วันอังคารที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2560

อาสวกิเลสที่ห่อหุ้มจิตอยู่นี้ ถูกอริยมรรคแหวกออก แหวกออกทำลายออก ก็ล้างก...จิ ผมสังเกตเห็นอย่างหนึ่งว่า พวกเรามักกล่าวถึง กิเลส และนิวรณ์กันบ่อยครั้ง แต่ไม่ค่อยได้กล่าวถึง อาสวกิเลส กันมากนัก แทบไม่เคยเห็นกล่าวถึงกันทีเดียว แท้ที่จริง อาสวกิเลส เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าสังเกตธรรมในพระไตรปิฎก จะเห็นได้ชัดเจนว่า เมื่อท่านกล่าวถึงความหลุดพ้น ท่านมักจะกล่าวว่า หลุดพ้นจากอาสวกิเลส ไม่กล่าวว่า หลุดพ้นจากกิเลส หรือนิวรณ์ อันที่จริง กิเลส นิวรณ์ และอาสวกิเลส ต่างก็เป็นกิเลสด้วยกัน แต่มีความหยาบและความละเอียดแตกต่างกัน กิเลส คือราคะ โทสะ และโมหะนั้น เป็นของหยาบๆ มันพลุ่งๆ วูบวาบขึ้นมาครอบงำจิต ในลักษณะเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามาเป็นครั้งคราว ส่วนนิวรณ์ มักจะแทรกเข้ามานิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้ามา นักปฏิบัติด้วยการดูจิต หรือเจริญจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน สามารถรู้เห็นกิเลสได้ไม่ยากเลย แม้แต่ผู้หัดดูจิตวันแรก ก็มักมองเห็นได้แล้ว โดยเฉพาะโทสะนั้น เป็นอารมณ์ที่รุนแรง สังเกตง่ายที่สุด ราคะมีความประณีตกว่าโทสะ แต่ก็ยังเป็นสิ่งแปลกปลอมที่มองเห็นง่าย ส่วนโมหะ เป็นความหมอง ความมัวของจิต เหมือนม่านควันที่ซึมซ่านเข้ามาทำให้จิตเสื่อมคุณภาพในการ "รู้ตามความเป็นจริง" ตัวนี้สังเกตยากขึ้นไปอีก หน่อย สำหรับ "นิวรณ์" มีความละเอียดประณีตยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมันซึมซ่านนิ่มๆ ตามหลังความคิดเข้าครอบงำจิตได้ง่ายๆ โดยไม่ทันระวังตัว บางคราวถ้าไม่ชำนาญ จะดูไม่ออกเสียด้วยซ้ำไปว่ามันเป็นนิวรณ์ ส่วนอาสวกิเลสนั้น ดูยากกว่านิวรณ์มากนัก ในชั้นแรกนี้ ลองมาดูความหมายในทางปริยัติกันก่อน พจนานุกรมของท่านเจ้าคุณพระธรรมปิฎก ท่านอธิบายความหมายของอาสวกิเลสไว้ดังนี้ อาสวะ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ไหลซึมซ่านไปย้อมจิตเมื่อประสบอารมณ์ต่างๆ มี 3 อย่างคือ กามาสวะ ภวาสวะ และอวิชชาสวะ กามาสวะ อาสวะคือกาม กิเลสดองอยู่ในสันดาน ที่ทำให้เกิดความใคร่ ภวาสวะ อาสวะคือภพ กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้อยากเป็น อยากเกิด อยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป อวิชชาสวะ อาสวะคืออวิชชา กิเลสที่หมักหมมหรือดองอยู่ในสันดาน ทำให้ไม่รู้ตามความเป็นจริง *********************************** คราวนี้เราลองหันมาพิจารณา ถึงสภาวะของอาสวกิเลสในมุมมองของนักปฏิบัติบ้าง อาสวกิเลสไม่ได้พลุ่งขึ้นมาเหมือนกิเลสหยาบ ไม่ได้ซึมซ่านเข้ามาเหมือนนิวรณ์อันเป็นกิเลสชั้นกลาง แต่เป็นกิเลสละเอียด ที่จิตจมแช่อยู่มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว โดยจมแช่อยู่ อย่างไม่รู้ตัวว่ากำลังจมแช่อยู่ ถ้าเปรียบเทียบให้เป็นรูปธรรมหยาบๆ ก็คล้ายกับร่างกายนี้ จมแช่อยู่ในอากาศ เราแช่ในอากาศมาตั้งแต่เกิด จนลืม จนไม่เคยนึกถึง ถ้าไม่ลงไปแช่ในของหยาบยิ่งกว่านั้น เช่นแช่น้ำ เราจะรู้สึกเหมือนร่างกายนี้เป็นอิสระ ไม่ได้จมแช่อยู่ในอะไรเลย ทั้งที่ความจริง กายนี้จมแช่อยู่ในอากาศมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว จิตเองก็จมแช่หมักดองอยู่ในอาสวกิเลสโดยไม่รู้ตัว แต่อาสวกิเลสที่จิตจมแช่อยู่นั้น มีถึง 3 ระดับ หรือ 3 ชนิด สิ่งแรกคือกาม ถัดไปคือภพและอวิชชา จิตของสรรพสัตว์ที่ยังไม่บรรลุพระอนาคามี ล้วนยังจมแช่อยู่ในกามทั้งสิ้น ถ้าทำใจให้สบาย มีสติปัญญาระลีกรู้ไปในกาย จะเห็นว่าจิตจมแช่อยู่ในกาม ซึมซ่านไปทั่วกายตลอดทุกขุมขน ยินดีพอใจในผัสสะทางกายที่เป็นสุข ระแวดระวัง เกลียดกลัวผัสสะทางกายที่เป็นทุกข์ ไม่ผิดอะไรกับสาวงามที่อาบน้ำใหม่ๆ ทาแป้งและของหอมเรียบร้อย มีความอิ่มเอิบพอใจอยู่ทุกขุมขน และเกลียดกลัวสิ่งสกปรกแม้เพียงเล็กน้อยที่จะมากระทบกาย เครื่องดองชั้นหยาบนี้จะถูกทำลายไปเมื่อจิตบรรลุพระอนาคามี เพราะจิตมีปัญญารู้แจ้งแทงตลอดในกาย เห็นแต่ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เป็นอสุภะของกาย จึงหมดยางใยที่จะยึดถือในความสุขและความทุกข์ทางกายลงอย่างเด็ดขาด สำหรับภวาสวกิเลสนั้น พวกเราบางคนก็อาจจะเคยเห็นร่องรอยบ้าง คือเมื่อเรามีสติสัมปชัญญะ มีธรรมเอกหรือจิตผู้รู้ เห็นอารมณ์เกิดดับหมุนเวียนไปเรื่อยๆ คือผ่านภพน้อยภพใหญ่นับไม่ถ้วน ในที่สุดเมื่อจิตวางอารมณ์หยาบทั้งหมด มาหยุดรู้อยู่ที่จิตผู้รู้ ก็ยังเห็นอีกว่า จิตผู้รู้ที่กำลังรู้อยู่นั้น เอาเข้าจริงก็ยังเป็นภพอีกอันหนึ่ง จิตจมแช่อยู่ในภพ โดยไม่เคยเห็นเลยว่า กระทั่งจิตที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดแล้วนั้น เอาเข้าจริงก็ยังหลงอยู่ในภพอันหนึ่ง ที่ดูสะอาดหมดจดสุดขีดนั้น ผมเองเมื่อเจริญสติสัมปชัญญะ และเห็นจิตผู้รู้ จะรู้ชัดว่าจิตยังข้องอยู่ในภพ ยังผูกพันอยู่ในภพ เหมือนคนที่ถูกขังอยู่ในห้องขังที่ฝาและเพดานเป็นกระจกใส หรือเป็นแสงที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ดูผิวเผินเหมือนกับคนที่เป็นอิสระ ไม่ได้ถูกกักขัง แต่เอาเข้าจริงแล้ว จิตไม่ได้เป็นอิสระจริง ผู้ที่เคยเข้าถึงความหลุดพ้นชั่วขณะ จะเห็นจิตที่จมแช่ภวาสวกิเลสได้ชัดเจน เพราะสามารถเทียบกับสภาวะที่จิตเป็นอิสระ หลุดพ้นจากภพ ได้อย่างชัดเจน สำหรับอวิชชาสวกิเลสนั้น โยงใยอยู่กับภวาสวกิเลส คือที่จิตยังติดข้องอยู่ในภพ หรือจมแช่อยู่ด้วยภวาสวกิเลสนั้น ก็เพราะจิตยังถูกย้อมด้วยอวิชชา และปราศจากวิชชา คือยังมองไม่เห็น ทุกข์ มองไม่ออกว่า จิตผู้รู้ ก็คือก้อนทุกข์อันหนึ่ง ยังข้องอยู่ในภพอันหนึ่ง ยังเป็นทุกข์ ยังแปรปรวน ยังไม่ใช่ที่พึ่งที่แท้จริง หรือแม้ว่าจะพอรู้สึกบ้างว่า จิตผู้รู้เป็นจิตในภพอันหนึ่ง เป็นทุกข์อันหนึ่ง ก็ยังมองไม่เห็นว่า สมุทัย ที่ทำให้ภพของจิตผู้รู้เกิดขึ้นนั้น อยู่ตรงไหน คือมองไม่เห็นว่า เจตนา ที่จะประคองรักษาจิต ทำให้มโนวิญญาณหยั่งลง และสร้างภพของผู้รู้ขึ้นมา ครั้นจะ เจตนาที่จะไม่มีเจตนา มันก็ยังเป็นเจตนาอยู่อีก จึงจนปัญญา จมแช่อยู่กับความไม่รู้ว่าจะรอดจากความทุกข์ได้อย่างไร *********************************** หนทางที่จะทำลายอาวสวกิเลสนั้น พระศาสดาทรงแสดงไว้ชัดเจน วิธีที่มาตรฐานที่สุด ได้แก่การใช้จิตที่มีคุณภาพ คือมีสติสัมปชัญญะบริสุทธิ์แล้ว น้อมไปเจริญปัญญาจนรู้แจ้งอริยสัจจ์ และรู้แจ้งอาสวกิเลส ซึ่งพระองค์เองทรงใช้วิธีทำจิตจนถึงฌานที่ 4 แล้วน้อมจิตไปเจริญปัญญา ดังนี้ เรา(พระศาสดา)ก็เหมือนอย่างนั้นแล พราหมณ์ เมื่อประชาชนผู้ตกอยู่ในอวิชชา เกิดในฟอง อันกะเปาะฟองหุ้มห่อไว้ ผู้เดียวเท่านั้นในโลก ได้ทำลายกะเปาะฟอง คือ อวิชชา แล้วได้ตรัสรู้พระสัมมาสัมโพธิญาณอันยอดเยี่ยม เรานั้นเป็นผู้เจริญที่สุด ประเสริฐที่สุดของโลก เพราะความเพียรของเราที่ปรารภแล้วแล ไม่ย่อหย่อน สติดำรงมั่นไม่ฟั่นเฟือน กายสงบ ไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่น มีอารมณ์เป็นหนึ่ง. เรานั้นแล สงัดแล้วจากกาม สงัดแล้วจากอกุศลธรรม ได้บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่วิเวกอยู่. เราได้บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตก วิจาร สงบไป มีปีติและสุขซึ่งเกิดแต่สมาธิอยู่. เรามีอุเบกขาอยู่ มีสติ มีสัมปชัญญะ และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป ได้บรรลุตติยฌาน ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติ มีสุขอยู่ ดังนี้ อยู่. เราได้บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัส โทมนัส ก่อนๆ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่. เรานั้น เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่มีกิเลส ปราศจากอุปกิเลส อ่อน ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อย่างนี้แล้ว ได้น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ เรานั้นได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า เหล่านี้อาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้เหตุให้เกิดอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ความดับอาสวะ ได้รู้ชัดตามเป็นจริงว่า นี้ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับอาสวะ เมื่อเรานั้นรู้อยู่อย่างนี้ เห็นอยู่อย่างนี้ จิตได้หลุดพ้นแล้วแม้จากกามาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากภวาสวะ ได้หลุดพ้นแล้วแม้จากอวิชชาสวะ เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ได้มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รู้ด้วยปัญญาอันยิ่งว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี พราหมณ์ วิชชาที่สามนี้แล เราได้บรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชา เรากำจัดได้แล้ว วิชชาเกิดแก่เราแล้ว ความมืดเรากำจัดได้แล้ว แสงสว่างเกิดแก่เราแล้ว เหมือนที่เกิดแก่บุคคลผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลสส่งจิตไปแล้วอยู่ ฉะนั้น ความชำแรกออก..ของเรานี้แล ได้เป็นเหมือนการทำลายออกจากกะเปาะฟองแห่งลูกไก่ ฉะนั้น. ธรรมตรงนี้ท่านแสดงไว้อย่างชัดเจนถึง กะเปาะฟองที่ห่อหุ้ม(จิต) สิ่งนี้ก็คือห้องขังที่มองไม่เห็น ที่ขังให้จิตติดข้องอยู่ในอาสวกิเลส และทรงกล่าวถึงการชำแรกออก หรือทำลายออกจากกะเปาะนั้น เพราะมีปัญญาเห็นแจ้งอริยสัจจ์ และเห็นแจ้งอาวสกิเลส ฟังผิวเผินเหมือนเป็นถ้อยคำเปรียบเทียบของพระองค์ แต่ผู้ปฏิบัติที่พบเห็นสภาวะ ภพของจิตผู้รู้ อ่านตรงนี้แล้วจะสะดุ้งใจ เพราะจะรู้สึกว่า พระองค์รับสั่งถึงสภาวะอันหนึ่งอย่างตรงไปตรงมาที่สุด เพราะเห็นชัดว่า จิตถูกขัง ถูกแช่จม อยู่ในขอบเขตอันหนึ่งจริงๆ ผมมีเรื่องอยู่เรื่องหนึ่ง ที่จะเล่าให้พวกเราฟังกันเป็นการภายใน ดังนี้ เมื่อประมาณปี 2525 - 2526 ผมได้ไปกราบหลวงพ่อพุธ ที่วัดป่าสาลวัน ท่านได้ถามถึงธรรมที่หลวงปู่ดูลย์สอนผม อันเป็นเรื่องการทำลายผู้รู้ แล้วท่านก็กล่าวว่า หลวงปู่ดูลย์ก็สอนท่านอย่างเดียวกันนี้ จากนั้นท่านก็เมตตา ให้โอกาสแก่ผมด้วยกุสโลบาย คือตามธรรมเนียมของผู้ปฏิบัติแล้ว จะไม่ก้าวก่ายเข้าไปสอนศิษย์ของท่านผู้อาวุโสกว่า หลวงพ่อจึงไม่บอกว่า จะสอนธรรมให้แก่ผม แต่กลับบอกว่า "คุณกับอาตมามาทำกติกาตกลงกันไว้ ใครทำลายผู้รู้ได้ก่อน ให้มาบอกวิธีแก่กัน" เมื่อประมาณปี 2541 - 2542 ผมมีโอกาสพบท่านอีกครั้งหนึ่ง เข้าไปกราบท่าน รายงานตัวฟื้นความหลังให้ว่าผมเป็นใคร ท่านก็บอกว่า ท่านจำได้ ผมก็กราบเรียนท่านว่า จนป่านนี้ผมยังทำลายจิตผู้รู้ไม่ได้เลย ขออุบายวิธีปฏิบัติจากหลวงพ่อ เพื่อทำลายผู้รู้ด้วยเถิด หลวงพ่อตอบว่า จิตผู้รู้ก็เหมือนฟองใข่ เมื่อจิตมีปัญญาแก่รอบแล้ว จิตจะทำลายสิ่งห่อหุ้มนั้นออกมาเอง เหมือนลูกไก่ที่โตได้ที่แล้ว เจาะทำลายเปลือกไข่ออกมาเองตถูกห่อหุ้มด้วยอาสวะกิเลส เวลาวิมุติอริยมรรคเกิดแต่ละขั้นๆ ก็มีความสุขเป็นลำดับๆ ไป ถึงจุดสุดท้ายก็มีความสุขล้วนๆ มีความสุขเพราะว่ามันไม่มีอะไรเข้ามาเคลือบจิตได้อีก หมอณัฐดูออกมั้ยจิตเราถูกห่อหุ้มไว้ มีเปลือกหุ้ม จิตเค้าถูกห่อหุ้มด้วยอาสวะ ยังปนเปื้อน เยิ้มๆ จิตยังปนเปื้อน ความปนเปื้อนนี้แหละ เป็นช่องทางให้กิเลสไหลเข้ามาสู่จิต (หมอณัฐถาม...ได้ยินไม่ชัด) .. อือ ดูอย่างนี้ก็ได้ แล้วจะเห็นเอง จิตใจนี้เป็นอิสระ รู้สึกมั้ยจิตใจไม่เป็นอิสระ ตอนนี้รู้สึกมั้ย อาจจะไม่เห็นตัวอาสวะตรงๆ แต่เห็นผลของจิตที่มีอาสวะ ไม่อิสระ จริงๆ จิตถูกอาสวะห่อหุ้มไว้ อาสวะนี่ เทียบแล้วคล้ายๆ กับ เรามี สมมติอยู่บ้านไม้ ใครเคยอยู่บ้านไม้ เวลาเราทำน้ำหกน้ำไหลไปเนี่ย เราจะเห็นเส้นทางที่เราเช็ดให้แห้ง เทน้ำลงไปที่เก่า มันไหลไปทางเดิมอย่างรวดเร็ว มันนำร่อง ความชื้นเดิมมันนำร่อง เพราะน้ำนี้ไหลไปตามความชื้นเดิม อาสวะกิเลสนี่มันนำร่องกิเลสเข้าไปย้อมจิต จิตของเราไม่มีอิสระ เหมือนลูกไก่ที่อยู่ในเปลือกไข่ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ท่านเป็นลูกไก่ที่เจาะเปลือกไข่ออกมาเป็นตัวแรก ท่านใช้คำเปรียบเทียบได้ดี เคยมีพราหมณ์คนนึงไปว่าพระพุทธเจ้า บอกอายุก็ยังน้อยพราหมณ์ผู้แก่ผู้เฒ่ามาก็ไม่ไหว้ไม่ต้อนรับ เฉยเมย ท่านบอกว่าท่านอาวุโสที่สุด ท่านเป็นลูกไก่ที่เจาะเปลือกออกมาได้ พวกที่เหลือยังอยู่ในไข่อยู่เลย ท่านจะไปไหว้ทำไม คำพูดของท่านนะ น่าฟัง จริงๆ แล้วเรามีเปลือกที่ห่อหุ้มอยู่ จิตถูกอาสวะกิเลสห่อหุ้ม ทำยังไงก็ไม่ขาด ไม่ขาด ทำยังไง ยังไง้ ยังไงก็ไม่ขาด พระไตรปิฎกก็เลยใช้คำบอกว่า เวลาบรรลุพระอรหันต์นะ จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะความไม่ถือมั่น เห็นมั้ย หลุดพ้นจากอาสวะ อาสวะมันห่อหุ้มไว้ จิตหลุดพ้นจากอาสวะเพราะความไม่ถือมั่น ไม่ถือมั่นในอะไร ในรูปนาม ในกายในใจ เนี่ยกุญแจของการปฏิบัติอยู่ที่กายกับใจนี่เอง เมื่อไรไม่ถือมั่นในกายในใจ โดยเฉพาะเมื่อไหร่ไม่ถือมั่นในใจในจิต อาสวะจะขาดโดยอัตโนมัติ ถ้าเราเห็นอาสวะแล้วพยายามตัด ทำยังไงก็ไม่ขาด กำหนดจิตให้แหลมคมแค่ไหนก็ไม่ขาดนะ แทงก็ไม่ทะลุนะ พอมันขาดเราจะรู้สึกว่าเรามีอิสระ23 ก.ค. 2549 สภาวะทุกอย่างเสมอภาคกัน การเห็นสภาวะที่หยาบหรือละเอียด ธรรมะภายใน ธรรมะภายนอก ธรรมะที่เป็นกุศล อกุศล ธรรมะที่เป็นสุข เป็นทุกข์ ก็เสมอภาคกัน คือทั้งหมดเกิดและดับ ไม่ใช่ว่าต้องทำให้ละเอียดขึ้นๆ จึงจะบรรลุธรรม บางวันมันก็หยาบ บางวันมันก็ละเอียด เพราะว่าทั้งหมดนี้ เป็นเรื่องของอนัตตา ทั้งหมดเลย สติก็เป็นอนัตตา บางวันก็หยาบ บางวันก็ละเอียด บางวันก็ไม่มีเลย เขาเกิดขึ้นมาจะเป็นยังไงก็ได้ เราเรียนไม่ใช่เพื่อว่าจะเอาดี ไม่ใช่ว่าเราอยากได้สติเยอะๆ เราไม่ได้เรียนเอาตรงนั้นหรอก แต่เราเรียนจนกระทั่งจิตมันเกิดความเข้าใจ ว่าทุกอย่างบังคับไม่ได้ สติจะเกิดหรือไม่เกิด จะหยาบหรือละเอียด เราก็เลือกไม่ได้ ไม่ได้เรียนเอาดีนะ แต่เรียนเพื่อที่จะเห็นว่า ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นมาล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น ธรรมะที่หยาบเกิดขึ้นแล้วก็ดับ ธรรมะที่ละเอียดเกิดแล้วก็ดับ เสมอภาคกัน เรียนเพื่อให้เข้าใจตรงนี้เอง ในที่สุดก็เข้าใจว่า ทุกสิ่งที่เกิดล้วนแต่ดับไปทั้งสิ้น พระโสดาบันรู้แค่นี้เอง22 ต.ค. 2548 การจำสภาวะธรรมได้เป็นเหตุใกล้ให้เกิดสติ สติเกิดขึ้นได้เพราะมีเหตุให้สติเกิด มันเกิดขึ้นเอง เราไปสั่งให้มันเกิดมันไม่เกิดหรอก สติมีการจำสภาวะได้ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะเรารู้จักโกรธเป็นอย่างไร พอโกรธสติก็เกิด พอรู้จักเผลอเป็นยังไง พอเผลอสติก็เกิดพอหัดรู้กาย รู้ใจเนืองๆ สติปัญญาเริ่มแก่กล้าเพียงพอ จิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเอง พอรวมแล้วก็จะเห็นสภาวธรรมเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะ จะเห็นตัวสภาวะเกิดดับ ถัดจากนั้นโคตรภูญาณจะเกิดขึ้น มันจะเกิดการปล่อยวางตัวสภาวะ พอเห็นสภาวะเกิดดับ ปัญญาแก่รอบแล้ว มันวาง มันทิ้งโดยไม่ได้เจตนา ตรงนี้ไม่มีความจงใจเหลืออยู่เลยตั้งแต่จิตรวมแล้วเห็นสภาวะเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะนั้น จิต จะวางการรู้สภาวะแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้ ตรงเนี้ยตรงที่มันปล่อยสภาวะก็ไม่ใช่ปุถุชน ตรงที่ทวนเข้าหาธาตุรู้ยังไม่เข้าถึงธรรมธาตุตัวนี้ก็ไม่ใช่พระอริยะ เพราะงั้นเป็นรอยต่อ เกิดขึ้นแว๊บเดียวทวนเข้าถึงธาตุรู้แท้ๆ ตัวรู้จะมีปัญญาสุดขีดเกิดขึ้น ธาตุรู้นี้ก็เกิดแล้วก็ดับได้อีก จะเห็นเลยว่าความเป็นราไม่มีสักนิดเดียว ถัดจากนั้นจิตจะไปเห็นนิพพาน 2 หรือ 3 ขณะแล้วแต่คน จะเห็นสภาวธรรมเกิดดับ 2 หรือ 3 ขณะจากนั้นจิตจะถอยออกมาจากอัปปนาสมาธิ พอออกมาข้างนอกมันจะทวนกระแสเข้าไปพิจาณาสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกี๊แล้วมันจะเข้าใจ กิเลสยังเหลือ หรือไม่เหลือสักเท่าไร รู้ พอเราปฏิบัติได้อย่างนี้ พอเราต้องการเช็คตัวเอง เราสังเกตที่ใจของเรากิเลสของเราเหลือสักเท่าไร จะไปแล้วเท่าไร หลวงปู่ดูลย์ไปเรียนกรรมฐานกับหลวงปู่มั่นเสร็จแล้วไปเดินนะ เดินมาเดือนกว่าๆ กลับมารายงาน กิเลส 4 ส่วน ผมละเด็ดขาดไปแล้ว 1 ส่วน ส่วนที่ 2 ละได้ครึ่งเดียวยังไม่สมุจเฉจ (การตัดขาด) หลวงปู่มั่นบอกไปทำต่อถูกแล้ว จากนี้ดู สัพเพ สังขารา สัพพสัญญา อนัตตา4 พ.ค. 2548 ทางลัด จิตที่พ้นความปรุงแต่ง จะรู้ธรรมชาติที่พ้นความปรุงแต่ง (นิพพาน) ทางลัดที่สุดสำหรับการปฏิบัติธรรม จึงไม่ใช่การกระทำ (ปรุงแต่ง) ใดๆ แต่เป็นการหยุดกระทำ โดยไม่กระทำ (ปรุงแต่ง) ความหยุดให้เกิดขึ้น มีเพียง การรู้อย่างเงียบสนิทจริงๆ เท่านั้น (โดยไม่มีมายาของการคิดนึกปรุงแต่ง และมายาของการหยุดคิดนึกปรุงแต่ง) ที่เป็นสิ่งสุดท้ายซึ่งผู้ปฏิบัติจะทำได้ ก่อนที่จิตเขาจะ "ก้าวกระโดด" ไปเองหากพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมอย่างถึงที่สุด ย่อมต้องปิดพระโอษฐ์เงียบ แต่นั่นเป็นสิ่งยากเกินกว่าเวไนยชนจะเข้าใจได้ และหากจะทรงกล่าวธรรมอย่างย่นย่อที่สุดว่า สิ่งทั้งปวงไม่ควรยึดมั่น ก็ยังยากที่จะมีผู้รู้ตามได้ เพราะสัตว์ทั้งหลายถ้าไม่ยึดรูปธรรม ก็ต้องยึดนามธรรมไว้ก่อน พระองค์จึงทรงบอก ทางของการปฏิบัติขึ้นมามากมาย โดยอิงกับรูปธรรมและนามธรรม เช่น ทาน ศีล ภาวนา กุศลกรรมบถ ตลอดจนการทำสมถะและวิปัสสนา ทั้งนี้ ก็เพื่อให้พวกเราเดินเข้าใกล้การหยุดพฤติกรรมทางจิต จนเหลือเพียงรู้อย่างเงียบสนิทจริงๆ นั่นเองเช่นทรงสอนให้ทำทาน เพื่อลดความกระวนกระวายเพราะความโลภ ทรงสอนให้รักษาศีล เพื่อเป็นพื้นฐานสำหรับความสงบระงับ ทรงสอนสัมมาสมาธิ เพื่อให้จิตตั้งมั่นและรู้ตัว และทรงสอนวิปัสสนา เพื่อทำลายแรงดึงดูดของอารมณ์ ที่จะพาจิตให้ทะยานไปก่อภพก่อชาติตลอดนิรันดร ผู้ปฏิบัติที่ยังขาดความเข้าใจ ย่อมปฏิบัติสิ่งเหล่านี้ เพื่อที่จะปฏิบัติต่อไป ส่วนผู้ที่เข้าใจแล้ว ก็จะ หยุดการปฏิบัติ ได้ด้วยปัญญาญาณอันแหลมคมหากต้องการทางลัด ก็จำเป็นต้อง รู้ และเลิกคิดเรื่อง ทาง ไปเลย แต่ถ้ายังไม่รู้จัก รู้ ก็ยังจำเป็นต้องอาศัยทางเหล่านั้นต่อไปก่อน4 ธ.ค. 2544 ของฝากจากสวนโพธิ์ 1. เผลอก็ให้รู้ว่าเผลอ เมื่อรู้ว่าเผลอแล้วก็พอแล้ว อย่าเผลอต่อไปอีก ด้วยการคิดว่า ทำอย่างไรจึงจะรู้ตัวได้ต่อเนื่อง2. เพ่งก็ให้รู้ว่าเพ่ง เมื่อรู้ว่าเพ่งแล้วก็พอแล้ว อย่าเผลอหรือเพ่งต่อไปอีก เพื่อจะทำลายการเพ่งนั้น3. หงุดหงิดก็รู้ว่าหงุดหงิด กลัวก็รู้ว่ากลัว มีราคะก็รู้ว่ามีราคะ มีความฟุ้งซ่านก็รู้ว่ามีความฟุ้งซ่าน ให้รู้ด้วยจิตที่เป็นกลางๆ คือไม่คล้อยตาม และไม่ต่อต้าน เพราะถ้าคล้อยตามก็จะถูกกิเลสครอบงำ ถ้าต่อต้านก็จะเกิดความอึดอัดใจ4. สรุปแล้ว ให้รู้ทุกอย่างที่จิตไปรู้เข้า โดยไม่เติมความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ ลงไปอีก เพราะ "รู้" นั่นแหละคือประตูของมรรคผลนิพพาน29 พ.ย. 2544 แก่นสารของการปฏิบัติธรรม การเจริญสติจริงๆ จะไปยากอะไร เพียงแต่ให้มีจิตที่รู้ตัวสบายๆ เป็นธรรมชาติธรรมดานี้เอง แล้วไปรู้อารมณ์ (ที่เป็นปรมัตถ์)ที่กำลังปรากฏ โดยไม่เผลอ ไม่เพ่ง ด้วยความเป็นกลางจริงๆ คลองแห่งความคิดจะขาดไป และจิตจะรู้ โดยปราศจากความปรุงแต่ง ไม่นานผู้ปฏิบัติก็จะสามารถเข้าในวิสังขารธรรม หรือธรรมที่พ้นความปรุงแต่งได้จุดแรกที่พวกเราควรทำความรู้จักก็คือ จิตที่มีสติ ไม่เผลอ ไม่หลง ไม่ถูกครอบงำด้วยความปรุงแต่งมันเป็นอย่างไร เมื่อรู้ตัวเป็นแล้ว ก็รู้ปรมัตถธรรมที่กำลังปรากฏไปตามธรรมดาๆ นี่เอง เช่นรู้ลงในความไหวของกาย ด้วยจิตที่ไม่หลง ก็จะเห็นปรมัตถ์ของ "กาย" อย่างชัดเจน คลองแห่งความคิดจะขาดไป เหลือแต่รู้สักว่ารู้ รู้ตามความเป็นจริง รู้ด้วยจิตที่เป็นกลาง แล้วจะเห็นธรรมฝ่ายสังขารคือ "กาย" หากจิตมีความพร้อม ก็จะเห็นธรรมฝ่ายวิสังขาร คือฝ่ายเหนือความปรุงแต่งได้ในวับเดียว29 พ.ค. 2544 รู้อย่างไรจึงจะบั่นทอนทุกข์ลงได้ "รู้ตัว" เป็น ก็คือมีจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง เป็นธรรมเอก ถัดจากนั้นก็ต้องหัด "รู้" ทุกสิ่งที่กำลังปรากฏ ด้วยความ "รู้ตัว" ก็จะเห็นว่าทุกอย่างที่ถูกรู้ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป และถ้าเมื่อใดจิตขาดความรู้ตัว หลงเข้ายึดถือสิ่งที่ถูกรู้ ความทุกข์ก็เกิดขึ้น ถ้ารู้ โดยรู้ตัวอยู่ ก็เป็น รู้สักว่ารู้ จิตจะเป็นเพียง "ผู้สังเกตการณ์" ปรากฏการณ์ทั้งปวง โดยไม่โดดเข้าไปร่วมแสดงเองที่คุณสุรวัฒน์เล่าถึงการปฏิบัติว่า "ผมก็เลยต้องคอยทำตัวให้ รู้ เข้าไว้ อาบน้ำก็ฝึกรู้ ดูโทรทัศน์ก็ฝึกรู้ กินข้าวก็ฝึกรู้ ...นึกขึ้นได้ตอนไหนก็ฝึกรู้ วันๆก็ฝึกรู้ไปเรื่อยๆ"หัดต่อไปอย่างที่หัดนี่แหละครับ ยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ขับถ่าย ทำ พูด คิด ฯลฯ รู้อยู่ให้ตลอด ให้ต่อเนื่องไปเรื่อยๆ โดยมีผู้รู้ กับสิ่งที่ถูกรู้ ซึ่งถึงจุดนี้ จะเห็นมันแยกกันเองได้แล้วครับ ไม่ต้องไปพยายามทำอะไรเพื่อให้มันแยกกันมากกว่านี้จนผิดธรรมชาติ จะกลายเป็นปฏิบัติด้วยความจงใจและความอยากมากไปครับ30 มิ.ย. 2543 ปัจจัยแห่งความเจริญงอกงามในธรรม (1) ให้พยายามมีสติสัมปชัญญะ รู้ อยู่ในชีวิตประจำวันให้ได้ จะยืน เดิน นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ฯลฯ ก็ให้มีสติรู้กายรู้ใจอยู่เสมอ(2) ให้ปฏิบัติธรรมไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ อย่าเอาแต่วุ่นวายกับการคิด การหาอุบายทางลัด และนิมิตต่างๆ เพราะนั่นล้วนเป็นทางแห่งความเนิ่นช้า(3) อย่าเอาแต่รวมกลุ่มสัญจรไปตามสำนักโน้นสำนักนี้ เที่ยวสนุกกับการไปฟังธรรมที่โน้นที่นี้ ละเลยการฟังธรรมในจิตใจตนเอง(4) มีผลการปฏิบัติใดๆ เกิดขึ้นในระหว่างทาง ก็อย่าเอาแต่ไปเขียนเล่าในกระทู้ให้กิเลสกระเพื่อม จนปฏิบัติต่อไปไม่ได้อีก(5) ขอให้ตั้งใจจริงจังเพื่อเอาตัวให้รอด ลองเอาจริงสัก ปี สองปีก็ยังดี โดยยอมเสียสละเรื่องรกรุงรังในจิตใจเสียสักช่วงหนึ่ง แล้วตั้งใจปฏิบัติให้สม่ำเสมอ9 พ.ย. 2543 วันวานที่ผ่านมา วิปัสสนาที่แท้จริงนั้น มีแต่รู้ ไม่ต้องจงใจเติมสิ่งใดลงไปในรู้ ไม่ว่าจะเป็นศีล สมาธิ หรือปัญญา ไม่ต้องเอาสมมุติบัญญัติ หรือความคิดนึกปรุงแต่งใดๆ มาช่วยทำวิปัสสนา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องพิจารณาโดยสิ้นเชิง เพราะความจงใจเคลื่อนไหวใดๆ จะทำให้จิตก่อภพก่อชาติ ก่อวัฏฏะหมุนวนขึ้นมาอีกผมไม่แนะนำให้พยายามทรงความรู้ตัวให้นานๆ เพราะความพยายามนั้นเอง จะทำให้เกิดการ จงใจ เสแสร้ง ดัดจริต รู้ นักปฏิบัตินั้น อย่าไปนึกถึงเรื่องที่จะให้จิตรู้ตัวต่อเนื่อง ได้เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน เลยครับ เพราะการปฏิบัติ เราจะดูกันเป็นขณะๆ ไปเท่านั้นเอง ว่าขณะนี้รู้ตัวหรือเผลอ ขณะนี้มีสติ หรือขาดสติ ขณะใดมีสติ ขณะนั้นกำลังปฏิบัติอยู่ ขณะใดขาดสติ ขณะนั้นไม่ได้ปฏิบัติ หรือปฏิบัติผิด ไม่ใช่พูดว่า ชั่วโมงนี้รู้ตัว หรือวันนี้รู้ตัว ชั่วโมงต่อมา หรือวันต่อมา ไม่รู้ตัวดังนั้นเมื่อเผลอไป แล้วเกิดรู้ตัวว่าเผลอ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่าเพ่ง ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อมีราคะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีราคะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อโทสะ แล้วเกิดรู้ตัวว่ามีโทสะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว เมื่อมีโมหะ แล้วเกิดรู้ตัวว่าโมหะ ขณะนั้น จิต รู้ ถูกต้องแล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น