หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2560
พุทโธสมัยหนึ่ง เมื่อตรัสรู้แล้วไม่นาน พระตถาคตเจ้าประทับอยู่ ณ สีตวันใกล้กรุงราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ครั้งนั้นอนาถปิณฑิกเศรษฐียังมิได้รู้จักพระพุทธเจ้า ได้เดินทางไปกรุงราชคฤห์เพื่อเยี่ยมเยียมสหาย และเพื่อกิจการค้าด้วย เมื่อไปถึงเศรษฐีผู้สหายต้อนรับพอสมควรแล้ว ก็ขอตัวไปส่งงานคนทั้งหลายให้ทำนั่นทำนี่จนไม่มีโอกาสได้สนทนากับอาคันตุกะ อานถปิณฑิกะประหลาดใจจึงถามว่า "สหาย! ครั้งก่อนๆ เมื่อข้าพเจ้ามา ท่านกระวีกระวายต้อนรับอย่างดียิ่ง สนทนาปราศรัยเป็นที่บันเทิงจิตตามฐานะมิตรอันเป็นที่รัก ท่านละงานอื่นๆ ไว้สิ้น มาต้องรับข้าพเจ้า แต่คราวนี้ท่านละข้าพเจ้าแล้วสั่งงานยุ่งอยู่ ท่านมีงานอาวาหวิวาหมงคล หรือพระเจ้าพิมพิสารจอมเสนาแห่งแคว้นมคธจะเสด็จมาเสวยที่บ้านของท่านในวันพรุ่งหรืออย่างไร?" "สหาย! เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อภัยข้าพเจ้าด้วยเถิด ข้าพเจ้าจะไม่สนใจใยดีในการมาของท่านก็หามิได้ ท่านก็คงทราบอยู่แก่ใจแล้วว่าข้าพเจ้ามีความรักในท่านอย่างไร แต่พรุ่งนี้ข้าพเจ้าอาราธนาพระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระภิกษุสงฆ์จำนวนร้อย เพื่อเสวยและฉันอาหารที่นี่ เพราะฉะนั้นข้าพเจ้าจึงมัวสั่งงานยุ่งอยู่" "สหาย! ท่านกล่าวว่า พระพุทธเจ้าหรือ โอ! พระพุทธเจ้าเกิดขึ้นแล้วในโลกหรือนี่!" "ใช่ พระพุทธเจ้า พระโคดมพุทธะออกบวชจากศากยตระกูลมีข่าวแพร่สะพัดไปทุกหนทุกแห่งว่า พระองค์เป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบสมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ คือมีความรู้ดีและความประพฤติดี เสด็จไปที่ไหนก็อำนวยโชคให้ที่นั่น เป็นผู้ฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยม เป็นผู้รู้จักโลก เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นจากกิเลสนิทรา รู้อริยสัจอย่างแจ่มแจ้ง และมีพระทัยเบิกบานด้วยพระมหากรุณาต่อมวลสัตว์ เป็นผู้หักราคะโทสะและโมหะ พร้อมทั้งบาปธรรมทั้งมวลแล้ว เสด็จเที่ยวจาริกสั่งสอนเวไนยสัตว์แสดงธรรมอันไพเราะ ทั้งเบื้องต้น ท่านกลาง และที่สุด ทรงประกาศพรหมจรรย์อันบริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง เต็มบริบูรณ์ทั้งหัวข้อและความหมาย สหาย! ท่านไม่ทราบการอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้าดอกหรือ?" "ดูก่อนภราดา! คำว่า 'พุทโธ' นั้น เป็นคำที่ก่อความตื่นเต้นให้แก่อนาถปิณฑิกเศรษฐียิ่งนัก อุปมาเหมือนคนที่เป็นโรคซึ่งทรมานมานานปี เมื่อทราบว่ามีหมอสามารถจะบำบัดโรคนั้นได้จะดีใจสักเพียงใด ดังนั้นอนาถปิณฑิกะจึงกล่าวว่า "สหาย! ค่าอาหารสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์สำหรับพรุ่งนี้เป็นจำนวนเท่าใด ข้าพเจ้าขอออกให้ทั้งหมด" "อย่าเลย สหาย!" เศรษฐีกรุงราชคฤห์ตอบ "อย่าว่าแต่ท่านจะจ่ายค่าอาหารเลย แม้ท่านจะมอบสมบัติในกรุงราชคฤห์ทั้งหมดให้แก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าก็หายอมให้ท่านเป็นเจ้าภาพสำหรับเลี้ยงพระพุทธเจ้าไม่ กว่าข้าพเจ้าจะจองได้ก็เป็นเวลานานเหลือเกิน ข้าพเจ้าคอยโอกาสนี้มานานนักหนาแล้ว สมบัติบรมจักรข้าพเจ้ายังปรารถนาน้อยกว่าการได้เลี้ยงพระพุทธเจ้า, ๗ วันนี้เป็นวันของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจะไม่ยอมให้ใครเป็นอันขาด" เมื่ออนาถปิณฑิกะวิงวอนว่า ขอออกค่าใช้จ่ายสักครึ่งหนึ่ง เศรษฐีกรุงราชคฤห์ก็หายอมไม่ ดูก่อนภราดร! พระบรมศาสดาของเราทั้งหลายนั้นทรงมีปุพเพกตปุญญตาอย่างล้นเหลือ กุศลธรรมทั้งมวลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญกระทำมาตลอดเวลาที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ มารวมกันให้ผลในปัจฉิมภพของพระองค์นี้ ประดุจสายธารซึ่งยังเอ่ออยู่ในทำนบและบังเอิญทำนบพังทลายลง อุททธาราก็ไหลหลากท่วมท้น ดังนั้นไม่ว่าพระองค์จะเสด็จไป ณ ที่ใด พระราชา เสนาบดี พ่อค้า ประชาชน จึงต้องการถวายปัจจัยแก่พระองค์จนถึงกับต้องแย่ง ต้องจองกันล่วงหน้าเป็นเวลานานๆ อนาถปิณฑิกเศรษฐีเป็นผู้อันกุศลธรรมแต่ปางบรรพ์ตักเตือนแล้ว เมื่อได้ยินว่า "พุทโธ" เท่านั้นปีติก็ซาบซ่าไปทั่วสรรพางค์ ปรารถนาเหลือเกินที่จะได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลานั้น แต่บังเอิญเป็นเวลาค่ำ ประตูเมืองปิดเสียแล้ว จิตใจของเขาจึงกังวลถึงแต่เรื่องที่จะเฝ้าพระศาสดา ไม่อาจหลับลงได้อย่างปกติ เขาลุกขึ้นถึง ๓ ครั้งด้วยสำคัญว่าสว่างแล้ว แต่พอเดินออกไปภายนอกเรือน ความมืดยังปรากฏปกคลุมอยู่ทั่วไป ครานั้นความสะดุ้งหวาดเสียว และความกลัวก็เกิดขึ้นแก่เขา เขากลับมานอนรำพึงถึงพระศาสดาอยู่ด้วยความกระวนกระวายใจ ในที่สุดเวลาก็มาถึง ท้องฟ้าเริ่มสาง เสียงไก่ขันรับอรุณแว่วมาตามสายลม เศรษฐีเดินออกจากตัวเรือนมุ่งสู่ประตูเมือง ประตูยังไม่เปิด อนาถปิณฑิกต้องขอร้องวิงวอนคนเฝ้าประตูเสียนานเขาจึงยอมเปิดให้ เมื่อออกจากประตูเมืองแล้ว ทางที่จะไปสู่ป่าสีตวันก็เป็นทางเปลี่ยว การสันจรยังไม่มี การเดินทางจากเมืองเข้าไปในป่านั้นเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนขลาด เศรษฐีเกือบจะหมดความพยายาม มีหลายครั้งที่เขาจะถอยกลับเข้าสู่เมือง แต่พอเขาหยุดยืนนั่นเอง เสียงก็ปรากฏขึ้นเหมือนหวาดแว่วมาจากอากาศว่า เศรษฐี! ม้าตั้งร้อย โค แพะ แกะ เป็ด ไก่ อย่างละร้อยๆ ถ้าท่านได้เพราะถอยกลับเพียงก้าวเดียว ก็จะไม่ประเสริฐเหมือนก้าวไปข้างหน้าเพียงก้าวเดียว จงก้าวต่อไปเถิด เศรษฐี! การก้าวไปข้างหน้าของท่าน จะเป็นประโยชน์แก่ท่านและแก่โลกมาก เศรษฐีมุ่งหน้าเข้าสู่ป่าสีตวัน อันเป็นที่ประทับแห่งพระศาสดา เวลานั้นพระพุทธองค์ตื่นบรรทมแล้วทรงแผ่ข่ายพระญาณพิจารณาดูสัตว์โลกที่พระองค์ควรจะโปรด เห็นอุปนิสัยของอนาถปิณฑิกเศรษฐีว่าเป็นผู้ควรแก่การบรรลุธรรม จึงทรงจงกรมคือดำเนินกลับไปกลับมาอยู่ ณ บริเวณที่ประทับ เมื่อเศรษฐีเข้ามาใกล้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า "เข้ามาเถิด สุทัตตะ! ตถาคตอยู่นี่" ดูก่อนภราดา! พระดำรัสตรัสเรียกเศรษฐีโดยชื่อว่า "สุทัตตะ" โดยถูกต้องนั้น นำความปราโมชมาให้เศรษฐีอย่างเหลือล้น เขาไม่เคยรู้จักพระศาสดา และพระศาสดาก็ไม่เคยทรงรู้จักเขา แต่พระองค์สามารถเรียกชื่อเขาได้ เศรษฐีหรือจะไม่ปลื้มใจ เขาซบหน้าลงแทบบาทมูลแห่งพระตถาคตเจ้า แล้วกราบทูลว่า "ข้าแต่พระศากมุนี! เป็นโชคดีของข้าพระพุทธเจ้ายิ่งแล้วที่ได้มาพบพระองค์สมปรารถนา ข้าพระองค์รอคอยจนพระองค์เสด็จเข้าไปในเมืองเพื่อเสวยภัตตาหารไม่ไหว จึงออกมาเฝ้าแต่เช้ามืด พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อคืนนี้ ราตรีช่างยาวนานเสียเหลือเกิน ปรากฏแก่ข้าพระพุทธเจ้าเหมือนหนึ่งเดือน เป็นเวลานานเหลือเกินที่สัตว์โลกจะได้สดับคำว่า 'พุทโธ พุทโธ' "ดูก่อนสุทัตตะ! ผู้ตื่นอยู่มิได้หลับย่อมรู้สึกว่าราตรีหนึ่งยาวนาน ผู้ที่เดินทางจนเมื่อยล้าแล้วรู้สึกว่าโยชน์หนึ่งเป็นหนทางที่ยืดยาว แต่สังสารวัฏคือการเวียนเกิดเวียนตายของสัตว์ผู้ไม่รู้พระสัทธรรมยังยาวนานกว่านั้น ดูก่อนสุทัตตะ! สังสารวัฏนี้หาเบื้องต้นเบื้องปลายได้โดยยาก สัตว์ผู้พอใจในการเกิดย่อมเกิดบ่อยๆ และการเกิดบ่อยๆ นั้น ตถาคตกล่าวว่าเป็นความทุกข์ เพราะสิ่งที่ติดตามความเกิดมาก็คือความแก่ชรา ความเจ็บปวด ทรมาน และตาย ความต้องพลัดพรากจากสิ่งอันเป็นที่รัก ความต้องประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก ความแห้งใจ ความคร่ำครวญ ความทุกข์กายทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ อุปมาเหมือนเห็ดซึ่งโผล่ขึ้นจากดินและนำดินติดขึ้นมาด้วย หรืออุปมาเหมือนโคซึ่งเทียมเกวียนแล้วจะเดินไปไหนก็มีเกวียนติดตามไปทุกหนทุกแห่ง สัตว์โลกเกิดมาก็นำทุกข์ประจำสังขารติดมาด้วย ตราบใดที่เขายังไม่สลัดความพอใจในสังขารออก ความทุกข์ก็ย่อมติดตามไปเสมอ เหมือนโคที่ยังมีแอกเกวียนครอบคออยู่ ล้อเกวียนย่อมติดตามไปทุกฝีก้าว "ดูก่อนสุทัตตะ! เมื่อรากยังมั่นคงแม้ต้นไม้จะถูกตัดแล้ว มันก็สามารถขึ้นได้อีก ฉันเดียวกับเมื่อบุคคลยังไม่ถอนตัณหานุสัยขึ้นเสียจากดวงจิต ความทุกข์ก็เกิดขึ้นได้บ่อยๆ "สุทัตตะเอย! น้ำตาของสัตว์ผู้ต้องร้องไห้เพราะความทุกข์โทมนัสทับถม ในขณะที่ท่องเที่ยวอยู่ในวัฏฏสงสารนี้มีจำนวนมากเหลือคณา สุดที่จะกล่าวได้ว่ามีประมาณเท่านั้นเท่านี้ กระดูกที่เขาทอดทิ้งลงทับถมปฐพีดลเล่า ถ้านำมากองรวมๆ กันมิได้กระจัดกระจายคงจะสูงเท่าภูเขา บนพื้นแผ่นดินนี้ไม่มีช่องว่างเลย แม้แต่นิดเดียวที่สัตว์ไม่เคยตาย ปฐพีนี้เกลื่อนกล่นไปด้วยกระดูกแห่งสัตว์ผู้ตายแล้วตายเล่า เป็นที่น่าสังเวชสลดจิตยิ่งนัก ทุกย่างก้าวของมนุษย์และสัตว์เหยียบย่ำไปบนกองกระดูก เขานอนบนกองกระดูกนั่งบนกองกระดูก สนุกสนานเพลิดเพลินอยู่บนกองกระดูกทั้งสิ้น
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น