วันอังคารที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2560

วิธีระงับความฟุ้งซ่านของจิตกรรมฐาน ๔๐ - ตอนที่ ๑๕. อานาปานสติ หลวงพ่อพระราชพรหมยาน หลวงปู่ฤาษี วัดท่าซุง วันนี้จะขอพูดเรื่องอานาปานสติกรรมฐานต่อ อานาปานสติกรรมฐานเป็นสมถภาวนา ได้แก่การพิจารณากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก อานาปานสติกรรมฐานนี่เป็นกรรมฐานที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นกรรมฐานที่มีกำลังใหญ่อย่างยิ่ง เพราะกรรมฐานทั้ง ๔๐ กอง ยกอานาปานฯ เสียกองหนึ่งเหลือ ๓๙ กองย่อมขึ้นอยู่กับอานาปานสติกรรมฐาน เพราะว่าการบำเพ็ญพระกรรมฐานให้เป็นสมาธิกองใดกองหนึ่งก็ตาม ต้องขึ้นอานาปานสติกรรมฐานก่อนเสมอไป คืออันดับแรกให้จับลมหายใจเข้าออก เวลาหายใจเข้ารู้อยู่ว่าหายใจเข้า เวลาหายใจออกรู้อยู่ว่าหายใจออก หายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้นก็รู้อยู่ หายใจเข้ายาวหรือสั้นออกยาวหรือสั้น นี่เป็นแบบฉบับตามในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งก็ได้ผลเหมือนกัน ได้ผล สามารถจะทรงฌานได้เหมือนกัน มีผลมาก ตามอีกนัยหนึ่งที่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเทศน์ไว้ในกรรมฐาน ๔๐ ท่านพิจารณาไว้อีกอย่างหนึ่งว่า เวลาหายใจเข้าให้จับลมหายใจเข้าว่ามันจะกระทบจมูก แล้วกระทบที่หน้าอก แล้วกระทบศูนย์เหนือสะดือนิดหน่อย หายใจออกกระทบศูนย์เหนือสะดือ กระทบหน้าอก แล้วก็กระทบที่หน้าอกหรือว่าริมฝีปาก ถ้าเป็นคนริมฝีปากงุ้มจะรู้สึกกระทบที่จมูก ถ้าเป็นคนริมฝีปากเชิดมันก็จะกระทบที่ริมฝีปาก สำหรับในกรรมฐานที่ ๔๐ ให้รู้อารมณ์กระทบ หากว่าท่านทั้งหลายจะสงสัยถามว่า เฉพาะอานาปานสติกรรมฐานทำไมพระพุทธเจ้าตรัสคนละแบบ ความจริงก็แบบเดียวกันแต่ใช้อาการสังเกตต่างกัน ในมหาสติปัฏฐานนั้นให้สังเกตลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น หรือว่าหายใจเข้าหรือว่าหายใจออก ในกรรมฐาน ๔๐ ให้สังเกตอารมณ์กระทบของจิต อารมณ์กระทบสัมผัสทางกาย คือกระทบจมูก หน้าอก และที่ศูนย์เหนือสะดือ เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับมหาสติปัฏฐานสูตรนี่พระพุทธเจ้าเทศน์เฉพาะชาวแคว้นกุรุเท่านั้น เป็นกรรมฐานละเอียด เพราะว่าชาวแคว้นกุรุนี่มีอารมณ์จิตละเอียดมาก ถ้าหากว่าจะไปแคว้นนั้นเมื่อไรก็ตาม พระพุทธเจ้าจะเทศน์เฉพาะมหาสติปัฏฐานสูตร ไม่เทศน์เรื่องอื่น อาการอย่างนั้นนะพระพุทธเจ้าเทศน์ในสายอื่น จริยาอาการของคนฟังที่มีความเข้าใจย่อมไม่เสมอกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวกุรุรัฐเป็นปกติของเขา นับตั้งแต่ก่อนที่จะพบพระพุทธเจ้า เขาก็เจริญมหาสติปัฏฐานสูตรเป็นปกติ ตามพระบาลีท่านกล่าวว่า แม้แต่นกที่เขาเลี้ยงไว้อย่างนกแขกเต้านางภิกษุณีเลี้ยงไว้ คำว่านางภิกษุณีนี่ ก็ในสมัยที่พระพุทธเจ้าทรงอุบัติแล้ว แต่ว่าจริยาของชาวกุรุรัฐทั้งหมด เขาเจริญมหาสติปัฏฐานสูตรทั้งสี่มาก่อนที่พระพุทธเจ้าจะสอน ในเมื่อแคว้นนั้นเขาปฏิบัติอย่างนั้นเป็นปกติ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงรับรองผล จึงเข้าไป แล้วอธิบายให้มันสูงไปกว่านั้น ให้เขาเข้าใจว่านอกจากจะทรงสติสัมปชัญญะแล้ว ก็ยังมีวิปัสสนาญาณ อันนี้พระพุทธเจ้าต่อท้ายด้วยอำนาจวิปัสสนาญาณ มีอริยสัจ เป็นต้น เพื่อให้เข้าถึงมรรคผลนิพพาน นี่คนแดนนี้เป็นคนที่มีจิตละเอียด ท่านบอกว่าแม้แต่นกแขกเต้าซึ่งนางภิกษุณีเลี้ยงไว้ เมื่อถูกเหยี่ยวเฉี่ยวเอาไปในอุ้งเล็บ นางสามเณรีเห็นเข้าก็ส่งเสียงดังให้เหยี่ยวตกใจ เหยี่ยวตกใจคลายกรงเล็บนกแขกเต้าตกลงมา สามเณรีถามนกว่าขณะที่เหยี่ยวเฉี่ยวเจ้าไปอยู่ในอุ้งเล็บ เจ้ามีความรู้สึกอย่างไร นกแขกเต้าบอกว่า เวลานั้นมีความรู้สึกเหมือนว่า ร่างกระดูกกำลังนำร่างกระดูกจะไปกิน นี่แสดงว่านกแขกเต้าตัวนั้นสนใจในอัฏฐิกังปฏิกุลัง ในกรรมฐาน ๔๐ หรือว่าในมหาสติปัฏฐานสูตรที่เรียกว่าสนใจในนวสี ๙ และก็อสุภสัญญา มหาสติปัฏฐานสูตรพระพุทธเจ้าจึงเทศน์เฉพาะแคว้นนี้ ในด้านกรรมฐาน ๔๐ เทศน์ในวงการภายนอกเพราะอารมณ์ไม่เสมอกัน การกำหนดรู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ลมหายใจเข้าหายใจออกนี้ เป็นอาการที่ละเอียด เราต้องสนใจมาก ถ้าเราเผลอนิดเดียวก็จะรู้สึกว่าเราเผลอไป ว่าเราไม่รู้ว่าลมหายใจเข้าหรือหายใจออก นี่เป็นการบังคับจิตให้ทรงสติสัมปชัญญะให้ดีขึ้น การเจริญสมถภาวนานี่ต้องการสติสัมปชัญญะเป็นสำคัญ ขณะใดที่รู้ลมหายใจเข้าหายใจออก ขณะนั้นชื่อว่าจิตเป็นสมาธิ สมาธิในอานาปานสติกรรมฐาน แล้วก็เป็นกรรมฐานกำจัดโมหจริต คือวิตกจริต เรียกว่ากำจัดความโง่ของจิต ป้องกันอารมณ์ฟุ้งซ่าน คืออุทธัจจะกุกกุจจะในนิวรณ์ห้าประการ ใครที่อารมณ์ฟุ้งซ่านไม่ทรงตัวละก็ ถ้าใช้อานาปานสติกรรมฐานเป็นปกติจิตจะทรงสมาธิเอง การเจริญอานาปานสติกรรมฐานนี้ก็ต้องสังเกตไว้ เวลาหายใจเข้าหายใจออก ถ้าเราจะภาวนาด้วยก็ใช้คำภาวนาพุทโธ เวลาหายใจเข้านึกพุธ หายใจออกนึกว่าโธ สำหรับพุทโธเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน เวลาหายใจจงอย่าหายใจให้แรงกว่าปกติหรือเบากว่าปกติ ปล่อยลมหายใจให้เป็นไปตามปกติ ให้จิตกำหนดรู้เอง ไม่ใช่ว่าเวลากำหนดรู้ลมหายใจเข้าออกบางทีมันจะไม่รู้สึกเลยหายใจแรงๆ แบบนี้ใช้ไม่ได้ ต้องปล่อยให้เป็นปกติแล้วก็รู้ตัวอยู่ อานาปานสติกรรมฐานจะเข้าฌานได้ง่าย จะสังเกตได้ในฌานสูงสุด คือว่าเวลาจับลมหายใจเข้าออก จะมีคำภาวนาด้วยหรือไม่ก็ช่าง ใช้ได้ เมื่อถึงฌานสี่แล้วจะรู้สึกว่าเรามีสภาวะเหมือนไม่หายใจ ไม่รู้ลมหายใจมีหรือไม่ แต่จิตใจสบาย มีความโปร่งมีความสว่างไสวภายในจิต มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์แบบ มีความรู้สึกอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าไม่รับสัมผัสภายนอก ยุงจะกินริ้นจะกัด ไอ้นี่ความจริงยุงไม่กิน นักเจริญฌานนี่จะไปนั่งที่ไหนก็ตาม ถ้าจิตเข้าถึงระดับฌานแล้วยุงไม่กิน ยุงกินริ้นกัดท่านว่าอย่างงั้นไม่รู้สึก แต่ว่าสิ่งที่สังเกตได้คือเสียง เสียงจะดังขนาดไหนก็ตามถ้าจิตตกอยู่ในฌานสี่ละก็เราไม่ได้ยินเสียงนั้น อย่างนี้เป็นอาการของฌานสี่ การเจริญพระกรรมฐานก็ยังไม่แน่นัก การเข้าถึงฌานย่อมเป็นไปได้ แต่การทรงฌานอาจจะยากสักหน่อย เพราะการทรงฌานหมายถึงว่า เราตั้งเวลาไว้ตั้งแต่เวลานี้ ถึงเวลานี้เราจะเข้าฌานสี่ หรือจะออกเวลานั้น แล้วมันก็ออกตรงตามจุดหมายปลายทางที่กำหนดไว้ อย่างนี้ชื่อว่าเป็นผู้ทรงฌาน สำรหรับอานาปานสตินี่ก็บอกแล้วว่าเป็นกรรมฐานที่ทรงฌานได้ง่าย เป็นกรรมฐานที่ระงับฟุ้งซ่านของจิต เป็นกรรมฐานที่ระงับวิตกคือ โมหะ คือระงับความโง่ เพราะฉะนั้นก็เหลือแต่ความฉลาด ความโง่มันก็หายไป เมื่อความฉลาดเกิดขึ้น สมาธิเกิดขึ้น ในระหว่างนั้นอารมณ์มันก็จะมีความรู้สึกต่อไปอีก พอจิตทรงฌานไว้เต็มที่แล้ว ถ้ามันคลายตัวนิดหน่อย ปัญญามันก็จะเกิดเมื่อนั่งนึกดูว่า คนเรานี้มีชีวิตอยู่แค่เพียงลมหายใจเข้าออกเท่านั้นเอง ถ้าลมปราณนี้สิ้นไปแล้วเมื่อไร ขณะนั้นก็เรียกกันว่าตาย อาการตายของคนที่เป็นการตายตามปกติ ความจริงถ้าเข้าถึงจริงๆ แล้วปัญญามันดีกว่านี้มากนะ ไอ้ที่พูดนี้ก็เพื่อจะเทียบเข้าไปหาของจริงๆ ตามความรู้สึกของอารมณ์จิตันไม่ถึงหรอก ๑๐ เปอร์เซ็นต์มันก็ไม่ได้แต่พูดกันเป็นแนวแล้วมันก็จะเห็นชัดถึงร่างกายว่า ร่างกายนี้มันเป็นแต่เพียงธาตุสี่ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ แล้วก็เต็มไปด้วยความสกปรกโสมม เต็มไปด้วยอาการของความทุกข์ จะทุกข์จากความหิว ความกระหาย การป่วยไข้ไม่สบาย การปวดอุจจาระปัสสาวะ ทุกข์จากการพลัดพรากจากของรักของชอบใจ กระทบกระทั่งกับอารมณ์ที่ไม่ชอบใจ เป็นต้น มันมองเห็นทุกข์ชัด ปัญญามันเกิดเอง นี่เขาเรียกว่าปัญญามันเกิดด้วยอำนาจของสมาธิ อย่างที่พระท่านบอกศักราช ท่านบอกต้องทำศีลให้บริสุทธิ์ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว จิตจะเกิดสมาธิ เมื่อสมาธิตั้งมั่นแล้ว ปัญญาก็จะเกิด ในที่สุดจะถึงซึ่งพระนิพพาน ทำอริยมรรคอริยผลให้เกิดขึ้น สำหรับอานาปานสติก็เหมือนกัน ถ้าทำใจสบาย จิตเข้าถึงฌานสี่ หรือฌานหนึ่ง ฌานสอง ฌานสามก็ตาม เวลาที่จิตสงัดปัญญามันจะเกิดเอง มันจะบอกชัด มันจะมีความเบื่อหน่ายในร่างกายขึ้นมาเอง มีความรู้สึกว่าร่างกายนี่มันไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสาร ไม่มีการทรงตัว เพราะอะไร เพราะเมื่อมีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความแก่ ความป่วย ความตาย แต่ว่าในขณะที่ทรงกายอยู่ก็เต็มไปด้วยความทุกข์ หาความสุขอะไรไม่ได้ เราจะบริหารร่างกายสักเพียงใดก็ดี ร่างกายก็เต็มไปด้วยความทรุดโทรมอยู่ตลอดเวลา เป็นอันว่าทำให้เกิดนิพพิทาญาณ ความเบื่อหน่ายในขันธ์ห้า คือร่างกายเสีย นี่ตัวปัญญามันจะเห็น เมื่อเบื่อหน่ายในร่างกายแล้วก็คิดต่อไปถึงโมกขธรรม ถ้าเราไม่เกิดเสียอย่างเดียว ขึ้นชื่อว่าความแก่ ความเจ็บ ความตาย การพลัดพรากจากของรักของชอบใจมันก็ไม่มี นี่อาการอย่างนี้ที่มันจะมีขึ้นมาได้ก็อาศัยความเกิดเป็นปัจจัย อานาปานสติกรรมฐานนี่สร้างจิตให้เกิดปัญญา มันก็จะสอนต่อไปว่า ถ้าหากว่าเราไม่ต้องการการเกิดต่อไปแล้ว ก็ตัดรากเหง้าของกิเลสทั้ง ๓ ประการทิ้งเสียให้หมดคือตัดอำนาจของความโลภ ด้วยการให้ทาน ตัดรากเหง้าของกิเลสคือความโกรธ ด้วยการเจริญเมตตาบารมี แล้วก็ตัดรากเหง้าที่ ๓ ความหลงด้วยการพิจารณาหาความจริงของขันธ์ห้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราก็มาตัดกันตัวเดียว ตัดตรงพิจารณาหาความจริงของขันธ์ห้าคือร่างกายที่เรียกกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ปัญญามันจะเห็นชัดว่าร่างกายเป็นเพียงธาตุสี่ ไม่มีการทรงตัว มีการเปลี่ยนแปลง ภายในเต็มไปด้วยความสกปรก อย่างนี้เขาเรียกว่าสมถะคละวิปัสสนาญาณ มันไปด้วยกันเสมอ ถ้าไปกันอย่างเดียวเฉพาะสมถะ ไม่ช้าก็พัง ถ้าวิปัสสนาญาณมันเดินคู่ไปด้วยละก็มันไม่พัง มันมีแต่ก้าวไป ร่างกายนี้เป็นเพียงธาตุสี่ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ มันโทรมตลอดเวลา มันทุกข์ตลอดเวลา อาการเห็นว่าโทรมตลอดเวลา ทุกข์ตลอดเวลา นี่เป็นวิปัสสนาญาณ ถ้าหากว่าเราจะทรงร่างกายอยู่แบบนี้ ต้องการแบบนี้ต่อไปในชาติหน้ามันก็จะมีแต่ความทุกข์อย่างนี้ ถ้าเราจะตัดความทุกข์เสียได้ก็ต้องตัดโลภะ โทสะ โมหะ โลภะโทสะโมหะนี่ถ้าตัดจริงๆ ด้วยกำลังใจละก็ เขามาตัดกันที่กายนี่เอง มาพิจารณาหาความจริงว่าร่างกายนี่มันเป็นเราหรือมันไม่ใช่ของเรา นี่มันจะบอกชัด ปัญญามันดีกว่านี้มาก มันมีความหลักแหลมมาก ถ้ามันได้ถึงจริงๆ มันจะเห็นชัดว่าร่างกายนี้ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นแก่นสารเป็นของน่าเบื่อ เต็มไปด้วยของสกปรกโสโครก เต็มไปด้วยอาการไม่เที่ยงแท้แน่นอน มีการสลายตัวไปในที่สุด แล้วเราก็ไปคิดว่ามันเป็นเราเป็นของเรา แต่ความจริงไม่ใช่ ร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นบ้านเช่าอาศัยชั่วคราวเท่านั้น ไม่ช้าเราก็ต้องจากมันไปเพราะมันพัง ถ้าพังแล้ว ถ้าต้องการความเกิดอีกมันจะไหวไหม มันก็ไม่ไหว มันก็เป็นทุกข์แบบนี้ ถ้าเราไม่ต้องการจะเกิดอีก เราจะทำยังไง เราก็ใช้หลักการตามอำนาจของจิตให้จิตของเราบอกเองเป็นระยะไปว่าเราปล่อยร่างกายเสีย เราไม่ต้องการความเกิดต่อไป ขึ้นชื่อว่าความเกิด จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี จะเป็นเทวดาก็ดี เป็นพรหมก็ดี จะไม่มีสำหรับเรา สิ่งที่เราต้องการก็คือพระนิพพาน นี่จิตมันจะเกิดมีความใสสะอาดด้วยอำนาจของฌาน มันจะคิดไปในทำนองนี้ แต่มันดีกว่านี้มาก มันชัดมาก ต่อแต่นั้นไป เมื่ออาศัยความคลายความพอใจในร่างกายเสียแล้ว อำนาจความรักในเพศก็ดี ความโลภก็ดี ความโกรธก็ดี ความหลงก็ดี มันก็คลายตัว สิ่งทั้งหลายเหล่านี้ที่มันปรากฎแก่จิตก็เพราะว่าจิตไปมั่วสุมอยู่กับกิเลส คือหลงในกายของตัวเองเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อหลงในร่างกายของตัวว่ามันจะคงอยู่ มันเป็นของดี ก็เห็นว่าร่างกายของบุคคลอื่น วัตถุอื่นดีไปด้วย และความโง่เข้าสิงใจ คิดว่าร่างกายของเราและร่างกายของเขา ร่างของวัตถุใดจะไม่สลายตัว อาศัยอานาปานสติทำลายความโง่ คือโมหจริตหรือวิตกจริตทั้งสองประการ แล้วขับไล่ความฟุ้งซ่านของจิต จิตจึงเป็นสมาธิได้เร็ว ปัญญาเกิดได้ง่าย เป็นอันว่าคำสั่งสอนอันใดที่องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไว้เพื่อพระนิพพาน ถ้าเราเจริญอานาปานสติกรรมฐานไว้เป็นปกติ จิตของเราก็จะมีความผ่องใส จะสามารถตัดสังโยชน์ คือเป็นพระโสดา สกิทาคา อนาคา อรหันต์ได้ภายในไม่ช้า เอาละต่อแต่นี้ไปขอบรรดาท่านทั้งหลายจงพยายามตั้งกายให้ตรงดำรงสติให้มั่น กำหนดรู้ลมหายใจเข้าออก ใช้อานาปานสติเป็นพื้นฐาน แล้วก็ใช้คำภาวนาและคำพิจารณาไปด้วย ตามอัธยาศัยจนกว่าจะได้ยินสัญญาณบอกหมดเวลา จากหนังสือ กรรมฐาน ๔๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น