วันพุธที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2560

พระพุทธเจ้าชี้ทางให้เรา ช่องของพระนิพพานนั้น ไม่พักและไม่เพียร ไม่พักคือ...ครั้งหนึ่งมีเทวดา ไปทูลถามพระพุทธเจ้า เทวดานี้ท่านนึกว่าตัวเองเป็นพระอรหันต์ ก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้า คล้ายๆจะไปแลกเปลี่ยนความรู้กัน มาที่วัดนะ กลางคืน ยังราตรีให้สว่างไสวไปหมดเลย ด้วยรัศมีของเทวดา พระที่มีหูทิพย์ตาทิพย์ก็จะเห็น ถ้าไม่มีก็ไม่เห็น สว่างไสวด้วยรัศมีของเทวดานี้ เทวดาไปถึงก็ยืนพนมมือนะ แล้วทูลถามพระพุทธเจ้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะ โอฆะแปลว่าห้วงน้ำ ห้วงกิเลสนั่นเองแหละ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร คล้ายๆชวนแลกเปลี่ยนทัศนะกันนะ เดี๋ยวท่านตอบแล้วเราจะตอบบ้าง ว่าชั้นข้ามมาด้วยวิธีนี้นะ ท่านข้ามมาได้ด้วยวิธีไหน กะจะมาชวนคุยธรรมะนะ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ข้ามโอฆะได้อย่างไร พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบ ดูกรท่านนิรทุกข์ นิรทุกข์แปลว่าผู้ไม่มีความทุกข์ อันนี้เป็นคำยกย่องนะ จริงๆเทวดานี้ยังทุกข์แต่ยังไม่เห็นหรอก ดูก่อนท่านนิรทุกข์ เราข้ามโอฆะได้นะ เพราะเราไม่พักและเราไม่เพียร เทวดาเจอหมัดเด็ดเข้า ไม่พักไม่เพียร หา..ข้ามโอฆะได้ด้วยการไม่พักและไม่เพียรเหรอ ไม่พักเนี่ยพอเข้าใจใช่มั้ย ขยันปฏิบัติไป ไม่เพียรด้วยเหรอ เออ.. เทวดาผู้(คิดว่าตนเอง – ผู้ถอด)เป็นพระอรหันต์งงแล้ว เอ๊ะ พระพุทธเจ้าข้ามโอฆะด้วยการไม่พักและไม่เพียร เป็นไปได้อย่างไร มีแต่บอกให้เพียรเยอะๆไปเลย ใช่มั้ย เนี่ยท่านแกล้งน็อคนะ น็อค ทำให้งง เทวดาก็หมดความถือตัวนะ ทูลถามท่าน เป็นอย่างไรพระเจ้าข้า ไม่พักไม่เพียร ให้ช่วยขยายความหน่อย ไม่เข้าใจ ยอมรับแล้วนะว่าไม่เข้าใจ พระพุทธเจ้าท่านขยายความ ดูกรท่านผู้นิรทุกข์ ถ้าเราพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเราเพียรอยู่เราจะลอยขึ้น เราไม่พักเราไม่เพียร เราข้ามโอฆะได้ด้วยวิธีนี้ เทวดาได้พระโสดาบันเลย ได้มั้ย พวกเราฟังเหมือนเทวดา ใครได้ยกมือสิ เห็นมั้ย บารมีสู้เขาไม่ได้นะ เทวดาแจ้งแล้วเทวดาก็ไป แต่พอพระพุทธเจ้ามาเล่าให้พระอานนท์ฟังใช่มั้ย มนุษย์ทั้งหลายที่ฟังตามหลังเนี่ย ไม่แจ้ง อรรถกถาก็เลยต้องมาขยายความให้อีกนะ พระพุทธเจ้าขยายความให้เทวดามา ๑ ชั้นแล้ว ทีแรกท่านบอกว่าท่านไม่พักไม่เพียร พอขยายความท่านบอกว่า ถ้าพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเพียรอยู่เราจะลอยขึ้น เราไม่พักไม่เพียร เราข้ามโอฆะได้ด้วยวิธีนี้ อรรถกถาต้องมาแปลต่ออีกทีเพื่อให้คนรุ่นเรารู้เรื่อง คำว่าพักอยู่เนี่ย ก็คือการปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลส คือกามสุขัลลิกานุโยคนั่นเอง การที่เราวิ่งพล่านไปทางตา วิ่งพล่านไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย วิ่งคิดนึกปรุงแต่งฟุ้งซ่านไป นั่นแหละคือการหลงโลก เราติดต่อโลกภายนอกผ่านทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นั่นเอง เรียกว่าอายตนะที่เชื่อมต่อสัมผัสโลกข้างนอก ถ้าจิตวิ่งพล่านออกไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เรียกว่าหย่อนเกินไป แล้วทำไมท่านบอกว่า ถ้าเราพักอยู่เราจะจมลง ถ้าเราปล่อยจิตใจของเรานะ ร่อนเร่ไปเรื่อย ตามกิเลสไปเรื่อย จะจมลง นึกออกหรือยังว่าจะจมลงอย่างไร จะลงอบาย(ภูมิ)นะ ใจจะลงอบาย ลงที่ต่ำไปเรื่อย คำว่าเพียรอยู่เนี่ย ก็คือการฝึกหัดตัวเอง บังคับควบคุมตัวเอง คือ อัตตกิลมถานุโยค ยกตัวอย่างเวลาที่พวกเราคิดถึงการเดินจงกรม เราก็เริ่มบังคับกาย เริ่มบังคับใจ เวลาเราคิดถึงเรื่องการนั่งสมาธิ เราก็บังคับกาย บังคับใจ มีแต่บังคับจนมันนิ่งๆแข็งๆทื่อๆ ไม่แสดงไตรลักษณ์ แล้วท่านก็บอกว่า ถ้าเราเพียรอยู่คือบังคับตัวเองอยู่เนี่ย เราจะลอยขึ้น ลอยขึ้นไปอย่างไร ก็ไปสุคติใช่มั้ย สุคติมีตั้งแต่เป็นมนุษย์นะ เป็นเทวดา เป็นพรหม ลอยขึ้น ถ้าพักอยู่ คือปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสจะจมลง สู่อบาย อบายภูมิทั้ง ๔ นะ ตั้งแต่สัตว์นรก สัตว์เดรัจฉาน อสุรกาย เปรต ขึ้นมาใกล้มนุษย์แล้ว ถ้าเพียรอยู่ พยายามควบคุมตัวเองบังคับตัวเอง ไม่ให้ตามใจกิเลส ก็จะได้เป็นมนุษย์ ได้เป็นเทวดา ได้เป็นพรหม ไม่นิพพาน ทั้งสองฝั่ง เห็นมั้ยว่าไม่มีช่องของพระนิพพาน ช่องของพระนิพพานนั้น ไม่พักและไม่เพียร ไม่พักคือไม่หลงไปไม่เผลอไป ไม่เพียรคือไม่ควบคุมกดข่มบังคับตัวเอง ช่องตรงกลางก็คือ การรู้รูปนามตามความเป็นจริง รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่เรื่องคิดเอาเอง และไม่ใช่เรื่องบังคับกายบังคับใจให้นิ่งนะ เพราะฉะนั้นทางสายกลางอยู่ตรงที่เราไม่พักไม่เพียร ไม่หย่อนไม่ตึงนั่นเอง ให้รู้รูปนามตามความเป็นจริง ที่หลวงพ่อย่อลงมาบอกว่า “ให้มีสติ รู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นและเป็นกลาง” ถ้าเราไม่รู้กายรู้ใจเราก็ย่อหย่อนไป ลืมกายลืมใจเมื่อไหร่ นึกเลยนะ ถ้าเมื่อไหร่เผลอ ขาดสติ ลืมกายลืมใจ ต้องรู้นะ ขณะนั้นย่อหย่อนแล้ว โอกาสที่จะไปอบายภูมิเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ถ้าขณะไหนลงมือปฏิบัติแล้วก็แน่นไปหมดเลย ควบคุมตัวเองแน่นไปหมดเลย ขณะนั้นตึงเกินไป ไปสุคติได้แต่ไปนิพพานไม่ได้ เพราะอะไร เพราะไม่เห็นไตรลักษณ์ กายก็จะนิ่ง ใจก็จะนิ่ง เมื่อไม่เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของรูปของนาม เรียกว่าไม่เห็นความจริง เมื่อไม่เห็นความจริงย่อมไม่เบื่อหน่ายไม่คลายความยึดถือ ไม่หลุดพ้นนะ เพราะฉะนั้นหน้าที่ของเรา เดินจิตเข้าสู่ทางสายกลางให้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น