วันอาทิตย์ที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

การเจริญพระกรรมฐาน ~ บรรลุช้า-บรรลุเร็ว ~*~ เมื่อเราศึกษากันก็ศึกษาเพื่อความเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าจะถึงหรือไม่ถึงหรือไม่ถึงมันก็เรื่องของ การปฏิบัติ หรือ บารมี ถ้าขึ้นชื่อว่าทำความดีแล้วก็เป็นการก้าวเข้าไปสู่ความเป็นพระอรหันต์กันทุกคน เมื่อใครจะก้าวยาวก้าวสั้น เดินถูกทางผิดทางกันเท่านั้น ถ้าเดินเฉทางมันก็ช้าหน่อย ถ้าเดินตรงทางมันก็เร็วขึ้นหน่อย เดินตรงทางขี้เกียจก็ถึงช้า ถ้าเดินตรงทางขยันก็ถึงเร็ว แต่ว่าถ้าขยันรืบเดินไปถึงช้าเพราะเมื่อยล้าเดินไม่ไหว ในที่สุดกำลังกายทนไม่ไหวก็พับอยู่กลางทาง ฉะนั้น การเจริญพระกรรมฐานเพื่อหวังผลก็ต้องระวังสูตร 2 ประการ ระวังอย่าให้เข้ามาถึง นั่นคือ 1. อัตตกิลมถานุโยค อย่าทรมานตนเกิน ถ้าทรมานตนเกินไปร่างกายทนไม่ไหว จะเกิดโรคภัยไข้เจ็บ ประสาทจะไม่ดี ดีไม่ดีก็เสียสติสัมปชัญญะ อันนีิต้องระมัดระวัง ประการที่ 2 กามสุขัลลิกานุโยค ย่อหย่อนเกินไป ถือนิมิต ถืออุปาทานเป็นสำคัญ ไม่ได้อะไรแต่ว่าคิดว่าได้ นี่เสร็จ 2 ประการนี้ไม่มีผล ต้องเดิมตามสาย มัชฌิมาปฏิปทา คือเดินสายกลางๆ เอาแค่พอสบาย พอชักเริ่มไม่สบายต้องทนหนักก็เลิก ถ้าขืนต้องทนเกินไปก็ไร้ผล ถ้าหากว่าทำเข้าถึงอันดับทน ก็แสดงว่าสมาธิจิตหรืออารมณ์ของ เราใช้ไม่ได้แล้ว ถ้าอารมณ์เป็นฌานจริงๆ เข้าถึงสุขจริงๆ จะนั่งสักกี่ชั่วโมงก็ได้ มันไม่ต้องทน มันสบาย แต่ทว่าการสบายนั้นต้องระวัง ถ้าเป็นการฝืนร่างกายเกินไปทรมานเก็นไปก็ต้องเลิก เอาแค่พอดี ต้องหว่งร่างกายให้มากเหมือนกัน ถ้าหากว่าร่างกายของเราทุพพลภาพไป จิตใจไม่สบาย การก้าวหน้าทางเจริญพระกรรมฐานก็ไม่มีผล. นี่พูดกันถึงผลให้ฟัง ~*~ จริต 6 ~*~ วันนี้ก็จะพูดถึงจริต 6 การเจริญพระกรรมฐานถ้าจะให้ดี นี่เราพูดถึงฌานโลกีย์จบมาแล้วโดยย่อ นี่ฌานโลกีย์ปกติหรือฌานโลกุตตระก็ตาม หมายความว่าเราจะฝึกตนแค่ฌานโลกีย์หรือว่าเป็นพระอริยเจ้าก็เถอะ จะต้องรู้อารมณ์ของจิตที่เรียกกันว่าจริต อันนี้มีความสำคัญมาก ถ้าเราไม่รู้อารมณ์ของจิตตัวนี้แล้ว ก็ใช้อารมณ์ไม่ถูกอารมณ์ของจิต คืออารมณ์กรรมฐานที่จะใช้ไม่ถูกอารมณ์ของจิต การปฏิบัติมันก็ไม่มีผล ตอบได้เลยว่าไม่มีผล ทั้งนี้เพราะอะไร สมมติว่าถ้าไฟมันไหม้มาที่ผ้าของเรา แทนที่เราจะเอานำ้มาดับ เราเอานำ้มันมาราดมันก็ลุกใหญ่ หากว่าเอานำ้มาดับมันก็ดับ นี่ข้อนี้มีอุปมาฉันใด อารมณ์จิตของเราก็เหมือนกัน ถ้ามันข้องอยู่ในจริตอะไรถ้าใช้กรรมฐานไม่ถูกแบบฉบับเข้าไปหักล้างไม่มีผลเลย ในจริตของเรามี 6 อย่าง 1. ราคะจริต รักสวยรักงาม 2. โทสะจริต ชอบโมโหโทโส 3. วิตกจริต ชอบนึกคิดไม่หยุดไม่หย่อน 4. โมหะจริต เจ้านี่ตัดสินใจไม่ได้ โง่ 5. สัทธาจริต เชื่อง่าย 6. พุทธจริต เป็นคนฉลาด ~*~ ราคะจริต ~*~ นี่จริตของเรามีอยู่ 6 อย่างนี่มันฝังอยู่ในจิตของแต่ละบุคคลทั้งหมด ไม่ใช่ว่าใครมีจริตโดยเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ว่าโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อะไรมันหนักเท่านั้นมันหนักไปในสายไหน ทีนี้เราก็ต้องเตรียมการ เรารู้แล้วว่าอารมณ์ของจิตหรือว่าจริตมันเข้ามาสิงอารมณ์ของใจทั้ง 6 อย่างแล้วว่าแต่ละอย่างมันจะแสดงออกแต่ละคราว คือไม่ออกพร้อมๆ กัน อย่างราคะจริต ความรักสวยรักงามเกิดขึ้น อันนี้พระพุทธเจ้าสอนให้เจริญ อสุภกรรมฐาน แล้ว กายคตานุสสติกรรมฐาน อย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เราชอบเข้าเป็นเครื่องหักล้าง อันนี้อารมณ์นี่มันเกิดเวลาไหนบ้าง เราคิดว่าเราเป็นคนรักสวยรักงาม เราจะเจริญแต่เฉพาะอสุภกรรมฐาน 10 และกายคตานุสสติ 1 รวมเป็น 11 ด้วยกัน อย่างใดอย่างหนึ่ง มันก็หักล้างตลอดกาลตลอดสมัยมันก็ไม่ได้เหมือนกัน ~*~ โทสะจริต ~*~ เพราะวันนี้เราอาจจะรักสวยรักงาม หรือว่าวันพรุ้งนี้อาจจะโกรธใครขึ้นมาเสียก็ได้ ไอ้วตัวรักมีอยู่ ไอ้ตัวโกรธมันก็มี เมื่อตอนเช้าเรารักตอนบ่ายอาจจะโกรธก็ได้ นี่ต้องใช้กรรมฐานให้ถูกกับอารมณ์เฉพาะกาลจริงๆ อันนี้ต้องศึกษาให้เข้าใจ ถ้าอารมณ์รักสวยรักงามเกิดขึ้นเราก็เจริญอสุภกรรมฐานหรือกายคตานุสสติกรรมฐาน เพื่อหักล้างความสวยสดงดงามหา ความจริงให้ปรากฎ อันนี้โทสะจริตเกิดขึ้น พระพุทธเจ้าให้ใช้ พรหมวิหาร 4 มี เมตตา เป็นต้น หรือว่านำ กสิณ 4 หรือ กสิณสีเขียว สีขาว สีแดง สีเหลือง อย่างใดอย่างหนึ่งเข้าหักล้าง นี่ต้องศึกษาให้เข้าใจ ไม่เข้าใจไปดูคู่มือพระกรรมฐาน ดูให้ชัด ดูให้จำได้ ดูให้เข้าใจ อารมณ์อย่างไหนเกิดขึ้นใช้กรรมฐานอย่างนั้นเข้าหักล้างทันที ให้มันทันท่วงทีกัน ไม่ใช่ว่าโกรธเวลาเช้าแล้วก็มาเจริญเมตตาเวลาเย็น ไม่ใช่อย่างนั้น ถ้าโกรธขึ้นมาแล้วรู้สึกตัวขึ้นมาว่า เอ๊ะ ! มันไม่ดีนี่ ไอ้ความโกรธเป็นเหตุของอบายภูมิ ความรักสวยรักงามเป็นเหตุของอบายภูมิ ไม่ได้ประโยชน์ ต้องหักล้างมันด้วยกรรมฐานที่พระพุทธเจ้ากล่าวไว้สอนไว้ ~*~ วิตกกับโมหะจริต ~*~ ทีนี้มาวิตกจริตกับโมหะจริต 2 ตัว วิตกน่ะตัวนึก ตัดสินใจไม่ตกลง แล้วโมหะจริตก็หลง โมหะนี่เขาแปลว่าหลง คิดว่าไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู อะไรๆ ก็ของกูไปหมด จะเศษกระดาษเล็กเศษกระดาษน้อยก็ของกู อะไรก็ช่างเถิด บ้านช่องเรือนโรงร่างกาย เราคิดอยู่เสมอว่าเราจะไม่ตายจากมัน แล้วมันก็จะไม่ไปจากเรา อันนี้ท่านกล่าวว่าเป็นโมหะจริตและวิตกจริต ถ้าอารมณ์จิตเกิดขึ้นแบบนี้แล้วท่านให้ใช้ อานาปานุสสติกรรมฐาน อย่างเดียวเป็นเคื่องหักล้าง โดยกำหนดลมหายใจเข้าออก ไม่ต้องคิด ไม่ต้องภาวนา หรือไม่ต้องพิจารณา ถ้าไปภาวนาหรือพิจารณาเข้า ไอ้ตัวยุ่งๆ ในใจมันมีอยู่แล้ว วิตกนี่มันก็ยุ่ง โมหะมันก็ยุ่ง มันคิดไม่หยุดไม่หย่อน ถ้าเราไปภาวนาเข้า หรือพิจารณาเข้าก็เลยช่วยกันคิดเข้าไปใหญ่ ส่งเสริมกำลังใจกันเข้าไป ทีนี้ท่านเลยให้ตัดเสียด้วยการพิจารณาลมหายใจเข้าออกอย่างเดียว โดยไม่ต้องภาวนาใดๆ ทั้งหมด ~*~ สัทธาจริต ~*~ นี่มาถึงอีกจริตหนึ่งคือจริตที่ 5 สัทธาจริต สัทธาจริตนี่บางครั้งบางทีเราก็เป็นคนเชื่อยาก บางทีเราก็กลายเป็นคนเชื่อง่ายนี่มันเป็นอย่างนี้ บางขณะมันไม่เหมือนกัน อารมณ์ของเราบางคราวใครเขาพูดอะไรเข้ามาทั้งๆ ที่มันไม่เป็นความจริง แต่เหตุผลพอสมควร ลืมใช้ปัญญาใคร่ครวญพิจารณาเชื่อเสียแล้ว ถ้าอารมณ์เชื่อมันเกิดบ่อยๆ ละก็ พระพุทธเจ้าท่านให้ใช้แบบนี้ ให้เจริญ อนุสสติ 6 คือ พุทธานุสสติ นึกถึงคุณพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ อย่างที่เราภาวนาว่า พุทโธ หรือ อรหัง ธัมมานุสสติ นึกถึงคุณพระธรรมเป็นอารมณ์ สังฆานุสสติ นึกถึงคุณพระสงฆ์เป็นอารมณ์ จาคานุสสติ นึกถึงทานการบริจาคเป็นอารมณ์ สีลานุสสติ นึกถึงศลีเป็นอารมณ์ แล้วก็ เทวตานุสสติ นึกถึงความดีของเทวดาเป็นอารมณ์ นี่ระวังให้ดีนะ พระอย่าคิดว่าตัวเองดีกว่าเทวดา พระที่บวชเข้ามานี่ไม่แน่หรอก บางทีก็มีความดีเสมอสัตว์นรกก็มี ถ้าเราทำตัวไม่ดีมันก็มีความดี เสมอสัตว์นรก อย่าไปเทียบกับเทวดาเขา เคยมีคนบอกว่า พระเคยพูดว่าเรานี่ดี บวชเป็นพระแล้วเทวดาก็ไหว้ อันนี้ไม่จริง เทวดานี่เขาไม่โง่เหมือนมนุษย์ มนุษย์พอเห็นพระโกนหัวห่มผ้าเหลืองแล้วก็ยกมือไหว้ เข้าใจว่าดี แต่เนื้อแท้จริงของคนที่โกนหัวห่มผ้าเหลืองอาจจะเลวกว่าสัตว์นรกธรรมดาก็ได้ แต่นี้เทวดาเขารู้อารมณ์ของใจ ถ้าหากว่าจิตใจของเราเลว เทวดาเขาไม่ไหว้ พรหมเขาไม่ไหว้ ฉะนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้มีการเจริญนึกถึงความดีของเทวดาเพื่อจะทำจิตของตนให้เกาะเข้าไปถึงเทวดา นี่คนที่มีสัทธาจริตความเชื่อคิดว่าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนนี่จริง เราเชื่อจริงตามพระธรรมคำสั่งสอน ท่านให้ใช้อนุสสติทั้ง 6 ประการตามที่กล่าวมา เจริญตามชอบใจ ชอบใจอย่างไหนใช้ได้ทั้งนั้นใน 6 อย่าง ~*~ พุทธจริต ~*~ ทีนี้มาพุทธจริต คนนี้ฉลาด นักเลง พุทธจริตนี่มีความฉลาดมาก ไม่ว่าใครจะพูดอะไรก็ตามมีความเข้าใจง่าย คนฉลาดประเภทนี้พระพุทธเจ้าให้เจริญ อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4 อาหาเรปฏิกูลสัญญาก็พิจารณาอาหารว่าเป็นของสกปรก พิจารณาร่างกายมาจากธาตุ 4 แล้วก็อีก 2 อย่าง นึกไม่ออกมันไปเป็นไข้เสียวันนี้ เป็นอันว่าจริตทั้ง 6 ประการ นักเจริญพระกรรมฐานทุกคนต้องสร้างความเข้าใจ ดูจำให้ได้แล้วก็ศึกษากรรมฐานกองนั้นๆ ที่จะพึงใช้กับอารมณ์ของจิตให้เข้าใจ ดูให้คล่อง ฝึกให้คล่อง ใช้อารมณ์ให้คล่อง ถ้าบังเอิญอารมณ์จิตของเราเกิดขึ้นในทัศนะของจริตไหน จับกรรมฐานหมวดนั้นเข้ามาใช้ทันทีไม่ต้องรอเวลา มันเกิดรักสวยรักงามขึ้นมา เวลารักมันก็เผลอไปพักหนึ่ง นี่พอรู้ตัวว่านี่จิตเราเลวเสียแล้วไปรักสวยรักงาม ไอ้สิ่งทั้งหลายเหล่านี้มันไม่คงทนถาวร ความสวยความงามมันไม่คงที่ เดี๋ยวมันก็สลายตัวใช้ไม่ได้ ทำไมเราจึงจะหักล้างมันได้ ต้องใช้ อสุภกรรมฐาน เข้ามาพิจารณากายหักล้างทันที นี่ต้องใช้ให้ทันท่วงที แล้วเวลาว่างก็คิดว่าอารมณ์อย่างนี้มันจะเกิดอีกใช้อารมณ์แบบนี้หักล้างให้สิ้นไป ทีนี้ถ้าโทสะมันเกิดก็ใช้ เมตตา บารมี พรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 10 ตามที่กล่าวมา ถ้ามันเกิดบ่อยๆ ก็ใช้พรหมวิหาร 4 หรือ กสิณ 10 หักล้างให้ตัดเด็ดขาดไปเลย นี่ความคิดไม่ตกลง หลงโน่นหลงนี่ ปรากฎว่ามันเกิดบ่อยๆ ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู มันหลงในทรัพย์สิน หลงในทรัพย์สินในร่างกายและชีวิตก็ใช้ อานาปานุสสติ ให้เข้าถึงฌาน 4 คุมฌาน 4 หรือฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ตลอดเวลาไม่พลาดตลอดวัน ไม่ช้าอารมณ์นี้มันก็สลายไป ถ้าความเชื่อในคุณพระรัตนตรัยหรือมีอารมณ์เชื่อง่ายเกิดขึ้น เจริญ อนุสสติทั้ง 6 ประการ มี พุทธานุสสติ เป็นต้น เป็นปกติ ความดีจะเข้าถึงอย่างรวดเร็ว พวกสัทธาจริตนี่เป็นพระอรหันต์ง่าย ถ้าเดินทางถูกง่ายจริงๆ เพราะท่านเชื่ออยู่แล้วไม่ยาก นี่หากว่าพุทธจริตความฉลาดมันเกิด ขึ้นก็ไปดู อาหาเรปฏิกูลสัญญา จตุธาตุววัตถาน 4 แล้วอะไรอีก 2 อย่าง จำไม่ได้ นึกไม่ออก ความจริงมันจำได้ เพราะว่าไข้มันขึ้น ใช้แบบนั้นเข้าหักล้างทันทีให้มันสิ้นไป ถ้าเรารู้จักจริตของเรา พิจารณาจริตของเรา รู้จักกรรมฐานที่จะพึงใช้ให้ถูกต้อง แล้วใช้ได้ทันท่วงที เมื่ออารมณ์นั้นเกิดแล้วก็คลายตัว พอรู้สึกตัวขึ้นมาใช้กรรมฐานประเภทนั้นหักล้างเรื่อยไป จนกว่าอารมณ์นั้นจะสิ้นไป แต่ถ้าอารมณ์อื่นพลอยเกิดขึ้นมาอีกก็ใช้กรรมฐานที่ถูกต้องตามพระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนหักล้างให้มันสิ้นไปอีกเหมือนกัน อย่างนี้ไม่ช้าไม่นานหรอก อย่างเลวที่สุด 7 ปีเราก็พบพระนิพพาน นี่หากว่าทำอย่างถูกต้องปานกลางก็ไม่เกิน 3 ปี ก็ไม่เกิน 7 เดือนไม่ถึง 3 ปี ปานกลางไม่เกิน 7 เดือนเราก็พบพระนิพพาน ถ้าหากปฏิบัติอย่างเข้มแข็งระมัดระวังอารมณ์อยู่เสมอ ไม่เกิน 7 วัน พบพระนิพพาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น