์ว่า ปฐมกษัตริย์ผู้ตั้งราชวงศ์ของพระองค์มีหรือไม่” พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “มีสิพระคุณเจ้า” แล้วพระนาคเสนทูลถามต่อว่า “แล้วพระองค์เคยทอดพระเนตรเห็นปฐมวงศ์กษัตริย์ของพระองค์หรือไม่” พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ไม่เคยเห็น” พระนาคเสนจึงทูลถามต่อไปว่า “พวกปุโรหิตาจารย์ ราชอำมาตย์ของพระองค์ผู้แก่เฒ่าเคยบ้างหรือไม่” (หมายถึงพวกที่อยู่ยาวๆ นาน อย่างเช่น ราชวงศ์จักรี พระพันวษา อัยยิกาเจ้า อยู่มาถึง ๖ แผ่นดินที่เป็นพระอัยยิกาของในหลวงองค์ปัจจุบันมีอายุ ๖ ขวบ ในสมัยรัชกาลที่ ๔ แล้วก็อยู่มาจนถึงรัชกาลที่ ๙ อยู่มาถึง ๖ แผ่นดิน เพราะฉะนั้นก็อาจจะมีพวกข้าราชบริพารพวกปุโรหิตาจารย์ที่อายุยืนๆ) พระนาคเสนจึงต้องทูลถามว่า “มีข้าราชบริพารพระองค์ไหนที่เคยเห็นหรือไม่” พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบว่า “ไม่เคยเห็น” พระนาคเสนก็ใช้เหตุผลหนามยอกเอาหนามบ่ง แล้วทูลต่อไปว่า “ถ้าอย่างนั้นอาตมาก็ขอบอกว่า ปฐมกษัตริย์ของพระองค์ก็ไม่มีเหมือนกัน” พระเจ้ามิลินท์ตรัสให้เหตุผลว่า “จะบอกว่าไม่มีได้อย่างไรพระคุณเจ้า เนื่องจากว่ามันมีราชสมบัติที่ตกทอดกันมา เขาเรียก เครื่องราชกกุธภัณฑ์ ซึ่งเป็นเครื่องใช้สอยของพระราชาเวลาขึ้นครองราชย์ แล้วตกทอดกันมา เป็นต้นว่า เศวตฉัตร มหามงกุฎ ฉลองพระบาท พัดวาลวิชนี พระขรรค์แก้ว ทั้งหมดเหล่านี้เป็นของที่ปรากฏมาตั้งแต่ปฐมวงศ์แล้วตกทอดมา เพราะฉะนั้นพระคุณเจ้าจะบอกว่า ปฐมวงศ์ของโยมไม่มีได้อย่างไร” พระนาคเสนทูลว่า “ถ้ามหาบพิตรอ้างอย่างนี้ อาตมาก็อ้างได้เหมือนกัน พระพุทธเจ้ามีจริงหลักฐานที่เป็นเครื่องยืนยันก็คือ โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ เหมือนเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของพระองค์เหมือนกัน ก็คือ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ เรื่องความเพียร ๔ ประการ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ ตั้งแต่สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ” ท่านก็เลยสรุปว่า “มหาบพิตร ก็โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนก็ยังเป็นหลักธรรมที่มีอยู่ ทุกคนก็เข้าใจกันอยู่ การที่ยังมีโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ ทำให้อนุมานได้ว่า พระพุทธเจ้ามีจริง แล้วพระองค์เป็นผู้ที่ฉลาดที่สุด เหมือนกับที่มหาบพิตรยืนยันว่า ปฐมวงศ์ของมหาบพิตรมี เพราะอาศัยจากการอนุมานจากเครื่องราชกกุธภัณฑ์ซึ่งเป็นราชสมบัติเป็นมรดกตกทอด ฉันใดก็ฉันนั้น” พระเจ้ามิลินท์ตรัสตอบไปว่า “โยมฟังแล้วก็มีเหตุผล แต่โยมอยากจะให้พระคุณเจ้ายกตัวอย่างขึ้นมาเปรียบเทียบให้ฟังให้ดูซะหน่อย” พระนาคเสนจึงทูลว่า “มหาบพิตรก็เหมือนนายช่างที่ก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ฉลาด เป็นสถาปนิกผู้เฉลียวฉลาด ก่อนจะสร้างเมืองต้องวางแผนผัง วางรูปโครงสร้างพระนคร ให้มีองค์ประกอบที่เหมาะสม มีทั้งบ้าน มีทั้งวัง มีโรงมหรสพ มีถนนหนทาง เพื่อทำให้ผู้อาศัยได้รับสันติสุข การจราจรไม่ติดขัดฉันใด แม้พระพุทธเจ้าก็ทรงสร้างธรรมนครอันวิจิตรตระการตาขึ้นอย่างสวยงามและมั่นคงฉันนั้น”
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น