วันอาทิตย์ที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2560

จิตของเรา คือเพื่อนร่วมทาง ใน สังสารวัฏ ท่านทั้งหลาย จงหาคุณใส่จิต อย่าป...



พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๖ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๘
ขุททกนิกาย วิมาน-เปตวัตถุ เถร-เถรีคาถา


[๒๗๑] เต่าตาบอดเกาะขอนไม้เล็กๆ จมลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตร
อาศัยคนเกียจคร้านดำรงชีพ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น
บุคคลพึงเว้นคนเกียจคร้านผู้มีความเพียรเลวทรามเสีย ควรอยู่ร่วมกับ
บัณฑิตทั้งหลายผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว ผู้เพ่งฌาน มีความเพียร
อันปรารภแล้วเป็นนิตย์.
๕. สัพพมิตตเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับคน
[๒๗๒] คนเกี่ยวข้องในคน คนยินดีกะคน คนถูกคนเบียดเบียน และคนเบียด-
เบียนคน ก็จักต้องการอะไรกับคนหรือกับสิ่งที่คนทำให้เกิดแล้วแก่คน
เล่า ควรละคนที่เบียดเบียนคนเป็นอันมากไปเสีย.
๖. มหากาลเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษอุปธิ
[๒๗๓] หญิงชื่อกาฬี มีร่างกายใหญ่ ดำดังกา หักขาซ้ายขาขวา แขนซ้ายแขนขวา
และทุบศีรษะของซากศพ ให้มันสมองไหลออกดังหม้อทธิแล้ววางไว้
ตามเดิม นั่งอยู่ ผู้ใดแลไม่รู้แจ้งเป็นคนเขลา ก่อให้เกิดกิเลส ผู้นั้น
ย่อมเข้าถึงทุกข์ร่ำไป เพราะฉะนั้น บุคคลรู้ว่าอุปธิเป็นเหตุเกิดทุกข์
จึงไม่ควรก่อกิเลสให้เกิด เราอย่าถูกเขาทุบศีรษะนอนอยู่อย่างนี้อีกต่อไป.
๗. ติสสเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษลาภสักการะ
[๒๗๔] ภิกษุศีรษะโล้น ครองผ้าสังฆาฏิ ได้ข้าว น้ำ ผ้า และที่นอน ที่นั่ง
ย่อมชื่อว่าได้ข้าศึกไว้มาก ภิกษุรู้โทษในลาภสักการะว่าเป็นภัยอย่างนี้แล้ว
ควรเป็นผู้มีลาภน้อย มีจิตไม่ชุ่มด้วยราคะ มีสติงดเว้นความยินดีในลาภ.
๘. กิมพิลเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญการยินดีในธรรม
[๒๗๕] พระศากยบุตรทั้งหลายผู้เป็นสหายกันในปาจีนวังสทายวัน ได้พากันละ
โภคะไม่น้อย มายินดีในการเที่ยวบิณฑบาต ปรารภความเพียร มีจิต
เด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ ละความยินดีในโลก มายินดีอยู่
ในธรรม.
๙. นันทเถรคาถา
สุภาษิตชี้ทางปฏิบัติ
[๒๗๖] เรามัวแต่ประกอบการประดับตกแต่ง เพราะไม่มีโยนิโสมนสิการ มีใจ
ฟุ้งซ่าน กลับกลอก ถูกกามราคะเบียดเบียน เราได้ปฏิบัติโดยอุบายที่ชอบ
ตามที่พระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าพันธุ์พระอาทิตย์ ฉลาดในอุบาย ได้ทรง
สั่งสอนแนะนำ แล้วถอนจิตจมลงในภพขึ้นได้.
๑๐. สิริมาเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการสรรเสริญและนินทา
[๒๗๗] ถ้าตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถึงชนเหล่าอื่นจะสรรเสริญ ชนเหล่าอื่นก็สรรเสริญ
เปล่า เพราะตนมีจิตไม่ตั้งมั่น ถ้าตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ถึงชนเหล่าอื่น
จะติเตียน ชนเหล่าอื่นก็ติเตียนเปล่า เพราะตนมีจิตตั้งมั่นดีแล้ว.
-----------------------------------------------------
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
๑. พระมหาจุนทเถระ ๒. พระโชติทาสเถระ
๓. พระเหรัญญิกานิเถระ ๔. พระโสมมิตตเถระ
๕. พระสัพพมิตตเถระ ๖. พระมหากาลเถระ
๗. พระติสสเถระ ๘. พระกิมพิลเถระ
๙. พระนันทเถระ ๑๐. พระสิริมาเถระ
จบ วรรคที่ ๒
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๓
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในทุกนิบาต วรรคที่ ๓
๑. อุตตรเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการปฏิบัติธรรม
[๒๗๘] ขันธ์ทั้งหลายเรากำหนัดรู้แล้ว ตัณหาเราถอนขึ้นแล้ว โพชฌงค์เราเจริญ
แล้ว ความสิ้นไปแห่งอาสวะเราบรรลุแล้ว ครั้นเรากำหนดรู้ขันธ์
ทั้งหลายแล้ว เป็นผู้ไม่มีอาสวะ จักนิพพาน.
๒. ภัททชิเถรคาถา
สุภาษิตชมปราสาททอง
[๒๗๙] พระเจ้าปนาทะมีปราสาททอง กว้างโยชน์กึ่ง สูง ๒๕ โยชน์ มีชั้นพันชั้น
ร้อยพื้น สล้างสลอนไปด้วยธง แวดล้อมไปด้วยแก้วมณีมีสีเขียวเหลือง
ในปราสาทนั้น มีคนธรรพ์ประมาณ ๖ พัน แบ่งเป็น ๗ พวก พากัน
ฟ้อนรำอยู่.
๓. โสภิตเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการปฏิบัติธรรม
[๒๘๐] เราเป็นภิกษุผู้มีสติ มีปัญญา ปรารภความเพียรเป็นกำลัง ระลึกชาติ
ก่อนได้ ๕๐๐ กัป ดุจคืนเดียว เราเจริญสติปัฏฐาน ๔ โพชฌงค์ ๗
มรรค ๘ ระลึกชาติก่อนได้ ๕๐๐ กัป ดุจคืนเดียว.
๔. วัลลิยเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับความเพียร
[๒๘๑] สิ่งใดอันบุคคลผู้มีความเพียรมั่นพึงทำ กิจใดอันบุคคลผู้ปรารถนาจะตรัสรู้
พึงทำ เราจักทำกิจนั้นๆ ไม่ให้ผิดพลาดตามคำพร่ำสอนของท่าน จงดู
ความเพียร ความบากบั่นของเรา อนึ่ง ขอท่านจงบอกหนทางอันหยั่งลงสู่
อมตมหานิพพานให้เรา เราจักรู้ด้วยปัญญา เหมือนกระแสแห่งแม่น้ำ
คงคาไหลไปสู่สาคร ฉะนั้น
๕. วีตโสกเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการดูตัวเอง
[๒๘๒] ช่างกัลบกเข้ามาหาเราด้วยคิดว่า จักตัดผมของเรา เราจึงรับเอากระจก
จากช่างกัลบกนั้นมาส่องดูร่างกาย ร่างกายของเรานี้ได้ปรากฏเป็นของ
เปล่า ความมืด คือ อวิชชาในกายอันเป็นต้นเหตุแห่งความมืดมน ได้หาย
หมดสิ้นไป กิเลสดุจผ้าขี้ริ้วทั้งปวงเราตัดขาดแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี.
๖. ปุณณมาสเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับแว่นธรรม
[๒๘๓] เราละนิวรณ์ ๕ เพื่อบรรลุความเกษมจากโยคะ แล้วถือเอาแว่นธรรม
คือ ญาณทัสสนะของตน ส่องดูร่างกายนี้ทั่วทั้งหมดทั้งภายในภายนอก
ร่างกายของเรานี้ ปรากฏเป็นของว่างเปล่าทั้งภายในและภายนอก.
๗. นันทกเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับความพลาดพลั้ง
[๒๘๔] โคอาชาไนยที่ดี ถึงพลาดแล้วก็ตั้งตัวได้ ได้ความสังเวชอย่างยิ่งแล้ว
นำภาระต่อไป ฉันใด ท่านทั้งหลายจงทรงจำข้าพเจ้าไว้ว่า เป็นอาชาไนย
ผู้สมบูรณ์ด้วยทัสสนะ เป็นสาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นบุตรผู้
เกิดแก่อุระแห่งพระพุทธเจ้า.
๘. ภารตเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการบวช
[๒๘๕] มาเถิดนันทกะ เราจงพากันไปยังสำนักของพระอุปัชฌายะเถิด เราจัก
บันลือสีหนาท เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ พระผู้มี-
พระภาคผู้เป็นมุนี มีความเอ็นดูเราทรงให้บรรพชาเพื่อประโยชน์อันใด
ประโยชน์อันนั้นเราก็ได้บรรลุแล้ว ความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวงเรา
ก็ได้บรรลุแล้ว.
๙. ภารทวาชเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับความชนะ
[๒๘๖] ธีรชนผู้มีปัญญา ชนะมารพร้อมทั้งพาหนะแล้ว ชื่อว่าผู้ชนะสงคราม
ย่อมบันลือสีหนาท ดังราชสีห์ในถ้ำภูเขา ฉะนั้น เราได้ทำความคุ้นเคย
กับพระศาสดาแล้ว พระธรรมกับพระสงฆ์เราได้บูชาแล้ว และเราปลาบ-
ปลื้มใจ เพราะเห็นบุตรหมดอาสวกิเลสแล้ว.
๑๐. กัณหทินนเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการปฏิบัติธรรม
[๒๘๗] สัปบุรุษเราเข้าไปหาแล้ว ธรรมทั้งหลายเราฟังแล้วเนืองนิตย์ ครั้นฟังธรรม
แล้ว จักดำเนินไปสู่ทางอันหยั่งลงสู่อมตธรรม เมื่อเรามีสติ กำจัดความ
กำหนัดยินดีในภพได้แล้ว ความกำหนัดยินดีในภพ ย่อมไม่มีแก่เราอีก
ไม่ได้มีแล้วในอดีต จักไม่มีในอนาคต ถึงแม้เดี๋ยวนี้ก็ไม่มีแก่เราเลย.
-----------------------------------------------------
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
๑. พระอุตตรเถระ ๒. พระภัททชิเถระ
๓. พระโสภิตเถระ ๔. พระวัลลิยเถระ
๕. พระวีตโสกเถระ ๖. พระปุณณมาสเถระ
๗. พระนันทกเถระ ๘. พระภารตเถระ
๙. พระภารทวาชเถระ ๑๐. พระกัณหทินนเถระ.
จบ วรรคที่ ๓
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๔
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในทุกนิบาต วรรคที่ ๔
๑. มิคสิรเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการบวช
[๒๘๘] เมื่อใด เราได้บวชในศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว หลุดพ้นจาก
กิเลส ได้บรรลุธรรมอันผ่องแผ้วแล้ว ล่วงเสียซึ่งกามธาตุ เมื่อนั้น
จิตของเราผู้เพ่งธรรมของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นดังพรหม หลุดพ้นแล้ว
จากกิเลสทั้งปวง และมารู้ชัดว่า วิมุติของเราไม่กำเริบ เพราะความ
สิ้นไปแห่งสังโยชน์ทั้งปวง.
๒. สิวกเถรคาถา
สุภาษิตเย้ยตัณหา
[๒๘๙] เรือนคืออัตภาพที่เกิดในภพนั้นๆ บ่อยๆ เป็นของไม่เที่ยง เราแสวงหา
นายช่างคือตัณหาผู้สร้างเรือน เมื่อไม่พบ ได้ท่องเที่ยวไปสู่สงสารสิ้น
ชาติมิใช่น้อย การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ร่ำไป ดูกรนายช่างผู้สร้างเรือน
บัดนี้ เราพบท่านแล้ว ท่านจักไม่ต้องสร้างเรือนให้เราอีก ซี่โครงคือกิเลส
ของท่าน เราหักเสียหมดแล้ว และช่อฟ้าคืออวิชชาแห่งเรือนท่าน
เราทำลายแล้ว จิตของเราไม่เกิดต่อไปเป็นธรรมดาแล้ว จักดับอยู่ในภพ
นี้เอง
๓. อุปวาณเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญพระพุทธองค์
[๒๙๐] ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระอรหันต์ ผู้เสด็จไปดีแล้วในโลก
เป็นมุนี ถูกลมเบียดเบียนแล้ว ถ้าท่านมีน้ำร้อน ขอจงถวายแด่พระผู้มี-
พระภาคผู้เป็นมุนีเถิด พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้อันบุคคลบูชา
แล้ว กว่าเทวดาและพรหมทั้งหลาย แม้บุคคลควรบูชา อันบุคคล
สักการะแล้ว กว่าพระเจ้าพิมพิสารและพระเจ้าโกศล ผู้อันบุคคลพึง
สักการะ อันบุคคลนอบน้อมแล้ว กว่าเหล่าพระขีณาสพที่บุคคลควร
นอบน้อม เราปรารถนาจะนำน้ำร้อนไปถวายพระองค์.
๔. อิสิทินนเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษของกาม
[๒๙๑] อุบาสกทั้งหลายผู้ทรงธรรมกล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง เราได้เห็นแล้ว
อุบาสกเหล่านั้นเป็นผู้กำหนัด รักใคร่ห่วงใยในแก้วมณี บุตรธิดา และ
ภรรยา เราได้เห็นแล้ว เพราะอุบาสกเหล่านั้น ไม่รู้ธรรมในพระพุทธ
ศาสนานี้แน่แท้ แม้ถึงอย่างนั้นก็ได้กล่าวว่า กามทั้งหลายไม่เที่ยง แต่
กำลังญาณเพื่อจะตัดราคะของอุบาสกเหล่านั้น ไม่มี เพราะฉะนั้น อุบาสก
เหล่านั้นจึงติดอยู่ในบุตรภรรยาและในทรัพย์.
๕. สัมพหุลกัจจานเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับผู้รักสงบ
[๒๙๒] ฝนก็ตก ฟ้าก็กระหึ่ม เราอยู่ในถ้ำอันน่ากลัวแต่คนเดียว เมื่อเราอยู่ในถ้ำ
อันน่ากลัวคนเดียว ความกลัว ความสะดุ้ง หวาดเสียว หรือขนลุก
ขนพองมิได้มีเลย การที่เราอยู่ในถ้ำอันน่ากลัวแต่ผู้เดียว ไม่มีความกลัว
หรือสะดุ้งหวาดเสียวนี้ เป็นธรรมดาของเรา.
๖. ขิตณเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการอบรมจิต
[๒๙๓] จิตของใครตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว ดังภูเขา ไม่กำหนัดแล้วในอารมณ์เป็น
ที่ตั้งแห่งความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง
ผู้ใดอบรมจิตได้อย่างนี้ ทุกข์จักมาถึงผู้นั้นแต่ที่ไหน จิตของเราตั้งมั่น
ไม่หวั่นไหว ดังภูเขา จิตของเราไม่กำหนัดแล้วในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่ง
ความกำหนัด ไม่ขัดเคืองในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความขัดเคือง เราอบรม-
จิตได้แล้วอย่างนี้ ทุกข์จักมาถึงเราแต่ที่ไหนๆ
๗. โสณโปฏิริยปุตตเถรคาถา
สุภาษิตแสดงการไม่ยอมแพ้กิเลส
[๒๙๔] ราตรีอันประกอบด้วยฤกษ์มาลินีเช่นนี้ ย่อมไม่เป็นราตรีเพื่อจะหลับ
โดยแท้ ราตรีเช่นนี้ ย่อมเป็นราตรีอันผู้รู้แจ้ง ปรารถนาแล้วเพื่อประกอบ
ความเพียร.
ครั้นพระโสณะได้ฟังดังนั้นก็สลดใจ ยังหิริและโอตตัปปะให้เข้าไปตั้งไว้แล้ว อธิษฐาน
อัพโภคาสิกังคธุดงค์ กระทำกรรมในวิปัสสนา ได้กล่าวคาถาที่ ๒ นี้ว่า
ถ้าช้างพึงเหยียบเราผู้ตกลงจากคอช้าง เราตายเสียในสงครามประเสริฐ-
กว่า แพ้แล้ว เป็นอยู่จะประเสริฐอะไร.
๘. นิสภเถรคาถา
สุภาษิตแสดงความมุ่งหมายของการบวช
[๒๙๕] วิญญูชนละเบญจกามคุณอันน่ารัก น่ารื่นรมย์ใจแล้ว ออกบวชด้วยศรัทธา
แล้วพึงทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ เราไม่อยากตาย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ และเรา
มีสติสัมปชัญญะรอเวลาอันควรเท่านั้น.
๙. อุสภเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับความฝัน
[๒๙๖] เราฝันว่าได้ห่มจีวรสีอ่อนเฉวียงบ่า นั่งบนคอช้าง เข้าไปบิณฑบาตยัง
หมู่บ้าน พอเข้าไปก็ถูกมหาชนพากันมารุมมุงดูอยู่ จึงลงจากคอช้าง
กลับลืมตาตื่นขึ้นแล้ว ครั้งนั้น ได้ความสลดใจว่า ความฝันนี้เราไม่มี
สติสัมปชัญญะนอนหลับฝันเห็นแล้ว ครั้งนั้น เราเป็นผู้กระด้างด้วยความ
มัวเมาเพราะชาติสกุล ได้ความสังเวชแล้ว ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ.
๑๐. กัปปฏกุรเถรคาถา
สุภาษิตเตือนตนมิให้ง่วงเหงา
[๒๙๗] กัปปฏกุรภิกษุเกิดความวิตกผิดว่า เราจักนุ่งห่มผ้าผืนนี้แล้วจักเลี้ยงชีพ
ตามมีตามเกิด เมื่อน้ำใสคืออมตธรรมของเรา มีอยู่เต็มเปี่ยมในหม้ออมตะ
เราเอาบาตรตักน้ำคืออมตธรรมใส่หม้ออมตะ เพื่อสั่งสมฌานทั้งหลาย
ดูกรกัปปฏะ ท่านอย่ามานั่งโงกง่วงอยู่ด้วยคิดว่า จักฟังธรรม เมื่อเรา
แสดงธรรมอยู่ในที่ใกล้หูของท่านเช่นนี้ ท่านอย่ามัวนั่งโงกง่วงอยู่ ดูกร
กัปปฏะ ท่านนั่งโงกง่วงอยู่ในท่ามกลางสงฆ์เช่นนี้ ไม่รู้จักประมาณเลย.
-----------------------------------------------------
ในวรรคนี้รวมพระเถระได้ ๑๐ องค์ คือ
๑. พระมิคสิรเถระ ๒. พระสิวกเถระ
๓. พระอุปวาณเถระ ๔. พระอิสิทินนเถระ
๕. พระสัมพหุลกัจจานเถระ ๖. พระขิตกเถระ
๗. พระโสณปฏิริยปุตตเถระ ๘. พระนิสภเถระ
๙. พระอุสภเถระ ๑๐. พระกัปปฏกุรเถร.
จบ วรรคที่ ๔
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ทุกนิบาต วรรคที่ ๕
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในทุกนิบาต วรรคที่ ๕
๑. กุมารกัสสปเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญพระรัตนตรัย
[๒๙๘] น่าอัศจรรย์หนอ พระพุทธเจ้า พระธรรมและพระคุณสมบัติของพระศาสดา
ของเราทั้งหลาย ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยประพฤติพรหมจรรย์ของพระสาวกผู้จัก
ทำให้แจ้งซึ่งธรรมเช่นนี้ พระสาวกเหล่าใดเป็นผู้ยังไม่ปราศจากขันธ์ ๕
ในอสังไขยกัป พระกุมารกัสสปนี้เป็นรูปสุดท้าย แห่งพระสาวกเหล่านั้น
ร่างกายนี้มีในที่สุด สงสารคือการเกิดการตายมีในที่สุด บัดนี้ ภพใหม่
ไม่มี.
๒. ธรรมปาลเถรคาถา
สุภาษิตแสดงชีวิตไม่ไร้ประโยชน์
[๒๙๙] ภิกษุหนุ่มรูปใดแล เพียรพยายามอยู่ในพระพุทธศาสนา ก็เมื่อสัตว์
ทั้งหลายนอกนี้พากันหลับแล้ว ภิกษุหนุ่มนั้นตื่นอยู่ ชีวิตของเธอไม่ไร้
ประโยชน์ เพราะฉะนั้น บุคคลผู้มีปัญญาระลึกถึงคำสอนของพระพุทธ-
เจ้าทั้งหลาย พึงประกอบศรัทธา ศีล ความเลื่อมใส และการเห็นธรรม
เนืองๆ เถิด
๓. พรหมาลิเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญผู้สงบ
[๓๐๐] อินทรีย์ของใครถึงความสงบแล้ว เหมือนม้าอันนายสารถีฝึกดีแล้ว แม้
เทวดาทั้งหลาย ย่อมรักใคร่ต่อผู้นั้น ผู้มีมานะอันละแล้ว ไม่มีอาสวะ
รู้คงที่ อินทรีย์ทั้งหลายของเราก็ถึงความสงบแล้ว เหมือนม้าอันนายสารถี
ฝึกดีแล้ว แม้เทวดาทั้งหลายก็พากันรักใคร่ต่อเรา ผู้มีมานะอันละแล้ว
ไม่มีอาสวะ เป็นผู้คงที่.
๔. โมฆราชเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับกายเศร้าหมองใจผ่องใส
[๓๐๑] ดูกรโมฆราช ภิกษุผู้มีผิวพรรณเศร้าหมอง แต่มีจิตผ่องใส ท่านเป็นผู้มีใจ
ตั้งมั่นเป็นนิตย์ จักทำอย่างไรตลอดราตรีแห่งเวลาหนาวเย็นเช่นนี้
ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ประเทศมคธล้วนแต่สมบูรณ์ด้วยข้าวกล้า ข้าพระ-
องค์พึงคลุมกายด้วยฟางแล้วนอนให้เป็นสุข เหมือนคนเหล่าอื่นที่มีการ
เป็นอยู่เป็นสุข ฉะนั้น.
๕. วิสาขปัญจาลีปุตตเถรคาถา
สุภาษิตแสดงองค์คุณพระธรรมกถึก
[๓๐๒] พระธรรมกถึกประกอบด้วยองค์ดังนี้ คือ ไม่พึงยกตน ๑ ไม่ข่มบุคคล
เหล่าอื่น ๑ ไม่พึงกระทบกระทั่งบุคคลเหล่าอื่น ๑ ไม่กล่าวคุณความดี
ของตนในที่ชุมนุมชนเพื่อมุ่งลาภผล ๑ ไม่มีจิตฟุ้งซ่าน กล่าวแต่พอ
ประมาณ มีวัตร ๑ ภิกษุผู้เป็นธรรมกถึก พึงเป็นผู้มีปกติเห็นเนื้อความ
อันสุขุมละเอียด มีปัญญาเฉลียวฉลาด ประพฤติอ่อนน้อม มีศีลตามเยี่ยง
อย่างของพระพุทธเจ้านั้น พึงได้นิพพานไม่ยากเลย.
๖. จูฬกเถรคาถา
สุภาษิตชมธรรมชาติและการปฏิบัติธรรม
[๓๐๓] นกยูงทั้งหลายมีหงอนงาม ปีกก็งาม มีสร้อยคอเขียวงาม ปากก็งาม
มีเสียงไพเราะ ส่งเสียงร่ำร้องรื่นรมย์ใจ อนึ่ง แผ่นดินใหญ่นี้ มีหญ้า
เขียวชอุ่ม ดูงาม มีน้ำเอิบอาบทั่วไป ท้องฟ้าก็มีวลาหกอันงาม ท่านก็มี
ใจเบิกบานควรแก่การงาน จงเพ่งฌานที่พระโยคาวจร ผู้มีใจดีเจริญแล้ว
มีความบากบั่นในพระพุทธศาสนาเป็นอันดี จงบรรลุธรรมอันสูงสุด
อันเป็นธรรมขาวผุดผ่อง ละเอียด เห็นได้ยาก เป็นธรรมไม่จุติแปรผัน.
๗. อนูปมเถรคาถา
สุภาษิตสอนใจ
[๓๐๔] จิตถึงความเพลิดเพลินเพราะธรรมใด ธรรมใดยกขึ้นสู่หลาว และจิตเป็น
ดังหลาว เป็นดังท่อนไม้ ขอท่านจงเว้นธรรมนั้นๆ ให้เด็ดขาด ดูกรจิต
เรากล่าวธรรมนั้นว่าเป็นธรรมมีโทษ เรากล่าวธรรมนั้นว่า เป็นเครื่อง
ประทุษร้ายจิต พระศาสดาที่บุคคลได้ด้วยยาก ท่านก็ได้แล้ว ท่านอย่า
ชักชวนเราในทางฉิบหายเลย.
๘. วัชชิตเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการรู้อริยสัจ
[๓๐๕] เมื่อเรายังเป็นปุถุชนมืดมนอยู่ ไม่เห็นอริยสัจ จึงได้ท่องเที่ยววนเวียน
ไปมาอยู่ในคติทั้งหลาย ตลอดกาลนาน บัดนี้ เราเป็นผู้ไม่ประมาทแล้ว
กำจัดสงสารได้แล้ว คติทั้งปวงเราก็ตัดขาดแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี.
๙. สันธิตเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญอนิจจสัญญา
[๓๐๖] เราเป็นผู้มีสติ ได้อนิจจสัญญาอันสหรคตด้วยพุทธานุสติ อยู่ที่โคน
อัสสัตถพฤกษ์อันสว่างไสวไปด้วยแสงแห่งไฟและแก้วมณี และผ้ามีสี
เขียวงาม ความสิ้นอาสวะเราได้บรรลุแล้วเร็วพลัน เพราะสัญญาที่เรา
ได้แล้วในครั้งนั้นในกัปที่ ๓๑ แต่ภัททกัปนี้ไป.
-----------------------------------------------------
ในวรรคนี้ รวมพระเถระได้ ๙ องค์ คือ
๑. พระกุมารกัสสปเถระ ๒. พระธรรมปาลเถระ
๓. พระพรหมาลิเถระ ๔. พระโมฆราชเถระ
๕. พระวิสาขปัญจาลีปุตตเถระ ๖. พระจูฬกเถระ
๗. พระอนูปมเถระ ๘. พระวัชชิตเถระ
๙. พระสันธิตเถระ.
จบ วรรคที่ ๕.
ในทุกนิบาตนี้ รวมพระคาถาได้ ๙๘ คาถา และรวมพระเถระผู้ฉลาดในนัย
ผู้ภาษิตคาถาไว้ได้ ๔๙ องค์.
จบ ทุกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ติกนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในติกนิบาต
๑. อังคณิกภารทวาชเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการเลือกทางที่ถูกต้อง
[๓๐๗] เมื่อเราแสวงหาความบริสุทธิ์โดยอุบายไม่สมควร ได้บูชาไฟอยู่ในป่า
เมื่อเราไม่รู้ทางแห่งความบริสุทธิ์ ได้บำเพ็ญตบะต่างๆ ความสุขนั้น
เราได้แล้วเพราะข้อปฏิบัติอันสบาย ขอท่านจงดูความที่ธรรมเป็นธรรม
อันดีงาม วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว เราทำกิจพระพุทธศาสนาสำเร็จแล้ว
เมื่อก่อนเราเป็นเผ่าพันธุ์แห่งพรหม แต่บัดนี้เราเป็นพราหมณ์ สำเร็จ
วิชชา ๓ ล้างบาปแล้ว เป็นผู้มีความสวัสดี รู้จบไตรเพท.
๒. ปัจจยเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการทำจริง
[๓๐๘] เราบวชแล้วได้ ๕ วัน ยังเป็นเสขบุคคลอยู่ ยังไม่ได้บรรลุอรหัต
ความตั้งใจได้มีแล้วแก่เราผู้เข้าไปสู่วิหารว่า เมื่อเรายังถอนลูกศร คือ
ตัณหาขึ้นไปไม่ได้ เราจักไม่กิน จักไม่ดื่ม จักไม่ออกไปจากวิหาร จัก
ไม่เอนกายลงนอน เชิญท่านดูความเพียร ความบากบั่นของเราผู้ตั้งจิต
อธิษฐาน ความเพียรอย่างมั่นคงอยู่อย่างนี้ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว
เราทำกิจพระพุทธศาสนาสำเร็จแล้ว.
๓. พากุลเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้พูดจริงทำจริง
[๓๐๙] ผู้ใดปรารถนาจะทำการงานที่ทำก่อนในภายหลัง ผู้นั้นย่อมพลาดจาก
ฐานะอันนำมาซึ่งความสุข และย่อมเดือดร้อนในภายหลัง พึงทำอย่างใด
พึงพูดอย่างนั้น ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลาย
ย่อมกำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ มีแต่พูดนั้นมีมาก นิพพานที่พระสัมมา-
สัมพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เป็นสุขดีหนอ ไม่มีความโศก ปราศจาก
กิเลสธุลี ปลอดโปร่ง เป็นที่ดับทุกข์.
๔. ธนิยเถรคาถา
สุภาษิตสอนการเป็นสมณะ
[๓๑๐] ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย ไม่ควร
ดูหมิ่นจีวร ข้าวและน้ำของสงฆ์ ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ
ปรารถนาจะเป็นอยู่สบาย พึงเสพที่นอน ที่นั่ง ตามมีตามได้ เหมือน
งูและหนูขุดรูอยู่ ฉะนั้น ถ้าภิกษุมุ่งหวังในความเป็นสมณะ ปรารถนาจะ
เป็นผู้อยู่สบาย พึงยินดีด้วยปัจจัยตามมีตามได้ และพึงเจริญธรรมอย่าง
เอก คือความไม่ประมาท.
๕. มาตังคปุตตเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษความเกียจคร้าน
[๓๑๑] ขณะทั้งหลายย่อมล่างพ้นบุคคล ผู้สละการงานโดยอ้างเลศว่า เวลานี้
หนาวนัก ร้อนนัก เย็นนัก ก็ผู้ใดเมื่อทำกิจของลูกผู้ชาย ไม่สำคัญ
ความหนาวและร้อนยิ่งไปกว่าหญ้า ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจากความสุข เรา
จักแหวกหญ้าแพรก หญ้าคา หญ้าดอกเลา แฝก หญ้าปล้อง และ
หญ้ามุงกระต่ายด้วยอก พอกพูนวิเวก.
๖. ขุชชโสภิตเถรคาถา
สุภาษิตชี้ทางแห่งความสุข
[๓๑๒] สมณะเหล่าใดเป็นผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร เป็นพหูสูต มีปกติอยู่ใน
เมืองปาฏลีบุตร ท่านขุชชโสภิตะซึ่งยืนอยู่ที่ประตูถ้ำนี้ เป็นสมณะผู้หนึ่ง
ในจำนวนสมณะเหล่านั้น สมณะเหล่าใดเป็นผู้กล่าวธรรมวิจิตร เป็น
พหูสูต มีปกติอยู่ในเมืองปาฏลีบุตร ท่านผู้มาด้วยกำลังฤทธิ์ดังลมพัด
ยืนอยู่ที่ประตูถ้ำนี้ ก็เป็นสมณะผู้หนึ่งในจำนวนสมณะเหล่านั้น ขุชช-
โสภิตภิกษุนี้ ได้รับความสุขด้วยการประกอบดี การบูชาดี การชนะ
สงคราม และการประพฤติพรหมจรรย์เนืองๆ.
๗. วารณเถรคาถา
สุภาษิตสอนข้อควรศึกษา
[๓๑๓] ในหมู่มนุษย์ นรชนใดเบียดเบียนสัตว์อื่น นรชนนั้นย่อมเสื่อมจาก
ความสุขในโลกทั้งสอง คือ โลกนี้และโลกหน้า นรชนใดมีจิตประกอบ
ด้วยเมตตา อนุเคราะห์แก่สัตว์ทั้งปวง นรชนผู้เช่นนั้น ย่อมได้ประสบ
บุญเป็นอันมาก ควรศึกษาถ้อยคำสุภาษิต การเข้าไปนั่งใกล้สมณะ
การอยู่แต่ผู้เดียวในที่อันสงัด และธรรมเครื่องสงบระงับจิต.
๘. ปัสสิกเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการแนะนำให้คนทำดี
[๓๑๔] ก็บรรดาหมู่ญาติผู้ไม่มีศรัทธา ถ้ามีคนมีศรัทธาแม้สักคนหนึ่งเป็นนัก
ปราชญ์ ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล ย่อมเป็นประโยชน์แก่พวก
พ้อง ญาติทั้งหลายอันข้าพระองค์ข่มขี่อนุเคราะห์ ตักเตือน ให้ทำ
สักการบูชาในภิกษุทั้งหลาย ด้วยความรักในญาติและเผ่าพันธุ์ ญาติ
เหล่านั้นทำกาละล่วงไปแล้ว ได้รับความสุขในไตรทิพย์ พี่ชาย น้อง
ชาย และมารดาของข้าพระองค์เป็นผู้พรั่งพร้อมด้วยกามคุณบันเทิงอยู่.
๙. ยโสชเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการอยู่ผู้เดียว
[๓๑๕] นรชนผู้มีใจไม่ย่อท้อ เป็นผู้รู้จักประมาณในข้าวและน้ำ มีร่างกายซูบ
ผอม มีตัวสะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็น เหมือนกับเถาหญ้านาง ภิกษุถูก
เหลือบยุงทั้งหลายกัดแล้วในป่าใหญ่ พึงเป็นผู้มีสติอดกลั้นในอันตราย
เหล่านั้น เหมือนช้างในสงคราม ภิกษุอยู่ผู้เดียวย่อมเป็นเหมือนพรหม
ผู้อยู่ ๒ องค์เหมือนเทพเจ้า ผู้ที่อยู่ด้วยกันมากกว่า ๓ องค์ขึ้นไปเหมือน
ชาวบ้าน ย่อมมีความโกลาหลมากขึ้น เพราะฉะนั้น ภิกษุพึงเป็นผู้อยู่
แต่ผู้เดียว.
๑๐. สาฏิมัตติยเถรคาถา
สุภาษิตสอนการพึ่งลำแข้งตนเอง
[๓๑๖] เมื่อก่อนท่านมีศรัทธา แต่วันนี้ท่านไม่มีศรัทธา สิ่งใดที่เป็นของท่าน
ขอสิ่งนั้นจงเป็นของท่านนั่นแหละ ทุจริตของเราไม่มี เพราะศรัทธาไม่
เที่ยงกลับกลอก ศรัทธานั้นเราเคยเห็นมาแล้ว คนทั้งหลายประเดี๋ยวรัก
ประเดี๋ยวหน่าย ดูกรท่านผู้เป็นมุนี ท่านจะเอาชนะในคนเหล่านั้นได้
อย่างไร บุคคลย่อมหุงอาหารไว้เพื่อนักปราชญ์ทุกๆ สกุล สกุลละเล็ก
ละน้อย เราจักเที่ยวไปบิณฑบาต กำลังแข้งของเรายังมีอยู่.
๑๑. อุบาลีเถรคาถา
สุภาษิตสอนพระบวชใหม่
[๓๑๗] ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธา ยังเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงคบหา
กัลยาณมิตรผู้มีอาชีพบริสุทธิ์ ไม่เกียจคร้าน ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธา
ยังเป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงเป็นผู้ฉลาดอยู่ในสงฆ์ ศึกษาวินัยด้วย
อำนาจการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติให้บริบูรณ์ ภิกษุผู้ออกบวชด้วยศรัทธา ยัง
เป็นผู้ใหม่ต่อการศึกษา พึงเป็นผู้ฉลาดในสิ่งควรและไม่ควร ไม่ควรถูก
ตัณหาครอบงำเที่ยวไป.
๑๒. อุตตรปาลเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้ละกาม
[๓๑๘] เบญจกามคุณอันทำใจให้ลุ่มหลง ได้ยังเราผู้เป็นบัณฑิต ผู้สามารถค้น
คว้าประโยชน์ให้ตกอยู่ในโลก เราได้แล่นไปในวิสัยแห่งมาร ถูกลูกศร
คือ ราคะเสียบอยู่ที่หทัย อย่างมั่นคง แต่สามารถเปลื้องตนออกจาก
บ่วงแห่งมัจจุราชได้ เราละกามทั้งปวงแล้ว ทำลายภพได้หมดแล้ว ชาติ
สงสารสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี.
๑๓. อภิภูตเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษการเกิด
[๓๑๙] ขอบรรดาญาติเท่าที่มาประชุมกัน ณ ที่นี้ทั้งหมดจงฟัง เราจักแสดง
ธรรมแก่ท่านทั้งหลาย การเกิดบ่อยๆ เป็นทุกข์ร่ำไป ท่านทั้งหลายจง
ปรารภความเพียร จงก้าวออกไป จงประกอบความเพียรในพระพุทธ
ศาสนา จงกำจัดเสนาแห่งมัจจุราชเสีย เหมือนกุญชรหักไม้อ้อ ฉะนั้น
ผู้ใดจักเป็นผู้ไม่ประมาทอยู่ในธรรมวินัยนี้ ผู้นั้นจักละชาติสงสาร ทำที่
สุดแห่งทุกข์ได้.
๑๔. โคตมเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้มุ่งสันติธรรม
[๓๒๐] เมื่อเราท่องเที่ยวอยู่ในสงสาร ได้ไปสู่นรกบ้าง ไปสู่เปตโลกบ้าง
ไปสู่กำเนิดสัตว์เดียรัจฉานอันเป็นทุกข์บ้าง เราได้เสวยทุกข์หลายอย่าง
ตลอดกาลนาน เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์บ้าง ได้ไปสู่สวรรค์บ้างเป็น
ครั้งคราว เราเกิดในรูปภพบ้าง ในอรูปภพบ้าง ในเนวสัญญีนาสัญญี
ภพบ้าง ภพทั้งหลายเรารู้แจ้งแล้วว่า ไม่มีแก่นสาร อันปัจจัยปรุงแต่ง
ขึ้น เป็นของแปรปรวนกลับกลอก ถึงความแตกหักทำลายไปทุกเมื่อ
ครั้นเรารู้แจ้งภพนั้นอันเป็นของเกิดในตนทั้งสิ้นแล้ว เป็นผู้มีสติ ได้
บรรลุสันติธรรม.
๑๕. หาริตเถรคาถา
[๓๒๑] เหมือนข้อ ๓๐๙.
๑๖. วิมลเถรคาถา
สุภาษิตสอนการคบมิตร
[๓๒๒] บุคคลปรารถนาความสุขอันแน่นอน พึงเว้นบาปมิตรแล้ว พึงคบหา
กัลยาณมิตร และพึงตั้งอยู่ในโอวาทของกัลยาณมิตรนั้น เต่าตาบอด
เกาะขอนไม้เล็กๆ จมอยู่ในห้วงน้ำใหญ่ ฉันใด กุลบุตรอาศัยคนเกียจ
คร้านเป็นอยู่ ย่อมจมลงในสังสารวัฏ ฉันนั้น เพราะฉะนั้น บุคคลพึง
เว้นคนเกียจคร้าน มีความเพียรเลวทราม ควรอยู่ร่วมกับบัณฑิตทั้งหลาย
ผู้สงัดเป็นอริยะ มีใจเด็ดเดี่ยว เพ่งฌาน ปรารภความเพียรเป็นนิตย์.
ในติกนิบาตนี้ รวมพระเถระได้ ๑๖ องค์ คือ
๑. พระอังคณิกภารทวาชเถระ ๒. พระปัจจยเถระ
๓. พระพากุลเถระ ๔. พระธนิยเถระ
๕. พระมาตังคปุตตเถระ ๖. พระขุชชโสภิตเถระ
๗. พระวารณเถระ ๘. พระปัสสิกเถระ
๙. พระยโสชเถระ ๑๐. พระสาฏิมัตติยเถระ
๑๑. พระอุบาลีเถระ ๑๒. พระอุตตรปาลเถระ
๑๓. พระอภิภูตเถระ ๑๔. พระโคตมเถระ
๑๕. พระหาริตเถระ ๑๖. พระวิมลเถระ
เป็นคาถาที่ท่านรจนาไว้รวม ๔๘ คาถา ฉะนี้แล.
จบ ติกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา จตุกกนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในจตุกกนิบาต
๑. นาคสมาลเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษแห่งบ่วงมัจจุราช
[๓๒๓] เราเดินเข้าไปบิณฑบาตในพระนคร ได้เห็นหญิงฟ้อนรำคนหนึ่ง ตก
แต่งร่างกายด้วยเครื่องอาภรณ์ นุ่งห่มผ้าสวยงาม ทัดทรงดอกไม้ ลูบ
ไล้ด้วยกระแจะจันทน์ ฟ้อนรำอยู่ในวงดนตรีที่ถนนหลวง ท่ามกลาง
พระนคร เป็นดุจบ่วงแห่งมัจจุราชอันธรรมชาติมาดักไว้ เพราะฉะนั้น
การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย จึงบังเกิดขึ้นแก่เรา อาทีนว-
โทษปรากฏแก่เรา ความเบื่อหน่ายก็ตั้งลงมั่น ลำดับนั้นจิตของเราก็
หลุดพ้นจากสรรพกิเลส ขอท่านจงดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ
เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.
๒. ภคุเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้มีโยนิโสมนสิการ
[๓๒๔] ข้าพระองค์ถูกความง่วงเหงาหาวนอนครอบงำ ได้ออกไปจากวิหาร
ขึ้นสู่ที่จงกรม ล้มลงที่แผ่นดิน ณ ที่ใกล้บันได จงกรมนั้นนั่นเอง
ข้าพระองค์ลูบเนื้อลูบตัวแล้วขึ้นสู่ที่จงกรมอีก เป็นผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วใน
ภายใน เดินจงกรมอยู่ แต่นั้น การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบ
คาย ได้บังเกิดขึ้นแก่ข้าพระองค์ อาทีนวโทษปรากฏแก่ข้าพระองค์
ความเบื่อหน่ายก็ตั้งลงมั่น ลำดับนั้น จิตของข้าพระองค์ก็หลุดพ้นจาก
สรรพกิเลส ขอพระองค์ทรงทอดพระเนตรดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรม
อันดีเลิศ ข้าพระองค์ได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ทำกิจพระพุทธศาสนา
เสร็จแล้ว.
๓. สภิยเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษการทะเลาะวิวาท
[๓๒๕] พวกอื่นเว้นบัณฑิตย่อมไม่รู้สึกว่า พวกเราที่ทะเลาะวิวาทกันนี้ จะ
พากันยุบยับในท่ามกลางสงฆ์นี้ พวกใดมารู้ชัดในท่ามกลางสงฆ์นั้นว่า
พวกเราพากันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาท ย่อมระงับไปได้
จากสำนักของพวกนั้นเมื่อใด เขาไม่รู้ธรรมอันเป็นอุบายระงับการทะเลาะ
วิวาทตามความเป็นจริง ประพฤติอยู่ดุจไม่แก่ไม่ตาย เมื่อนั้น ความ
ทะเลาะวิวาทก็ไม่สงบลงได้ ก็ชนเหล่าใดมารู้แจ้งธรรมตามความเป็น
จริง เมื่อสัตว์ทั้งหลายพากันเร่าร้อนอยู่ ชนเหล่านั้น ย่อมไม่เร่าร้อน
ความทะเลาะวิวาทของพวกเขา ย่อมระงับไปได้โดยส่วนเดียว การงาน
อย่างใดอย่างหนึ่งที่ย่อหย่อน วัตรอันเศร้าหมอง และพรหมจรรย์อัน
บุคคลพึงระลึกด้วยความสงสัย กรรม ๓ อย่างนั้น ย่อมไม่มีผลมาก
ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเป็นผู้ห่าง
ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น.
๔. นันทกเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษแห่งบ่วงมาร
[๓๒๖] เราติเตียนร่างกายอันเต็มไปด้วยของน่าเกลียด มีกลิ่นเหม็น เป็นฝัก
ฝ่ายแห่งมาร ชุ่มไปด้วยกิเลส มีช่อง ๙ ช่อง เป็นที่ไหลออกแห่งของ
ไม่สะอาดเป็นนิตย์ ท่านอย่าคิดถึงเรื่องเก่า อย่ามาเล้าโลมอริยสาวก
ผู้บรรลุอริยสัจธรรมให้ยินดีด้วยอำนาจกิเลส เพราะอริยสาวกของ
พระตถาคตเหล่านั้น ย่อมไม่ยินดีในกามคุณแม้ในสวรรค์ จะป่วย
กล่าวไปไยถึงกามคุณอันเป็นของมนุษย์เล่า ก็ชนเหล่าใดแลเป็นคนพาล
มีปัญญาทราม มีความคิดชั่ว ถูกโมหะหุ้มห่อไว้แล้ว ชนเหล่านั้น
จึงจะกำหนัดยินดีในเครื่องผูกที่มารดักไว้ ชนเหล่าใดคลายราคะ โทสะ
และอวิชชาได้แล้ว ชนเหล่านั้นผู้คงที่ เป็นผู้ตัดเส้นด้ายคือตัณหา
เครื่องนำไปสู่ภพขาดแล้ว ไม่มีเครื่องผูกพัน ย่อมไม่กำหนัดยินดีใน
บ่วงมารนั้น.
๕. ชัมพุกเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษการประพฤติทรมานตน
[๓๒๗] เราเอาธุลีและฝุ่นทาตัวอยู่ ๕๕ ปี บริโภคอาหารเดือนละครั้ง ถอน
ผมและหนวด ยืนอยู่ด้วยเท้าข้างเดียว งดเว้นการนั่ง กินคูถแห้ง ไม่
ยินดีอาหารที่เขาเชื้อเชิญ เราได้ทำบาปกรรมอันเป็นเหตุให้ไปสู่ทุคติเป็น
อันมากเช่นนั้น ถูกโอฆะใหญ่พัดไปอยู่ ได้ถึงพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง
ขอท่านจงดูสรณคมน์และความที่ธรรมเป็นธรรมอันดีเลิศ วิชชา ๓ เราได้
บรรลุแล้ว เราได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.
๖. เสนกเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญพระพุทธองค์
[๓๒๘] การที่เราได้มา ณ ที่ใกล้ท่าคยาในเดือนผัคคุณมาสนี้ เป็นการมาดีแล้ว
หนอ เพราะได้เห็นพระผู้มีพระภาค ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง
ผู้แสดงธรรมอันสูงสุด มีพระรัศมีมาก เป็นพระคณาจารย์ ถึงความเป็น
ผู้เลิศ เป็นนายกวิเศษของมนุษยโลก พร้อมทั้งเทวโลก ผู้ชนะมาร
ผู้มีการเห็นหาสิ่งจะเปรียบมิได้ มีอานุภาพมาก เป็นมหาวีรบุรุษผู้รุ่งเรือง
ใหญ่ ไม่มีอาสวะ สิ้นอาสวะทั้งปวง เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์
ไม่มีภัยแต่ที่ไหน พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น ทรงปลดเปลื้องเรา
ผู้มีนามว่าเสนกะ ผู้เศร้าหมองมาแล้วนาน มีสันดานประกอบด้วยมิจฉา
ทิฏฐิ จากกิเลสเครื่องร้อยรัดทั้งปวง.
๗. สัมภูตเถรคาถา
สุภาษิตชี้ลักษณะคนพาลและบัณฑิต
[๓๒๙] ผู้ใดรีบด่วนในเวลาที่ควรช้า และช้าในเวลาที่ควรรีบด่วน ผู้นั้นเป็น
พาล ย่อมประสบทุกข์ เพราะไม่จัดแจงโดยอุบายอันชอบ ประโยชน์
ของผู้นั้นย่อมเสื่อมไป เหมือนพระจันทร์ข้างแรม เขาย่อมถึงความ
เสื่อมยศ และแตกจากมิตรทั้งหลาย ผู้ใดช้าในเวลาที่ควรช้า รีบด่วน
ในเวลาที่ควรรีบด่วน ผู้นั้นเป็นบัณฑิตถึงความสุข เพราะได้จัดแจง
โดยอุบายอันชอบ ประโยชน์ของผู้นั้นย่อมบริบูรณ์ เหมือนพระจันทร์
ข้างขึ้น เขาย่อมได้ยศได้เกียรติคุณ และไม่แตกจากมิตรทั้งหลาย.
๘. ราหุลเถรคาถา
สุภาษิตแสดงคุณสมบัติ ๒ ประการ
[๓๓๐] ชนทั้งหลายย่อมรู้จักเราว่า พระราหุลผู้เจริญ สมบูรณ์ด้วยคุณสมบัติ
๒ ประการ คือ ชาติสมบัติ ๑ ปฏิบัติสมบัติ ๑ เพราะเราเป็นโอรสของ
พระพุทธเจ้า และเป็นผู้มีปัญญาเห็นธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เพราะอาสวะ
ของเราสิ้นไปและภพใหม่ไม่มีต่อไป เราเป็นพระอรหันต์ เป็นพระทักขิ-
ไณยบุคคล มีวิชชา ๓ เป็นผู้เห็นอมตธรรม สัตว์ทั้งหลายเป็นดังคนตา
บอด เพราะเป็นผู้ไม่เห็นโทษในกาม ถูกข่ายคือตัณหาปกคลุมแล้ว ถูก
หลังคา คือตัณหาปกปิดแล้ว ถูกมารผูกแล้วด้วยเครื่องผูก คือความ
ประมาทเหมือนปลาในปากลอบ เราถอนกามนั้นขึ้นได้แล้ว ตัดเครื่อง
ผูกของมารได้แล้ว ถอนตัณหา พร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้มีความ
เยือกเย็นดับแล้ว.
๙. จันทนเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้เห็นโทษสังขาร
[๓๓๑] ภรรยาผู้ปกคลุมด้วยเครื่องประดับล้วนแต่เป็นทอง ห้อมล้อมด้วยหมู่
ทาสี อุ้มบุตรเข้ามาหาเรา ก็เวลาที่เราเห็นภรรยาผู้เป็นมารดาของบุตร
ของเรานั้นตบแต่งร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่เดินมา เป็นดุจบ่วงมัจจุราชดัก
ไว้ ความทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย ก็เกิดขึ้นแก่เรา โทษแห่ง
สังขารทั้งหลายก็เกิดปรากฏแก่เรา ความเบื่อหน่ายก็ตั้งมั่น ลำดับนั้น
จิตของเราหลุดพ้นแล้วจากกิเลส ขอท่านจงดูความที่แห่งธรรมเป็นธรรม
ดีเลิศ วิชชา ๓ เราได้บรรลุแล้ว เราได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.
๑๐. ธรรมิกเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลต่างระหว่างธรรมและอธรรม
[๓๓๒] ธรรมแลย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว
ย่อมนำสุขมาให้ นี้เป็นอานิสงส์ในธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว ผู้
ประพฤติธรรมย่อมไม่ไปสู่ทุคติ สภาพทั้งสองคือ ธรรมและอธรรม
ย่อมมีวิบากไม่เสมอกัน อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมนำให้ถึง
สุคติ เพราะฉะนั้นแหละ บุคคลเมื่อบรรเทิงอยู่ด้วยการให้โอวาทที่พระ
ตถาคตผู้คงที่ตรัสไว้แล้วอย่างนี้ ควรทำความพอใจในธรรมทั้งหลาย
เพราะสาวกทั้งหลายของพระตถาคตผู้ประเสริฐ เป็นนักปราชญ์ ตั้ง
อยู่แล้วในธรรม นับถือธรรมว่าเป็นที่พึ่งอันประเสริฐสุด ย่อมนำตน
ให้พ้นจากทุกข์ได้ ผู้ใดกำจัดรากเหง้าแห่งหัวฝี ถอนข่าย คือ ตัณหาได้แล้ว
ผู้นั้นเป็นผู้สิ้นสงสาร ไม่มีกิเลสเครื่องกังวลอีกเหมือนพระจันทร์ใน
วันเพ็ญปราศจากโทษ ฉะนั้น.
๑๑. สัปปเถรคาถา
สุภาษิตชมธรรมชาติโดยธรรม
[๓๓๓] เมื่อใด นกยางทั้งหลายมีขนอันขาวสะอาด ถูกความกลัวต่อเมฆคุกคาม
แล้ว ปรารถนาจะหลบซ่อนอยู่ในรัง บินเข้าไปสู่รัง เมื่อนั้น แม่น้ำ
อชกรณีย่อมยังเราให้ยินดี เมื่อใดนกยางมีขนขาวสะอาดดี ถูกความ
กลัวต่อเมฆดำคุกคามแล้ว ไม่เห็นที่หลบลี้ จึงแสวงหาที่หลบลี้
เมื่อนั้น แม่น้ำอชกรณีย่อมยังเราให้ยินดี ต้นหว้าทั้งหลายทั้งสองข้าง
แห่งแม่น้ำอชกรณี ทำฝั่งแม่น้ำข้างหลังแห่งถ้ำใหญ่ของเราให้งาม จะไม่
ยังสัตว์อะไรให้ยินดีในที่นั้นได้เล่า กบทั้งหลายมีปัญญาน้อย พ้นดีแล้ว
จากหมู่แห่งงูมีพิษและงูไม่มีพิษ พากันร้องด้วยเสียงอันไพเราะ วันนี้เป็น
สมัยที่อยู่ปราศจากภูเขาและแม่น้ำก็หามิได้ แม่น้ำอชกรณีนี้เป็นแม่น้ำ
ปลอดภัย เป็นแม่น้ำเกษมสำราญรื่นรมย์ดี.
๑๒. มุทิตเถรคาถา
สุภาษิตชี้ผลการทำจริง
[๓๓๔] เรามีความต้องการเลี้ยงชีพ ได้บรรพชาอุปสมบทแล้ว ภายหลังกลับ
ได้ศรัทธา มีความเพียรบากบั่นมั่นคง โดยตั้งใจว่า ร่างกายของเรานี้จง
แตกทำลายไป เนื้อหนังของเราพึงเหือดแห้งไป แข้งขาทั้งสองของเรา
จะหลุดจากที่ต่อแห่งเข่าทั้งสอง ตกลงไปที่พื้นดินก็ตามที เมื่อเรายังถอน
ลูกศรคือตัณหาไม่ได้ เราจักไม่กิน ไม่ดื่ม จักไม่ออกจากวิหาร และ
จักไม่เอนกายนอน ขอท่านจงดูความเพียรและความบากบั่นของเรา ผู้อยู่
ด้วยความตั้งใจอย่างนั้น เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว ได้ทำกิจพระพุทธ
ศาสนาเสร็จแล้ว.
-----------------------------------------------------
พระเถระที่กล่าวคาถาองค์ละ ๔ คาถา รวมเป็น ๕๒ คาถา รวมเป็นพระเถระ ๑๓
องค์ คือ
๑. พระนาคสมาลเถระ ๒. พระภคุเถระ
๓. พระสภิยเถระ ๔. พระนันทกเถระ
๕. พระชัมพุกเถระ ๖. พระเสนกเถระ
๗. พระสัมภูตเถระ ๘. พระราหุลเถระ
๙. พระจันทนเถระ ๑๐. พระธรรมิกเถระ
๑๑. พระสัปปกเถระ ๑๒. พระมุทิตเถระ.
จบ จตุกกนิบาตที่ ๔.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ปัญจกนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในปัญจกนิบาต
๑. ราชทัตตเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้พิจารณาสังขาร
[๓๓๕] ภิกษุไปป่าช้าผีดิบ ได้เห็นซากศพหญิงคนหนึ่งซึ่งเขาทิ้งไว้ในป่าช้า มี
หมู่หนอนฟอนกัดกินอยู่ ก็ธรรมดาคนที่ชอบสวยชอบงามบางพวก ได้
เห็นซากศพอันเป็นของเลวทราม ย่อมเกลียด แต่ความกำหนัดรักใคร่
ย่อมเกิดแก่เขา เขาเป็นเหมือนคนตาบอด เพราะไม่เห็นของไม่สะอาด
ที่ไหลออกจากทวารทั้ง ๙ ในซากศพนั้น ภายในเวลาหม้อข้าวสุกหนึ่ง
เราหลีกออกจากที่นั้น เรามีสติสัมปชัญญะ เข้าไปสู่ที่ควรแห่งหนึ่ง
ทีนั้นการกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันชอบจึงเกิดขึ้นแก่เรา โทษปรากฏ
แก่เรา ความเหนื่อยหน่ายก็ตั้งมั่น ลำดับนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจาก
กิเลส ขอท่านจงดูความที่ธรรมเป็นธรรมดีเลิศเถิด เพราะวิชชา ๓ เรา
ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.
๒. สุภูตเถรคาถา
สุภาษิตสอนไม่ให้ดีแต่พูด
[๓๓๖] บุรุษผู้ประสงค์จะทำธุรกิจ เมื่อประกอบตนในกิจที่ไม่ควรประกอบ ถ้า
เมื่อขืนประพฤติอยู่อย่างนั้น ก็ไม่พึงได้สำเร็จผล การประกอบในกิจที่
ไม่ควรประกอบนั้น มิใช่ลักษณะบุญ ถ้าบุคคลใด ไม่ถอนความเป็นอยู่
อย่างลำบากแล้วมาสละธรรมอันเอกเสีย บุคคลนั้นก็พึงเป็นดังคนกาลี
ถ้าสละทิ้งคุณธรรมแม้ทั้งปวง ผู้นั้นก็พึงเป็นเหมือนคนตาบอด เพราะ
ไม่เห็นธรรมที่สงบและธรรมไม่สงบ บุคคลพึงทำอย่างใด พึงพูดอย่าง
นั้นแล ไม่พึงทำอย่างใด ไม่พึงพูดอย่างนั้น บัณฑิตทั้งหลายย่อม
กำหนดรู้ว่า บุคคลผู้ไม่ทำ ดีแต่พูดนั้นมีมาก ดอกไม้งาม มีสีแต่ไม่มี
กลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิต ย่อมไม่มีผลแก่บุคคลผู้ไม่ทำอยู่
ก็ฉันนั้น ดอกไม้งาม มีสี มีกลิ่น ฉันใด วาจาอันเป็นสุภาษิตย่อม
มีผลแก่บุคคลผู้ทำอยู่ ฉะนั้น.
๓. คิริมานันทเถรคาถา
สุภาษิตเย้ยฟ้าท้าฝน
[๓๓๗] ฝนตกเสียงไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฏีของเรามุงดีแล้ว มีประตู
หน้าต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้สงบอยู่ในกุฏีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมา
เถิดฝน ฝนตกไพเราะเหมือนเพลงขับ กุฏีของเรามุงดีแล้ว มีประตูหน้า
ต่างมิดชิดดี เราเป็นผู้มีจิตสงบอยู่ในกุฏีนั้น ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมา
เถิดฝน ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากราคะ อยู่ในกุฏีนั้น ฯลฯ เราเป็นผู้
ปราศจากโทสะอยู่ในกุฏีนั้น ฯลฯ เราเป็นผู้ปราศจากโมหะอยู่ในกุฏีนั้น
ถ้าประสงค์จะตกก็ตกลงมาเถิดฝน.
๔. สมุนเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการปฏิบัติธรรม
[๓๓๘] ท่านพระอุปัชฌายะปรารถนาธรรมใด ในบรรดาธรรมทั้งหลายเพื่อเรา
อนุเคราะห์ เราผู้จำนงหวังอมตนิพพาน กิจที่ควรในธรรมนั้นเราทำเสร็จ
แล้ว ธรรมที่มิใช่สิ่งที่อ้างว่าท่านกล่าวมาอย่างนี้ เราได้บรรลุแล้ว ทำให้
แจ้งแล้วด้วยตนเอง เรามีญาณอันบริสุทธิ์ หมดความสงสัย จึงได้
พยากรณ์ในสำนักของท่าน เรารู้จักขันธ์ที่เคยอยู่อาศัยในก่อน ทิพยจักษุ
เราได้ชำระแล้ว ประโยชน์ของตนเราได้บรรลุแล้ว คำสั่งสอนของพระ
พุทธเจ้าเราได้ทำแล้ว สิกขา ๓ อันเราผู้ไม่ประมาท ได้ฟังดีแล้วใน
สำนักของท่าน อาสวะทั้งปวงของเราสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี
ท่านเป็นผู้มีความเอ็นดู อนุเคราะห์สั่งสอนเราด้วยวัตรอันประเสริฐ
โอวาทของท่านไม่ไร้ประโยชน์ เราได้ศึกษาอยู่ในสำนักของท่าน.
๕. วัฑฒเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญมารดา
[๓๓๙] โยมมารดาของเราดีแท้ เพราะได้แนะนำเราให้รู้สึกตัว เหมือนบุคคล
แทงพาหนะด้วยประตัก ฉะนั้น เราได้ฟังคำของโยมมารดาที่พร่ำสอน
แล้วได้ปรารภความเพียร มีจิตตั้งมั่น ได้บรรลุโพธิญาณอย่างสูงสุด เรา
เป็นพระอรหันต์ควรแก่ทักษิณา มีวิชชา ๓ ได้เห็นอมตธรรม ชนะเสนา
แห่งมาร ไม่มีอาสวะอยู่ อาสวะของเราเหล่าใด ได้มีแล้วทั้งภายในทั้ง
ภายนอก อาสวะเหล่านั้นทั้งหมด เราตัดขาดแล้ว และไม่เกิดขึ้นอีก
ต่อไป โยมมารดาของเราเป็นผู้แกล้วกล้า ได้กล่าวเนื้อความนี้กะเรา
แม้เมื่อเราผู้เป็นบุตรของท่านไม่มีกิเลส กิเลสอันเป็นดังหมู่ไม้ในป่าของ
ท่านคงจะไม่มีเป็นแน่ ทุกข์เราทำให้สิ้นสุดแล้ว อัตภาพนี้มีในที่สุด
สงสาร คือความเกิดตายสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี.
๖. นทีกัสสปเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญพระพุทธองค์
[๓๔๐] พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่แม่น้ำเนรัญชรา เพื่อประโยชน์แก่เราหนอ
เพราะเราได้ฟังธรรมของพระองค์แล้ว ละมิจฉาทิฏฐิได้ เมื่อเราเป็น
ปุถุชนยังมืดมนอยู่ สำคัญว่า การบูชายัญนี้เป็นความบริสุทธิ์ จึงได้
บูชายัญสูงๆ ต่ำๆ และได้บูชาไฟ แล่นไปสู่การถือทิฏฐิ ลุ่มหลง
ไปด้วยการเชื่อถือ เป็นคนตาบอดไม่รู้แจ้ง สำคัญความไม่บริสุทธิ์ว่าเป็น
ความบริสุทธิ์ บัดนี้ เราละมิจฉาทิฏฐิได้แล้ว ทำลายภพทั้งปวงหมดแล้ว
เราบูชาไฟ คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เป็นทักขิไณยบุคคล เราขอ
นมัสการพระตถาคต ความลุ่มหลงทั้งปวงเราละหมดแล้ว ตัณหาอันจะ
นำไปสู่ภพเราทำลายแล้ว ชาติสงสารสิ้นแล้ว บัดนี้ ภพใหม่มิได้มี.
๗. คยากัสสปเถรคาถา
สุภาษิตแสดงความเป็นพุทธทายาท
[๓๔๑] เราลงไปลอยบาปในแม่น้ำคยา ที่ท่าคยาผัคคุ วันละ ๓ ครั้ง คือ เวลาเช้า
เวลาเที่ยง เวลาเย็น เพราะคิดเห็นว่า บาปใดที่เราทำไว้ในชาติก่อน
บัดนี้ เราจะลอยบาปนั้นในที่นี้ ความเห็นอย่างนี้ ได้มีแก่เราในกาลก่อน
บัดนี้ เราได้ฟังวาจาอันเป็นสุภาษิต เป็นบทอันประกอบด้วยเหตุผล
แล้วพิจารณาเห็นเนื้อความได้ถ่องแท้ตามความเป็นจริง โดยอุบายอัน
ชอบ จึงได้ล้างบาปทั้งปวง เป็นผู้ไม่มีมลทิน หมดจด สะอาด เป็น
ทายาทผู้บริสุทธิ์ของพระพุทธเจ้า เป็นบุตรผู้เกิดแต่พระอุทรของพระ
พุทธเจ้า เราได้หยั่งลงสู่กระแสน้ำ คือ มรรคอันมีองค์ ๘ ลอยบาป
ทั้งปวง แล้วเราได้บรรลุวิชชา ๓ และได้ทำกิจพระพุทธศาสนาเสร็จแล้ว.
๘. วักกลิเถรคาถา
สุภาษิตปฏิญาณเป็นผู้ไม่เกียจคร้าน
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
[๓๔๒] ดูกรภิกษุ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่ซึ่งเป็นที่ปราศจากโคจร เป็นที่เศร้าหมอง
ถูกโรคลมครอบงำ จักทำอย่างไร?
ท่านพระวักกลิเถระกราบทูลว่า
ข้าพระองค์จะยังปีติและความสุขอันไพบูลย์ให้แผ่ไปสู่ร่างกาย ครอบงำ
ปัจจัยอันเศร้าหมองอยู่ในป่าใหญ่ จักเจริญสติปัฏฐาน ๔ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ และโพชฌงค์ ๗ อยู่ในป่าใหญ่ เพราะได้เห็นภิกษุทั้งหลาย
ผู้ปรารภความเพียร มีใจเด็ดเดี่ยว มีความบากบั่นมั่นเป็นนิตย์ มีความ
พร้อมเพรียงกัน มีความเห็นร่วมกัน ข้าพระองค์จึงจักอยู่ในป่าใหญ่
เมื่อข้าพระองค์ระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระองค์อันฝึกแล้ว มีพระหฤทัย
ตั้งมั่น จึงเป็นผู้ไม่เกียจคร้านตลอดทั้งกลางคืนและกลางวันอยู่ในป่า
ใหญ่.
๙. วิชิตเสนเถรคาถา
สุภาษิตเกี่ยวกับการฝึกจิต
[๓๔๓] เราจักระวังจิตนั้นไว้ เหมือนนายหัตถาจารย์ กักช้างไว้ที่ประตูนคร
ฉะนั้น เราจักไม่ประกอบจิตไว้ในธรรมอันลามก จักไม่ยอมให้จิตตกลง
ไปสู่ข่ายแห่งกามอันเกิดในร่างกาย เจ้าถูกเรากักขังไว้แล้ว จักไปตาม
ชอบใจไม่ได้ เหมือนช้างได้ช่องประตู ฉะนั้น ดูกรจิตผู้ชั่วช้า บัดนี้
เจ้าจักขืนยินดีในธรรมอันลามกเที่ยวไปเนืองๆ ดังก่อนมิได้ นายควาญ-
ช้างมีกำลังแข็งแรง ย่อมบังคับช้างที่จับได้ใหม่ ยังไม่ได้ฝึก ให้อยู่ใน
อำนาจด้วยขอ ฉันใด เราจักบังคับเจ้าให้อยู่ในอำนาจ ฉันนั้น นาย
สารถีผู้ฉลาดในการฝึกม้าให้ดี เป็นผู้ประเสริฐ ย่อมฝึกม้าให้รอบรู้ได้
ฉันใด เราจักฝึกเจ้าให้ตั้งอยู่ในพละ ๕ ฉันนั้น จักผูกเจ้าไว้ด้วยสติ
จักฝึกจักบังคับเจ้าให้ทำธุระด้วยความเพียร เจ้าจักไม่ได้ไปไกลจาก
อารมณ์ภายในนี้ละนะจิต.
๑๐. ยสทัตตเถรคาถา
สุภาษิตตำหนิคนปัญญาทราม
[๓๔๔] คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อม
เป็นผู้ไกลจากสัทธรรม เหมือนฟ้ากับดินฉะนั้น คนมีปัญญาทราม คิด
จะยกโทษ ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม
เหมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟัง
คำสอนของท่านผู้ชนะมาร ย่อมเหี่ยวแห้งในสัทธรรม เหมือนปลาใน
น้ำน้อย ฉะนั้น คนมีปัญญาทราม คิดจะยกโทษ ฟังคำสอนของท่าน
ผู้ชนะมาร ย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชเน่าในไร่นา ฉะนั้น
ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองแล้ว ฟังคำสอนของท่านผู้ชนะมาร ผู้นั้นทำ
อาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบ พึงได้บรรลุ
ความสงบอย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้ไม่มีอาสวะ ย่อมปรินิพพาน.
๑๑. โสณกุฏิกัณณเถรคาถา
สุภาษิตแสดงความภูมิใจในการเป็นพุทธสาวก
[๓๔๕] เราได้อุปสมบทแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอาสวะ ได้เห็น
พระผู้มีพระภาค และได้อยู่ร่วมกับพระองค์ในวิหารเดียวกัน พระผู้มี-
พระภาคประทับอยู่ในที่แจ้งตลอดราตรีเป็นอันมากทีเดียว พระศาสดา
ผู้ฉลาดในธรรมเป็นเครื่องอยู่ ได้เสด็จเข้าไปสู่พระวิหาร เมื่อนั้น
พระโคดมทรงลาดผ้าสังฆาฏิแล้ว สำเร็จสีหไสยา ทรงละความขลาด
กลัวเสียแล้ว เหมือนราชสีห์อยู่ในถ้ำภูเขา ลำดับนั้น ท่านโสณะผู้เป็น
สาวกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้กล่าววาจาไพเราะ ได้ภาษิตสัทธรรม
ในที่เฉพาะพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐ ท่านโสณะกำหนดรู้
เบญจขันธ์แล้ว อบรมอัฏฐังคิกมรรคอันประเสริฐ พึงได้บรรลุความสงบ
อย่างยิ่ง จักเป็นผู้ไม่มีอาสวะ ปรินิพพาน.
๑๒. โกสิยเถรคาถา
สุภาษิตยกย่องผู้เคารพครู
[๓๔๖] ผู้ใดเป็นธีรชน เป็นผู้รู้ถ้อยคำของครูทั้งหลาย อยู่ในโอวาทของครูนั้น
และยังความเคารพให้เกิดในโอวาทของครูนั้น ผู้นั้นชื่อว่าเป็นผู้มีภักดี
และชื่อว่าเป็นบัณฑิตและพึงเป็นผู้วิเศษ เพราะรู้ธรรมทั้งหลาย อันตราย
อันร้ายแรงเกิดขึ้นแล้ว ไม่ครอบงำบุคคลใดผู้พิจารณาอยู่ บุคคลนั้น
ย่อมชื่อว่ามีกำลัง ชื่อว่าเป็นบัณฑิต และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรม
ทั้งหลาย ผู้ใดแลตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เหมือนมหาสมุทร มีปัญญาลึกซึ้ง
เห็นเหตุผลอันละเอียด ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลน ชื่อว่า
เป็นบัณฑิต และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย ผู้ใดเป็นพหูสูต
ทรงธรรมและประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ผู้นั้นชื่อว่าผู้คงที่ เป็น
บัณฑิตและพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย ผู้ใดรู้เนื้อความแห่ง
สุภาษิต ครั้นรู้แล้วทำตามที่รู้ ผู้นั้นชื่อว่าเป็นบัณฑิต อยู่ในอำนาจเหตุผล
และพึงเป็นผู้วิเศษเพราะรู้ธรรมทั้งหลาย.
-----------------------------------------------------
พระเถระ ๑๒ รูป กล่าวคาถารูปละ ๕ คาถา รวมเป็น ๖๐ คาถา คือ
๑. พระราชทัตตเถระ ๒. พระสุภูตเถระ ๓. พระคิริมานนทเถระ
๔. พระสุมนเถระ ๕. พระวัฑฒเถระ ๖. พระนทีกัสสปเถระ
๗. พระคยากัสสปเถระ ๘. พระวักกลิเถระ ๙. พระวิชิตเถระ
๑๐. พระยสทัตตเถระ ๑๑. พระโสณกุฏิกัณณเถระ ๑๒. พระโกสิยเถระ.
จบ ปัญจกนิบาต
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ฉักกนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในฉักกนิบาต
๑. อุรุเวลกัสสปเถรคาถา
สุภาษิตแสดงความภูมิใจที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา
[๓๔๗] เรายังไม่เห็นปาฏิหาริย์ของพระโคดมผู้เรืองยศ เพียงใด เราก็ยังเป็นคน
ลวงโลกด้วยความริษยาและมานะไม่นอบน้อม เพียงนั้น พระผู้มีพระภาค
ผู้เป็นสารถีของนรชน ทรงทราบความดำริของเรา ทรงตักเตือนเรา ลำดับ
นั้น ความสลดใจได้เกิดแก่เรา เกิดความอัศจรรย์ใจ ขนลุกชูชัน
ความสำเร็จอันเล็กน้อยของเราผู้เป็นชฏิล เคยมีอยู่เมื่อ ก่อนเราได้สละ
ความสำเร็จอันนั้นแล้ว บวชในศาสนาของพระชินเจ้า เมื่อก่อน เรา-
ยินดีการบูชายัญ ห้อมล้อมด้วยกามารมณ์ ภายหลัง เราถอนราคะ โทสะ
และโมหะได้แล้ว เรารู้บุพเพนิวาสญาณ ชำระทิพยจักษุหมดจด เป็นผู้มี
ฤทธิ์ รู้จิตของผู้อื่น และบรรลุทิพโสต อนึ่ง เราออกบวชเป็นบรรพชิต
เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นเราได้บรรลุแล้ว ความสิ้นไปแห่ง
สังโยชน์ทั้งปวงเราได้บรรลุแล้ว.
๒. เตกิจฉกานิเถรคาถา
สุภาษิตโต้มาร
มารกล่าวว่า
[๓๔๘] ข้าวเปลือกข้าวสาลีทั้งหลาย อันชนทั้งหลายขนมาจากลานไปไว้ในยุ้ง
แล้ว ท่านไม่พึงได้ แม้ก้อนข้าว จักคิดว่า บัดนี้จักทำอย่างไร?
พระเถระกล่าวว่า
เราจักระลึกถึงพระพุทธเจ้าผู้มีพระคุณประมาณมิได้ จักมีใจเลื่อมใส
เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว มีจิตเบิกบานแล้วเนืองๆ เราจักระลึก
ถึงพระธรรม อันมีคุณหาประมาณมิได้ จักมีใจเลื่อมใส เป็นผู้มีสรีระ
อันปีติถูกต้องแล้ว มีจิตเบิกบานแล้วเนืองๆ เราจักระลึกถึงพระสงฆ์
ผู้มีคุณหาประมาณมิได้ จักมีใจเลื่อมใส เป็นผู้มีสรีระอันปีติถูกต้องแล้ว
มีจิตเบิกบานแล้วเนืองๆ.
มารกล่าวว่า
ท่านอยู่ในที่แจ้ง ฤดูนี้เป็นฤดูหนาว ท่านอย่าเป็นผู้ถูกความหนาวครอบงำ
ลำบากเลย นิมนต์ท่านเข้าไปสู่ที่อยู่ อันมีบานประตูและหน้าต่างมิดชิด
เถิด.
พระเถระกล่าวว่า
เราจักเจริญอัปปมัญญา ๔ และจักมีความสุขอยู่ด้วยอัปปมัญญาเหล่านั้น
เราจักเป็นผู้ไม่หวั่นไหว ไม่ลำบากด้วยความหนาว.
๓. มหานาคเถรคาถา
สุภาษิตชี้โทษผู้ไม่มีความเคารพ
[๓๔๙] ผู้ใดไม่มีความเคารพ ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมเสื่อมจาก
สัทธรรม เหมือนปลาในน้ำน้อยฉะนั้น ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อน
สพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมไม่งอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชเน่าใน
ไร่นาฉะนั้น ผู้ใดไม่มีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นเป็น
ผู้ไกลจากนิพพานในศาสนา ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระธรรมราชา
ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมไม่เสื่อมจาก
สัทธรรม เหมือนปลาในน้ำมากฉะนั้น ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อนสพรหม
จารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมงอกงามในสัทธรรม เหมือนพืชที่ดีในไร่นาฉะนั้น
ผู้ใดมีความเคารพในเพื่อสพรหมจารีทั้งหลาย ผู้นั้นย่อมอยู่ใกล้นิพพาน
ในศาสนาของพระผู้มีพระภาค ผู้เป็นพระธรรมราชา.
๔. กุลลเถรคาถา
สุภาษิตแสดงการพิจารณาสังขาร
[๓๕๐] เราผู้ชื่อว่ากุลละ ไปที่ป่าช้าผีดิบ ได้เห็นซากศพหญิงคนหนึ่ง เขาทิ้งไว้
ในป่าช้า มีหมู่หนอนฟอนกัดอยู่ ดูกรกุลลภิกษุ ท่านจงดูร่างกายอัน
กระสับกระส่าย ไม่สะอาด เป็นของเปื่อยเน่า มีของโสโครกไหลเข้า
ไหลออกอยู่ อันหมู่คนพาลพากันชื่นชมนัก เราได้ถือเอาแว่นธรรมแล้ว
ส่องดูร่างกายอันไร้ประโยชน์ ทั้งภายในและภายนอกนี้ สรีระเรานี้
ฉันใด ซากศพนั้นก็ฉันนั้น ซากศพนั้นฉันใด สรีระเรานี้ก็ฉันนั้น
ร่างกายเบื้องต่ำฉันใด ร่างกายเบื้องบนก็ฉันนั้น ร่างกายเบื้องบนฉันใด
ร่างกายเบื้องต่ำก็ฉันนั้น กลางวันฉันใด กลางคืนก็ฉันนั้น กลางคืน
ฉันใด กลางวันก็ฉันนั้น เมื่อก่อนฉันใด ภายหลังก็ฉันนั้น ภายหลัง
ฉันใด เมื่อก่อนก็ฉันนั้น ความยินดีด้วยดนตรีเครื่อง ๕ เช่นนั้น ย่อม
ไม่มีแก่เราผู้มีจิตแน่วแน่ พิจารณาเห็นธรรมแจ่มแจ้งโดยชอบ.
๕. มาลุงกยปุตตเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้ละตัณหา
[๓๕๑] ตัณหาย่อมเจริญแก่สัตว์ผู้ประพฤติประมาท เหมือนเถาย่านทราย
เจริญอยู่ในป่าฉะนั้น บุคคลผู้ตกอยู่ในอำนาจของตัณหา ย่อมเร่ร่อนไป
ในภพน้อยภพใหญ่ เหมือนวานรอยากได้ผลไม้ เร่ร่อนไปในป่าฉะนั้น
ตัณหาอันชั่วช้า ซ่านไปในโลก ครอบงำบุคคลใด ความโศกทั้งหลาย
ย่อมเจริญแก่บุคคลนั้น เหมือนหญ้าคมบางที่ถูกฝนตกเชยแล้วฉะนั้น
ส่วนผู้ใดครอบงำตัณหาอันชั่วช้านี้ ซึ่งยากที่จะล่วงได้ในโลก ความโศก
ทั้งหลายย่อมตกไปจากบุคคลนั้น เหมือนหยาดน้ำตกไปจากในบัวฉะนั้น
เพราะฉะนั้นเราขอเตือนท่านทั้งหลาย ขอความเจริญจงมีแก่ท่านทั้งหลาย
ที่มาประชุมกันอยู่ในสมาคมนี้ทั้งหมด ท่านทั้งหลายจงขุดรากแห่งตัณหา
ดุจบุคคลผู้มีความต้องการด้วยแฝก ขุดแฝกอยู่ฉะนั้น มารอย่าได้ระราน
ท่านทั้งหลายบ่อยๆ ดังกระแสน้ำพัดพานไม้อ้อฉะนั้น ท่านทั้งหลายจง
ทำตามพระพุทธพจน์ ขณะอย่าได้ล่วงท่านทั้งหลายไปเสีย เพราะผู้มีขณะ
อันล่วงแล้ว ย่อมยัดเยียดกันในนรกเศร้าโศกอยู่ ความประมาทดุจธุลี
ธุลีเกิดขึ้นเพราะความประมาท ท่านทั้งหลายพึงถอนลูกศรอันเสียบอยู่ใน
หทัยของตน ด้วยความไม่ประมาทและด้วยวิชชาเถิด.
๖. สัปปทาสเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการเห็นโทษสังขาร
[๓๕๒] นับตั้งแต่เราบวชมาแล้วได้ ๒๕ ปี ยังไม่เคยได้รับความสงบใจ แม้ชั่ว
เวลาลัดนิ้วมือเลย เราไม่ได้เอกัคคตาจิต ถูกกามราคะครอบงำแล้ว
ประคองแขนทั้งสองร้องไห้คร่ำครวญเข้าไปสู่ที่อยู่ด้วยคิดว่า จักนำศาตรา
มา ชีวิตของเราจะมีประโยชน์อะไรเล่า ก็คนอย่างเราจะลาสิกขาเสีย
อย่างไรได้ ควรตายเสียเถิดคราวนี้ เราได้ฉวยเอามีดโกนขึ้นไปนอน
บนเตียง มีดโกนเล่มนั้นเราสะบัดดีแล้ว สามารถจะตัดเส้นเอ็นให้ขาดได้
ขณะนั้น โยนิโสมนสิการก็บังเกิดขึ้นแก่เรา โทษปรากฏแก่เรา ความ
เบื่อหน่ายในสังขารก็เกิดขึ้นแก่เรา เพราะความเบื่อหน่ายในสังขารนั้น
จิตของเราหลุดพ้นแล้ว ขอท่านจงดูความที่ธรรมเป็นธรรมดีเถิด วิชชา ๓
เราได้บรรลุแล้ว คำสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว.
๗. กาติยานเถรคาถา
สุภาษิตเตือนไม่ให้ประมาท
[๓๕๓] จงลุกขึ้นนั่งเถิดกาติยานะ อย่ามัวนอนหลับอยู่เลย จงตื่นขึ้นเถิด อย่า
ให้มัจจุราชผู้เป็นพวกพ้องของคนประมาทชนะ ท่านผู้เกียจคร้านด้วย
อุบายอันโกงเลย กำลังคลื่นแห่งมหาสมุทร ย่อมครอบงำบุรุษผู้ไม่อาจ
ข้ามมหาสมุทรนั้นได้ แม้ฉันใด ชาติและชราย่อมครอบงำท่านผู้ถูก
ความเกียจคร้านครอบงำแล้ว ฉันนั้น ขอท่านจงทำเกาะ คือ อรหัตผล
แก่ตนเถิด เพราะที่พึ่งอย่างอื่นในโลกนี้และโลกหน้า ย่อมไม่มีแก่ท่าน
ก็พระศาสดาได้ทรงบอกทางนี้ อันล่วงพ้นจากเครื่องข้องและจากภัย
คือ ชาติและชราแก่ท่านแล้ว ท่านอย่าเป็นผู้ประมาทตลอดยามต้น
และยามหลัง จงพยายามทำความเพียรให้มั่นเถิด ท่านจงปลดเปลื้อง
เครื่องผูกทั้งหลายอันเป็นของเดิมเสีย จงใช้สอยผ้าสังฆาฏิและโกนศีรษะ
ด้วยมีดโกน ฉันอาหารที่ขอเขามาได้ จงอย่าเห็นแก่การเล่นสนุกสนาน
อย่าเห็นแก่นอน จงหมั่นเพ่งดูธรรมเถิด กาติยานะ จงเจริญฌาน จงชนะ
กิเลสเถิดกาติยานะ ท่านจงเฉลียวฉลาดในทางอันปลอดโปร่งจากโยคะ
จงบรรลุถึงความบริสุทธิ์อันยอดเยี่ยม จงดับเพลิงกิเลส ดังบุคคลดับไฟ
ด้วยน้ำ ฉะนั้น ประทีปที่ส่องแสง ถ้ามีแสงน้อย ย่อมดับไปด้วยลม
ดังเถาวัลย์เหี่ยวแห้ง ฉันใด ท่านก็จงเป็นผู้ไม่ถือมั่น กำจัดมารผู้มี
โคตรเสมอด้วยพระอินทร์ฉันนั้นเถิด ก็เมื่อท่านกำจัดมารได้อย่างนี้แล้ว
เป็นผู้ปราศจากความกำหนัดพอใจในเวทนาทั้งหลาย เป็นผู้มีความเย็น
รอคอยเวลานิพพานของตน ในอัตภาพนี้ทีเดียว.
๘. มิคชาลเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญพระธรรม
[๓๕๔] ธรรมอันก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวง เป็นธรรมยังวัฏฏะให้พินาศหมดสิ้น
เป็นเครื่องนำออกไปจากสงสาร เป็นเครื่องข้ามพ้นสงสาร ทำรากตัณหา
ให้เหี่ยวแห้ง อันพระพุทธเจ้าผู้เป็นเผ่าแห่งพระอาทิตย์ ผู้มีพระจักษุ
ทรงแสดงดีแล้ว ทำลายกรรมกิเลสเครื่องก่อภพก่อชาติ อันมีรากเป็น
พิษแล้ว ทำให้เราถึงความดับสนิท ธรรมอันเป็นเครื่องกำจัดกรรมให้สิ้น
สุด อันพระพุทธเจ้าทรงแสดงแล้ว เพื่อทำลายรากเหง้าแห่งอวิชชา
มารเพียงดังแก้ววิเชียรเป็นเครื่องยังวิญญาณให้ตกไป ปรากฏแก่เราใน
การกำหนดถือวิญญาณทั้งหลาย ธรรมเครื่องปราศจากเวทนา ปลดเปลื้อง
อุปาทาน อันเป็นเครื่องพิจารณาเห็นภพดุจหลุมถ่านเพลิงด้วยญาณ มีรส
มาก ลึกซึ้ง เป็นธรรมห้ามความแก่ความตายให้เกิดแก่เรา อริยมรรคอัน
ประกอบด้วยองค์ ๘ เป็นทางสงบทุกข์ ปลอดโปร่ง พระผู้มีพระภาคทรง
แสดงแล้ว ธรรมอันเป็นเครื่องเห็นโลกตามความเป็นจริง ให้ถึงความ
ปลอดโปร่งเป็นอันมาก เจริญในที่สุด พระพุทธเจ้าผู้มีพระจักษุ ทรงรู้
กรรมว่าเป็นกรรม ทรงรู้จักวิบากโดยความเป็นวิบาก แห่งธรรมอันอาศัย
กันและกันเกิดขึ้น ทรงแสดงดีแล้ว.
๙. เชนตปุโรหิตปุตตเถรคาถา
สุภาษิตแสดงการละมานะเพราะพบเห็นพระพุทธองค์
[๓๕๕] เราเป็นผู้เมาด้วยความเมาเพราะชาติสกุล ด้วยโภคะ และอิสริยยศ ด้วย
ทรวดทรง ผิวพรรณและรูปร่าง และเป็นผู้เมาแล้วด้วยความเมาอย่างอื่น
เราจึงไม่สำคัญใครๆ ว่าเสมอตน และยิ่งกว่าตน เราเป็นผู้มีกุศลอัน
อติมานะ กำจัดแล้ว เป็นคนโง่เขลา เป็นผู้มีใจกระด้าง เป็นผู้ถือตัว
มีมานะกระด้าง ไม่เอื้อเฟื้อ จึงไม่กราบไหว้ใคร แม้เป็นมารดาหรือบิดา
แม้พี่ชายหรือพี่สาว และแม้สมณพราหมณ์เหล่าอื่นที่โลกสมมติว่าเป็น
ครูบาอาจารย์ เราเห็นพระพุทธเจ้าผู้เป็นนายกของโลก ผู้เลิศประเสริฐ
สูงสุดกว่าสารถีทั้งหลาย ผู้รุ่งเรืองดุจพระอาทิตย์ อันหมู่ภิกษุสงฆ์ห้อม
ล้อมแล้ว จึงละทิ้งมานะและความมัวเมา มีใจผ่องใส ถวายบังคมพระองค์
ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งหลาย ด้วยเศียรเกล้า การถือตัวว่าดีกว่าเขา ว่าเลว
กว่าเขา และว่าเสมอเขา เราละแล้ว ถอนขึ้นแล้วด้วยดี การถือตัวว่า
เป็นเราเป็นเขา เราตัดขาดแล้ว การถือตัวต่างๆ ทั้งหมด เรากำจัดแล้ว.
๑๐. สุมนเถรคาถา
สุภาษิตแสดงผลการบรรลุธรรม
[๓๕๖] เมื่อครั้งเราบวชใหม่ มีอายุได้ ๗ ปีแต่กำเนิด ได้ชนะพญานาคผู้มีฤทธิ์มาก
ด้วยฤทธิ์ ได้ตักน้ำจากสระใหญ่ ชื่อว่าอโนดาตมาถวายพระอุปัชฌายะ
ลำดับนั้น พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเราแล้ว ตรัสว่า ดูกรสารีบุตร
เธอจงดูกุมารผู้ถือหม้อน้ำมานี้ มีจิตตั้งมั่นดีแล้วในภายใน สามเณรนี้
เป็นผู้มีอิริยาบถงดงาม มีวัตรอันน่าเลื่อมใส เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธะ
แกล้วกล้าด้วยฤทธิ์ เป็นผู้อันพระอนุรุทธะ ผู้เป็นบุรุษอาชาไนยฝึกให้รู้
ได้รวดเร็ว ผู้อันพระอนุรุทธะผู้เป็นคนดีฝึกให้ดีแล้ว เป็นผู้อันพระ-
อนุรุทธะผู้ทำกิจเสร็จแล้ว แนะนำแล้ว ให้ศึกษาแล้ว สุมนสามเณรนั้น
ได้บรรลุสันติธรรมอันยอดเยี่ยม ทำให้แจ้งซึ่งธรรมอันไม่กำเริบ ไม่
ปรารถนาจะอวดคุณวิเศษของตนแก่ใครๆ.
๑๑. นหาตกมุนีเถรคาถา
สุภาษิตแสดงความพอใจในการอยู่ป่า
พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่า
[๓๕๗] ดูกรภิกษุ เมื่อเธออยู่ในป่าใหญ่อันปราศจากโคจร เป็นป่าเศร้าหมอง
ถูกโรคลมครอบงำ จักทำอย่างไร?
พระนหาตกมุนีกราบทูลว่า
ข้าพระองค์จักยังปีติ และความสุขอันไพบูลย์ให้แผ่ไปสู่ร่างกายครอบงำ
ปัจจัยอันเศร้าหมองอยู่ในป่าใหญ่ และจักเจริญโพชฌงค์ ๗ อินทรีย์ ๕
พละ ๕ ถึงพร้อมด้วยสุขอันเกิดแต่ฌาน จักเป็นผู้หมดอาสวะอยู่
ข้าพระองค์จักพิจารณาเนืองๆ ซึ่งจิตอันบริสุทธิ์ หลุดพ้นแล้วจากกิเลส
ไม่ขุ่นมัว เป็นผู้หมดอาสวะอยู่ อาสวะทั้งปวงของข้าพระองค์ ซึ่งมีอยู่
ทั้งภายในและภายนอก ข้าพระองค์ถอนขึ้นแล้ว ไม่เกิดขึ้นอีกต่อไป
เบญจขันธ์ ข้าพระองค์กำหนดรู้แล้ว มีรากอันขาดแล้ว ตั้งอยู่ ธรรม
อันเป็นที่สิ้นทุกข์ ข้าพระองค์ได้บรรลุแล้ว บัดนี้ ภพใหม่ไม่มี พระ-
เจ้าข้า.
๑๒. พรหมทัตตเถรคาถา
สุภาษิตสรรเสริญการชนะความโกรธ
[๓๕๘] ที่ไหนความโกรธจะพึงเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่โกรธ ผู้ฝึกตนแล้ว เลี้ยงชีพ
โดยชอบ ผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ผู้สงบ ผู้คงที่ บุคคลโกรธตอบ
บุคคลผู้โกรธ จัดว่าเป็นคนเลวกว่าบุคคลผู้โกรธ เพราะความโกรธตอบ
นั้น บุคคลผู้ไม่โกรธตอบบุคคลผู้โกรธ ชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ยาก
บุคคลใดรู้ว่าบุคคลอื่นโกรธแล้ว มีสติสงบใจได้ บุคคลนั้นชื่อว่า
ประพฤติประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย คือ แก่ตนและบุคคลอื่น ชนเหล่าใด
เป็นผู้ไม่ฉลาดในธรรม ชนเหล่านั้นย่อมสำคัญบุคคลผู้รักษาทั้งสองฝ่าย
คือ ตนและบุคคลอื่นว่า เป็นคนโง่เขลา ถ้าความโกรธเกิดขึ้น จงระลึก
ถึงพระโอวาทอันอุปมาด้วยเลื่อย ถ้าตัณหาในรสเกิดขึ้น จงระลึกถึง
พระโอวาทอันอุปมาด้วยเนื้อบุตร ถ้าจิตของท่านแล่นไปในกามและภพ
ทั้งหลาย จงรีบข่มเสียด้วยสติ เหมือนบุคคลห้ามโคที่ชอบกินข้าวกล้า
ฉะนั้น.
๑๓. สิริมัณฑเถรคาถา
สุภาษิตสอนให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์
[๓๕๙] มุงบังไว้ฝนยิ่งรั่วรด เปิดไว้ฝนกลับไม่รั่วรด เพราะฉะนั้นท่านทั้งหลาย
จงเปิดที่มุงบังเสียเถิด ฝนจักไม่รั่วรดท่านด้วยอาการอย่างนี้ โลกถูก
มัจจุเผาสุม ถูกชรารุมล้อม ถูกศร คือ ตัณหาทิ่มแทง ถูกความ
ปรารถนาแผดเผาทุกเมื่อ โลกถูกมัจจุเผาสุม และถูกชรารุมล้อม ไม่มี
สิ่งใดต้านทานได้ ย่อมเดือดร้อนอยู่เป็นนิตย์ เหมือนคนกระทำความผิด
ได้รับอาชญาเดือดร้อนอยู่ฉะนั้น ชรา พยาธิและมรณะทั้ง ๓ เป็นดุจ-
กองไฟตามไหม้หมู่สัตว์โลกนี้ สัตวโลกเหล่านั้นไม่มีกำลังต่อต้าน ไม่มี
กำลังจะหนีไปได้ ควรทำวันและคืนไม่ให้ไร้ประโยชน์ ด้วยมนสิการ
น้อยบ้าง มากบ้าง เพราะวันคืนล่วงไปๆ เท่าใด ชีวิตของสัตว์ก็ล่วง
ไปเท่านั้น เวลาตายย่อมรุกร้นเข้าไปใกล้บุคคลทุกอิริยาบถ คือ เดิน
ยืน นั่ง หรือนอน เพราะฉะนั้น ท่านไม่ควรประมาทเวลา.
๑๔. สัพพกามเถรคาถา
สุภาษิตสอนการพิจารณาสังขาร
[๓๖๐] สัตว์สองเท้านี้เป็นสัตว์ไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็นเต็มไปด้วยซากศพต่างๆ
มีของโสโครกไหลออกทั่วกาย ต้องบริหารอยู่เป็นนิตย์ เบญจกามคุณ
อันน่ารื่นรมย์ใจเหล่านี้ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ ที่มี
ปรากฏอยู่ในรูปร่างหญิง ย่อมล่อลวงปุถุชนให้ลำบาก เหมือนพรานเนื้อ
แอบดักเนื้อด้วยเครื่องดัก พรานเบ็ดจับปลาด้วยเบ็ด บุคคลจับวานร
ด้วยเครื่องล่อ ฉะนั้น ปุถุชนเหล่าใด มีจิตกำหนัดเข้าไปส้องเสพหญิง
เหล่านั้น ปุถุชนเหล่านั้นย่อมยังสงสารอันน่ากลัวให้เจริญ ย่อมก่อภพ
ใหม่ขึ้นอีก ส่วนผู้ใดงดเว้นหญิงเหล่านั้นเหมือนบุคคลสลัดหัวงูด้วยเท้า
ผู้นั้นเป็นผู้มีสติระงับตัณหาอันซ่านไปในโลกเสียได้ เราเห็นโทษในกาม
ทั้งหลาย เห็นการออกบรรพชาโดยความเกษม สลัดตนจากกามทั้งปวง
แล้ว ได้บรรลุความสิ้นอาสวะ.
-----------------------------------------------------
ในวรรคนี้รวมคาถาได้ ๘๔ คาถา พระเถระที่ภาษิตคาถา ๑๔ รูป คือ
๑. พระอุรุเวลกัสสปเถระ ๒. พระเตกิจฉกานิเถระ
๓. พระมหานาคเถระ ๔. พระกุลลเถระ
๕. พระมาลุงกยปุตตเถระ ๖. พระสัปปทาสเถระ
๗. พระกาติยานเถระ ๘. พระมิคชาลเถระ
๙. พระเชนตปุโรหิตปุตตเถระ ๑๐. พระสุมนเถระ
๑๑. พระนหาตกมุนิเถระ ๑๒. พระพรหมทัตตเถระ
๑๓. พระสิริมัณฑเถระ ๑๔. พระสัพพกามเถระ.
จบ ฉักกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา สัตตกนิบาต
ว่าด้วยคาถาสุภาษิต ในสัตตกนิบาต
๑. สุนทรสมุททเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสุนทรสมุทร
[๓๖๑] หญิงแพศยาผู้ประดับประดาร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่อันงามทัดทรงดอก
ไม้ ลูบไล้ด้วยเครื่องหอม เท้าย้อมด้วยสีแดง สวมรองเท้า
ทอง ยืนประคองอัญชลีอยู่ข้างหน้า กล่าวเล้าโลมเราด้วยถ้อยคำ
อันอ่อนหวานว่า ท่านเป็นผู้บรรพชิตหนุ่ม ขอจงเชื่อฟังคำของดิฉัน ขอ
เชิญท่านสึกออกมาบริโภคกามอันเป็นของมนุษย์เถิด ดิฉันจักมอบ
ทรัพย์สมบัติอันให้เกิดความปลื้มใจแก่ท่าน ดิฉันขอให้สัจปฏิญาณแก่
ท่านว่า ดิฉันจักเป็นภรรยา ปฏิบัติท่าน เหมือนพราหมณ์บูชาไฟฉะนั้น
เมื่อใดเราทั้งสองแก่เฒ่าจนถึงถือไม้เท้า เมื่อนั้น เราทั้งสองจึงค่อยบวช
เราทั้งสองถือเอาชัยในโลกทั้งสองก่อนเถิด เราเห็นหญิงแพศยาคนนั้น
ผู้ตบแต่งร่างกาย นุ่งห่มผ้าใหม่อันงามดีมาทำอัญชลี พูดจาเล้า
โลมเรา เหมือนกับบ่วงมัจจุราชอันธรรมชาติดักไว้ ลำดับนั้น
โยนิโสมนสิการบังเกิดขึ้นแก่เรา เราได้เห็นโทษของสังขารแล้ว เกิด
ความเบื่อหน่าย ลำดับนั้น จิตของเราก็หลุดพ้นจากกิเลส ขอท่านจง
เห็นคุณวิเศษของพระธรรมอย่างนี้เถิด บัดนี้ เราได้บรรลุวิชชา ๓ แล้ว
ได้ทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเสร็จแล้ว.
๒. ลกุณฏกเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระลกุณฏกเถระ
[๓๖๒] ภัททิยภิกษุอยู่ ณ อัมพาฏการามอันสวยงามในชัฏแห่งป่า ได้ถอนตัณหา
พร้อมทั้งรากขึ้นแล้ว เป็นผู้เจริญด้วยคุณมีศีลเป็นต้น เพ่งฌานอยู่ใน
ไพรสณฑ์นี้ กามโภคีบุคคลบางพวกย่อมยินดีด้วยเสียงตะโพน เสียง
พิณและบัณเฑาะว์ แต่ความยินดีของพวกเขานั้นไม่ประเสริฐ ไม่
ประกอบด้วยประโยชน์ ส่วนเรายินดีแล้วในคำสอนของพระพุทธเจ้า
อยู่ที่โคนไม้ ก็พระพุทธเจ้าได้ประทานพรแก่เรา เรารับพรนั้น
แล้ว ถือเอากายคตาสติอันโลกทั้งปวงพึงเจริญเป็นนิตย์ ชนเหล่า
ใดถือรูปร่างเราเป็นประมาณ และถือเสียงเราเป็นประมาณ ชน
เหล่านั้นตกอยู่ในอำนาจฉันทราคะ ย่อมไม่รู้จักเรา คนพาลถูก
กิเลสกั้นไว้รอบด้าน ย่อมไม่รู้ทั้งภายใน ไม่เห็นทั้งภายนอกย่อม
ลอยไปตามเสียง แม้บุคคลผู้เห็นผลภายนอก ไม่รู้ภายใน แต่
เห็นภายนอก ก็ลอยไปตามเสียง ส่วนผู้ใดมีความเห็นไม่ถูกกั้น
ย่อมรู้ชัดทั้งภายใน ทั้งเห็นแจ้งภายนอก ผู้นั้นย่อมไม่ลอยไป
ตามเสียง.
๓. ภัททเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระภัททเถระ
[๓๖๓] เราเป็นบุตรคนเดียว จึงเป็นที่รักของมารดาบิดา เพราะเหตุว่า
มารดาบิดาได้เรามาด้วยการประพฤติวัตร และการเซ่นสรวงเป็นอัน
มาก ก็มารดาและบิดาทั้งสองนั้น มุ่งหวังความเจริญ แสวง
หาประโยชน์เพื่ออนุเคราะห์เรา จึงนำเรามาถวายแด่พระพุทธเจ้า
แล้วทูลว่า บุตรของข้าพระองค์นี้เป็นสุขุมาลชาติ เจริญด้วย
ความสุข เป็นบุตรที่ข้าพระองค์ได้มาโดยยาก ข้าแต่พระองค์ผู้
เป็นนาถะของโลก ข้าพระองค์ทั้งสองขอถวายบุตรสุดที่รักนี้ ให้
เป็นคนรับใช้สอยของพระองค์ผู้ทรงชนะกิเลสมาร ก็พระศาสดา
ทรงรับเราแล้ว รับสั่งกะท่านพระอานนท์ว่า จงรีบให้เด็กคนนี้บรรพชา
เถิด เพราะเด็กคนนี้จักเป็นผู้รอบรู้รวดเร็ว พระศาสดาผู้ทรงชนะ
มาร รับสั่งให้พระอานนท์บรรพชาให้เราแล้วเสด็จเข้าสู่พระคันธกุฎี
เมื่อพระอาทิตย์ยังไม่อัศดงคต จิตของเราก็พ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง
ภายหลัง พระศาสดาทรงออกจากสมาบัติแล้ว เสด็จออกจาก
ที่เร้น รับสั่งกะเราว่า จงเป็นภิกษุมาเถิดภัททะ การรับสั่ง
เช่นนั้น เป็นการอุปสมบทของเรา เราเกิดมาได้ ๗ ปี ก็ได้
อุปสมบท ได้บรรลุวิชชา ๓ น่าอัศจรรย์ ความที่ธรรมเป็น
ความดี
๔. โสปากเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระโสปากเถระ
[๓๖๔] เราได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้สูงสุดกว่านรชน เป็นบุรุษอุดมเสด็จจงกรม
อยู่ที่ร่มเงาหลังพระคันธกุฎี จึงเข้าไปเฝ้าถวายบังคม ณ ที่นั้น เราห่ม
จีวรเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง ประนมมือเดินตามพระองค์ผู้ปราศจากกิเลสธุลี
ผู้สูงสุดกว่าสัตว์ทั้งปวง ลำดับนั้น พระองค์ได้ตรัสถามปัญหาเรา เรา
เป็นผู้ฉลาด รอบรู้ปัญญาทั้งหลาย เป็นผู้ไม่มีความหวาดหวั่นและไม่กลัว
ได้พยากรณ์แด่พระศาสดา เมื่อเราวิสัชนาปัญหาแล้ว พระตถาคต
ทรงอนุโมทนา ทรงทอดพระเนตรหมู่ภิกษุแล้ว ได้ตรัสเนื้อความนี้ว่า
โสปากภิกษุนี้บริโภคจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัย
ของชาวอังคะและชาวมคธเหล่าใด ก็เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธ
เหล่านั้น อนึ่ง ได้ตรัสว่า เป็นลาภของชาวอังคะและชาวมคธที่ได้
ต้อนรับและทำสามีจิกรรม แก่โสปากภิกษุ ดูกรโสปากะ ตั้งแต่วันนี้
เป็นต้นไป ให้เธอเข้ามาหาเราได้ ดูกรโสปากะ การวิสัชนาปัญหานี้
จงเป็นการอุปสมบทของเธอ เรามีอายุได้ ๗ ปี แต่เกิดมา ก็ได้
อุปสมบทเป็นภิกษุ ทรงร่างกายอันมีในที่สุด น่าอัศจรรย์จริง ความที่ธรรม
เป็นกรรมดี.
๕. สรภังเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสรภังคเถระ
[๓๖๕] เราหักแขมด้วยมือทั้งสองทำกระท่อมอยู่ เพราะฉะนั้น เราจึงมีชื่อ
โดยสมมติว่า สรภังคะ วันนี้เราไม่ควรหักแขม ด้วยมือทั้ง
สองอีก เพราะพระสมณโคดมผู้เรืองยศ ทรงบัญญัติสิกขาบทแก่
เราทั้งหลาย เมื่อก่อน เราผู้ชื่อว่าสรภังคะไม่เคยได้เห็นโรคคือ
อุปาทานขันธ์ ๕ ครบบริบูรณ์ทั้งสิ้น โรคนั้น อันเราผู้ทำตามพระ
ดำรัสของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่ ได้เห็นแล้ว พระ
สัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่า พระวิปัสสี พระสิขี พระ
เวสสภู พระกกุสันโธ พระโกนาคม พระกัสสป ได้
เสด็จไปแล้วโดยทางใดแล พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระนามว่าโคดม
ก็ได้เสด็จไปแล้ว โดยทางนั้น พระพุทธเจ้า ๗ พระองค์นี้
ทรงปราศจากตัณหา ไม่ทรงถือมั่น ทรงหยั่งถึงความสิ้นกิเลส
เสด็จอุบัติแท้ โดยธรรมกาย ผู้คงที่ ทรงเอ็นดูอนุเคราะห์
สัตว์ทั้งหลาย ได้ทรงแสดงธรรม คือ อริยสัจ ๔ อันได้แก่ทุกข์
เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางเป็นที่สิ้นทุกข์ เป็นทาง
ไม่เป็นไปแห่งทุกข์ อันไม่มีที่สุดในสงสาร เพราะกายนี้แตก และ
เพราะความสิ้นชีวิตนี้ การเกิดในภพใหม่อย่างอื่นมิได้มี เราเป็น
ผู้หลุดพ้นแล้วจากสรรพกิเลสและภพทั้งปวง.
-----------------------------------------------------
พระเถระ ๕ องค์ ได้กล่าวคาถาองค์ละ ๗ คาถา รวมเป็น ๓๕ คาถาคือ
๑. พระสุนทรสมุททเถระ ๒. พระลกุณฏภัททิยเถระ
๓. พระภัททเถระ ๔. พระโสปากเถระ
๕. พระสรภังคเถระ.
จบ สัตตกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา อัฏฐกนิบาต
๑. มหากัจจายนเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมหากัจจายนเถระ
[๓๖๖] ภิกษุไม่ควรทำการงานให้มาก ควรหลีกเร้นหมู่ชน ไม่ควรขวน
ขวายเพื่อยังปัจจัยให้เกิด เพราะภิกษุใดเป็นผู้ติดรสอาหาร ภิกษุนั้นชื่อ
ว่าเป็นผู้ขวนขวายเพื่อยังปัจจัยให้เกิด และชื่อว่าละทิ้งประโยชน์อัน
จะนำความสุขมาให้ พระอริยะทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น
กล่าวการไหว้การบูชาในสกุลทั้งหลายว่า เป็นเปือกตม เป็นลูกศร
อันละเอียดถอนได้ยาก เพราะสักการะอันบุรุษชั่วละได้ยาก ภิกษุ
ไม่ควรแนะนำสัตว์อื่นให้ทำกรรมอันเป็นบาป และไม่พึงส้องเสพ
กรรมนั้นด้วยตนเอง เพราะสัตว์มีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ คนเราย่อม
ไม่เป็นโจรเพราะคำของบุคคลอื่น ไม่เป็นมุนีเพราะคำของบุคคลอื่น
บุคคลรู้จักตนเองว่าเป็นอย่างไร แม้เทพเจ้าทั้งหลายก็รู้จักบุคคลนั้น
ว่าเป็นอย่างนั้น ก็คนพวกอื่นย่อมไม่รู้สึกตัวว่า พวกเราที่สมาคมนี้
จักพากันยุบยับในหมู่ชนพวกนั้น พวกใดมารู้สึกตัวว่า พวกเราจักพา
กันไปสู่ที่ใกล้มัจจุราช ความทะเลาะวิวาท ย่อมระงับไปเพราะพวกนั้น
บุคคลผู้มีปัญญาถึงจะสิ้นทรัพย์ก็ยังเป็นอยู่ได้ ส่วนบุคคลถึงจะมีทรัพย์
ก็เป็นอยู่ไม่ได้ เพราะไม่ได้ปัญญา บุคคลย่อมได้ยินเสียงทุกอย่างด้วยหู
ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ แต่นักปราชญ์ย่อมไม่ควรละทิ้งสิ่งทั้งปวง
ที่ได้เห็นได้ฟังมาแล้ว ผู้มีปัญญาถึงมีตาดี ก็ทำเหมือนคนตาบอด
ถึงมีหูดีก็ทำเป็นดังคนหูหนวก ถึงมีปัญญาก็ทำดังคนใบ้ ถึงมีกำลังก็ทำ
เป็นดังคนทุรพล แต่เมื่อประโยชน์เกิดขึ้น ถึงจะนอนอยู่ในเวลาใกล้ตาย
ก็ยังทำประโยชน์นั้นได้.
๒. สิริมิตตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระสิริมิตตเถระ
[๓๖๗] ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด
ภิกษุนั้นแลเป็นผู้คงที่ ด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ภิกษุ
นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในโลกเบื้องหน้า ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูก
โกรธไว้ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด ภิกษุนั้นเป็นผู้มีทวารอัน
คุ้มครองแล้วทุกเมื่อ ด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวแล้วอย่างนี้ ภิกษุ
นั้นย่อมไม่เศร้าโศกในโลกเบื้องหน้า ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูก
โกรธไว้ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด มีศีลงาม ด้วยข้อปฏิบัติ
ตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมไม่เศร้าโศกในโลกเบื้องหน้า
ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูกโกรธไว้ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด มี
กัลยาณมิตร ด้วยข้อปฏิบัติตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้น
ย่อมไม่เศร้าโศกในโลกเบื้องหน้า ภิกษุใดไม่มักโกรธ ไม่ผูก
โกรธไว้ ไม่มีมายา ไม่ส่อเสียด มีปัญญางาม ด้วยข้อปฏิบัติ
ตามที่กล่าวมาแล้วอย่างนี้ ภิกษุนั้นย่อมไม่เศร้าโศกในโลกเบื้องหน้า
ผู้ใดมีศรัทธาไม่หวั่นไหวในพระตถาคต ตั้งมั่นดีแล้ว มีศีลอันงาม
อันพระอริยใคร่แล้ว สรรเสริญแล้ว มีความเลื่อมใสในพระสงฆ์
และมีความเห็นตรง บัณฑิตทั้งหลายกล่าวผู้นั้นว่า เป็นผู้ไม่ขัดสน
ชีวิตของผู้นั้นไม่ไร้ประโยชน์ เพราะฉะนั้น นักปราชญ์เมื่อระลึกถึง
คำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ก็ควรประกอบศรัทธา ศีล ปสาทะ
และการเห็นธรรมเนืองๆ เถิด.
๓. มหาปันถกเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระมหาปันถกเถระ
[๓๖๘] เมื่อใด เราได้เห็นพระศาสดาผู้ปลอดภัยเป็นครั้งแรก เมื่อนั้น
ความสลดใจได้เกิดมีแก่เรา เพราะได้เห็นพระศาสดาผู้อุดมบุรุษ ผู้ใด
นอบน้อมพระศาสดาผู้ทรงศิริ ที่พระบาทด้วยมือทั้งสอง ผู้นั้น
พึงทำพระศาสดาให้ทรงยินดีโปรดปราน ครั้งนั้น เราได้ละทิ้งบุตร
ภรรยา ทรัพย์ และธัญญาหาร ปลงผมและหนวดออกบวช
เป็นบรรพชิต เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยสิกขาสาชีพ สำรวมดีแล้วใน
อินทรีย์ทั้งหลาย ถวายบังคมพระสัมพุทธเจ้า เป็นผู้ไม่พ่ายแพ้
ต่อมาร ครั้งนั้น ความตั้งใจปรารถนาสำเร็จแก่เรา เราไม่ได้
นั่งอยู่เปล่าแม้เพียงครู่เดียว ในเมื่อยังถอนลูกศรคือตัณหาขึ้นไม่ได้
ขอจงดูความเพียร ความบากบั่นของเราผู้อยู่ด้วยความตั้งใจอย่างนั้น
เราได้บรรลุวิชชา ๓ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเราได้ทำเสร็จแล้ว
เราระลึกชาติก่อนๆ ได้ ได้ชำระทิพยจักษุหมดจดแล้ว เป็น
พระอรหันต์ผู้ควรแก่ทักษิณา หลุดพ้นแล้ว ไม่มีอุปธิ ต่อเมื่อ
ราตรีสิ้นไปแล้ว พระอาทิตย์อุทัยขึ้นมา เราทำตัณหาทั้งปวงให้เหือด
แห้งไป จึงเข้าไปสู่ภายในกุฎี โดยบัลลังก์.
-----------------------------------------------------
พระเถระ ๓ องค์ ได้กล่าวคาถาไว้ในอัฏฐกนิบาตองค์ละ ๘ คาถา
รวมเป็น ๒๔ คาถา คือ
๑. พระมหากัจจายนเถระ ๒. พระสิริมิตตเถระ
๓. พระมหาปันถกเถระ
จบ อัฏฐกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา นวกนิบาต
๑. ภูตเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระภูตเถระ
[๓๖๙] เมื่อใด บัณฑิตกำหนดรู้ทุกข์ในเบญจขันธ์ที่ปุถุชนทั้งหลายไม่รู้แจ้งว่า
ความแก่และความตายนี้เป็นทุกข์ แล้วจมอยู่ เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ประสบความยินดีในเบญจขันธ์นั้น ยิ่งไปกว่าความยินดี
ในวิปัสสนาและในมรรคผล เมื่อใด บัณฑิตละตัณหาอันนำทุกข์มา
ให้ซ่านไปในอารมณ์ต่างๆ นำมาซึ่งทุกข์อันเกิดเพราะความต่อเนื่อง
แห่งธรรม เป็นเครื่องเนิ่นช้า เป็นผู้มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้น ย่อม
ไม่ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น เมื่อใด บัณฑิตถูกต้อง
ทางอันสูงสุดเป็นทางปลอดโปร่ง ให้ถึงองค์ ๒ และองค์ ๔ เป็นที่ชำระ
กิเลสทั้งปวง ด้วยปัญญา มีสติเพ่งพินิจอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบ
ความยินดียิ่งไปกว่าการเพ่งพินิจพิจารณานั้น เมื่อใด บัณฑิตเจริญ
สันตบทอันไม่ทำให้เศร้าโศก ปราศจากธุลีอันปัจจัยอะไรๆ ปรุงแต่ง
ไม่ได้ ให้หมดจดจากกิเลสทั้งปวง เป็นเครื่องตัดกิเลสเครื่องผูกพัน
คือสังโยชน์ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดียิ่งไปกว่าการเจริญ
สันตบทนั้น เมื่อใด กลอง คือ เมฆอันเกลื่อนกล่นด้วยสายฝน ย่อม
คำรนร้องอยู่ในนภากาศ อันเป็นทางไปแห่งฝูงนกอยู่โดยรอบ และภิกษุ
ไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดี
อย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการเพ่งธรรมนั้น เมื่อใด บัณฑิตมีจิตเบิกบาน นั่งเพ่ง
พิจารณาธรรมอยู่ที่ฝั่งแม่น้ำทั้งหลาย อันดารดาษไปด้วยดอกโกสุม
และดอกมะลิที่เกิดในป่า อันวิจิตรงดงาม ย่อมไม่ได้ประสบ
ความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการนั่งเพ่งพิจารณาธรรมนั้น เมื่อใด
มีฝนฟ้าร้องในเวลาราตรี ฝูงสัตว์ที่มีเขี้ยว ก็พากันยินดีอยู่ใน
ป่าใหญ่ และภิกษุไปเพ่งพิจารณาธรรมอยู่ที่เงื้อมเขา เมื่อนั้น ย่อม
ไม่ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณาธรรมนั้น เมื่อใด
ภิกษุกำจัดวิตกทั้งหลายของตน เข้าไปสู่ถ้ำภายในภูเขา ปราศจาก
ความกระวนกระวายใจ ปราศจากกิเลสอันตรึงใจ เพ่งพิจารณาธรรมอยู่
เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการพิจารณา
ธรรมนั้น เมื่อใด ภิกษุมีความสุข ยังมลทินกิเลสอันตรึงจิตและความ
โศกให้พินาศ ไม่มีกลอนประตู คือ อวิชชา ไม่มีป่า คือ ตัณหา
ปราศจากลูกศร คือ กิเลส เป็นผู้ทำอาสวะทั้งปวงให้สิ้นไป เพ่งพิจารณา
ธรรมอยู่ เมื่อนั้น ย่อมไม่ได้ประสบความยินดีอย่างอื่น ยิ่งไปกว่าการ
เพ่งพิจารณาธรรมนั้น.
-----------------------------------------------------
พระภูตเถระผู้เห็นธรรมโดยถ่องแท้ เป็นผู้เดียวดุจนอแรด ได้
ภาษิตคาถา ๙ คาถานี้ไว้ในนวกนิบาต ฉะนี้แล.
จบ นวกนิบาต.
-----------------------------------------------------
เถรคาถา ทสกนิบาต
๑. กาฬุทายีเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระกาฬุทายี
[๓๗๐] ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บัดนี้ หมู่ไม้ทั้งหลาย มีดอกและใบมีสีแดงดัง
ถ่านเพลิง ผลิผลถอดใบเก่าร่วงหล่นไป หมู่ไม้เหล่านั้นงามรุ่งเรือง
ดังเปลวเพลิง ข้าแต่พระองค์ผู้มีความเพียรใหญ่ เวลานี้เป็นเวลาสมควร
อนุเคราะห์หมู่พระญาติ ข้าแต่พระองค์ผู้แกล้วกล้า หมู่ไม้ทั้งหลายมี
ดอกบานงามดี น่ารื่นรมย์ใจส่งกลิ่นหอมฟุ้งตลบไปทั่วทิศโดยรอบ
ผลัดใบเก่า ผลิดอกออกผล เวลานี้เป็นเวลาสมควรจะหลีกออกไป
จากที่นี้ ขอเชิญพระพิชิตมารเสด็จไปสู่กรุงกบิลพัสดุ์เถิด ข้าแต่พระองค์
ผู้เจริญ ฤดูนี้ก็เป็นฤดูที่ไม่หนาวนัก ไม่ร้อนนัก เป็นฤดูพอสบาย
ทั้งมรรคาก็สะดวก ขอพวกศากยะและโกลิยะทั้งหลาย จงได้เข้าเฝ้าพระ
องค์ที่แม่น้ำโรหิณีอันมีหน้าในภายหลังเถิด ชาวนาไถนาด้วยความ
หวังผล หว่านพืชด้วยความหวังผล พ่อค้าผู้เที่ยวหาทรัพย์ย่อมไปสู่
สมุทรด้วยความหวังทรัพย์ ข้าพระองค์อยู่ในที่นี้ ด้วยความหวังผล
อันใด ขอความหวังผลอันนั้นจงสำเร็จแก่ข้าพระองค์เถิด ชาวนาหว่าน
พืชบ่อยๆ ฝนตกบ่อยๆ ชาวนาไถนาบ่อยๆ แว่นแคว้นสมบูรณ์ด้วย
ธัญญาหารบ่อยๆ พวกยาจกเที่ยวขอบ่อยๆ ผู้เป็นทานาธิบดีให้บ่อยๆ
ครั้นให้บ่อยๆ แล้วย่อมเข้าถึงสวรรค์บ่อยๆ บุรุษผู้มีความเพียร มี
ปัญญากว้างขวาง เกิดในสกุลใด ย่อมยังสกุลนั้นให้บริสุทธิ์สะอาด
ตลอด ๗ ชั่วคน ข้าพระองค์ย่อมเข้าใจว่า พระองค์เป็นเทพเจ้าประเสริฐ
กว่าเทพเจ้าทั้งหลาย ย่อมทรงสามารถทำให้สกุลบริสุทธิ์ เพราะพระองค์
เกิดแล้วโดยอริยชาติ ได้สัจนามว่าเป็นนักปราชญ์ สมเด็จพระบิดาของ
พระองค์ทรงแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ ทรงพระนามว่าสุทโธทนะ สมเด็จ
พระนางเจ้ามายาพระมเหสีของพระเจ้าสุทโธทนะ เป็นพระพุทธมารดา
ทรงบริหารพระองค์ผู้เป็นพระโพธิสัตว์มา ด้วยพระครรภ์เสด็จสวรรคต
ไปบันเทิงอยู่ในไตรทิพย์ สมเด็จพระนางเจ้ามายาเทวีนั้น ครั้นสวรรคต
จุติจากโลกนี้แล้ว ทรงพรั่งพร้อมด้วยกามคุณอันเป็นทิพย์ มีหมู่นางฟ้า
ห้อมล้อม บันเทิงด้วยเบญจกามคุณ อาตมภาพเป็นบุตรของพระพุทธเจ้า
ผู้ไม่มีสิ่งใดจะย่ำยีได้ มีพระรัศมีแผ่ซ่านจากพระกาย ไม่มีผู้จะเปรียบปาน
ผู้คงที่ ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นโยมของพระบิดา ของโยมบิดา
แห่งอาตมภาพ ดูกรมหาบพิตร พระองค์เป็นพระไอยกาของอาตมภาพ
โดยธรรม.
๒. เอกวิหาริยเถรคาถา
คาถาสุภาษิตของพระเอกวิหาริยเถระ

เนื้อความพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖ บรรทัดที่ ๕๗๗๒-๖๙๔๗ หน้าที่ ๒๔๕-๒๙๘.
http://84000.org/tipitaka/read/v.php?B=26&A=5772&Z=6947&pagebreak=0
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=271&items=100&mode=bracket
อ่านโดยใช้เนื้อความเป็น เกณฑ์แบ่งข้อ :-
http://84000.org/tipitaka/read/byitem.php?book=26&item=271&items=100
อ่านเทียบพระไตรปิฎกภาษาบาลี อักษรไทย :-
http://84000.org/tipitaka/pali/pali_item.php?book=26&item=271&items=100&mode=bracket
ศึกษาอรรถกถานี้ได้ที่ :-
http://84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=26&i=271
สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๖
http://84000.org/tipitaka/read/?สารบัญพระไตรปิฎกเล่มที่_๒๖
http://84000.org/tipitaka/read/?index_26

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น