วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่นี้ ถูกอริยมรรคแหวกออก แหวกออกทำลายออก ก็ล้างก.. ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า พวกเรามักกล่าวถึง กิเลส และนิวรณ์กันบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยได้กล่าวถึง อาสวกิเลส กันมากนัก แทบไม่เคยเห็นกล่าวถึงกันทีเดียว แท้ที่จริง อาสวกิเลส เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสังเกตธรรมในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อท่านกล่าวถึงความหลุดพ้น ท่านมักจะกล่าวว่า หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ไม่กล่าวว่า หลุดพ้นจากกิเลส หรือนิวรณ์ อันที่จริง กิเลส นิวรณ์ และอาสวกิเลส ต่างก็เป็นกิเลสด้วยกัน แต่มีความหยาบและความละเอียดแตกต่างกัน กิเลส คือราคะ โทสะ และโมหะนั้น เป็นของหยาบๆ มันพลุ่งๆ วูบวาบขึ้นมาครอบงำจิต ในลักษณะเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเป็นครั้งคราว ส่วนนิวรณ์ มักจะแทรกเข้ามานิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้ามา นักปฏิบัติด้วยการดูจิต หรือเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถรู้เห็นกิเลสได้ไม่ยากเลย แม้แต่ผู้หัดดูจิตวันแรก ก็มักมองเห็นได้แล้ว โดยเฉพาะโทสะนั้น เป็นอารมณ์ที่รุนแรง สังเกตง่ายที่สุด ราคะมีความประณีตกว่าโทสะ แต่ก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นง่าย ส่วนโมหะ เป็นความหมอง ความมัวของจิต เหมือนม่านควันที่ซึมซ่านเข้ามาทำให้จิตเสื่อมคุณภาพในการ "รู้ตามความเป็นจริง" ตัวนี้สังเกตยากขึ้นไปอีก หน่อย สำหรับ "นิวรณ์" มีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมันซึมซ่านนิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้าครอบงำจิตได้ง่ายๆ โดยไม่ทันระวังตัว บางคราวถ้าไม่ชำนาญ จะดูไม่ออกเสียด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นนิวรณ์ ส่วนอาสวกิเลสนั้น ดูยากกว่านิวรณ์มากนัก ในชั้นแรกนี้ ลองมาดูความหมายในทางปริยัติกันก่อน พจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ท่านอธิบายความหมายของอาสวกิเลสไว้ดังนี้ อาสวะ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ มี 3 อย่างคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ กามาสวะ อาสวะคือกาม กิเลสดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เกิดความใคร่ ภวาสวะ อาสวะคือภพ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้อยากเป็น อยากเกิด อยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง *********************************** คราวนี้เราลองหันมาพิจารณา ถึงสภาวะของอาสวกิเลสในมุมมองของนักปฏิบัติบ้าง อาสวกิเลสไม่ได้พลุ่งขึ้นมาเหมือนกิเลสหยาบ ไม่ได้ซึมซ่านเข้ามาเหมือนนิวรณ์อันเป็นกิเลสชั้นกลาง แต่เป็นกิเลสละเอียด ที่จิตจมแช่อยู่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยจมแช่อยู่ อย่างไม่รู้ตัวว่ากำลังจมแช่อยู่ ถ้าเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมหยาบๆ ก็คล้ายกับร่างกายนี้ จมแช่อยู่ในอากาศ เราแช่ในอากาศมาตั้งแต่เกิด จนลืม จนไม่เคยนึกถึง ถ้าไม่ลงไปแช่ในของหยาบยิ่งกว่านั้น เช่นแช่น้ำ เราจะรู้สึกเหมือนร่างกายนี้เป็นอิสระ ไม่ได้จมแช่อยู่ในอะไรเลย ทั้งที่ความจริง กายนี้จมแช่อยู่ในอากาศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จิตเองก็จมแช่หมักดองอยู่ในอาสวกิเลสโดยไม่รู้ตัว แต่อาสวกิเลสที่จิตจมแช่อยู่นั้น มีถึง 3 ระดับ หรือ 3 ชนิด สิ่งแรกคือกาม ถัดไปคือภพและอวิชชา จิตของสรรพสัตว์ที่ยังไม่บรรลุพระอนาคามี ล้วนยังจมแช่อยู่ในกามทั้งสิ้น ถ้าทำใจให้สบาย มีสติปัญญาระลีกรู้ไปในกาย จะเห็นว่าจิตจมแช่อยู่ในกาม ซึมซ่านไปทั่วกายตลอดทุกขุมขน ยินดีพอใจในผัสสะทางกายที่เป็นสุข ระแวดระวัง เกลียดกลัวผัสสะทางกายที่เป็นทุกข์ ไม่ผิดอะไรกับสาวงามที่อาบน้ำใหม่ๆ ทาแป้งและของหอมเรียบร้อย มีความอิ่มเอิบพอใจอยู่ทุกขุมขน และเกลียดกลัวสิ่งสกปรกแม้เพียงเล็กน้อยที่จะมากระทบกาย เครื่องดองชั้นหยาบนี้จะถูกทำลายไปเมื่อจิตบรรลุพระอนาคามี เพราะจิตมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในกาย เห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะของกาย จึงหมดยางใยที่จะยึดถือในความสุขและความทุกข์ทางกายลงอย่างเด็ดขาด สำหรับภวาสวกิเลสนั้น พวกเราบางคนก็อาจจะเคยเห็นร่องรอยบ้าง คือเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกหรือจิตผู้รู้ เห็นอารมณ์เกิดดับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ คือผ่านภพน้อยภพใหญ่นับไม่ถ้วน ในที่สุดเมื่อจิตวางอารมณ์หยาบทั้งหมด มาหยุดรู้อยู่ที่จิตผู้รู้ ก็ยังเห็นอีกว่า จิตผู้รู้ที่กำลังรู้อยู่นั้น เอาเข้าจริงก็ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง จิตจมแช่อยู่ในภพ โดยไม่เคยเห็นเลยว่า กระทั่งจิตที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดแล้วนั้น เอาเข้าจริงก็ยังหลงอยู่ในภพอันหนึ่ง ที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดนั้น ผมเองเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะ และเห็นจิตผู้รู้ จะรู้ชัดว่าจิตยังข้องอยู่ในภพ ยังผูกพันอยู่ในภพ เหมือนคนที่ถูกขังอยู่ในห้องขังที่ฝาและเพดานเป็นกระจกใส หรือเป็นแสงที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ดูผิวเผินเหมือนกับคนที่เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง แต่เอาเข้าจริงแล้ว จิตไม่ได้เป็นอิสระจริง ผู้ที่เคยเข้าถึงความหลุดพ้นชั่วขณะ จะเห็นจิตที่จมแช่ภวาสวกิเลสได้ชัดเจน เพราะสามารถเทียบกับสภาวะที่จิตเป็นอิสระ หลุดพ้นจากภพ ได้อย่างชัดเจน สำหรับอวิชชาสวกิเลสนั้น โยงใยอยู่กับภวาสวกิเลส คือที่จิตยังติดข้องอยู่ในภพ หรือจมแช่อยู่ด้วยภวาสวกิเลสนั้น ก็เพราะจิตยังถูกย้อมด้วยอวิชชา และปราศจากวิชชา คือยังมองไม่เห็น ทุกข์ มองไม่ออกว่า จิตผู้รู้ ก็คือก้อนทุกข์อันหนึ่ง ยังข้องอยู่ในภพอันหนึ่ง ยังเป็นทุกข์ ยังแปรปรวน ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง หรือแม้ว่าจะพอรู้สึกบ้างว่า จิตผู้รู้เป็นจิตในภพอันหนึ่ง เป็นทุกข์อันหนึ่ง ก็ยังมองไม่เห็นว่า สมุทัย ที่ทำให้ภพของจิตผู้รู้เกิดขึ้นนั้น อยู่ตรงไหน คือมองไม่เห็นว่า เจตนา ที่จะประคองรักษาจิต ทำให้มโนวิญญาณหยั่งลง และสร้างภพของผู้รู้ขึ้นมา ครั้นจะ เจตนาที่จะไม่มีเจตนา มันก็ยังเป็นเจตนาอยู่อีก จึงจนปัญญา จมแช่อยู่กับความไม่รู้ว่าจะรอดจากความทุกข์ได้อย่างไร *********************************** หนทางที่จะทำลายอาวสวกิเลสนั้น พระศาสดาทรงแสดงไว้ชัดเจน วิธีที่มาตรฐานที่สุด ได้แก่การใช้จิตที่มีคุณภาพ คือมีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์แล้ว น้อมไปเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจ์ และรู้แจ้งอาสวกิเลส ซึ่งพระองค์เองทรงใช้วิธีทำจิตจนถึงฌานที่ 4 แล้วน้อมจิตไปเจริญปัญญา ดังนี้ เรา(พระศาสดา)ก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง อันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง. เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่. เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่. เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่. เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออก..ของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น. ธรรมตรงนี้ท่านแสดงไว้อย่างชัดเจนถึง กะเปาะฟองที่ห่อหุ้ม(จิต) สิ่งนี้ก็คือห้องขังที่มองไม่เห็น ที่ขังให้จิตติดข้องอยู่ในอาสวกิเลส และทรงกล่าวถึงการชำแรกออก หรือทำลายออกจากกะเปาะนั้น เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจจ์ และเห็นแจ้งอาวสกิเลส ฟังผิวเผินเหมือนเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบของพระองค์ แต่ผู้ปฏิบัติที่พบเห็นสภาวะ ภพของจิตผู้รู้ อ่านตรงนี้แล้วจะสะดุ้งใจ เพราะจะรู้สึกว่า พระองค์รับสั่งถึงสภาวะอันหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพราะเห็นชัดว่า จิตถูกขัง ถูกแช่จม อยู่ในขอบเขตอันหนึ่งจริงๆ ผมมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ที่จะเล่าให้พวกเราฟังกันเป็นการภายใน ดังนี้ เมื่อประมาณปี 2525 - 2526 ผมได้ไปกราบหลวงพ่อพุธ ที่วัดป่าสาลวัน ท่านได้ถามถึงธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอนผม อันเป็นเรื่องการทำลายผู้รู้ แล้วท่านก็กล่าวว่า หลวงปู่ดูลย์ก็สอนท่านอย่างเดียวกันนี้ จากนั้นท่านก็เมตตา ให้โอกาสแก่ผมด้วยกุสโลบาย คือตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติแล้ว จะไม่ก้าวก่ายเข้าไปสอนศิษย์ของท่านผู้อาวุโสกว่า หลวงพ่อจึงไม่บอกว่า จะสอนธรรมให้แก่ผม แต่กลับบอกว่า "คุณกับอาตมามาทำกติกาตกลงกันไว้ ใครทำลายผู้รู้ได้ก่อน ให้มาบอกวิธีแก่กัน" เมื่อประมาณปี 2541 - 2542 ผมมีโอกาสพบท่านอีกครั้งหนึ่ง เข้าไปกราบท่าน รายงานตัวฟื้นความหลังให้ว่าผมเป็นใคร ท่านก็บอกว่า ท่านจำได้ ผมก็กราบเรียนท่านว่า จนป่านนี้ผมยังทำลายจิตผู้รู้ไม่ได้เลย ขออุบายวิธีปฏิบัติจากหลวงพ่อ เพื่อทำลายผู้รู้ด้วยเถิด หลวงพ่อตอบว่า จิตผู้รู้ก็เหมือนฟองใข่ เมื่อจิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะทำลายสิ่งห่อหุ้มนั้นออกมาเอง เหมือนลูกไก่ที่โตได้ที่แล้ว เจาะทำลายเปลือกไข่ออกมาเอง.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น