วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

จิตมีธรรมชาติส่ายแส่ ส่ายไปส่ายมา ส่ายไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรผล...

จิตใจของเรานี่แส่ทั้งวัน มันเลยมีศัพท์คำหนึ่ง คำว่า “ส่ายแส่” รู้สึกมั้ย ส่ายไปแล้วก็แส่หาเรื่อง ส่ายไปแล้วก็แส่หาเรื่อง จิตมีธรรมชาติส่ายแส่ ส่ายไปส่ายมา ส่ายไปทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อะไรผลักให้ส่าย ตัณหาผลักให้ส่าย ส่ายไปแล้วก็ไปแส่ หาเรื่องมาใส่ตัวเอง วิ่งไปทางตาก็วิ่งไปเอาความทุกข์มาใส่ตัวเอง วิ่งไปทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย วิ่งไปคิดไปนึกนะ ก็วิ่งไปเอาความทุกข์มาใส่ตัวเองล้วนๆเลย

ตอนตะลุมบอนมองไม่ออกนะ คนวงนอกมองออก ทีนี้ทำอย่างไรเราจะสามารถฝึกจนเกิดคนวงนอกอยู่ในนี้ การเจริญสติปัฏฐานจะทำให้เรากลายเป็นคนวงนอกสำหรับกายนี้และใจนี้ เราจะมาอยู่วงนอกนะ เราจะเห็นกายเห็นใจมันทำงานไป เราไม่เกี่ยวหรอก เราเห็นมันทำงานไปเรื่อยๆเลย เพราะฉะนั้นมันจะทำผิด ทำถูก ทำดี ทำไม่ดี มันเห็นได้ชัดเพราะเราไม่ได้คลุกวงใน ถ้าคลุกวงในแล้วมันเกิดอคติขึ้นมา

โยม: หลวงพ่อคะ แล้วในกรณีที่เรารู้สึกว่า ถ้าเราไม่ไปคลุก มันเหมือนกับเราละเลยหน้าที่อะไรบางอย่าง

หลวงพ่อปราโมทย์: นั่นแหละ กิเลสมันหลอก เราสามารถทำหน้าที่โดยไม่คลุกวงในได้ เพราะฉะนั้นเวลามีปัญหา เราต้องแก้ปัญหาด้วยใจที่ตั้งมั่น เป็นกลาง เราจะมองปัญหาได้ชัด ที่นี้กิเลสมันจะหลอกให้ต้องทุ่มให้สุดเนื้อสุดตัว กระโดดเข้าไปคลุกวงใน แก้ปัญหาได้ไม่ดี เพราะมองอะไรก็ไม่ชัด มองอย่างคนนอก จะมองง่าย แก้ปัญหาง่าย เพราะฉะนั้นพวกที่ปรึกษาเลยหากินง่ายนะ ไม่ได้ฉลาดกว่าเรานะ ที่พวกเราต้องจ้างบริษัทฯที่ปรึกษามาทำโน่นทำนี่ พวกนี้ไม่ได้รู้งานของเรามากกว่าเรา พวกนี้ไม่ได้มีไอเดียหรือฉลาดอะไรมากกว่าเรา แต่พวกนี้ไม่มีผลประโยชน์กับเรา เราจะเจ๊งก็ไม่ว่าอะไร ขอให้จ่ายเงินก็แล้วกัน เพราะฉะนั้นเขามองอะไรได้ง่ายกว่าเรา

ทำอย่างไรเราจะเป็นคนวงนอกสำหรับตัวเองโดยไม่ต้องจ้างใครมาช่วยมอง เป็นคนวงนอกก็ได้เห็นเลย กายไม่ใช่เรา รู้สึกมั้ย กายอยู่ห่างๆ จะรู้สึกทันทีเลย กายอยู่ห่างๆ เวทนา ความสุข ความทุกข์ อยู่ห่างๆ กุศล อกุศล อยู่ห่างๆ เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน เราไม่เข้าไปคลุกกับเขา ดูอย่างนี้นะ แล้วทุกอย่างจะผ่านมาแล้วก็ผ่านไปให้ดู โอ้..ภาวนาแล้วจะมีแต่ความสุข

โยม: ตอนนี้มันเป็นลักษณะที่ รู้ทฤษฎี แต่พอเวลาถึงจังหวะจริงๆ..

หลวงพ่อปราโมทย์: นั่นแหละ นั่นแหละ มันยังเมาหมัดอยู่ เพราะว่ามันชกมานาน มันชกมานับภพนับชาติไม่ถ้วน มันไม่เคยทำตัวเป็นแค่ ผู้รู้ ผู้ดู ผู้สังเกตการณ์ เพราะเราเข้าวงในตลอด

พระพุทธเจ้าสอนเรา ให้ฝึกจิตฝึกใจของเรานะ จนจิตใจของเราตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดูนะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่คลุกวงใน พอพระพุทธเจ้าสอนเรา จนใจของเราตั้งมั่นขึ้นมา บทเรียนที่ทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นมาอย่างนี้เรียกว่า “จิตตสิกขา” จิตตสิกขา เราจะศึกษาไปจนจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เป็นแค่คนดู เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่นักประพันธ์ ไม่ใช่นักวิจารณ์ ไม่ใช่นักแสดง เป็นแ่ค่คนดู พอดูแล้วคราวนี้ล่ะเห็นชัดเลย ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำงานนี้ไม่ใช่เราสักอันหนึ่ง ร่างกายที่ทำงานอยู่ไม่ใช่เรา เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่ใช่เรา สังขารที่เป็นกุศล อกุศล ไม่ใช่เรา จิตที่เกิดดับทางทวารทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่เรา ดูอย่างนี้นะ มันถอนเอาความเป็นเราออกมาแล้วมาคอยรู้คอยดูไปเรื่อยๆ ทำตัวเป็นแค่คนดู ถ้าคลุกวงในจะไม่เห็น

เหมือนเขาเตะฟุตบอลกันนะ เราอยากดูให้ชัดนะ กระโดดลงไปยืนกลางสนามนะ เราจะเจอเท้า ๔๔ ข้าง นะ ใช่มั้ย ๔๖ มีกรรมการอีกคน ดีไม่ดีโดนเหยียบ หลบคนนี้ เจออีกคนนี้ อะไรอย่างนี้ ถ้าเรานั่งบนอัฒจรรย์ดู เราเห็นหมดเลย เห็นภาพชัด

หรือเหมือนกับคนชกมวยกับคนดูมวยนะ คนชกมวยนะ มันเก่งแสนเก่ง เวลาชกนะ สังเกตมั้ย พวกที่ยืนข้างเวทีเป็นคนสอน ชกตรงนั้นสิ ชกตรงนี้สิ เพราะมันไม่มีส่วนได้เสีย มันดูง่าย เนี่ย บอก “เอ็งเซ่อ เอาหน้าไปให้เขาชกอยู่เรื่อย หลบสักนิดหนึ่งก็พ้นแล้ว” แต่ตอนเมาหมัดน่ะมันไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าเมาหมัดนะ เวลาภาวนาห้ามเมาหมัด จำไว้นะ อย่าคลุกวงใน อย่าตะลุมบอนกับกิเลส ดูอยู่ห่างๆ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ดูห่างๆไว้นะ

คำว่าดูห่างๆนี้เป็นสภาวะนะ ถ้าภาวนาเป็นถึงจะรู้ัจัก ถ้าภาวนาไม่เป็น ดูห่างๆไม่เป็น ไม่เข้าใจหรอกว่าห่างอย่างไร ได้ยินหลวงพ่อพูดแล้วก็งงๆ แต่ถ้าภาวนาเป็นจะรู้เลย กายกับจิตนี้มีระยะทางนะ มีช่องว่าง มีระยะห่าง จิตกับเวทนาก็มีระยะห่าง จิตกับสังขารก็มีระยะห่าง แถมจิตที่ว่ามีระยะห่างนั้นยังเกิดดับเสียอีก ไปๆมาๆหาตัวเราไม่ได้สักตัวเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น