หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันอาทิตย์ที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2560
ผู้ตื่นอยู่เสมอพระพุทธภาษิต อปฺปมตฺโต ปมตฺเตสุ สุตฺเตสุ พหุชาคโร อพลสฺสํ ว สีฆสฺโส หิตฺวา ยาติ สุเมธโส คำแปล บุคคลผู้มีปัญญา เมื่อคนทั้งหลายประมาทอยู่ เป็นผู้ไม่ประมาท เมื่อคนทั้งหลายหลับอยู่ เป็นผู้ตื่นอยู่เป็นส่วนมาก ย่อมละบุคคลผู้ประมาท เหมือนม้าฝีเท้าดี ละทิ้งม้าฝีเท้าไม่ดี ไม่มีกำลังไป ฉะนั้น อธิบายความ ผู้ไม่มีธรรมเป็นเครื่องตื่น คือสติ ท่านเรียกว่าผู้หลับ หลับอยู่เป็นนิตย์ ส่วนผู้ไม่ประมาท มีสติอยู่เสมอ ท่านเรียกว่าเป็นผู้มีปัญญาดี โดยปริยายเบื้องสูงท่านหมายถึงพระขีณาสพ คือผู้สิ้นกิเลสแล้ว กล่าวโดยปริยายสามัญ คนที่ประกอบด้วยคุณลักษณะ ๓ ประการ คือไม่ประมาท มีความเพียรไม่เห็นแก่หลับนอน และ มีปัญญาดี ย่อมเอาชนะผู้อื่นได้โดยง่าย เป็นเสมือนม้าฝีเท้าดี, คนอย่างนั้นย่อมระลึกอยู่เสมอว่า "ใครจะประมาทก็ช่างเขา เราไม่ประมาท ใครจะหลับนอนอย่างเกียจคร้านก็ช่างเขา เราตื่นอยู่" ทำได้อย่างนี้สม่ำเสมอ จะเรียนหรือจะทำงานก็เจริญรุดหน้าได้ทั้งสิ้น บางคนมีสมองดี แต่เกียจคร้าน บางคนสมองสติปัญญาไม่ดีแต่ขยัน คือได้อย่างหนึ่ง เสียอย่างหนึ่ง ถ้าใครได้ทั้งสองอย่างคือ ทั้งสติปัญญาดีและทั้งขยันหมั่นเพียร มีกำลังกายดี คนนั้นย่อมเจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว-ไปเร็วกว่าเพื่อนรุ่นเดียวกัน พระพุทธภาษิตนี้ พระศาสดาตรัส เพราะทรงปรารภภิกษุ ๒ สหาย มีเรื่องย่อดังนี้ : เรื่องประกอบ/ภิกษุสองสหาย เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่วัดเชตวัน ภิกษุเป็นสหายกันสองรูป เรียนกัมมฐานจากพระศาสดาแล้วไปพำนักอยู่ในป่า รูปหนึ่งเร่งทำความเพียรด้วยความไม่ประมาท ส่วนอีกรูปหนึ่ง เที่ยวหาฟืนในตอนเย็นนำมากองไว้แล้วผิงไฟคุยกับภิกษุสามเณรตลอดปฐมยาม (๔ ชั่วโมง) แห่งราตรี ภิกษุผู้ไม่ประมาทเตือนว่า "ผู้มีอายุ อย่ามัวทำอยู่อย่างนั้น เร่งทำความเพียรเข้าเถิด อบาย ๔ เป็นเช่นเรือนนอนแห่งผู้ประมาทแล้ว พระพุทธเจ้าไม่ทรงโปรดปรานผู้โอ้อวดและประมาท" แต่ภิกษุผู้ประมาทหาเชื่อฟังไม่ มิหนำซ้ำ เมื่อภิกษุผู้สหายทำความเพียรพอสมควร แล้วเข้าห้องเพื่อพักผ่อนในมัชฌิมยาม ก็ตามเข้าไปว่า "ท่านเกียจคร้านมาก ท่านมาอยู่ป่าเพื่อนนอนหลับหรือ? ท่านเรียนกัมมฐานมาจากสำนักพระพุทธเจ้าแล้ว ควรจะลุกทำความเพียรทั้งกลางวันและกลางคืน" ดังนี้แล้ว กลับไปนอนที่ห้องของตน งานที่ภิกษุรูปนี้ทำประจำก็คือคุย และนอนกับเข้าไปเปรียบเปรยภิกษุสหายผู้ทำความเพียร ส่วนภิกษุผู้ทำความเพียร พักผ่อนในมัชฌิมยามแล้ว ลุกขึ้นทำสมณธรรมในปัจฉิมยาม ไม่ประมาทอยู่อย่างนั้น ไม่นานนักก็ได้บรรลุอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งสองรูปไปสู่สำนักพระศาสดา พระองค์ตรัสถามว่า ทั้งสองอยู่ด้วยความไม่ประมาท ตลอดพรรษาหรือ? กิจแห่งบรรพชิตได้ทำให้สิ้นสุดแล้วหรือ? ภิกษุผู้ประมาททูลว่า ตนเองได้ออกหาฟืนแต่เวลาเย็นนำมาก่อไฟผิง นั่งผิงอยู่ตลอดปฐมยามมิได้หลับนอน ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งเอาแต่นอนอย่างเดียว พระศาสดาตรัสว่า "เธอนั่นแหละเป็นผู้ประมาท แล้วยังมาพูดว่า ตัวไม่ประมาทอีก ส่วนบุตรของเราผู้ไม่ประมาท เธอมาบอกว่าประมาท เธอเป็นเสมือนม้าทุรพล ขาดเชาว์ เป็นผู้พ่ายแพ้ ส่วนบุตรของเราเป็นเสมือนม้าที่มีเชาว์ดี" ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น