หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันเสาร์ที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2560
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานต่อไปหลวงพ่อจะสอนปิดท้ายนิดหนึ่ง เป็นเคล็ดลับของการดูจิต พวกเราเคยได้ยินคำว่า “ดูจิต” มั้ย ยุคนี้ใครไม่ได้ยินนะ เรียกว่าเชยแหลกเลย บางคนดูยังไม่เป็นหรอกนะ ก็ยังอุตส่าห์บอกว่าดูจิต ใครไม่ดูจิตเรียกว่าล้าสมัย จริงๆเคล็ดลับของการดูจิตเนี่ยไม่ยากเท่าไหร่ มีอยู่ ๓ ขั้นตอนนะ การดูจิตไม่ใช่ทั้งหมดของการปฏิบัตินะ บางคนดูกายก็ได้ บางคนดูเวทนาก็ได้ บางคนดูจิตก็ได้ แต่พวกเราเป็นคนในเมือง กรรมฐานที่เหมาะกับคนในเมืองคือการดูจิต ไม่ใช่หลวงพ่อพูดเองนะ หลวงปู่ดูลย์เคยสอนไว้ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๖ วันหนึ่งหลวงพ่อนั่งอยู่กับหลวงปู่ดูลย์ จู่ๆท่านก็พูดขึ้นมานะ ต่อไปการดูจิตจะรุ่งเรืองในเมือง ตอนนั้นเราไม่เชื่อนะ จะรุ่งเรื่องจริงเร้อ มันน่าจะรุ่งริ่งมากกว่า ไปไหนก็ไม่เห็นมีใครรู้จักดูจิตเลย แล้วเมื่อสักอาทิตย์ สองอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ หลวงพ่อไปเยี่ยมครูบาอาจารย์องค์หนึ่ง ลูกศิษย์หลวงพ่อชา ท่านก็บอกว่า โอ้..อาจารย์ปราโมทย์สอนให้คนดูจิต ดีนะ หลวงพ่อชาเคยบอกท่านไว้ว่า คนในเมืองน่ะ พวกปัญญาชน พวกคนในเมือง อะไรพวกนี้นะ อย่าไปสอนเรื่องอื่นเลย สอนให้ดูจิตไปเลย แต่ต้องดูด้วยความเป็นกลาง เพราะฉะนั้นเราดูจิตไปนะ แล้วจิตไม่เป็นกลางคอยรู้ทันไว้ ดูด้วยความเป็นกลาง จิตดีก็รู้ไป ไม่ต้องไปชอบมัน จิตร้ายก็รู้ไป ไม่ต้องไปเกลียดมัน รู้อย่างเป็นกลางไปเรื่อย แค่นี้เอง นี่คือคำว่า “ดูจิต” ดูจิตก็คือ จิตใจเราเป็นอย่างไร รู้ ว่าเป็นอย่างนั้น ทีนี้เราจะดูจิตให้เห็นว่าจิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้นได้เนี่ย มันมี ๓ ขั้นตอน ขั้นตอนที่ ๑ ก่อนจะดู อย่าอยากดูแล้วไปรอดู เวลาพวกเราคิดถึงการดูจิต พวกเราจะไปดักดูไว้ก่อน ไหนดูสิ หายใจไป แล้วดูสิ จิตจะกระดุกกระดิกเมื่อไหร่ จ้องๆๆ จิตจะนิ่งไปเลย ไม่มีอะไรให้ดูนะ มีแต่นิ่ง เพราะฉะนั้นกฎข้อที่ ๑ ของการดูจิตเนี่ยนะ อย่าดักดู จริงๆแล้วการทำวิปัสสนาจะไม่ดักดูทั้งนั้นแหละ ดูจิตห้ามดักดูเลย ถ้าดักดูเมื่อไรจิตจะนิ่ง การดูจิตก็คล้ายกับการจะดูพฤติกรรมของเด็กซนๆสักคนหนึ่ง ถ้าเราถือไม้เรียวเฝ้าไว้นะ เราไปถือจ้องไว้อย่างนี้นะ เด็กก็ไม่กล้าซน ใช่มั้ย ไม่กล้าซน จิตก็เหมือนกัน ถ้าเราไปนั่งจ้องอยู่นะ มันไม่กล้าซน มันจะนิ่ง เพราะฉะนั้นกฎข้อที่ ๑ ของการดูจิตนะ อย่าไปจ้องมันไว้ ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนนะ แล้วค่อยรู้เอา นี่กฎข้อที่ ๑ นะ ให้ความรู้สึกเกิดขึ้นก่อนแล้วค่อยรู้เอา เช่น ให้ใจลอยไปก่อน แล้วรู้ว่าใจลอย ให้โกรธไปก่อน แล้วรู้ว่าโกรธ ให้โลภไปก่อนแล้วรู้ว่าโลภ ทำไมต้องให้มันเป็นไปก่อน คำว่า “จิตตานุปัสนนา” เนี่ย โดยคำศัพท์มันนะ คือคำว่า “จิต” คำว่า “อนุ” คำว่า “ปัสสนา” ปัสสนาคือการเห็น อนุแปลว่าตาม ตามเห็นเนืองๆซึ่งจิต เพราะฉะนั้นจิตโกรธขึ้นมา รู้ว่าจิตโกรธ ไม่ใช่ให้ไปรอดูนะว่าต่อไปนี้จิตชนิดไหนจะเกิดขึ้น ถ้าไปอ่านสติปัฏฐานให้ดีท่านจะสอนไว้ชัดๆเลยนะ ท่านบอกว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อจิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ เห็นมั้ย ราคะเกิดก่อนนะ แล้วรู้ว่ามีราคะ ท่านไม่ได้สอนนะ ภิกษุทั้งหลาย จงรอดูสิว่าอะไรจะเกิดในจิตของเธอ ไม่ได้สอนอย่างนี้เลยนะ เพราะฉะนั้น จิตมีราคะ ให้รู้ว่ามีราคะ จิตมีโทสะ ให้รู้ว่ามีโทสะ จิตหลงไปใจลอยไป รู้ว่าใจลอยไป ไม่ห้ามนะ แต่ใจลอยไปรู้ว่าใจลอยไป ให้สภาวะเกิดก่อนแล้วตามรู้ นี่คือกฎข้อที่ ๑ อันแรกก็คือ ก่อนจะรู้อย่าไปดักนะ อย่าไปดักดู ก่อนจะดูเนี่ย ก่อนจะรู้จิต ก่อนจะดูจิต อย่าไปจ้องเอาไว้ ให้สภาวะเกิดแล้วก็ค่อยตามดูเอา กฎข้อที่ ๒ ระหว่างดูจิตเนี่ย ระวังอย่าให้ถลำลงไปจ้อง ระวังอย่าถลำลงไปเพ่ง ยกตัวอย่างพวกเรา เวลาหายใจ สังเกตมั้ย เวลารู้ลมหายใจ บางทีจิตไหลไปอยู่ที่ลมหายใจ เวลาดูท้องพองยุบจิตชอบไหลไปอยู่ที่ท้อง เวลาเดินจงกรมจิตไหลไปอยู่ที่เท้า นี่เรียกว่าจิตไม่ตั้งมั่น เวลาเราดูจิตก็เหมือนกัน ถ้าเห็นความโกรธผุดขึ้นมานะ ให้ดูสบายๆนะ ดูแล้วเหมือนจะเห็นว่าคนอื่นโกรธนะ ไม่ใช่เราโกรธนะ ดูห่างๆ เราเห็นความโกรธเหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน หรือเหมือนเห็นรถยนต์วิ่งผ่านหน้าสเถียรฯอย่างนี้ ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา มันมาแล้วมันไปๆ ใจเราอยู่ห่างๆ เพราะฉะนั้นกฎข้อที่ ๒ เวลาดู อย่าถลำลงไปจ้อง ดูห่างๆ ดูสบายๆ ดูแบบคนวงนอก ดูเหมือนคนดูฟุตบอล นั่งบนอัฒจรรย์เห็นนักฟุตบอลวิ่งไปวิ่งมา อย่ากระโดดลงไปในสนามฟุตบอล กฎข้อที่ ๓ ก็คือ เมื่อเห็นสภาวะใดๆแล้วนะ อย่าเข้าไปแทรกแซง อันที่ ๑ ก่อนจะรู้ อย่าไปดักรู้ อันที่ ๒ ระหว่างรู้ อย่าไปจ้อง อย่าไปถลำไปจ้อง อันที่ ๓ เมื่อรู้แล้วอย่าเข้าไปแทรกแซง เช่นความโกรธเกิดขึ้น รู้ว่าจิตมันโกรธ อย่าไปห้ามมัน ไม่ต้องห้ามมัน ความโกรธก็จะแสดงไตรลักษณ์ให้ดู เกิดได้ก็ดับได้เหมือนกัน ความโลภเกิดขึ้นก็อย่าไปว่ามันนะ ก็จะเห็นว่าความโลภเกิดขึ้นแล้วก็ดับเองได้ ความสุขความทุกข์มันก็ดับของมันเอง สิ่งทั้งหลายมีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้ เราจะเห็นอย่างนี้เนืองๆ เพราะฉะนั้น เราไม่ใช่ว่า สภาวะอะไรเกิดขึ้นก็เข้าไปแทรกแซง ยกตัวอย่างเวลาเราใจลอยไป เรานั่งหายใจอยู่ พอใจลอยปุ๊บ อุ๊ยใจลอยไมดี ดึงกลับมาอยู่ที่ลม บังคับจิตไม่ให้หนีไปไหนนะ อย่างนี้แทรกแซงแล้ว อย่าไปแทรกแซงนะ ให้รู้ สักว่ารู้ หมายถึง รู้โดยไม่เข้าไปแทรกแซง ถ้าพวกเราทำได้ ๓ ขั้นตอนนี้นะ ก่อนจะดูนะ อย่าอยากดูแล้วถลำเข้าไปจ้อง ไปอยากดูน่ะ แล้วก็ไปคอยดักดูไว้ก่อน อันที่ ๒ ระหว่างดู อย่าถลำลงไปจ้อง ดูอยู่ห่างๆ เหมือนคนดูฟุตบอลอยู่บนอัฒจรรย์ อันที่ ๓ รู้แล้วไม่เข้าไปแทรกแซง มันดีก็รู้ไป มันก็จะเห็นว่าดีอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย.. มันชั่วก็เห็นไป ความชั่วอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย มันสุขก็รู้ไปนะ แล้วก็จะเห็นความสุขอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป ความทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย ทุกอย่างอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไปทั้งสิ้นเลย อย่าเข้าไปแทรกแซง เพราะเมื่อเข้าไปแทรกแซงเมื่อไร เป็นสมถะเมื่อนั้นเลย เป็นการทำสมถกรรมฐาน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น