วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

การปฏิบัติในขั้นแตกหักว่า ทําอย่างไรจะปล่อยวางตัวจิตนี้ได้เราหัดเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ถึงวันที่อริยมรรคจะเกิด จิตจะรวมเข้าฌานโดยอัตโนมัตินะ จิตเวลาที่เกิดมรรคเกิดผล จะไม่เกิดในจิตของคนธรรมดา นี่เรียกว่ากามาวจรจิต กามาวจรภูมิ ไม่เป็นอย่างนั้น จะต้องเข้าฌานนะ เมื่อมันรวมเข้าไปแล้วมันจะเห็น สภาวะธรรมนี่เกิดดับสองขณะหรือสามขณะ แต่ละคนไม่เท่ากันนะ ถัดจากนั้นจิตจะวางการรู้อารมณ์ ทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้ สิ่งที่ห่อหุ้มปกคลุมธาตุรู้อยู่นี่ ถูกอริยมรรคแหวกออกไป แล้วก็มันจะไปเห็นนิพพานนะ นิพพานไม่ใช่ว่างเปล่า นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง พวกเรายังไม่เคยเห็น เราก็วาดภาพสุดโต่งไปสองข้าง ข้างหนึ่งก็นิพพานเป็นโลกๆหนึ่ง พวกนี้พวกสัสตะทิฐิ มีของที่เที่ยงคงที่ อีกพวกหนึ่งคิดว่านิพพานสูญไปเลย ขณะนั้นไม่มีอะไรเหลือเลย กระทั่งสติ พวกนี้หลงไปล่ะ คิดว่านิพพานไม่มีอะไรเลย นี่พวกอุจเฉททิฐินะ นิพพานมีนะ นิพพานมีสภาวะรองรับ สภาวะของนิพพานคือสันติ คือความสงบนั่นเอง สงบจากอะไร สงบจากกิเลส สงบจากอะไร สงบจากความปรุงแต่ง สงบจากอะไร สงบจากการแบกหามขันธ์นะ ดังนั้นเราภาวนานะ ภาวนาไปเรื่อยนะ เห็นทุกข์ไปเรื่อย สุดท้ายใจมันเต็มอิ่ม ขึ้นมา มันไม่หิวโหยหาอารมณ์ภายนอกแล้ว อารมณ์ภายนอก เอามันทําไม มันมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ใจไม่หิวไปหาอารมณ์ ภายนอก ไม่แส่ส่าย ไม่ฟุ้งซ่านไปสู่อารมณ์ภายนอก เพราะมีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลยพอใจไม่แส่ส่าย ใจสงบ ใจตั้งมั่น ใจเด่นดวง เป็นผู้รู้ผู้ตื่น ผู้เบิกบานอยู่ ใจก็มีแต่ความสุข เพราะฉะนั้น พระอนาคามีจะเห็น กายเป็นทุกข์ล้วนๆ ไม่ยึดถือกาย แต่ยึดถือจิต ที่จริงเห็นมาตั้งแต่ ขั้นพระโสดาบันแล้วว่า จิตไม่ใช่ตัวเรา รู้ว่าเป็นของยืมโลกมาใช้ แต่ว่ามันนำความสุขมาให้ ติดอกติดใจไม่ยอมคืนโลก แล้วไม่เห็นช่องทางที่จะคืนเลย นี่มาถึงตรงนี้นะ มันคือการปฏิบัติในขั้นแตกหักว่า ทําอย่างไรจะปล่อยวางตัวจิตนี้ได้ถ้าภาวนามาเรื่อยนะ จนรู้สึกว่าใจมันขาดอะไรอย่างหนึ่ง มันจึงไม่สามารถปล่อยวางจิตได้ ปล่อยไปเดี๋ยวก็หยิบขึ้นมา ไม่ปล่อยจริง ในใจรู้แต่ว่ามันขาด แต่ขาดอะไรไม่รู้นะ ภาวนาไปเรื่อยนะ วันหนึ่งก็เข้าใจ มันขาดความเข้าใจอริยสัจ มันไม่เห็นหรอกว่าตัวจิต เป็นตัวทุกข์ มันเห็นว่าจิตนี้เป็นสุขบ้างเป็นทุกข์บ้าง ถ้าภาวนาดีๆ ก็เห็นจิตมีแต่ความสุข ไม่มีความทุกข์ ไม่สามารถเห็นได้ว่าตัวจิต เป็นตัวทุกข์ เพราะว่าไม่เห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้ถ้าเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของจิตผู้รู้ถึงจะเข้าใจความจริง ว่าจิตเองก็ตกอยู่ภายใต้ความทุกข์ ตกอยู่ใต้สภาวะที่เป็นตัวทุกข์ การที่เราเห็นอย่างแจ่มแจ้งว่ากายนี้เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง จิตนี้เป็นทุกข์โดยตัวของมันเอง อันนี้เรียกว่ารู้แจ้งใน “ทุกขสัจ” วันใดเห็นว่าจิตเป็นตัวทุกข์นั่นแหละเรียกว่าเรา “รู้ทุกข์” แจ่มแจ้งแล้ว เป็นภาวะที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อเรารู้อริยสัจแจ่มแจ้ง พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกขสัจเอาไว้ว่า “สังขิตเตนะ ปัฐจุหาทานักขันธา ทุกขา” โดยสรุปอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕ เป็นตัวทุกข์ ขันธ์ทั้ง ๕ ย่อลงมาก็คือรูปกับนาม เราต้องเห็นรูปกับนามเป็น ตัวทุกข์ เราถึงจะปล่อยวางรูปนามได้ ถ้าปล่อยวางรูปนามได้ ก็พ้นทุกข์ได้ เอ้าชั่วโมงนึงพอดีๆนะ ให้หลวงพ่อเทศน์เรื่องนี้ยาวมากนะ เนื้อหามันยาวมากเลย เทศน์รอบเดียวไม่จบหรอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น