VIDEO ตอน ยี่สิบ
อานาปานสติ ขั้นที่ สิบหก (การตามเห็นความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ)
อานาปานสติขั้นที่สิบหก หรือข้อที่สี่แห่งจตุกกะที่สี่ มีหัวข้อว่า “ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำจักหายใจเข้า ดังนี้ ; ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้.” (ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี อสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ ;ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี ปสฺสสิสฺสามีติ สิกฺขติ.) สิ่งที่จะต้องวินิจฉัยในอานาปานสติขั้นนี้ คือ ทำอย่างไรเรียกว่าเป็นการสลัดคืน ;และทำอย่างไรจึงจะเรียกว่า ปฏินิสสัคคานุปัสสี คือผู้ตามเห็นความสลัดคือนอยู่เป็นประจำ. สำหรับสิ่งที่จะต้องสลัดคืนก็หมายถึงทั้ง ๓ ประเภท กล่าวคือ เบญจขันธ์ สฬายตนะ และ ปฏิจจสมุปบาทมีอาการสิบสอง เช่นเดียวกับในอานาปานสติขั้นที่แล้วมา. ส่วนการทำในบทศึกษาทั้งสามนั้น มีอาการ อย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในอานาปานสติขั้นที่สิบสาม. คำว่า สลัดคืน หรือปฏินิสสัคคะ นั้น มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ การสลัดคืนซึ่งสิ่งนั้นออกไปโดยตรง อย่างหนึ่ง ; หรือมี จิตน้อมไปในนิพพานอันเป็นที่ดับสนิทแห่งสิ่งทั้งหลายเหล่านั้น อีกอย่างหนึ่ง. อย่างแรกมีความหมายเป็นการสลัดสิ่งเหล่านั้นออกไปในทำนองว่าผู้สลัดยังคง อยู่ในที่เดิม ; อย่างหลังมีความหมายไปในทำนองว่า สิ่งเหล่านั้นอยู่ในที่เดิม ส่วนผู้สลัดผลหนีไปสู่ที่อื่น.ถ้ากล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานก็เหมือนอย่างว่า เป็นคนละอย่าง แต่ย่อมมีผลในทางธรรมาธิษฐานเป็นอย่างเดียวกัน เปรียบเหมือนบุคคลที่สลัดสิ่งอันเป็นที่รักที่พอใจ เขาจะกระทำโดยเอาสิ่งเหล่านั้นไปทิ้งเสีย หรือจะกระทำโดยวิธีหนีไปให้พ้นจากสิ่งเหล่านั้นก็ตาม ผลย่อมมีอยู่เป็นอย่างเดียวกัน คือความปราศจากสิ่งเหล่านั้น.การที่ท่านกล่าวไว้เป็น ๒ อย่างดังนี้ เพื่อการสะดวกในการที่จะเข้าใจสำหรับบุคคลบางประเภทที่มีสติปัญญาต่างกัน มีความหมายในการใช้คำพูดจาต่างกัน เท่านั้น ; แต่ถ้าต้องการความหมายที่แตกต่างกันจริง ๆ แล้ว ก็พอที่จะแบ่งออกได้เป็น ๒ อย่าง ดังนี้ คือ :-
(๑) สิ่งใดยึดถือไว้ โดยความเป็นของ ของตน (อตฺตนียา) การสลัดคืนสิ่งนั้นกระทำได้ด้วยการสละสิ่งนั้นเสีย กล่าวคือการพิจารณาจนเห็นว่าไม่ควรจะถือว่าเป็นของของตน.
(๒) สิ่งใดที่ถูกยึดถือไว้โดยความเป็นตน (อตตา) การสละสิ่งนั้น ๆ นั้นกระทำได้ด้วยการน้อมไปสู่นิพพาน กล่าวคือ ความดับสนิทแห่งสิ่งนั้น ๆ เสีย. อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะเห็นได้ว่า สิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นของตนนั้น สลัดได้ง่ายกว่าสิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นตัวตน ทั้งนี้เพราะว่าสิ่งที่ยึดถือไว้โดยความเป็นของตน นั้นเป็นเพียงสิ่งเกาะอยู่กับตน หรือเป็นบริวารของตน จึงอยู่ในฐานะที่จะทำการสลัดคืนได้ก่อน. ข้อนี้เปรียบเทียบได้ง่าย ๆ กับความรู้สึกว่า ตัวกูและของกู : สิ่งที่เป็น “ของกู” อาจจะปลดทิ้งไปได้โดยง่าย กว่าสิ่งที่เป็น “ตัวกู” ซึ่งไม่รู้จะปลดอย่างไร จะทิ้งอย่างไร ขืนทำไปก็เท่ากับเป็นการเชือดคอตัวเองตาย ซึ่งยังไม่สมัครจะทำ. แต่สำหรับสิ่งที่เป็น“ของกู” นั้น อยู่ในวิสัยที่จะสละได้ ด้วยความจำใจก็ตาม ด้วยความสมัครใจเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งอื่น เป็นต้นก็ตาม หรือแม้เพราะหลุดมือไปเองก็ยังเป็นสิ่งที่อาจจะมีได้ ; ส่วนสิ่งที่เรียกว่าตัวกูนั้นยังเป็นสิ่งที่มืดมนท์ต่อการที่จะสลัดออกไป หรือหลุดออกไปเอง ทั้งนี้เป็นเพราะมันเป็นตัว ๆ เดียวกันกับที่ยืนโยงอยู่ในฐานะที่เป็นประธานของการกระทำทุกอย่าง. ฉะนั้น การที่จะสลัดคืนเสียซึ่งตัวกู จักต้องมีอุบายที่ฉลาดไปกว่าการสละของกู. เมื่อกล่าวโดยบุคคลาธิษฐานก็เป็นการกล่าวได้ว่า เมื่อตัวกูอยากสลัดตัวเองขึ้นมาจริง ๆ แล้ว ก็ต้องวิ่งเข้าหาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งสามารถทำลายตัวกูให้หมดไปโดยไม่มีส่วนเหลือ และข้อนี้ก็เป็นการแสดงให้เห็นความหมายที่แตกต่างกันอยู่เป็น ๒ ประการ กล่าวคือ “ตัวกู” ได้สลัดสิ่งซึ่งเป็นของกูแล้ว เหลือแต่ตัวกู จึงวิ่งเข้าไปสู่สิ่งซึ่งสามารถดับตัวกูได้สิ้นเชิงอีกต่อหนึ่ง. ความแตกต่างในตัวอย่างนี้ ย่อมแสดงให้เห็นความแตกต่าง ๒ อย่าง ดังที่กล่าวแล้วข้างต้นได้โดยชัดเจน คือจิตสลัดสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นการสลัดคืนอย่างที่หนึ่ง และจิตแล่นไปสู่นิพพานอันเป็นที่ดับของสิ่งทั้งปวงรวมทั้งจิตเองด้วย นี้ก็อย่างหนึ่ง เป็น ๒ อย่างด้วยกัน ดังนี้. ถึงกระนั้นก็ตาม เมื่อกล่าวในทางปฏิบัติจริง ๆ แล้ว ความแตกต่างทั้ง ๒ อย่างนี้ ก็ยังคงเป็นเพียงความแตกต่างในทางนิตินัยไปตามเดิม ส่วนทางพฤตินัยนั้นย่อมมีวิธีปฏิบัติ และผลแห่งการปฏิบัติอย่างเดียวกันแท้.วิธีปฏิบัติเพื่อความสลัดเบญจขันธ์ หรืออายตนะออกไปนั้น มิได้หมายถึงการสลัดอย่างวัตถุ เช่นการโยนทิ้งออกไปเป็นต้นได้ แต่หมายถึงการสลัดด้วยการถอนอุปาทานหรือความยึดมั่นอย่างใดอย่างหนึ่งให้ ได้จริง ๆ เท่านั้น. การถอนอุปาทานนั้น ต้องกระทำด้วยการทำความเห็นแจ้งต่อ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจนกระทั่งเห็นความว่างจากตัวตน ไม่ว่าจะเป็นตนฝ่ายที่เป็นเจ้าของ หรือเป็นตนฝ่ายที่ถูกยึดถือเอาเป็นของของตน. เมื่อว่างจากตนทั้งสองฝ่ายดังนี้แล้ว จึงจะถอนอุปาทานได้ และมีผลเป็นความไม่ยึดถือสิ่งซึ่งเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ไว้อีกต่อไป. แม้ในการพิจารณา เพื่อถอนความยึดถือในเบญจขันธ์ หรืออายตนะส่วนใดส่วนหนึ่ง ซึ่งถูกยึดถือว่าตน ก็ต้องทำโดยวิธีเดียวกันแท้ คือพิจารณาเห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อีกนั่นเอง หากแต่เลี่ยงไปในทำนองว่า ทั้งหมดนี้เมื่อเป็นอย่างนี้มันเป็นทุกข์ เมื่อไม่อยากทุกข์ก็น้อมจิตไปเพื่อความดับสนิทไม่มีเหลือของสิ่งเหล่านี้ เสีย จะได้ไม่มีอะไรทุกข์อีกต่อไป เรียกว่าเป็นการน้อมไปสู่นิพพานหรือมีจิตแล่นไปสู่นิพพาน แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ต้องรอไปจนกว่าร่างกายจะแตกดับ หรือว่าจะต้องรีบทำลายร่างกายนี้เสียด้วยการฆ่าตัวตาย ดังนี้ก็หาไม่.การฆ่าตัวตายไม่ได้ทำให้อุปาทานนั้นหมดไป กลับเป็นอุปทานอีกอย่างหนึ่ง อย่างเต็มที่อยู่ทีเดียว จึงจะฆ่าตัวตายได้. ส่วนการรอไปจนร่างกายแตกทำลายนั้นไม่ใช่วิธีของการปฏิบัติ และการแตกทำลายของร่างกายนั้น มิได้หมายความว่าเป็นการหมดอุปาทาน เพราะคนและสัตว์ตามธรรมดาสามัญก็มีการแตกตายทำลายขันธ์อยู่เองแล้วเป็น ประจำทุกวัน ไม่เป็นการทำลายอุปทานได้ ด้วยอาการสักว่าร่างกายแตกทำลายลง. เพราะฉะนั้นการฆ่าตัวเองตายก็ดี การรอไปจนแตกทำลายเองก็ดี ไม่เป็นการดับอุปาทานที่ยึดถือว่าตัวตนได้แต่อย่างใดเลย จึงไม่แล่นไปสู่นิพพานได้ด้วยการทำอย่างนั้น ยังคงทำได้แต่โดยวิธีที่ยังมีชีวิตอยู่นี่แหละ. เมื่อพิจารณาเห็นว่า ถ้ามีความยึดถือว่าตัวตนอยู่เพียงใดแล้ว ก็จะต้องมีความทุกข์นานาชนิดอยู่ที่ตนเพียงนั้น จึงน้อมจิตไปในทางที่จะไม่ให้มีตนเพื่อเป็นที่ตั้งของความทุกข์อีกต่อไป นิ้เรียกว่ามีจิตน้อมไปเพื่อความดับสนิทของตน ซึ่งเรียกได้ว่าน้อมไปเพื่อนิพพาน แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาทำการปฏิบัติ เพื่อให้เห็น อนิจจัง ทุกขังอนัตตา ในระดับสูงสุด ซึ่งทำให้ไม่รู้สึกว่ามีตัวตนเหลืออยู่จริง ๆ มีแต่สังขารธรรมล้วน ๆ หมุนไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน. สิ่งที่เรียกว่าความทุกข์ เช่นความแก่ความตาย เป็นต้น ก็รวมอยู่ในกลุ่มนั้น คือเป็นสังขารธรรมส่วนหนึ่งในบรรดาสังขารธรรมทั้งหมด ที่หมุนเวียนไปตามเหตุตามปัจจัยของมัน ไม่มีส่วนไหนที่มีความยึดถือว่าเป็นตัวเราหรือของเรา แม้แต่จิตที่กำลังรู้สึกนึกคิดได้ หรือกำลังมองเห็นความเป็นไปของสังขารธรรมเหล่านั้นอยู่ จิตนั้นก็มิได้ยึดถือตัวมันเองว่าเป็นตัวตน หรือยึดถือตัวมันว่าเป็นจิต – ผู้รู้ ผู้เห็น : แต่กลับไปเห็นว่าตัวจิตนั้นก็ดี การรู้การเห็นนั้นก็ดี เป็นแต่เพียงสังขารธรรมล้วน ๆ อีกนั่นเอง และเห็นว่าสังขารธรรมทั้งหมดทั้งสิ้นนั้น ก็เป็นสักว่าสังขารธรรม คือเป็นธรรมชาติหรือธรรมดาที่เป็นอยู่อย่างนั้นเอง หาใช่เป็นตัวเป็นตนเป็นเราเป็นเขา เป็นผู้ยึดครองหรือถูกยึดครอง ดังนี้เป็นต้นแต่ประการใด เมื่อจิตเข้าถึงความว่างจากตัวตนอย่างแท้จริง ดังนี้แล้ว ก็เท่ากับเป็นการดับตัวเองโดยสิ้นเชิง ซึ่งเรียกว่านิพพานในที่นี้. เพราะฉะนั้นปฏินิสสัคคะ คือการสลัดคืนชนิดที่ใช้อุบายด้วยการทำจิตให้แล่นไปสู่นิพพานนั้น ก็มีวิธีปฏิบัติ มีความหมายแห่งการปฏิบัติ และมีผลแห่งการปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันกับปฏินิสสัคคะ ชนิดที่มีอุบายว่าสลัดสิ่งทั้งปวงเสีย ;เพราะว่าอุบายทั้ง ๒ วิธีนี้ ล้วนแต่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือทำความว่างจากตัวตนหรือที่เรียกว่าสุญญตานั้นให้ปรากฏขึ้นมาให้จนได้ ถ้าไปเพ่งความว่างของฝ่ายสิ่งที่ถูกยึดถือก็เรียกว่าสลัดสิ่งเหล่านั้นออกไป แต่ถ้าเพ่งความว่างของฝ่ายที่เป็นผู้ยึดถือกล่าวคือจิต ก็กลายเป็นการทำ จิตนั้นให้เข้าถึงความว่าง (คือเป็นนิพพานไปเสียเอง) ความมุ่งหมายจึงเป็นอย่างเดียวกัน คือเป็นการให้ทั้ง ๒ ฝ่ายเข้าถึงความว่างโดยเสมอกัน ความทุกข์ก็เกิดขึ้นไม่ได้ : และโดยพฤตินัยทั้ง ๒ อย่างนั้นเป็นอย่างเดียวกัน คือมีแต่เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าถึงที่สุดจริง ๆ แล้วมันก็ดับทุกข์ทั้งปวงได้ด้วยกันทั้งนั้น. และการที่ให้สิ่งทั้งหลายทั้งปวงว่างไปโดยที่จิตยังเหลืออยู่เป็นตัวตนไม่ ต้องว่างนั้น เป็นสิ่งที่มีไม่ได้หรือทำ ไม่ได้เพราะว่าสิ่งที่เรียกว่าความว่างนั้น มันมีเพียงอย่างเดียวตัวเดียวหรือสิ่งเดียวถ้าลงเข้าถึงจริง ๆ แล้ว มันจะทำให้ว่างหมด ทั้งฝ่ายผู้ยึดถือ และฝ่ายสิ่งที่ถูกยึดถือทั้งหลายทั้งปวง ฉะนั้น โดยพฤตินัยเมื่อปฏิบัติถึงที่สุดแล้ว ย่อมว่างไปทั้งสองฝ่ายพร้อมกันในทันใดนั้นเอง ; ถ้าผิดจากนี้มันเป็นเพียงความว่างชนิดอื่น คือความว่างที่ไม่จริงแท้ เป็นความว่างชั่วคราว และเพียงบางขั้นบางตอนของการปฏิบัติที่ยังไม่ถึงที่สุด มีผลเพียงทำ ให้ปล่อยวางสิ่งนั้น ๆ ได้ชั่วคราว และก็ปล่อยได้เฉพาะแต่ฝ่ายที่ปล่อยง่าย เช่นฝ่ายที่ถูกยึดถือไว้โดยความเป็นของของตน หรือของกูบางส่วนเท่านั้น แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงตัวตนหรือตัวกูเลย. ต่อเมื่อใดสุญญตาหรือความว่างอันแท้จริงปรากฏออกมา เมื่อนั้นจึงจะว่างอย่างแท้จริง และไม่มีอะไรรอหน้าเป็นตัวตนอยู่ได้ ตัวตนฝ่ายการกระทำ ก็ดี ตัวตนฝ่ายที่ถูกกระทำก็ดี ตัวการกระทำ นั้น ๆ ก็ดี ตัวผลแห่งการกระทำ นั้น ๆ ก็ดี ไม่ว่าจะถูกจัดไว้เป็นฝ่ายกุศลหรือฝ่ายอกุศล หรือฝ่ายอัพ์ยากฤต คือมิใช่ทั้งกุศลและอกุศลก็ดีย่อมเข้าถึงความว่างไปด้วยกันทั้งหมดทั้งสิ้น. อาการแห่งการสลัดคืน กล่าวคือปฏินิสสัคคะมีขึ้นได้ถึงที่สุดโดยไม่ต้องมีใครเป็นตัวผู้สละคืน เพราะเป็นของว่างไปด้วยกันทั้งหมด แม้แต่ตัวการสลัดคืน ตัวสิ่งที่ถูกสลัดคืน ก็ยังคงเป็นของว่างกล่าวคือเป็นความดับสนิทแห่งความมีตัวตนนั่นเอง. ฉะนั้น เมื่อกล่าวโดยปรมัตถ์หรือโดยความจริงอันสูงสุดแล้ว ย่อมกล่าวได้ว่าความว่างอย่างเดียวเท่านั้น เป็นตัวความสลัดคืนอย่างแท้จริง และมีเพียงอย่างเดียว หามีเป็น ๒ อย่างหรือหลายอย่างดังที่กล่าวโดยโวหารแห่งการพูดจา ด้วยการแยกเป็นฝักฝ่าย ดังที่กล่าวอย่างบุคคลาธิษฐานข้างต้นนั้นไม่. เบญจขันธ์ก็ดี อายตนะภายในทั้งหกก็ดี อาการปรุงแต่งซึ่งกันและกันของสิ่งเหล่านั้น อันเรียกว่าปฏิจจสมุปบาทก็ดี เป็นสิ่งที่อาจถูกสลัดคืนโดยสิ้นเชิงได้ด้วยการทำให้เข้าถึงความว่าง ดังที่กล่าวแล้วนั่นเอง.การพิจารณาเบญจขันธ์โดยความเป็นของว่าง๑ นั้น ย่อมเป็นการสลัดคืนซึ่งเบญจขันธ์อยู่ในตัวมันเอง กล่าวคือ ก่อนหน้านี้รับหรือยึดถือเบญจขันธ์บางส่วนว่า เป็นตัวตน บางส่วนว่า เป็นของตน ด้วยอำนาจของอุปาทาน บัดนี้เบญจขันธ์นั้นถูกพิจารณาเห็นตามที่เป็นจริง คือเป็นของว่างไปหมดไม่เป็นที่ตั้งแห่งอุปาทานอีกต่อไป อุปาทานจึงดับลง. เมื่ออุปาทานดับก็ไม่มีอะไรที่จะเป็นเครื่องยึดถือ และเบญจขันธ์ก็เป็นของว่างไปแล้ว. เมื่อไม่มีการยึดถือหรือการรับไว้เช่นนี้ ก็มีผลเท่ากับเป็นการสลัดคืน ทั้งที่ไม่ต้องมีตัวผู้สลัดคืนเพราะจิตและอุปาทานก็กลายเป็นของว่างจากตัว ตนไป. สรุปความได้ว่า การพิจารณาเบญขันธ์ให้เป็นของว่างนั่นแหละ คือการสลัดเบญขันธ์ทิ้งออกไปซึ่งเรียกว่า ปริจจาคปฏินิสสัคคะ ; และพิจารณาเห็นจิตเป็นของว่างจากตัวตนนั่นแหละคือการทำจิตให้แล่นเข้าไปสู่ นิพพาน อันเป็นที่ดับของเบญจขันธ์ทั้งปวงซึ่งรวมทั้งจิตนั้นเองด้วย อันนี้เรียกว่า ปักขันทนปฏินิสสัคคะ. การพิจารณาเบญจขันธ์เป็นของว่าง ก็คือการพิจารณาโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจนถึงที่สุด ตามนัยอันกล่าวแล้วโดยละเอียดขั้นที่สิบสามเป็นต้น.การพิจารณาอายตนะภายใน ทั้งหก โดยความเป็นของว่าง ก็มีลักษณะอย่างเดียวกันกับเรื่องของเบญจขันธ์ เพราะอายตนะภายในทั้งหกนั้นเป็นส่วนหนึ่งของเบญจขันธ์ได้แก่ขันธ์ที่ทำ หน้าที่รู้อารมณ์ที่มาสัมผัสนั่นเอง หรืออีกอย่างหนึ่งก็กล่าวได้ว่าหมายถึงกลุ่มแห่งเบญจขันธ์ ในขณะที่ทำหน้าที่รับอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ นั่นเอง การทำให้สิ่งทั้งหกนี้เป็นของว่าง ก็คือการพิจารณาโดยความเป็นสังขาร หรือความเป็นธรรมชาติล้วน ๆ หามีความเป็นตัวตนแต่อย่างใดไม่ แต่มีลักษณะเป็นเครื่องกลไกตามธรรมชาติของมันเอง ในการที่จะรับอารมณ์ได้ ตามธรรมดาของรูปธรรมและนามธรรมที่กำลังจับกลุ่มกันอยู่ซึ่งสามารถทำอะไรได้ อย่างน่ามหัศจรรย์ จนเกิดความสำคัญผิดไปว่า สิ่งเหล่านี้เป็นอัตตาหรือตัวตน หรือว่ามีอัตตาตัวตนอยู่ในสิ่งเหล่านี้. การพิจารณาสิ่งเหล่านี้จนกระทั่งเห็นโดยความเป็นของว่างนั้น จัดเป็นปักขันทนปฏินิสสัคคะโดยแท้ โดยใจความก็คือแยกขันธ์ส่วนที่เป็นจิตออกมาพิจารณาโดยความเป็นของว่างนั่น เอง. การพิจารณาอาการแห่งปฏิจจสมุปบาท โดยความเป็นของว่างนั้นเป็นการพิจารณาให้เห็นว่า กลไกโดยอัตโนมัติของรูปธรรมและนามธรรมกล่าวคือ การปรุงแต่งนั่นนี่สืบกันไปเป็นสายไม่มีหยุดนั้น ก็เป็นเพียงกลไกตามธรรมชาติของรูปธรรมนามธรรมที่สามารถทำหน้าที่อย่างนั้น เองได้โดยอัตโนมัติในตัวธรรมชาติเองล้วน ๆไม่ต้องมีอัตตาหรือเจตภูตเป็นต้นอะไรที่ไหนเข้าไปเป็นตัวการในการกระทำ หรือใช้ให้ทำแต่อย่างใดเลย มันเป็นเพียงการเคลื่อนไหวของธรรมชาติล้วน ๆ ปรุงแต่งกันเองในเมื่อเข้ามาเกี่ยวข้องกันมีการกระทำตอบแก่กันและกัน ผลักดันเป็นเหตุและผลแก่กันและกัน จึงเกิดอาการปรุงแต่งเรื่อยไปไม่มีหยุด. เพราะฉะนั้น รูปธรรมและนามธรรมเหล่านั้น ในขณะที่กำลังเป็นเหตุเป็นปัจจัยก็ดี หรือในขณะที่กำลังเป็นผลหรือเป็นวิบากก็ดีและอาการต่าง ๆที่มันปรุงแต่งกันเพื่อให้เกิดเป็นผลมาจากเหตุแล้วผลนั้นกลายเป็นเหตุต่อ ไปในทำนองนี้อย่างไม่มีหยุดหย่อนก็ดี ล้วนแต่เป็นอาการตามธรรมชาติของรูปธรรมนามธรรมล้วน ๆ ไม่มีอัตตาหรือตัวตนอะไรที่ไหนที่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเลยทุกส่วนจึง ว่างจากความหมายแห่งความเป็นตัวตน และความเป็นของของตนโดยสิ้นเชิง. นี้คืออาการสลัดคืนออกไปเสียได้ซึ่งปฏิจจสมุปบาทธรรมทุก ๆ ส่วนทั้งที่เป็นส่วนเหตุ และส่วนผล และส่วนที่กำลังเป็นเพียงอาการปรุงแต่ง. ฉะนั้นจึงเป็นอันกล่าวได้ว่าการสลัดคืนซึ่งกลุ่มแห่งปฏิจจสมุปบาทนี้ เป็นทั้งบริจาค-ปฏินิสสัคคะ และเป็นทั้งปักขันทนปฏินิสสัคคะ กล่าวคือ สลัดคืนเสียได้ทั้งส่วนที่เป็นเบญจขันธ์ คือส่วนที่เป็นผล และทั้งส่วนที่ถูกสมมติว่าเป็นจิตเป็นผู้ทำกิริยาอาการเหล่านั้น อันเกิดขึ้นจากความไม่รู้จริง หรือความหลงผิดโดยสิ้นเชิง. เมื่อประมวลเข้าด้วยกันทั้ง ๓ อย่าง ก็เป็นอันกล่าวได้ว่าเป็นการสลัดคืนเสียซึ่งโลกในฐานะเป็นอารมณ์และสลัดคืน เสียซึ่งจิตในฐานะเป็นผู้เสวยอารมณ์คือโลก และสลัดเสียซึ่งการเกี่ยวข้อง หรือการปรุงแต่งผลักดันกันต่าง ๆ บรรดาที่มีอยู่ในโลก ที่ปรุงแต่งโลก หรือที่เกี่ยวพันกันระหว่างโลกกับจิตซึ่งเป็นผู้รู้สึกต่อโลก เมื่อสละคืนเสียได้ทั้งหมด ๓ ประเภทดังนี้แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่มีอะไรเหลืออยู่สำหรับเป็นที่ตั้งของความทุกข์หรือความยึด ถือซึ่งเป็นเหตุแห่งความทุกข์อีกเลยแม้แต่น้อย มีอยู่ก็แต่ความไม่มีทุกข์ ความดับเย็น ความสงบรำงับ ความหลุดพ้น ความปล่อยวาง ไม่มีการแยกถือโดยประการทั้งปวง หรืออะไรอื่นก็ตามแล้วแต่จะเรียก แต่รวมความว่าเป็นที่สิ้นสุด หรือเป็นที่จบลงโดยเด็ดขาดของสังสารวัฏฏ์ กล่าวคือกระแสของความทุกข์ ซึ่งเรานิยมเรียกภาวะเช่นนี้ว่าเป็นการลุถึงนิพพาน.ทั้งหมดนี้เป็นการแสดง ให้เห็นได้ว่าปฏินิสสัคคะคือการสลัดคืนนั้นมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไรกับ ความหมายของคำว่านิพพาน. ส่วน ปัญหาที่ว่าทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าปฏินัสสัคคานุปัสสี กล่าวคือผู้ตามเห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำนั้น อธิบายว่าผู้ปฏิบัติอานาปานสติมาจนถึงขั้นนี้แล้ว จะต้องเปลี่ยนกฎเกณฑ์ในการกำหนดพิจารณากันเสียใหม่ คือย้ายให้สูงขึ้นไป ให้เกิดมีความรู้สึกชัดแจ้งในการสลัดคือนของตน. คือหลังจากเห็นความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแล้ว เกิดความพอใจในการที่คลายความยึดถือหรือในความดับแห่งสังขารทั้งปวงแล้ว ทำจิตให้วางเฉยต่อสังขารทั้งหลาย ที่ได้พิจารณาเห็นโดยความเป็นของว่างอย่างแท้จริงอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออก.ทางที่ดีที่สุดเขาจะต้องย้อนไปเจริญอานาปานสติขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ขั้นที่หนึ่ง แล้วค่อยเพ่งพิจารณาทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏ นับตั้งแต่ลมหายใจ นิมิตและองค์ฌานขึ้นมาจนถึงธรรมที่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือดยตรงเช่นสุข เวทนาในฌานและจิตที่กำหนดสิ่งต่าง ๆ ให้เห็นโดยความเป็นของควรสลัดคืน หรือต้องสลัดคืนอย่างที่ไม่ควรจะยึดถือไว้แต่ประการใดเลย ;แล้วเพ่งพิจารณาไปในทำนองที่สิ่งเหล่านั้นเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ยิ่งขึ้นไปตามลำดับ จนจิตระกอบอยู่ด้วยความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ต่อสิ่งเหล่านั้น ประกอบอยู่ด้วยธรรมเป็นที่ดับแห่งสิ่งเหล่านั้น คือความเห็นแจ่มแจ้ง ว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ได้มีตัวตนอยู่จริง จนกระทั่งได้ปล่อยวาง หรือว่างจากความยึดถือในสิ่งเหล่านั้นยิ่งขึ้นไปตามลำดับจนกว่าจะถึงที่สุด แห่งกิจที่ต้องทำ คือปล่อยวางด้วยสมุจเฉทวิมุตติจริง ๆ. แม้ในระยะต้น ๆ ที่ยังเป็นเพียงตทังควิมุตติ คือพอสักว่ามาทำอานาปานสติ จิตปล่อยวางเองก็ดี และในขณะแห่งวิกขัมภนวิมุตติ คือจิตประกอบอยู่ด้วยฌานเต็มที่มีการปล่อยวางไปด้วยอำนาจของฌานนั้นจนตลอด เวลาแห่งฌานก็ดี ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่ต้องพยายามกระทำด้วยความระมัดระวัง อย่างสุขุมแยบคายที่สุดอยู่ทุกลมหายใจเข้า – ออกจริง ๆ. เมื่อกระทำอยู่ดังนี้ จะเป็นารกระทำที่กำหนดอารมณ์อะไรก็ตามในระดับไหนก็ตาม ล้วนแต่ได้ชื่อว่าเป็นปฏินิสสัคคานุปัสสีด้วยกันทั้งนั้น.เมื่อกระทำอยู่ ดังนี้ก็ชื่อว่าเป็นการเจริญธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน-ภาวนาขั้นสุดท้ายเป็น ภาวนาที่แท้จริง ประมวลมาได้ซึ่งสโมธานธรรม ๒๙ ประการในระดับสูงสุดของการปฏิบัติบำเพ็ญอานาปานสติ ในขั้นที่เป็นวิปัสสนาภาวนาโดยสมบูรณ์.
วินิจฉัยในอานาปานสติขั้นที่สิบหกสิ้นสุดลงเพียงเท่านี้.
สำหรับจตุกกะที่สี่นี้ จัดเป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐานภาวนาด้วยกันทั้งนั้น. ขั้นแรกพิจารณาความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ซึ่งสรุปรวมลงได้เป็นสุญญตา มีความหมายสำคัญอยู่ตรงที่ว่างอย่างไม่น่ายึดถือ ขืนยึดถือก็เป็นทุกข์.ขั้นต่อมากำหนดพิจารณา ในการทำความจางคลายจากความยึดถือ ต่อสิ่งเหล่านั้นเพราะเกลียดกลัวโทษ กล่าวคือ ความทุกข์อันเกิดมาจากความยึดถือ. ขั้นต่อมาอีกกำหนดพิจารณาไปในทำนองที่จะให้เห็นว่า มันมิได้มีตัวตนอยู่จริงไปทั้งหมดทั้งสิ้นหรือทุกสิ่งทุกอย่าง การยึดถือเป็นยึดถือลม ๆ แล้ง ๆ เพราะว่าตัวผู้ยึดถือก็ไม่ได้มีตัวจริง สิ่งที่ถูกยึดถือก็ไม่ได้มีตัวจริง แล้วการยึดถือมันจะมีตัวจริงได้อย่างไร ;พิจารณาไปในทางที่จะดับตัวตนของสิ่งทั้งปวงเสียโดยสิ้นเชิง. ส่วนขั้นที่สี่อันเป็นขั้นสุดท้ายนั้น กำหนดพิจารณาไปในทางที่สมมติเรียกได้ว่า บัดนี้ได้สลัดทิ้งสิ่งเหล่านั้นออกไปหมดแล้ว ด้วยการทำให้มันว่างลงไปได้จริง ๆ คือสิ่งทั้งปวงเป็นของว่างไปแล้ว และ จิตก็มีอาการที่สมมติเรียกว่า “เข้านิพพานเสียแล้ว” คือสลายตัวไปในความว่างหรือสุญญตานั้น ไม่มีอะไรเหลืออยู่เป็นตัวตน เพื่อยึดถืออะไร ๆ ว่าเป็นของตนอีกต่อไปเลย. การปฏิบัติหมวดนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณาธรรม ก็เพราะพิจารณาที่ตัวธรรม ๔ ประการโดยตรง คือพิจารณาที่ อนิจจตา วิราคะ นิโรธะ และปฏินิสสัคคะ โดยนัยดังที่กล่าวแล้วต่างจากจตุกกะที่หนึ่ง เพราะในที่นั้นพิจารณากายคือลมหายใจ ;ต่างจากจตุกกะที่สอง เพราะในที่นั้นพิจารณาเวทนาโดยประการต่าง ๆ ; ต่างจากจตุกกะที่สาม เพราะในที่นั้นพิจารณาที่จิตโดยวิธีต่าง ๆ ; ส่วนในที่นี้เป็นการพิจารณาที่ธรรม กล่าวคือ สภาวะธรรมดา ที่เป็นความจริงของสิ่งทั้งปวง ที่รู้แล้วให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ได้ ต่างกันเป็นชั้น ๆ ดังนี้.
อานาปานสติ จตุกกะที่สี่จบ.
ประมวลจตุกกะทั้งสี่ จตุกกะที่หนึ่งเป็นสมถภาวนาล้วน ส่วนจตุกกะที่สองและที่สามเป็นสมถภาวนาที่เจือกันกับวิปัสสนาภาวนาส่วนจตุ กกะที่สี่นี้ เป็นวิปัสสนาภาวนาถึงที่สุด.สมถภาวนา คือการกำหนดโดยอารมณ์หรือนิมิต เพื่อความตั้งมั่นแห่งจิต มีผลถึงที่สุดเป็นฌาน ; ส่วนวิปัสสนาภาวนานั้น กำหนดโดยลักษณะคือความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ทำจิตให้รู้แจ้งเห็นแจ้งในสิ่งทั้งปวงมีผลถึงที่สุดเป็นญาณ : เป็นอันว่าอานาปานสติทั้ง ๑๖ วัตถุนี้ ตั้งต้นขึ้นมาด้วยการอบรมจิตให้มีกำลังแห่งฌานด้วยจตุกกะที่หนึ่ง แล้วอบรมกำลังแห่งญาณให้เกิดขึ้นผสมกำลังแห่งฌานในจตุกกะที่สอง ที่สาม โดยทัดเทียมกัน และกำลังแห่งญาณเดินออกหน้ากำลังแห่งฌาน ทวียิ่งขึ้นไปจนถึงที่สุดในจตุกกะที่สี่ จนสามารถทำลายอวิชชาได้จริงในลำดับนั้น.วินิจฉัยในอานาปานสติ อันมีวัตถุสิบหก และมีจตุกกะสี่ สิ้นสุดลงเพียงเท่านี้.