วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2560

นิพพานมาตรฐานการที่จะเข้าถึงนิพพานนี้ องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงตรัสไว้เป็น ๔ แบบ ด้วยกัน คือ แบบที่ ๑ สุกขวิปัสสโก แบบที่ ๒ เตวิชโช แบบที่ ๓ ฉฬภิญโญ แบบที่ ๔ ปฏิสัมภิทัปปัตโต สำหรับแบบที่ ๑ นี่ชื่อง่ายแต่ทำยาก คือปฏิบัติแล้วไม่เห็นอะไรเหมือนคนเอาผ้าดำผูกตาเดิน ถ้าจะกล่าวกันไปก็เหมือนกับที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายทำกันอยู่เวลานี้ ถ้าไม่เลิกก็ถึงนิพพานเหมือนกัน ก็ได้แก่ ๑. ทาน ๒. ศีล ๓. ภาวนา ทำใจแบบสบาย เพราะว่ากิเลส ๓ ประการนี้ ถ้าตัดได้เมื่อไรก็ถึงนิพพานเมื่อนั้น ทาน การให้ ที่บรรดาท่านพุทธบริษัททั้งหลายถวายกับพระก็ดี ให้แก่คนยากจนก็ดี ให้แก่คนที่มีความลำบากก็ดี ให้แก่สัตว์เดรัจฉานก็ดี ก็ชื่อว่าเป็นทาน และการให้ทานถ้ามีความมุ่งหมายอย่างอื่น จะพลาดจากนิพพานไปนิดหนึ่ง แต่ก็ไม่มากนักถ้าจิตใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทตั้งใจโดยเฉพาะเพื่อตัดกิเลสให้เป็น สมุจเฉทปหาน คิดว่าการให้ทานตัวนี้เราให้เพื่อตัดโลภะ ความโลภที่อยู่ในจิตของเรา มันเป็นสิ่งสกปรก เราให้ไปไม่หวังผลตอบแทนใดๆ ในชาติปัจจุบัน สำหรับท่านผู้รับ เขาจะนำไปใช้ เขาจะนำไปทิ้งมันเป็นเรื่องของเขา แต่กำลังใจของเราตัดเยื่อใยในความผูกมัดในทรัพย์สมบัติเกินไป ไม่ให้มีในจิต อย่างนี้ สมเด็จพระธรรมสามิสรตรัสว่า ชื่อว่าชนะความโลภ เป็นการตัดกิเลสตัวสำคัญ ตัดรากเหง้าได้รากหนึ่ง และ ศีลมัย บุญสำเร็จด้วยการรักษาศีล การรักษาศีลนั้นถ้าจะว่ากันตามประเพณี ก็ประโยชน์น้อยเต็มที ถ้าจะรักษากันได้จริงๆ ละก็จะต้องรู้พื้นฐานของศีล พื้นฐานที่เราจะมีศีลได้น่ะ มันมีอะไรอยู่บ้าง จับตัวนี้ให้มันอยู่บ้าง เพราะศีลเป็นตัวตัดโทสะความโกรธ คือตัดกิเลสตัดที่ ๒ ถ้าสักแต่ว่าสมาทานมันก็ไม่ต่างกับนกแก้วนกขุนทองที่เขาสอนพูด ประโยชน์มันมีเหมือนกันแต่ไม่ได้ ๑ ใน ๑๐๐ ถ้ารักษากันให้ดีละก็ไปนิพพานได้ จงจำไว้ว่าศีลที่จะมีขึ้นกับใจได้ต้องอาศัยเหตุ ๓ ประการ คือ ๑. เมตตา ความรัก ๒. ความกรุณา ความสงสาร ๓. สันโดษ ยินดีเฉพาะของที่เรามีอยู่โดยเฉพาะ หมายความว่าของที่เราหามาได้เองโดยชอบธรรม นั่นเรายินดี เราไม่ยินดีในทรัพย์สินของคนอื่นที่เราจะลักจะขโมย....การรักษาศีล ถ้าบรรดาท่านพุทธบริษัทรักษาศีลด้วยเหตุ ๓ ประการอย่างนี้ โทสะ ความโกรธมันก็ลดลง เพราะว่าทุกวันเมื่อเราตื่นขึ้นมาเราก็ตั้งใจเว้นความโกรธอยู่แล้ว ความรักเป็นการตัดความโกรธ ความสงสารเป็นการตัดความโกรธ ความสันโดษเป็นเหตุตัดความเดือดร้อนจากความโกรธของบุคคลอื่น การรักษาศีลได้ดีองค์สมเด็จพระชินศรีกล่าวว่า ค่อยๆ รักษาไปเรื่อยๆ ทำใจสบายๆ กิเลสคือความโกรธ ก็ค่อยๆ ลดไป ในที่สุดมันก็จะหมดไปเอง เป็นการปฏิบัติด้านสุกขวิปัสสโก ภาวนามัย ที่องค์สมเด็จพระจอมไตรตรัสว่า เป็นเรื่องของภาวนาด้านสุกขวิปัสสโกนี้มีฌานเบื้องต้นไม่สูง เริ่มใช้อารมณ์พิจารณาตั้งแต่ขณิกสมาธิ คือยามปกติเราให้ทานก็คิดว่า คนที่เราให้ทานทุกคน เมื่อเขารับทานมาแล้วเขาก็มีความสุขในการบริโภคทาน แต่ว่าเราผู้ให้ทานก็ดี เขาผู้รับทานก็ดี คนทั้งหลายทั้งหมดนี้ไม่อยู่ตลอดกาลตลอดสมัย เกิดขึ้นเมื่อไรค่อยๆ เสื่อมไปทุกวันๆ ในที่สุดก็ตายเหมือนกัน ผู้ให้ทานก็ตาย ผู้รับทานก็ตาย แต่ว่าเกิดขึ้นมาชีวิตอย่างนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวว่า ชาติปิ ทุกขา ความเกิดเป็นทุกข์ เราเกิดมาเราต้องทำมาหากิน ต้องบริหาร แล้วก็มีความหิว ความกระหาย ปวดอุจจาระ ปวดปัสสาวะ มีความหนาวความร้อนเกินไป อาการทั้งหมดนี้มันเป็นทุกข์ เราผู้ให้ทานก็ทุกข์ ผู้รับทานก็ทุกข์ไม่มีใครที่มีความสุข เมื่อความแก่เข้ามาถึงเราก็ทุกข์ ความป่วยไข้ไม่สบายเข้ามาเราก็ทุกข์ มีความปรารถนาไม่สมหวังเข้ามาเราก็ทุกข์ การพลัดพรากจากของรักของชอบใจเข้ามาถึงเราก็ทุกข์ ความตายจะเข้ามาถึงมันก็ทุกข์ รวมความว่าเรากับเขาต่างคนต่างมีทุกข์ เรากับเขาต่างคนต่างไม่มีความจีรังยั่งยืน เรากับเขาต่างคนต่างตาย จะเป็นคนก็ดี จะเป็นสัตว์ก็ดี วัตถุธาตุก็ดี ในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ นี่เป็นด้านวิปัสสนาญาณควบสมถะ ของสุกขวิปัสสโก และต่อไปถ้าจิตคิดอีกว่า ถ้าเรายังหวังความเกิดเป็นมนุษย์ก็ดี เป็นเทวดาก็ดี พรหมก็ดี เราก็ต้องเวียนว่ายตายเกิดอย่างนี้หาที่สิ้นสุดไม่ได้ ฉะนั้น องค์สมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาจึงตรัสว่า สถานที่พระนิพพานเป็นแดนที่มั่นคง เป็นแดนอมตะ เรายอมเชื่อพระ ทำจิตให้หลุดพ้นจากกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน คือ ทำลายความโลภด้วยการให้ทาน ทำลายความโกรธด้วยศีล คือมีความเมตตาปรานีเป็นที่ตั้ง ทำลายความหลงด้วยปัญญา ให้เห็นจริงว่าโลกนี้ไม่เที่ยง ผู้ที่เกิดมาแล้วก็ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ในที่สุดกระทั่งจิตของเรานี้ก็ปลอดปราศจากกิเลสทั้ง ๓ ประการ คือ โลภะ ความโลภไม่มี โทสะ ความโกรธไม่มี โมหะ ความหลงไม่มี อย่างนี้ชื่อว่าเป็น นิพพานัง ปรมัง สุญญัง นิพพานเป็นธรรมว่างอย่างยิ่ง คือว่างจากความเดือดร้อน ว่างจากความโลภ ว่างจากความโกรธ ว่างจากความหลง จิตก็ถึงจุดตรง คือ นิพพานัง ปรมัง สุขัง คือ นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง ในเมื่อเชื้อสายความเร่าร้อนไม่มี จิตก็เป็นสุข อย่างนี้ท่านเรียกว่า นิพพานตัดกิเลสมีเบญจขันธ์เหลือ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น