วันศุกร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เราต้องฝึกสติให้เร็วขึ้น จนใจไหวแว้บรู้ทันพระพุทธเจ้าสอนเรา ให้ฝึกจิตฝึกใจของเรานะ จนจิตใจของเราตั้งมั่นขึ้นมา เป็นผู้รู้ผู้ดูนะ เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ไม่คลุกวงใน พอพระพุทธเจ้าสอนเรา จนใจของเราตั้งมั่นขึ้นมา บทเรียนที่ทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นมาอย่างนี้เรียกว่า “จิตตสิกขา” จิตตสิกขา เราจะศึกษาไปจนจิตของเราตั้งมั่นขึ้นมา เป็นแค่คนดู เป็นแค่ผู้สังเกตการณ์ ไม่ใช่นักประพันธ์ ไม่ใช่นักวิจารณ์ ไม่ใช่นักแสดง เป็นแ่ค่คนดู พอดูแล้วคราวนี้ล่ะเห็นชัดเลย ว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำงานนี้ไม่ใช่เราสักอันหนึ่ง ร่างกายที่ทำงานอยู่ไม่ใช่เรา เวทนา สุข ทุกข์ เฉยๆ ไม่ใช่เรา สังขารที่เป็นกุศล อกุศล ไม่ใช่เรา จิตที่เกิดดับทางทวารทั้งหก ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ใช่เรา ดูอย่างนี้นะ มันถอนเอาความเป็นเราออกมาแล้วมาคอยรู้คอยดูไปเรื่อยๆ ทำตัวเป็นแค่คนดู ถ้าคลุกวงในจะไม่เห็น เหมือนเขาเตะฟุตบอลกันนะ เราอยากดูให้ชัดนะ กระโดดลงไปยืนกลางสนามนะ เราจะเจอเท้า ๔๔ ข้าง นะ ใช่มั้ย ๔๖ มีกรรมการอีกคน ดีไม่ดีโดนเหยียบ หลบคนนี้ เจออีกคนนี้ อะไรอย่างนี้ ถ้าเรานั่งบนอัฒจรรย์ดู เราเห็นหมดเลย เห็นภาพชัด หรือเหมือนกับคนชกมวยกับคนดูมวยนะ คนชกมวยนะ มันเก่งแสนเก่ง เวลาชกนะ สังเกตมั้ย พวกที่ยืนข้างเวทีเป็นคนสอน ชกตรงนั้นสิ ชกตรงนี้สิ เพราะมันไม่มีส่วนได้เสีย มันดูง่าย เนี่ย บอก “เอ็งเซ่อ เอาหน้าไปให้เขาชกอยู่เรื่อย หลบสักนิดหนึ่งก็พ้นแล้ว” แต่ตอนเมาหมัดน่ะมันไม่รู้ เพราะฉะนั้นอย่าเมาหมัดนะ เวลาภาวนาห้ามเมาหมัด จำไว้นะ อย่าคลุกวงใน อย่าตะลุมบอนกับกิเลส ดูอยู่ห่างๆ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้น ดูห่างๆไว้นะ คำว่าดูห่างๆนี้เป็นสภาวะนะ ถ้าภาวนาเป็นถึงจะรู้ัจัก ถ้าภาวนาไม่เป็น ดูห่างๆไม่เป็น ไม่เข้าใจหรอกว่าห่างอย่างไร ได้ยินหลวงพ่อพูดแล้วก็งงๆ แต่ถ้าภาวนาเป็นจะรู้เลย กายกับจิตนี้มีระยะทางนะ มีช่องว่าง มีระยะห่าง จิตกับเวทนาก็มีระยะห่าง จิตกับสังขารก็มีระยะห่าง แถมจิตที่ว่ามีระยะห่างนั้นยังเกิดดับเสียอีก ไปๆมาๆหาตัวเราไม่ได้สักตัวเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น