วันเสาร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2560

สมถะเป็นกำลังของวิปัสสนา ควรเจริญทั้งสมถะและวิปัสสนาารเจริญภาวนาในที่นี่หมายถึงการปฏิบัติ เพื่อเข้าใจในหลักของธรรมะ เข้าใจความเป็นไปของชีวิต เพื่อให้จิตใจผ่องใสเบิกบาน โดยแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ซึ่งล้วนแต่มีจุดดีไปคนละแบบ ดังนี้ การสวดมนต์ เป็นการทำให้จิตมีสมาธิอยู่กับบทสวดมนต์ และพระเบื้องหน้า (หากสวดมนต์ต่อหน้า พระพุทธต่างๆ) นอกจากนี้ยังได้อนิสงค์จากพุทธคุณของพระคาถาต่างๆ ที่เราอ่าน หรือเปล่งวาจาออกไป และพระคาถาต่างๆล้วน เป็นถ้อยคำมงคล ทำให้เกิดศิริมงคลแต่ตัวผู้เปล่งวาจา และผู้ที่ได้ยิน คนโบราณ เชื่อกันว่าหมู่เทวดาชอบฟังธรรมะ และเสียงสวดมนต์ และจะอวยพรอันเป็นมงคลแก่ผู้เปล่งวาจานั้นๆ ... การทำสมาธิ เป็นการฝึกปฏิบัติตนให้มั่นคงอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งทำให้บุคคลที่ทำสมาธินั้น พ้นจากกิเลส เป้นช่วงเวลาหนึ่ง ทั้งยังเป้นการฝึกจิตใจ ให้นิ่งไม่อ่อนไหวง่าย และมั่นคงมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญปัญหา ที่เกิดขึ้นการการดำเนินชีวิตปรกติในขั้นตอนการทำสมาธิ จะแนะนำวิธีการหายใจแบบสมบูรณ์ ซึ่งจะทำให้ร่างกาย แข็งแรง และผ่อนคลายความเครียด... การเจริญวิปัสสนา ทางทีมงานคงไม่มุ่งเน้นให้ทุกคนสำเร็จฌาณขั้นสูง แต่หากผู้ใดไปถึง ก็ขออนุโมทนา ด้วยใจจริง การเจริญวิปัสสนานั้น คือการต่อยอดจากการฝึกสมาธิขึ้นมาอีกขั้น แตกต่างจากการทำสมาธิที่ จดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เปลี่ยนมาเป็นการพิจารณาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อความเข้าใจแจ่มแจ้ง มองเห็นความเป็นไป และทางออก โดยไม่ฟุ้งซ่าน สับสน เช่นการพิจารณาสังขาร มองเห็นความเป็นไปตามสัจธรรม ทำให้ไม่เกิด ความยึดติด เป็นต้น การภาวนา การเจริญภาวนานั้น เป็นการสร้างบุญบารมีที่สูงที่สุด และยิ่งใหญ่ที่สุดในพระพุทธศาสนา จัดว่าเป็นแก่นแท้ และสูงกว่าฝ่ายศีลมากนัก การเจริญภาวนานั้น มี ๒ อย่าง คือ (๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ) และ (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) แยกอธิบายดังนี้ คือ (๑) สมถภาวนา (การทำสมาธิ) สมถภาวนา ได้แก่การทำจิตให้เป็นสมาธิ หรือเป็นฌาน ซึ่งก็คือการทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียว ไม่ฟุ้งซ่านแส่ส่ายไปยังอารมณ์อื่นๆ วิธีภาวนานั้นมีมากมายหลายร้อยชนิด ซึ่งพระพุทธองค์ทรงบัญญัติเป็นแบบอย่างเอาไว้ ๔๐ ประการ เรียกกันว่า “กรรมฐาน ๔๐” ซึ่งผู้ใดจะเลือกใช้วิธีใดก็ได้ ตามแต่สมัครใจ ทั้งนี้ย่อมสุดแล้วแต่อุปนิสัย และวาสนาบารมีที่เคยได้สร้างสมอบรมมาแต่ในอดีตชาติ เมื่อสร้างสมอบรมมาในกรรมฐานกองใด จิตก็มักจะน้อม ชอบกรรมฐานกองนั้นมากกว่ากองอื่นๆ และการเจริญภาวนาก็ก้าวหน้าเร็วและง่าย แต่ไม่ว่าจะเลือกปฏิบัติวิธีใดก็ตาม จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรักษาศีลให้ครบถ้วนบริบูรณ์ ตามเพศของตนเสียก่อน คือหากเป็นฆราวาส ก็จะต้องรักษาศีล ๕ เป็นอย่างน้อย หากเป็นสามเณร ก็จะต้องรักษาศีล ๑๐ หากเป็นพระ ก็จะต้องรักษาศีลปาติโมกข์ ๒๒๗ ข้อให้บริบูรณ์ ไม่ให้ขาดและด่างพร้อย จึงจะสามารถทำจิตให้เป็นฌานได้ หากศีลยังไม่มั่นคง ย่อมเจริญฌานให้เกิดขึ้นได้โดยยาก เพราะศีลย่อมเป็นบาทฐาน (เป็นกำลัง) ให้เกิดสมาธิขึ้น อานิสงส์ของสมาธินั้นมากกว่าการรักษาศีลอย่างเทียบกันไม่ได้ ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า “แม้ได้อุปสมบทเป็นภิกษุ รักษาศีล ๒๒๗ ข้อ ไม่เคยขาด ไม่ด่างพร้อยมานานถึง ๑๐๐ ปี ก็ยังได้บุญกุศลน้อยกว่าผู้ที่ทำสมาธิเพียงให้จิตสงบ นานเพียงชั่วไก่กระพือปีก ช้างกระดิกหู” คำว่า “จิตสงบ” ในที่นี้ หมายถึงจิตที่เป็นอารมณ์เดียงเพียงชั่ววูบ ที่พระท่านเรียกว่า “ขณิกสมาธิ” คือสมาธิเล็กๆ น้อยๆ สมาธิแบบเด็กๆ ที่เพิ่งหัดตั้งไข คือหัดยืนแล้วก็ล้มลง แล้วก็ลุกขึ้นยืนใหม่ ซึ่งเป็นอารมณ์จิตที่ยังไม่ตั้งมั่น สงบวูบลงเล็กน้อย แล้วก็รักษาไว้ได้ ซึ่งยังห่างไกลต่อการที่จิตถึงขั้นเป็นอุปจารสมาธิและฌาน แม้กระนั้นก็ยังมีอานิสงส์มากมายถึงเพียงนี้ โดยหากผู้ใด จิตทรงอารมณ์อยู่ในขั้นขณิกสมาธิ แล้วบังเอิญตายลงในขณะนั้น อานิสงส์นี้จะส่งผลให้ไปบังเกิดในเทวโลกขั้นที่ ๑ คือ ขั้น จาตุมหาราชิกา หากจิตยึดไตรสรณาคมน์ มีพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นที่พึ่งอันสูงสุดด้วย ก็เป็นเทวดาขั้นที่ ๒ คือ ดาวดึงส์ สมาธินั้นมีหลายขั้นตอน ระยะก่อนที่จะเป็นฌาน (อัปปนาสมาธิ) ก็คือขณิกสมาธิ และอุปจารสมาธิ ซึ่งอานิสงส์ส่งให้ไปบังเกิดในเทวโลก ๖ ขึ้น แต่ยังไม่ถึงขั้นพรหมโลก สมาธิในระดับอัปปนาสมาธิ หรือฌานนั้น มีรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๔ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลให้ไปเกิดในพรหมโลกรวม ๒๐ ขั้น แต่จะเป็นขั้นใด ย่อมสุดแล้วแต่ความละเอียด ประณีตของกำลังฌานที่ได้ (เว้นแต่พรหมโลกขั้นสุทธาวาส คือขั้นที่ ๑๒ ถึง ๑๖ ซึ่งเป็นที่เกิดของ พระอนาคามีบุคคลโดยเฉพาะ) เช่น รูปฌาน ๑ ส่งผลให้บังเกิดในพรหมโลกขั้นที่ ๑ ถึงขั้นที่ ๓ สุดแล้วแต่ความละเอียด ประณีตของกำลังฌาน ๑ เป็นต้น ส่วนอรูปฌานขั้นสูงสุดที่เรียกว่า “เนวสัญญานาสัญญายตนะ” นั้น ส่งผลให้บังเกิด ในพรหมโลกขั้นสูงสุด คือขั้นที่ ๒๐ ซึ่งมีอายุยืนยาวถึง ๘๔,๐๐๐ มหากัป เรียกกันว่า นิพพานพรหม คือ นานเสียจน เกือบหาเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดมิได้ จนเป็นที่หลงผิด เข้าใจผิดกันว่าเป็นนิพพาน การทำสมาธิ เป็นการสร้างบุญกุศลที่ยิ่งใหญ่ ลงทุนน้อยที่สุด เพราะไม่ได้เสียเงินเสียทอง ไม่ได้เหนื่อยยาก ต้องแบกหามแต่อย่างใด เพียงแต่ค่อยเพียรระวังรักษาสติ คุ้มครองจิตมิให้แส่ส่ายไปสู่อารมณ์อื่นๆ โดยให้ตั้งมั่น อยู่ในอารมณ์เดียวเท่านั้น การทำทานเสียอีก ยังต้องเสียเงินเสียทอง การสร้างโบสถ์ วิหาร ศาลาโรงธรรม ยังต้องเสียทรัพย์ และบางทีก็ต้องเข้าช่วยแบกหามเหนื่อยกาย แต่ก็ได้บุญน้อยกว่าการทำสมาธิอย่างที่เทียบกันไม่ได้ อย่างไรก็ดี การเจริญสมถภาวนา หรือสมาธินั้น แม้จะได้บุญอานิสงส์มากมายมหาศาลอย่างไร ก็ยังไม่ใช่บุญกุศล ที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบกับต้นไม้ ก็เป็นเพียงเนื้อไม้เท่านั้น การเจริญวิปัสสนา (การเจริญปัญญา) จึงจะเป็นการสร้างบุญกุศลที่สูงสุดยอดในพระพุทธศาสนา หากจะเปรียบก็เป็นแก่นไม้โดยแท้ (๒) วิปัสสนาภาวนา (การเจริญปัญญา) เมื่อจิตของผู้บำเพ็ญตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว เช่น อยู่ในระดับฌานต่างๆ ซึ่งจะเป็นฌานระดับใดก็ได้ แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้บำเพ็ญเพียรก็ย่อมมีกำลัง และอยู่ในสภาพที่นิ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้ อารมณ์ของวิปัสสนานั้น แตกต่างไปจากอารมณ์ของสมาธิ เพราะสมาธินั้น มุ่งให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่ง แต่อารมณ์เดียวโดยแน่นิ่งอยู่เช่นนั้น ไม่นึกคิดอะไรๆ แต่ วิปัสสนา ไม่ใช่ให้จิตตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น แต่เป็นจิตที่คิดใคร่ครวญหาเหตุและผลในสภาวธรรมทั้งหลาย และสิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้นมีแต่เพียงอย่างเดียว ก็คือ “ขันธ์ ๕ “ ซึ่งนิยมเรียกกันว่า “รูป-นาม” โดยรูป มี ๑ นาม นั้น มี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ขันธ์ ๕ ดังกล่าว เป็นเพียงอุปาทานขันธ์ เพราะแท้จริงแล้วเป็นแต่เพียงสังขารธรรมที่เกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง แต่เพราะอวิชชา คือความไม่รู้เท่าทันสภาวธรรม จึงทำให้เกิดความยึดมั่น ด้วยอำนาจอุปาทานว่าเป็นตัวตนและของตน การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้น ล้วนแต่มีอาการเป็นพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา โดย (๑) อนิจจัง คือ ความไม่เที่ยง คือสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นคน สัตว์ สิ่งของ สมบัติ เพชร หิน ดิน ทราย และรูปกายของเรา ล้วนแต่ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ต้องเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ไม่อาจจะให้ตั้งมั่นทรงอยู่ในสภาพเดิมได้ เช่น คน และสัตว์ เมื่อมีการเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการเจริญเติบโตเป็นหนุ่มสาว และเฒ่าแก่ จนตายไปในที่สุด ไม่มีเว้นไปได้ทุกผู้คน แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย พรหม และเทวดา ฯลฯ สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ที่เรียกว่า อุปาทานขันธ์ ๕ เช่น รูปกาย ล้วนแต่เป็นแร่ธาตุต่างๆ มาประชุมรวมกัน เป็นหน่วยเล็กๆ ของชีวิตขึ้นก่อน ซึ่งเล็กจนตาเปล่ามองไม่เห็น เรียกกันว่า “เซลล์” แล้วบรรดาเซลล์เหล่านั้น ก็มาประชุมรวมกันเป็นรูปร่างของคนและสัตว์ขึ้น ซึ่งหน่วยชีวิตเล็กๆ เหล่านั้นก็มีการเจริญเติบโต และแตกสลายไป แล้วเกิดของใหม่ขึ้นแทนที่อยู่ตลอดเวลา ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้แน่นอน (๒) ทุกขัง ได้แก่ “สภาพที่ทนอยู่ในสภาพเดิมไม่ได้” ทุกขัง ในที่นี้มิได้หมายความแต่เพียงว่า เป็นความทุกข์กายทุกข์ใจเท่านั้น แต่การทุกข์กายทุกข์ใจก็เป็นลักษณะส่วนหนึ่งของทุกขัง ในที่นี้ สรพสิ่งทั้งหลายอันเป็นสังขารธรรม เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจที่จะทรงตัว ตั้งมั่นทนทานอยู่ในสภาพนั้นๆ ได้ตลอดไป แต่จะต้องเปลี่ยนแปลงไป เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น เมื่อได้เกิดมาเป็นเด็ก จะให้ทรงสภาพเป็นเด็กๆ เช่นนั้นตลอดไปหาได้ไม่ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นหนุ่มและสาว แล้วก็เฒ่าแก่จนในที่สุดก็ต้องตายไป แม้แต่ขันธ์ที่เป็นนามธรรม อันได้แก่ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ไม่มีสภาพทรงตัวเช่นเดียวกัน เช่น ขันธ์ที่เรียกว่า เวทนา อันได้แก่ ความสุขกาย สุขใจ ทุกข์กาย ทุกข์ใจ และไม่สุขไม่ทุกข์ ซึ่งเมื่อมีอารมณ์อย่างใดดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว จะให้ทรงอารมณ์เช่นนั้นตลอดไป ย่อมเป็นไปไม่ได้ นานไป อารมณ์เช่นนั้น หรือเวทนาเช่นนั้น ก็ค่อยๆ จางไป แล้วเกิดอารมณ์ใหม่ชนิดอื่นขึ้นมาแทน (๓) อนัตตา ได้แด่ “ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่สิ่งของ” โดยสรรพสิ่งทั้งหลาย อันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็น “รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ” ล้วนแต่เกิดขึ้น เพราะเหตุปัจจัย เช่น รูปขันธ์ ย่อมประกอบขึ้นด้วยแร่ธาตุต่างๆ มาประชุมรวมกันเป็นกลุ่มก้อน เป็นหน่วยชีวิตเล็กๆ ขึ้นก่อน เรียกในทางวิทยาศาสตร์ว่า “เซลล์” แล้วเซลล์เหล่านั้นก็ประชุมรวมกัน เป็นรูปใหม่ขึ้น จนเป็นรูปกายของคนและสัตว์ทั้งหลาย ซึ่งพระท่านรวมเรียกหยาบๆ ว่า เป็นธาตุ ๔ มาประชุมรวมกัน โดยส่วนที่เป็นของแข็ง มีความหนักแน่น เช่น เนื้อ กระดูก ฯลฯ เรียกว่า ธาตุดิน ส่วนที่เป็นของเหลว เช่น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำดี น้ำปัสสาวะ น้ำไขข้อ น้ำมูก น้ำลาย ฯลฯ รวมเรียกว่า ธาตุน้ำ ส่วนสิ่งที่ให้พลังงาน และอุณหภูมิในร่างกาย เช่น ความร้อน ความเย็น เรียกว่า ธาตุไฟ ส่วนธรรมชาติที่ทำให้เกิดความเคลื่อนไหว ความตั้งมั่น ความเคร่ง ความตึง และบรรดาสิ่งเคลื่อนไหวไปมา ในร่างกายเรียกว่า ธาตุลม (โดยธาตุ ๔ ดังกล่าวนี้ มิได้มีความหมายอย่างเดียวกับคำว่า “ธาตุ” อันหมายถึงแร่ธาตุในทางวิทยาศาสตร์) ธาตุ ๔ หยาบๆ เหล่านี้ได้มาประชุมรวมกันขึ้น เป็นรูปกายของคน สัตว์ และสรรพสิ่งทั้งหลายเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อนานไปก็ย่อมเปลี่ยนแปลง แล้วแตกสลาย กลับคืนไปสู่สภาพเดิม โดยส่วนที่เป็นดิน ก็กลับไปสู่ดิน ส่วนที่เป็นน้ำ ก็กลับไปสู่น้ำ ส่วนที่เป็นไฟ ก็กลับไปสู่ไฟ ส่วนที่เป็นลม ก็กลับไปสู่ความเป็นลม ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนของคนและสัตว์ที่ไหนแต่อย่างใด จึงไม่อาจจะยึดมั่นถือมั่น รูปกายนี้ว่าเป็นตัวเราของเรา ให้เป็นที่พึ่งอันถาวรได้ สมาธิ ย่อมมีการรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้บำเพ็ญอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนึ่งตามแต่ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ ส่วนวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียว คือมีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้นๆ ว่า มีแต่รูปกับนามเท่านั้น ขันธ์ ๕ นั้นได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสภาวธรรม หรือสังขารธรรม อันเกิดขึ้นเนื่องจากการปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็ไม่เที่ยง ทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ และไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนแต่อย่างใด อารมณ์ของวิปัสสนานั้น เป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญ หาเหตุและผลในสังขารทั้งหลาย จนรู้แจ้งเห็นจริงว่า เป็นพระไตรลักษณ์ คือเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา และเมื่อใด ที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่า เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เรียกว่าจิตเข้าสู่กระแสธรรม ตัดกิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่นึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่ย่อมมีตาวิเศษ หรือตาใน ที่พระท่านเรียกว่า “ญาณทัสสนะ” เห็นเป็นเช่นนั้นจริงๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะ หรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า “สมาธิอบรมปัญญา” คือ สมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณได้เกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตย่อมจะเบาและใสสะอาด บางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้างหน้าและตั้งมั่นมากยิ่งๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า “ปัญญาอบรมสมาธิ” ฉะนั้น ทั้ง สมาธิและวิปัสสนา จึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอปการะซึ่งกันและกัน จะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้น โดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเหมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้น เหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ อันสังขารธรรมทั้งหลายนั้น ล้วนแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราแต่อย่างใด ทุกสรรพสิ่งล้วนแล้วเป็นแค่ดิน น้ำ ลม และไฟ มาประชุมรวมกันชั่วคราวตามเหตุตามปัจจัยเท่านั้น ในเมื่อจิตได้เห็นความเป็นจริงเช่นนี้แล้ว จิตก็จะคลายจากอุปาทาน คือ ความยึดมั่นถือมั่น โดยคลายกำหนัดในลาภ ยศ สรรเสริญ สุขทั้งหลาย ความโลภ ความโกรธ และความหลง ก็จะเบาบางลงไปตามลำดับปัญญาญาณ จนหมดสิ้น จากกิเลสทั้งมวล บรรลุซึ่งพระอรหัตผล ฉะนั้น การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ไดเสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ (อย่างน้อยที่สุดจะต้องได้ขณิกสมาธิ) ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นเพียงบันไดขั้นต้น ที่จะก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญาเท่านั้น ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า “ผู้ใดแม้จะทำสมาธิ จนจิตเป็นฌานได้นานถึง ๑๐๐ ปี และไม่เสื่อม ก็ยังได้บุญน้อยกว่าผู้ที่มองเห็นความเป็นจริงที่ว่า สรรพสิ่งทั้งหลายอันเนื่องมาจากการปรุงแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา แม้จะเห็นเพียงชั่วขณะจิตเดียวก็ตาม” ดังนี้จะเห็นได้ว่า วิปัสสนาภาวนานั้น เป็นสุดยอดของการสร้างบุญบารมีโดยแท้จริง และการกระทำก็ไม่เหนื่อยยากลำบาก ไม่ต้องแบกหาม ไม่ต้องลงทุน หรือเสียทรัพย์แต่อย่างใด แต่ก็ได้กำไรมากที่สุด เมื่อเปรียบการให้ทาน เช่นกับกรวดและทราย ก็เปรียบวิปัสสนาได้กับเพชรน้ำเอก ซึ่งทานย่อมไม่มีทางที่จะเทียบศีล ศีลก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับสมาธิ และสมาธิก็ไม่มีทางที่จะเทียบกับวิปัสสนา แต่ตราบใดที่เราท่านทั้งหลาย ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็ต้องเก็บเล็กผสมน้อย โดยทำทุกๆ ทางเพื่อความไม่ประมาท โดยทำทั้งทาน ศีล และภาวนา สุดแต่โอกาสจะอำนวยให้ จะถือว่าการเจริญวิปัสสนาภาวนา นั้นลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้กำไรมากที่สุด ก็เลยทำแต่วิปัสสนาอย่างเดียว โดยไม่ยอมลงทุนทำบุญให้ทานใดๆ ไว้เลย เมื่อเกิดชาติหน้า เพราะเหตุที่ยังไม่ถึงฝั่งพระนิพพาน ก็เลยมีแต่ปัญญาอย่างเดียว ไม่มีจะกินจะใช้ ก็เห็นจะเจริญวิปัสสนา ให้ถึงฝั่งพระนิพพานไปไม่ได้เหมือนกัน อนึ่ง พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า “ผู้ใดมีปัญญา พิจารณาจนจิตเห็นความจริงว่า ร่างกายนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน คน สัตว์ แม้จะนานเพียงชั่วช้างยกหูขึ้นกระดิก ก็ยังดีเสียกว่าผู้ที่มีอายุยืนยาวถึง ๑๐๐ ปี แต่ไม่มีปัญญา เห็นความเป็นจริงดังกล่าว” กล่าวคือ แม้ว่าอายุของผู้นั้นจะยืนยาวมานานเพียงใด ก็ย่อมโมฆะเสียเปล่าไปอีกชาติหนึ่ง จัดว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” คือ บุรุษผู้สูญเปล่า การเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่ายๆ ประจำวัน ต่อไปนี้เป็นการเจริญสมถะและวิปัสสนาอย่างง่ายๆ ประจำวัน ซึ่งควรจะได้ทำให้บ่อยๆ ทำเนืองๆ ทำให้มากๆ ทำจนจิตเป็นอารมณ์แนบแน่น ไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถใด คือ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือนอน ก็คิดและใคร่ครวญถึงความเป็นจริง ๔ ประการ ดังต่อไปนี้ ซึ่งหากทำแล้วพระพุทธองค์ตรัสว่า “จิตของผู้นั้น ไม่ห่างจากวิปัสสนา และเป็นผู้ไม่ห่าง จากมรรคผลนิพพาน” คือ (๑) มีจิตใคร่ครวญถึง มรณัสสติกรรมฐาน หรือ มรณานุสสติกรรมฐาน ซึ่งก็คือ การใคร่ครวญถึง ความตายเป็นอารมณ์ อันความรณะนั้นเป็นธรรมอันยิ่งใหญ่ ไม่มีใครสามารถที่จะเอาชนะได้ แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งทรงบรรลุถึงพระธรรม อันยิ่งใหญ่ที่ไม่ตาย แต่ก็ยังต้องทรงทอดทิ้งพระสรีระร่างกายไว้ในโลก การระลึกถึงความตาย จึงเป็นการเตือนสติให้ตื่น รีบพากเพียรชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ก่อนที่ความตายจะมาถึง พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญมรณัสสติว่า “มรณัสสติ (การระลึกถึงความตาย) อันบุคคลทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ หยั่งลงสู่พระนิพพานเป็นที่สุด ฯลฯ” อันมรณัสสติกรรมฐานนั้น แม้แต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันต์เจ้าทั้งหลาย ซึ่งแม้จะได้บรรลุมรรคผลแล้ว ก็ยังไม่ยอมละเพราะยังทรงอารมณ์ มรณัสสตินี้ควบคู่ไปกับวิปัสสนา เพื่อความอยู่เป็นสุข ซึ่งพระพุทธองค์ได้ตรัสกับพระอานนท์ว่า “ตถาคตนึกถึงความตายอยู่ทุกลมหายใจเข้าและออก ฯลฯ” มรณัสสติกรรมฐานนั้น โดยปกติเป็นกรรมฐานของผู้ที่มีพุทธิจริต คือคนที่ฉลาด การใคร่ครวญถึงความตายเป็นอารมณ์ ก็คือการพิจารณาถึงความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าคนและสัตว์ทั้งหลาย เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ย่อมเจริญวัยเป็นหนุ่มสาว เฒ่าแก่ แล้วก็ตายไปในที่สุด ไม่อาจจะล่วงพ้นไปได้ทุกผู้คน ไม่ว่าจะเป็นคนยากดี มีจน เด็ก หนุ่มสาว เฒ่าแก่ สูงต่ำ และเหลื่อมล้ำกันด้วยฐานันดรศักดิ์อย่างใด ในที่สุดก็ทันกันและเสมอกันด้วยความตาย ผู้ที่คิดถึงความตายนั้นเป็นผู้ที่ไม่ประมาทในชีวิต ไม่มัวเมาในชีวิต เพราะเมื่อคิดถึงแล้ว ย่อมแร่งกระทำความดี และบุญกุศล เกรงกลัวต่อบาปกรรมที่จะติดตามไปในภพชาติหน้า ผู้ที่ประมาทมัวเมา ต่อทรัพย์สมบัติ ยศศักดิ์ ตำแหน่งหน้าที่นั้น เป็นผู้ที่หลง เหมือนกับคนที่หูหนวกและตาบอด ซึ่งโบราณกล่าวตำหนิไว้ว่า “หลงลำเนาเขาป่า กู่หาพอได้ยิน หลงยศอำนาจ ย่อมหูหนวกและตาบอด” และกล่าวไว้อีกว่า “หลงยศลืมตาย หลงกายลืมแก่” และความจริงก็มีให้เห็นอยู่ทุกวันนี้ ที่บางท่านใกล้จะเข้าโลงอยู่แล้ว ก็ยังหลงและมัวเมาในอำนาจวาสนา ตำแหน่งหน้าที่ จนลืมไปว่าอีกไม่นานตนก็จะต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป และเมื่อได้พรากจากไปแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตนได้หลงมัวเมาเฝ้าแสวงหาทวงแหนเกาะแน่นอยู่นั้น ก็จะต้องสลายไปพร้อมกับความตายของตน สูญเปล่า... ไม่ได้ตามติดกับตนไปด้วยเลย แล้วไม่นาน ผู้คนที่อยู่เบื้องหลังก็ลืมเลือนตนไปเสียสิ้น ดูเหมือนกับวันเวลาทั้งหลายที่ตนได้ต่อสู้มาเหนื่อยยาก ขวนขวายจนดิ่งดังกล่าวมานั้นจะต้องโมฆะและสูญเปล่าไป โดยหาสารประโยชน์อันใดมิได้เลย มรณัสสติกรรมฐานนั้น เมื่อพิจารณาไปนานๆ จิตจะค่อยๆ สงบระงับจากนิวรณ์ธรรม ๕ ประการ ในที่สุด จิตก็เข้าถึงอุปจารสมาธิ ซึ่งความจริงกรรมฐานกองนี้เป็นเพียงสมถภาวนาเท่านั้น แต่ก็ใกล้กับวิปัสสนา เพราะอารมณ์จิตที่ใช้นั้นเป็นการพิจารณาหาเหตุ และผลในรูปธรรมและนามธรรม ซึ่งหากพลิกการพิจารณาว่า อันชีวิตของคนและสัตว์ ตลอดจนสรรพสิ่งทั้งหลาย ไม่อาจทรงตังตั้งมั่นอยู่ได้ เมื่อมีเกิดขึ้นแล้ว ก็ย่อมมีความตายเป็นที่สุด เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ดังนี้แล้ว ก็เป็นวิปัสสนาภาวนา สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อใกล้จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่ปรินิพพานอีก ๓ เดือน ได้ทรงปลงอายุสังขาร แล้วตรัสสอนพระอานนท์พร้อมหมู่ภิกษุทั้งหลายว่า“อานนท์ ตถาคตได้เคยบอกเธอแล้วมิใช่หรือว่า สัตว์จะต้องพลัดพรากจากของรักของชอบใจไปทั้งสิ้น สัตว์จะได้ตามปราถนาในสังขารนี้แต่ที่ไหนเล่า การที่จะขอให้สิ่งที่เกดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว ที่มีปัจจัยปรุงแต่งแล้ว และที่จะต้องมีการแตกดับเป็นธรรมดาว่า อย่าฉิบหายเลย ดังนี้ ย่อมไม่อยู่ในฐานะที่จะมีได้เป็นได้ การปรินิพพานของเราตถาคตจักมีในการไม่นานเลย ถัดจากนี้ไปอีก ๓ เดือน เราจักนิพพาน ฯลฯ สัตว์ทั้งปวง ทั้งที่เป็นคนหนุ่ม คนแก่ ทั้งที่เป็นพาลและบัณฑิต ทั้งที่มั่งมีและยากจน ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้า เปรียบเหมือนภาชนะดิน ที่ช่างหม้อได้ปั้นแล้ว ทั้งเล็กและใหญ่ ทั้งที่สุกและที่ยังดิบ ล้วนแต่มีการแตกทำลายไปในที่สุดฉันใด ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ก็ล้วนแต่มีความตายเป็นเบื้องหน้าฉันนั้น วัยของเราแก่หง่อมแล้ว ชีวิตของเราริบหรี่แล้ว เราจักต้องละพวกเธอไป ที่พึงของตัวเอง เราได้ทำแล้ว ภิกษุทั้งหลาย เธอจงเป็นผู้ไม่ประมาท มีสติ มีศีล มีความดำริอันตั้งไว้แล้วด้วยดี ตามรักษาซึ่งจิตของตนเถิด ในธรรมวินัยนี้ ภิกษุใดเป็นผู้ไม่ประมาท ก็สามารถที่จะถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้” และในวันมหาปรินิพพาน พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสปัจฉิมโอวาทที่เรียกกันว่า “อัปปมาทธรรม” สั่งสอนพระสาวกเป็นครั้งสุดท้าย จนดูเหมือนว่า พระธรรม ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ที่ทรงสั่งสอนมานานถึง ๔๕ พรรษา ได้มาประมวลประชุมรวมกันในปัจฉิมโอวาทนี้ว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ตถาคต ขอเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังประโยชน์ตน และประโยชน์ท่านให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด” (๒) มีจิตใคร่ครวญถึง อสุภกรรมฐาน อสุภ ได้แก่สิ่งที่ไม่สวยไม่งาม เช่น ซากศพ คือมีจิตพิจารณาให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า ร่างกายของคนและสัตว์ อันเป็นที่นิยมรักใคร่เสน่หา และเป็นบ่อเกิดแห่งตัณหาราคะ กามกิเลส ว่าเป็นของสวยของงาม เป็นที่เจริญตาเจริญใจ ไม่ว่าร่างกายของตนเองและของผู้อื่นก็ตาม แท้ที่จริงแล้วก็เป็นอนิจจัง คือไม่เที่ยงแท้แน่นอน ทุกขัง คือทนอยู่ในสภาพเช่นนั้นไม่ได้ วันเวลาย่อมพรากความสวยสดงดงามให้ค่อยๆ จากไป จนเข้าสู่วัยชรา ซึ่งจะมองหาความสวยงามใดๆ หลงเหลืออยู่มิได้อีกเลย และในทันใดที่ตายลงนั้น แม้แต่ผู้ที่เคยสนิทสนมเสน่หารักใคร่ อันรวมถึง สามี ภริยา และบุตรธิดา ต่างก็พากันรังเกียจในทันใด ไม่ยอมเข้าใกล้ บ้านของตนเองที่อุตส่าห์สร้างมาด้วยความเหนื่อยยาก ก็ไม่ยอมให้อยู่ ต้องรีบๆ ขนออกไปโดยไวไว้ที่วัด แล้วซากเหล่านั้นก็เน่าเปื่อยสลายไป เริ่มตั้งแต่เนื้อหนัง ค่อยๆ พองออก ขึ้นอืด น้ำเลือดน้ำเหลืองก็เริ่มเน่า แล้วเดือดไหลออกจากทวารทั้งหลาย เนื้อหนังแตกปริ แล้วร่วงหลุดออก จนเหลือแต่กระดูก ส่งกลิ่นเน่าเหม็น เป็นที่น่าเกลียดน่ากลัวสะอิดสะเอียน หาความสวยงามน่ารักเสน่หาใดๆ มิได้เลย ทั้งไร้คุณค่าและประโยชน์ คงมีค่าแค่เป็นอาหารแก่หมู่หนอนเท่านั้น แล้วในที่สุดกระดูกก็กระจัดกระจายเรี่ยราดอยู่ตามดินและทราย แตกละเอียดผุพังเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย แล้วเปื่อยยุ่ยเป็นปุ๋ยแก่พืชผักต่อไป หาตัวตนของเราของเขาที่ไหนมิได้เลย สังขารของเราในที่สุดก็เป็นเช่นนี้ ไม่มีอะไรคงเหลือไว้เลย (๓) มีจิตใคร่ครวญถึง กายคตานุสสติกรรมฐาน บางทีเรียกกันง่ายๆ ว่า “กายคตาสติกรรมฐาน” เป็นกรรมฐานที่มีอานิสงส์มากเพราะสามารถทำให้ละ “สักกายทิฐิ” อันเป็นสังโยชน์ข้อต้นได้โดยง่าย และเป็นกรรมฐานที่เกี่ยวกับ การพิจารณาร่างกาย ให้เห็นสภาพตามความเป็นจริง ซึ่งมักพิจารณาร่วมกับอสุภกรรมฐาน มรณัสสติกรรมฐาน ซึ่งพระอริยเจ้าทุกๆ พระองค์ที่จะบรรลุพระอรหันต์ผลจะต้องผ่านการพิจารณากรรมฐานทั้ง ๓ กองนี้เสมอ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นพระอรหันต์ในพระพุทธศาสนามิได้ ทั้งนี้เพราะบรรดาสรรพกิเลสทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความโลภ โกรธ และหลง ต่างก็เกิดขึ้นที่กายนี้ เพราะความยึดมั่นถือมั่นด้วยอำนาจอุปาทาน ว่าเป็นตัวตนและของตน จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลส ก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง มรรค ผล และนิพพาน ไม่ต้องไปมองหาที่ไหนเลย แต่มีอยู่พร้อมให้รู้แจ้งเห็นจริงได้ที่ร่างกายอันกว้างศอก ยาววา และหนาคืบนี่เอง การพิจารณาก็คือ ให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่างกายของคน และสัตว์ที่ต่างก็เฝ้าทะนุถนอมรักใคร่ว่าสวยงาม เป็นที่สนิทเสน่หาชมเชย รักใคร่ซึ่งกันและกันนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก ไม่สวยไม่งาม ไม่น่ารักใคร่ทะนุถนอม เป็นมูตร คูถ เพราะเป็นที่บรรจุไว้ซึ่งสรรพสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นพืชผัก และบรรดาซากศพของสัตว์ ที่บริโภคเข้าไปภายในกระเพาะนั้น แท้ที่จริงแล้วก็เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง พืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ก็ล้วนแต่เป็นของที่สกปรก ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลาย ก็เป็นของที่สกปรกโสโครก ซึ่งต่างก็พากันรังเกียจว่าเป็น “ขี้” มีสารพัดขี้ ซึ่งแม้แต่จะเหลือบตาไปมอง ก็ยังไม่กล้าที่จะมอง แต่แท้ที่จริงแล้ว ในท้อง กระเพาะ ลำไส้ ภายในร่างกายของทุกผู้คนก็ยังคงมีบรรดาขี้เหล่านี้บรรจุอยู่ เพียงแต่มีหนังห่อหุ้มปกปิดไว้ ทำให้ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอกเท่านั้น แต่เราท่านทั้งหลายก็พากันกกกอด คลึงเคล้า เฝ้าชมเชยก้อนขี้เหล่านี้ว่าเป็นของที่สวยงาม น่ารักน่าใคร่ น่าเสน่หายิ่งนัก เมื่อมีการขับถ่าย ออกจากทวารหู ก็เรียกกันว่าขี้ของหู คือ “ขี้หู” ที่ขับถ่ายออกทางตา ก็เรียกกันว่า “ขี้ตา” ที่ติดฟันอยู่ ก็เรียกว่า “ขี้ฟัน” ที่ออกจากทางจมูก ก็เรียกว่าขี้ของจมูก คือ “ขี้มูก” รวมความแล้ว บรรดาสิ่งที่ขับถ่ายออกมา พอพ้นจากร่างกายในทันใดนั้นเอง จากเดิมที่เป็นของน่ารักน่าเสน่หา ก็กลายเป็นของที่น่ารังเกียจไปโดยพลัน กลายเป็นสิ่งที่ไม่มีใครอยากรักอยากเสน่หา เพราะเป็นขี้ และไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของด้วย เมื่อไม่มีใครยอมรับเป็นเจ้าของ สิ่งที่ขับถ่ายออกมาทางผิวหนังจึงหาเจ้าของมิได้ ซึ่งต่างก็โทษกันว่า “ขี้ของใครก็ไม่ทราบ” นานเข้าก็กลายเป็น “ขี้ไคล” ดังนี้เป็นต้น นอกจากสิ่งที่ขับถ่ายออกมา จะน่ารังเกียจดังกล่าวแล้ว แม้แต่สังขารร่างกายของคนเรา เมื่อได้แยกแยะ พิจารณาไปแล้ว ก็จะเห็นความจริงที่ว่าเป็นที่ประชุมรวมกันของอวัยวะชิ้นต่างๆ ที่เป็นตา หู จมูก ลิ้น กล้ามเนื้อ ปอด ตับ ม้าม หัวใจ กระเพาะอาหาร ลำไส้ หนังพังผืด เส้นเอ็น น้ำเลือด น้ำเหลือง น้ำลาย น้ำตา น้ำปัสสาวะ ฯลฯ รวมเรียกกันว่า อาการ ๓๒ ซึ่งต่างก็ห้อยแขวนระเกะระกะ ยานโตงเตงอยู่ภายใน เมื่อแยกหรือควักออกดูทีละชิ้น จะไม่มีชิ้นใดที่เรียกกันว่าสวยงาม น่ารัก น่าพิศวาสเลย กลับเป็นของที่น่าเกลียด ไม่สวย ไม่งาม ไม่น่าดู แต่สิ่งเหล่านี้ก็รวมประกอบอยู่ภายในร่างกายของเราทุกผู้คน โดยมีหนังหุ้มห่อปกปิดอยู่โดยรอบ หากไม่มีผืนหนังหุ้มห่อ และสามารถมองเห็นภายในได้แล้ว แม้จะเป็นร่างกายของคนที่รักสุดสวาทขาดใจก็คงจะต้องรีบเบือนหน้าหนี อกสั่น ขวัญหาย บางทีอาจจะต้องถึงขั้นจับไข้ไปเลย ซึ่งอาจจะต้องถึงขั้นทำพิธีปัดรังควาน เรียกขวัญกันอีก หากจะถือว่าความน่ารักเสน่หาอยู่ที่ผืนหรือแผ่นหนังรอบกายก็ลองลอกออกมาดู ก็จะเห็นว่า ไม่สวยงามตรงไหนแต่อย่างใด แต่ที่นิยมยกย่อง รักใคร่ หลงกันอยู่ ก็คือผิว หรือสีของหนังชั้นนอกสุดเท่านั้น ถ้าได้ลอกหรือขูดผิวชั้นนอกสุดออกให้เหลือแต่หนังแท้แดงๆ แล้ว แม้แต่จะเป็นหนังสดสวยของนางงามจักรวาล ผู้คนก็คงจะต้องเบือนหน้าหนี จึงเป็นที่แน่ชัดว่า คนสวยคนงามก็คงสวยและงามกันแค่ผิวหนังชั้นนอกสุด รักและเสน่หากันที่ผิวหนัง ซึ่งเป็นของฉาบฉวยนอกกาย หาได้สวยงามน่ารักเข้าไปถึงตับ ปอด หัวใจ ม้าม กระเพาะ ลำไส้ น้ำเลือด น้ำเหลือง อุจจาระ ปัสสาวะ ที่อยู่ภายในร่างกายด้วยไม่ ส่วนผู้ที่ผิว หรือสีของหนังดำด่าง ไม่สดใสน่าดู ก็พยายามทาลิปสติก แต่งหนา ทาสี พอกแป้ง ย้อม และดึงกันเข้าไปให้เต่งตึง และออกเป็นสีสันต่างๆ แล้วก็พากันนิยมยกย่องชวนชมกันไป แท้ที่จริงแล้วก็เป็นความหลง โดยหลงรักกันที่แป้งและสีที่พอก หลอกให้เห็นฉาบฉวยอยู่แค่ที่ผิวภายนอกเท่านั้น เมื่อมีสติพิจารณาเห็นความเป็นจริงอยู่เช่นนี้ หากจิตมีกำลังก็จะทำให้นิวรณ์ ๕ ประการ ค่อยๆ สงบระงับลงทีละเล็กทีละน้อย โดยเฉพาะจิตจะไม่เดือดร้อนกระวนกระวาย แส่ส่ายไปในอารมณ์รักๆ ใคร่ๆ ในที่สุดจิตก็จะสงบเยือกเย็นลง จนถึงขั้นอุปจารสมาธิได้ หากสติมีกำลังพอก็อาจถึงขั้นปฐมฌานได้ กายคตานุสสติกรรมฐานนั้น ความจริงก็เป็นเพียงสมถภาวนาที่ทำให้จิตเป็นสมาธิได้ถึงขั้นปฐมฌาน แต่ก็เป็นสมถภาวนาที่เจือไปด้วยวิปัสสนาภาวนา เพราะเป็นอารมณ์จิตที่ใคร่ครวญ หาเหตุและผล ตามสภาพเป็นจริงของสังขารธรรม หรือสภาวธรรม ซึ่งหากได้พลิกการพิจารณาอาการ ๓๒ ดังกล่าว ให้รู้แจ้งเห็นจริงว่า อาการ ๓๒ ดังกล่าวนั้นไม่มีการทรงตัว เมื่อมีเกิดเป็นอาการ ๓๒ ขึ้นแล้ว ก็ไม่อาจจะตั้งมั่นอยู่ได้ จะต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ตัวเราและของเราแต่อย่างใด ร่างกายไม่ว่าของตนเองและของผู้อื่น ต่างก็เต็มไปด้วยความทุกข์ ดังนี้ก็เป็นวิปัสสนา กายคตานุสสติกรรมฐาน เป็นกรรมฐานที่เมื่อได้พิจารณาไปแล้วก็จะเห็นความสกปรกโสโครกของร่างกาย จนรู้แจ้งเห็นจริงว่า ไม่น่ารัก ไม่น่าใคร่ จึงเป็นกรรมฐานที่มีอำนาจทำลายราคะกิเลส และเมื่อได้รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวมากๆ เข้า จิตก็จะมีกำลัง และเกิดความเบื่อหน่าย ในร่างกายทั้งของตนเอง และของผู้อื่น จึงเป็นการง่ายที่ “นิพพิทาญาณ” จะเกิดขึ้น และเมื่อ “นิพพิทาญาณ” ได้เกิดขึ้นแล้วจนมีญาณทัสสนะเห็นแจ้งอาการพระไตรลักษณ์ว่า ร่างกายเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขาแต่อย่างใด จิตก็จะน้อมไปสู่ “สังขารรุเปกขาญาณ” ซึ่งมีอารมณ์อันวางเฉย ไม่ยินดียินร้านในร่างกายและคลายกำหนัดในรูปนามขันธ์ ๕ เรียกว่า จิตปล่อยวาง ไม่ยึดมั่นถือมั่นในอุปทานขันธ์ ๕ ซึ่งจะนำไปสู่การละ “สักกายทิฐิ” อันเป็นการละความเห็นผิดในร่างกายนี้เสียได้ และถ้าละได้เมื่อใด ก็ใกล้ที่จะบรรลุความเป็นพระอริยเจ้าเบื้องต้นในพระพุทธศาสนา คือเป็น “พระโสดาบัน” สมจริงตามที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การเจริญพระกรรมฐานกองนี้จะไม่ห่างจากมรรค ผล และนิพพาน ฉะนั้น กายคตานุสสติกรรมฐาน จึงเป็นกรรมฐานเครื่องที่จะทำให้บรรลุพระอรหันต์ได้โดยง่าย ซึ่งในสมัยพระพุทธกาล ท่านที่บรรลุแล้วด้วยพระกรรมฐานกองนี้มีเป็นอันมาก ในสมัยที่พระพุทธองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ได้เสด็จไปพบพราหมณ์สองสามีภรรยา ซึ่งมีธิดาที่สุดสวยนามว่า “นางมาคัณฑิยา” พราหมณ์ทั้งสองชอบใจในพระพุทธองค์ จึงได้ออกปากยกนางมาคัณฑิยาให้เป็นภรรยา พระพุทธองค์ไม่ทรงรับไว้ และมองเห็นนิสัยของพราหมณ์ทั้งสองที่จะได้บรรลุมรรคผล จึงได้ทรงแสดงธรรม ให้ฟังโดยยกเอากายคตานุสสติกรรมฐานขึ้นมาเทศน์ ซึ่งได้ตรัสตำหนิโทษแห่งความสวยงาม แห่งรูปกายของนางมาคัณฑิยาว่า พระพุทธองค์ทรงเห็นว่าเป็นของปฏิกูล มูตร คูถ เน่าเหม็น หาความสวยงามใดๆ มิได้เลย พราหมณ์ทั้งสองพิจารณาตามก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ส่วนนางมาคัณฑิยาผูกโกรธ ต่อมาเมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทนแห่งกรุงโกสัมพี ก็ได้จองล้างจองผลาญ พระพุทธองค์อย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะอำนาจแห่งแรงพยาบาท อีกท่านหนึ่งก็คือ นางอภิรูปนันทา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของพระเจ้าเขมกะศากยะ ก็จัดว่ามีรูปงามที่สุดในสมัยนั้น และพระนางทรงภาคภูมิหลงใหลในความงดงามของพระนางยิ่งนัก แต่ด้วยบุญบารมีที่ได้เคยสร้างสม อบรมมาแล้วเป็นอันมากในอดีตชาติ เป็นเหตุให้พระนางได้สดับพระธรรมของพระพุทธองค์จากพระโอษฐ์ ซึ่งได้ทรงเทศน์กายคตานุสสติกรรมฐานควบคู่ไปกับมรณัสสติกรรมฐาน แล้วทรงเนรมิตรูปกายของสาวงาม ที่งามยิ่งกว่าพระนางให้ปรากฏขึ้น ให้พระนางได้มองเห็นแล้วบันดาลให้รูปเนรมิตนั้นค่อยๆ เจริญวัย แล้วแก่ชรา โทรมลงๆ จนตายไปในที่สุด แล้วก็เน่าเปื่อย สลายไปต่อหน้า พระนางก็น้อมเอาภาพนิมิตนั้น เข้ามาเปรียบเทียบกับร่างกายของพระนาง จนเห็นว่าร่างกายอันงดงามของพระนางนั้น หาได้งามจริงไม่ ทั้งเป็นอนิจจัง และอนัตตา หาสาระแก่นสารที่พึงอันถาวรอันใดมิได้เลย จนพระนางได้บรรลุพระอรหันต์ ในขณะนั้นเอง และพระนางเขมาเทวีที่ยิ่งด้วยรูปโฉม และเป็นพระมเหสีองค์หนึ่งของพระเจ้าพิมพิสาร แห่งเมืองราชคฤห์ ก็ได้บรรลุพระอรหันต์ในทำนองเดียวกันนี้เอง (๔) มีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน คือ นอกจากจะมีจิตใคร่ครวญถึงความเป็นจริงของร่างกายดังกล่าวมาในข้อที่ (๓) แล้ว พึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดีของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ ที่มาประชุมเกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่า แก่ แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำ ก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดิน ก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลม ก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟ ก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เป็นเพียงแค่เนื้อ กระดูก ตับ ไต ไส้ กระเพาะ เส้นเอ็น หนัง พังผืด เนื้อเยื่อ มันสมอง ไขข้อ ฯลฯ มาเกาะกุมกันตัวตนของเราไม่มี ครั้นเมื่อแยกอวัยวะย่อยๆ ดังกล่าวออกไป จนถึงหน่อยย่อยๆ ของชีวิต คือ เซลล์เล็ก ที่มาเกาะกุมรวมกัน ก็จะเห็นว่าเซลล์เอง ก็เนื่องมาจากแร่ธาตุทั้งหลายซึ่งไม่มีชีวิตจิตใจมารวมกันเป็นกลุ่มก้อนเล็กๆ ไม่มีตัวตนของเราแต่อย่างใด แม้แร่ธาตุต่างๆ นั้น ก็เนื่องมาจากพลังงานโปรตอน และอีเล็กตรอนเท่านั้น หาใช่ตัวตนของเราแต่อย่างใดไม่ที่หลงกันอยู่ว่าตัวเราของเรา หาที่ไหนมิได้เลย ทุกสรรพสิ่งที่ดิ้นรนแสวงหาสะสมกันเข้าไว้ ในที่สุดก็ต้องทิ้งจาก ซึ่งป่วยการที่จะกล่าวไปถึงสมบัติ ที่จะนำเอาติดตัวไปด้วย แม้แต่เนื้อตัวร่างกายที่ว่าเป็นของเรา ก็ยังเอาติดตัวไปไม่ได้ และก็เป็นความจริงที่ได้เห็น และรู้กันมานานนับล้านๆ ปี คนแล้วคนเล่า ท่านทั้งหลายที่ได้เคยยิ่งใหญ่ด้วยอำนาจยศศักดิ์ อำนาจวาสนา และทรัพย์สมบัติในอดีตกาล จนเป็นถึงมหาจักรพรรดิ์ มีสมบัติที่สร้างสมมาด้วยเลือด และน้ำตาของผู้อื่นจนค่อนโลก แต่แล้วในที่สุดก็ต้องทิ้งต้องจากสิ่งเหล่านี้ไป แม้แต่เนื้อตัวร่างกายของท่าน ที่เคยยิ่งใหญ่จนถึงกับเป็นผู้ที่ไม่อาจจะแตะต้องได้ แต่แล้วก็ต้องทอดทิ้งจมดินและทราย จนในที่สุดก็สลายไป จนหาไม่พบว่าเนื้อ หนัง กระดูก ขน เล็บ ตับ ไต ไส้ กระเพาะของท่านไปอยู่ที่ตรงไหน คงเหลืออยู่แต่สิ่งที่เป็นดิน น้ำ ลม และไฟ ตามสภาพเดิมที่ก่อเกิดกำเนิดมาเป็นตัวของท่านแต่เพียงชั่วคราวเท่านั้น แล้วตัวของเราท่านทั้งหลาย ก็เพียงเท่านี้ มิได้ยิ่งใหญ่เกินไปกว่าท่านในอดีต จะรอดพ้นจากสัจธรรมนี้ไปได้หรือ เมื่อความเป็นจริงที่เห็นๆ กันอยู่เช่นนี้แล้ว เหตุใดเราท่านทั้งหลายจึงต้องพากันดิ้นรนขวนขวย สะสมสิ่งที่ในที่สุด ก็จะต้องทิ้งจะต้องจากไป ซึ่งเท่ากับเป็นการทำลายวันเวลาอันมีค่าของพวกเรา ซึ่งก็คงมีไม่เกินคนละ ๑๐๐ ปี ให้ต้องโมฆะเสียเปล่าไปโดยหาสารประโยชน์อันใดมิได้ เหตุใดไม่เร่งขวนขวายสร้างสมบุญบารมี ที่เป็นอริยทรัพย์อันประเสริฐซึ่งจะติดตามตัวไปได้ในชาติหน้า แม้หากสิ่งเหล่านี้จะไม่มีจริงดังที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ อย่างเลวพวกเราก็เพียงเสมอตัว มิได้ขาดทุนแต่อย่างใด หากสิ่งที่พระพุทธองค์ได้ตรัสสอนไว้มีจริง ดังที่ปราชญ์ในอดีตกาลยอมรับ แล้วเราท่านทั้งหลายไม่สร้างสมบุญ และความดีไว้ สร้างสมแต่ความชั่วและบาปกรรมตามติดตัวไป เราท่านทั้งหลายมิขาดทุนหรือ เวลาในชีวิตของเรา ที่ควรจะได้ใช้ให้เป็นประโยชน์กลับต้องมาโมฆะเสียเปล่า ก็สมควรที่จะได้ชื่อว่าเป็น “โมฆะบุรุษ” โดยแท้ ส่วนหนึ่งจากหนังสือเรื่อง “วิธีสร้างบุญบารมี” พระนิพนธ์ใน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ ๑๙ วัดบวรนิเวศวิหาร ธรรมทาน น้อมถวายเป็นพุทธบูชา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา วันอาทิตย์ที่ ๒๙ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๕๐ และถวายเป็นพระราชกุศล แด่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสที่พระองค์ทรงมีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา ในวันพุธที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ ขอพระองค์ทรงมีพระพลานามัยสมบูรณ์แข็งแรง เจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น