หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันอังคารที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
เรามาปรับพฤติกรรมของเรา ทุกครั้งที่เราพูดกับคนอื่น เราจะเสียพลังของจิตครั้งนั้น พระองค์ได้มีพระดำริดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าการอยู่เป็นคณะนี้ ได้ประพฤติปฏิบัติกันมาในวัฏฏะแล้ว เหมือนน้ำที่ไหลลงสู่แม่น้ำ และการอยู่เป็นคณะก็ได้ประพฤติกันมาแล้วในนรก กำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน ปิตติวิสัยและอสุรกายก็มี ในมนุษยโลก เทวโลกและพรหมโลกก็มี นรกหมื่นโยชน์แน่นไปด้วยสัตว์ทั้งหลาย เหมือนทะนานที่เต็มไปด้วยผงดีบุก เหล่าสัตว์ในสถานที่เขาลงโทษด้วยเครื่องจองจำ ๕ ประการจะประมาณหรือกำหนดไม่ได้ เหล่าสัตว์ที่อยู่กันเป็นคณะย่อมเดือดร้อน ในที่ซึ่งถูกมีดฟันเป็นต้นเหมือนอย่างนั้น. ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉาน หมู่ปลวกในจอมปลวกแห่งหนึ่ง ย่อมจะประมาณหรือกำหนดไม่ได้ และหมู่มดแดงเป็นต้นแม้ในรังแต่ละรังเป็นต้นก็เหมือนกัน และแม้ในกำเนิดสัตว์เดียรัจฉานก็ย่อมอยู่รวมกันเป็นคณะ. ก็นครเปรตมีคาวุตหนึ่งก็มี ครึ่งโยชน์ก็มี เต็มไปด้วยเปรต แม้ในพวกเปรตก็อยู่รวมกันเป็นคณะอย่างนี้แหละ. ภพอสูรมีประมาณหมื่นโยชน์เหมือนรูหูที่เอาเข็มเสียบไว้ที่หู แม้ในอสุรกายก็ย่อมอยู่กันเป็นคณะอย่างนี้. ในมนุษยโลกเฉพาะกรุงสาวัตถีมีถึงห้าล้านเจ็ดแสนตระกูล. ในกรุงราชคฤห์ทั้งภายในภายนอกมีมนุษย์อาศัยอยู่ ๑๘ โกฏิ ในฐานะแม้อื่นๆ คือ แม้ในมนุษยโลกก็อยู่กันเป็นคณะเหมือนกัน. แม้ในเทวโลกและพรหมโลก ตั้งต้นแต่ภุมมเทวดาไปก็อยู่กันเป็นคณะ. ก็เทวบุตรแต่ละองค์ย่อมมีเทพอัปสรผู้ฟ้อนรำถึงสองโกฏิครึ่ง บางองค์มีถึง ๙ โกฏิ ถึงพรหมจำนวนนับหมื่นก็อยู่รวมในที่เดียวกัน. แต่นั้นทรงดำริว่า เราบำเพ็ญบารมี ๑๐ ทัศ ถึง ๔ อสงไขยแสนกัป ก็เพื่อกำจัดการอยู่รวมเป็นคณะ แต่ภิกษุเหล่านี้ นับจำเดิมแต่นี้ไป ภิกษุเหล่านี้ย่อมเกาะกลุ่มยินดีในหมู่ กระทำกรรมไม่สมควรเลย. พระองค์ทรงเกิดธรรมสังเวช เพราะภิกษุทั้งหลายเป็นเหตุ ทรงดำริว่า ถ้าเราจักบัญญัติสิกขาบทว่า ภิกษุสองรูปไม่พึงอยู่ในที่เดียวกัน แต่ไม่สามารถจะบัญญัติได้ เอาละ เราจะแสดงพระสูตรชื่อมหาสุญญตาปฏิบัติ ซึ่งจักเป็นเหมือนการบัญญัติสิกขาบทสำหรับกุลบุตรผู้ใคร่ต่อการศึกษา และเหมือนกระจกสำหรับส่องหมู่สัตว์ทุกหมู่เหล่าที่วางไว้ ณ ประตูเมือง แต่นั้นกษัตริย์เป็นต้นเห็นโทษของตนในกระจกบานหนึ่ง ละโทษนั้นย่อมเป็นผู้หาโทษมิได้ฉันใด แม้เมื่อเราปรินิพพานแล้วล่วงไปถึง ๕,๐๐๐ ปี กุลบุตรทั้งหลายย่อมระลึกถึงพระสูตรนี้ จักบรรเทาความเป็นหมู่ ยินดีในเอกีภาพ จักกระทำที่สุดแห่งวัฏฏทุกข์ได้. กุลบุตรทั้งหลายระลึกถึงพระสูตรนี้แล้ว บรรเทาความเป็นหมู่ยังทุกข์ในวัฏฏะให้สิ้นไป แล้วปรินิพพานนับไม่ถ้วน เหมือนยังมโนรถของพระผู้มีพระภาคเจ้าให้บริบูรณ์.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น