วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

พระพุทธเจ้า กับ อาหารมังสวิรัติพระพุทธเจ้า...กับ...มังสวิรัติ หลายที่หลายแห่งนานาประเทศทั่วโลก มีผู้คนส่วนหนึ่งพากันดำรงชีวิตอยู่ ด้วยการอาศัยอาหาร ที่ได้มาจากพืชผัก และนมเนย โดยไม่ต้องอาศัยการฆ่าแกงทำร้ายสัตว์อื่น แล้วนำมากินเป็นอาหารเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศอินเดีย อันเป็นต้นกำเนิดของพุทธศาสนา ซึ่งนับแต่โบราณกาล มาจนตราบ เท่าทุกวันนี้ ชาวอินเดียส่วนใหญ่ก็ยังคงไม่กินเนื้อสัตว์กันเป็นอาหาร แต่จะกินพืช ผัก ผลไม้ นม เนย เป็นอาหาร หลักสำคัญของชีวิต บทความนี้ จะเป็นการเสนอแง่มุมคิดเกี่ยวกับ "อาหารมังสวิรัติ" ในแง่มุมทางพุทธศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่แง่มุม ทางสุขภาพอนามัย ไม่ใช่ทางโภชนาการ ไม่ใช่ทางวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ ฯลฯ เป็นความคิดเห็น ที่อาศัยคำตรัสของพระพุทธเจ้า ที่มีปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกเป็นหลักฐานอ้างอิง ในพระไตรปิฎกมีอยู่มากมายหลายพระสูตร ที่พระพุทธเจ้าตรัสเอาไว้ แล้วมีส่วนเกี่ยวพันกันไปถึง "มังสวิรัติ" อันคือ งดเว้นการกินอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆจากสัตว์ ซึ่งได้มาจากการฆ่าสัตว์เพื่อทำเป็นอาหาร ที่นี้จะขอยกมากล่าวถึงเพียงบางพระสูตรเท่านั้น ได้แก่... พระพุทธองค์ตรัส (๑) "ละการฆ่า เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ(โทษภัย) วางศาสตรา(ของมีคม)แล้ว มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณา หวังประโยชน์ แก่สัตว์ทั้งปวงอยู่ ตลอดคืนหนึ่งกับวันหนึ่งในวันนี้ แม้ด้วยการกระทำอย่างนี้ ก็ชื่อว่าได้ทำตามพระอรหันต์ทั้งหลาย" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๐ "อุโปสถสูตร" ข้อ๕๑๐) จากพระสูตรนี้ก็คือ ศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์นั่นเอง ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงห้าม การฆ่าสัตว์เอาไว้ แก่พุทธศาสนิกชนทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะ อาชีพใดๆ คือ เป็นข้าราชการ พ่อค้า ลูกจ้าง กรรมกร ทั้งหญิง ชาย ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ เมื่อเป็นชาวพุทธ ก็ต้องพยายามถือศีลข้อที่ ๑ ละเว้นจากการฆ่าสัตว์ มีใจเอ็นดู แก่สัตว์ทั้งปวง ถ้าปฏิบัติกันจริงเมืองไทยย่อมจะหาเนื้อสัตว์กินกันได้ยาก ภายในเมืองพุทธ แห่งนี้ อาหาร การกินส่วนใหญ่ ก็คงต้องเป็น "อาหารมังสวิรัติ" นั่นแหละมากกว่า ดังนั้นการที่ชาวพุทธชักชวนกันเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ ก็จะเป็นการเอื้อเฟื้อต่อศีลข้อที่ ๑ ที่พระพุทธเจ้า ทรงบัญญัติ เอาไว้ จะได้ไม่ทำให้ศีลข้อนี้ต้องกลายเป็นหมันไป มิฉะนั้นแล้ว ยิ่งมีคนกินเนื้อสัตว์กันมากเท่าใด ก็ย่อมต้องมีการฆ่าสัตว์เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น อันเป็น การส่งเสริม ให้ชาวพุทธ กระทำผิดศีลข้อที่ ๑ เพิ่มมากขึ้นนั่นเอง พระพุทธองค์ตรัส (๒) การค้าขาย ๕ ประการนี้ อันอุบาสกไม่พึงกระทำคือ ๑.การค้าขายศาสตรา ๒.การค้าขายสัตว์(เป็น) ๓.การค้าขายเนื้อสัตว์(ตาย) ๔.การค้าขายน้ำเมา ๕.การค้าขายยาพิษ (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๒ "วณิชชสูตร" ข้อ๑๗๗) นอกจากทรงห้ามการฆ่าสัตว์แล้ว พระพุทธเจ้าก็ยังทรงห้ามไปถึง....การค้าขายสัตว์ทั้งที่มีชีวิตอยู่ หรือ ทั้งที่ตาย กลายเป็นเนื้อสัตว์ด้วย ดังนั้นก็จะยิ่งเห็นได้ชัดเจน ถึงสภาพชีวิตความเป็นอยู่ ในด้านอาหารการกินของชาวพุทธได้ว่า จะทำเป็น "อาหารมังสวิรัติ" ค้าขายกันเกลื่อนกล่นทั่วไปอย่างแน่นอน ถ้าพุทธศาสนิกชน ปฏิบัติตามคำสอน ของพระพุทธเจ้า อย่างถูกตรงแล้ว พระพุทธองค์ตรัส (๓) "สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ได้ประทุษร้ายใคร ถูกนำมาฆ่า คนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมเสื่อมจากธรรม วิญญูชนติเตียนแล้วอย่างนี้ วิญญูชนเห็นความจริง อันเลวทรามเช่นนี้ ในที่ใด ย่อมติเตียนคนผู้ทำการบูชาด้วยความตายของสัตว์ในที่นั้น" (พระไตรปิฎก เล่ม ๒๕ "พราหมณธรรมิกสูตร" ข้อ ๓๒๓) ไม่ใช่แค่เพียงห้ามชาวพุทธไม่ให้ฆ่าสัตว์ และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์เท่านั้น พระพุทธเจ้ายังทรงติเตียนห้ามปราม แม้กระทั่งการใช้ความตายของสัตว์อื่น มาเป็นเครื่องสักการะบูชาอีกด้วย ดังนั้นการที่จะนำเอาเลือด เนื้อ เอ็น กระดูก ตับ ไต ไส้พุง หรืออวัยวะอื่นใดของสัตว์ มาเป็นเครื่องบูชา ต่อสิ่งที่ เราเคารพนับถือ หรือต่อบุคคลที่เราเคารพนับถือนั้น จึงเป็นการทำบาปมาหวังบุญ ช่างน่าติเตียน ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ การกราบไหว้บูชาใดๆของชาวพุทธ หรือแม้การตักบาตรพระ ก็ควรเป็นอาหาร ที่ไม่ต้อง เกิดบาปกรรม จากการฆ่าสัตว์ให้ถึงแก่ความตายเลย คือเป็น"อาหารมังสวิรัติ" จะประเสริฐกว่า อาหารมังสวิรัติ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี อาหารมังสวิรัติ อาหารมังสวิรัติ คืออาหารจำพวกผักและผลไม้ ซึ่งทำให้ได้รับกากใยอาหาร อาหารมังสวิรัตินั้นจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย อาหารที่ผู้ถือมังสวิรัตินิยมรับประทานกัน ส่วนใหญ่จะประกอบด้วยข้าวและผลิตภัณฑ์จากข้าว หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ หรือเมล็ด เช่น เมล็ดฟักทอง เมล็ดทานตะวัน เป็นต้น อาหารมังสวิรัตินั้น แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ มังสวิรัติประเภทเคร่งครัด เป็นมังสวิรัติที่กินอาหารจำพวกพืชผักผลไม้เพียงอย่างเดียว ไม่มีอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ไข่ นม หรือ ผลิตภัณฑ์จากไข่และนม เป็นส่วนประกอบของอาหารนั้นๆเลย มังสวิรัติประเภทที่มีการดื่มนม เป็นมังสวิรัติที่จะมีนมและผลิตภัณฑ์ของนมนอกเหนือจากพืชผักผลไม้ แต่ไม่มีเนื้อสัตว์และไข่เป็นส่วนประกอบของอาหาร มังสวิรัติประเภทดื่มนมและกินไข่ อาหารมังสวิรัติประเภทนี้มีไข่ นม และผลิตภัณฑ์ของนมนอกเหนือจากอาหารจากพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์เลย จะเห็นได้ว่า มังสวิรัติทั้ง 3 ประเภทนี้ จะไม่มีอาหารหรือส่วนประกอบที่มาจากเนื้อสัตว์เลย แต่ถึงแม้ว่าจะไม่มีเนื้อสัตว์เลย แต่ก็มิได้หมายความว่าจะทำให้ร่างกายขาดสารอาหารประเภทโปรตีน แต่คนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติสามารถได้รับสารอาหารประเภทโปรตีนจากอาหารจำพวกถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ ถั่วลิสง เป็นต้น พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า: โอ, มหาบัณฑิต! ด้วยน้ำหนักแห่งเหตุผลอันมากมายเหลือจะประมาณ บ่งแสดงว่าเนื้อทุกชนิดเป็นสิ่งที่ควรปฏิเสธ โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้มีใจเปี่ยมอยู่ด้วยความกรุณา สำหรับเขาเหล่านั้น เราจักกล่าวแต่โดยย่อๆ โอ, มหาบัณฑิต! ในวัฏสงสาร อันไม่มีใครทราบที่สุดในเบื้องต้นนี้ สัตว์ผู้มีชีพได้พากันท่องเที่ยวไป ในการว่ายเวียนในการเกิดอีกตายอีก, ไม่มีสัตว์แม้แต่ตัวเดียว ที่ในบางสมัย ไม่เคยเป็น แม่ พ่อ พี่น้องชาย พี่น้องหญิง ลูกชาย ลูกหญิง หรือเครือญาติอย่างอื่นๆ แก่กัน สัตว์ตัวเดียวกัน ย่อมถือปฏิสนธิในภพต่างๆ เป็นกวาง หรือสัตว์สองเท้าสัตว์สี่เท้าอื่นๆ เป็นนก ฯลฯ ซึ่งยังนับได้ว่าเป็นเครือญาติของเราโดยตรง สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะทำลงไปได้อย่างไรหนอ, จะเป็นผู้สำเร็จแล้วหรือยังเป็นสาวกธรรมดาอยู่ก็ตาม ผู้เห็นอยู่ว่าสัตว์เหล่านี้ทั้งหมด, เป็นภราดรของตน, แล้วจะเชือดเถือเนื้อหนังของมันอีกหรือ? โอ, มหาบัณฑิต! เนื้อสุนัข เนื้อลา อูฐ ม้า โค และเนื้อมนุษย์ เหล่านี้เป็นเนื้อที่ประชาชนไม่รับประทาน แม้กระนั้นเนื้อของสัตว์เหล่านี้ก็ถูกนำมาปลอมขาย ในนามของเนื้อแกะฯ ภายในเมืองเพราะเห็นแก่เงิน เพราะเหตุนี้ เนื้อสัตว์จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรกิน โดยสาวกแห่งพระพุทธศาสนา โอ, มหาบัณฑิต! เพราะว่าเนื้อย่อมเกิดจากเลือด และน้ำอสุจิ, เพราะฉะนั้นมันจึงเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค สำหรับสาวกแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์ต่อความสะอาดบริสุทธิ์ (หลุดพ้นทุกข์ทางจิตใจ) และเพราะมันเป็นการสร้างความหวาดกลัว ให้เกิดขึ้นในระหว่างกันและกัน โอ, มหาบัณฑิต! เพราะฉะนั้นเนื้อนี้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคโดยบรรพชิตแห่งพระพุทธศาสนา ผู้ประสงค์มิตรภาพในเพื่อนสัตว์ด้วยกัน ทุกถ้วนหน้า ตัวอย่างอันประจักษ์เช่นเมื่อสัตว์ได้เห็นนายพรานป่า ชาวประมงหรือนักกินเนื้ออื่นๆ เดินมาแม้ในระยะอันไกล สัตว์ทั้งหลายก็สะดุ้งกลัวเสียแล้ว บางครั้งหรือสัตว์บางชนิดขาดใจตาย ทำนองเดียวกัน สัตว์ตัวน้อยๆ อื่นๆ ในท้องฟ้า บนบกหรือในน้ำก็ตาม เมื่อได้เห็นนักกินเนื้อแต่ที่ไกล หรือได้กลิ่นด้วยจมูกอันไวของมัน ก็จะพากันวิ่งหนีไปไกลพร้อมกับความรู้สึกอยู่ในใจว่า เขาเหล่านั้นเป็นผียักษ์อสุรกายผู้ล้างผลาญ นั่นเพราะความกลัวต่อความตายของมัน เนื้อเป็นสิ่งที่ควรกินสำหรับผู้ใจดำอำมหิต เป็นสิ่งที่มีกลิ่นน่ารังเกียจ เป็นต้นเหตุแห่งความเสื่อมเสีย และเป็นสิ่งที่จะถูกห้ามกันโดยท่านสัตบุรุษ โอ, มหาบัณฑิต! เนื้อนี้เป็นของไม่ควรบริโภคโดยพุทธสาวก โอ, มหาบัณฑิต! สัตบุรุษย่อมบริโภคเฉพาะแต่ อาหารที่สมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์ ไม่ยอมบริโภคเนื้อและเลือด เพราะฉะนั้นควรที่สาวกแห่งพระพุทธศาสนา จะต้องไม่บริโภคเนื้อสัตว์เลย พระพุทธเจ้าผู้ซึ่งเยือกเย็นไปด้วยพระกรุณา มีพระทัยเต็มเปี่ยมไปด้วยความเป็นที่พึ่งที่ป้องกันภัยแก่ดวงใจของปวงสัตว์ และมีพระสัมปชัญญะสมบูรณ์พอที่จะไม่ปล่อยให้เป็นโอกาสสำหรับความเสื่อมเสียระบาดขึ้นได้เลยนั้น ย่อมจะทรงบัญญัติเนื้อสัตว์ว่าเป็นสิ่งไม่ควรบริโภค โอ, มหาบัณฑิต! ในโลกนี้มีคนเป็นอันมาก ซึ่งกล่าวคำเท็จเทียมต่อพระพุทธดำรัสฯ ให้ผิดไปจากความจริง เขากล่าวกันว่า บรรดาผู้ซึ่งคัดค้านอาหารอันสมควรแด่ท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ย่อมกินอาหารเหมือนนักกินเนื้อ ย่อมเที่ยวใส่ความทุกข์เจ็บปวดให้แก่สัตว์น้อยๆ ที่มีชีวิตอยู่ในอากาศ บนบก และในน้ำ เที่ยวรบกวนรังควานมัน ทั้งที่นี่และที่นั่นอยู่เสมอ สมณภาพของเขาถูกทำลายเสียย่อยยับแล้ว พราหมณ์ภาพของเขาถูกทำให้เศร้าหมองเสียแล้ว เขามิได้ประกอบด้วยศรัทธาและสมาจาร คนชนิดนี้แหละ ที่กล่าวคำเท็จเทียมมากมายหลายชนิด แด่พระพุทธวจนะ โอ, มหาบัณฑิต! มีกลิ่นที่น่ารังเกียจ ไม่น่าบริโภคอยู่ในเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับกลิ่นแห่งศพ แม้เหตุผลเพียงเท่านี้ เนื้อก็เป็นของไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนอยู่แล้ว ถ้าหากว่าศพถูกเผา และเนื้อสัตว์อย่างใดอย่างหนึ่งก็ถูกเผา มันก็จะมีกลิ่นอันน่ารังเกียจ ไม่แตกต่างอะไรกันเลย ดังนั้น บรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้หวังความบริสุทธิ์ จะไม่บริโภคเนื้อใดเลย เพราะว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกันแล้ว สำหรับท่านผู้บริสุทธิ์ และสาวกของท่าน ในกรณีที่จะพยายามเพื่อโมกษะและความตรัสรู้ เพราะฉะนั้นสาวกผู้ดำเนินตามทางอันสูงยิ่งนี้ ทั้งครอบครัวลูกหญิงชาย ย่อมรู้อยู่อย่างเต็มใจว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกเกียจกัน ในทุกๆกรณีที่พยายามเพื่อสมาธิ โอ, มหาบัณฑิต! เพราะฉะนั้น เนื้อทุกๆ ชนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภคสำหรับพุทธศาสนิกชนซึ่งเป็นผู้ที่ปรารถนาจะมีสาธุคุณในทางจิต ทั้งเพื่อตนเองและผู้อื่น นักกินเนื้อ ย่อมเป็นเหยื่อแห่งโรคหลายชนิด เช่น โรคไส้เดือน โรคพยาธิ โรคเรื้อน โรคเจ็บในท้อง ฯลฯ โอ, มหาบัณฑิต! เรากำลังประกาศว่า การกินเนื้อสัตว์เป็นการกินเนื้อบุตรของตนเองอยู่ดั่งนี้ แล้วจะกล่าวไปอย่างไรได้ ที่เราจะบัญญัติให้สาวกของเรากินเนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของจัดไว้ต้อนรับของพวกคนใจอำมหิต เป็นของถูกห้ามโดยท่านสัตบุรุษทั่วไป เต็มไปด้วยมลทิน ปราศจากคุณธรรมใดๆ ไม่เหมาะที่จะบริโภคสำหรับผู้บริสุทธิ์ และเป็นของควรห้ามเด็ดขาด โดยประการทั้งปวง โอ, มหาบัณฑิต! เราได้บัญญัติไว้แล้วว่า สำหรับอาหารอันสมควรซึ่งได้กำหนดนิยมกันมาแล้วโดยบรรดาท่านผู้บริสุทธิ์แห่งสมัยเพรงกาล ได้แก่อาหารที่ปรุงขึ้นจากข้าว ลูกเดือย ข้าวสาลี สารแห่งหญ้ามุญชะ อูรทะและมสุร ฯลฯ นมส้ม น้ำนม นม น้ำตาลสด กุท (?) น้ำตาล และน้ำตาลกรวด ฯลฯ โอ, มหาบัณฑิต! ในกาลก่อน มีพระราชาครองราชสมบัติอย่างผาสุกพระองค์หนึ่ง นามว่า ราชาสิงหะเสาทโส ต่อมาได้กลายเป็นผู้ละโมบอย่างแรงในการบริโภคเนื้อ ในที่สุดถึงกับใช้เนื้อคนเป็นอาหาร เนื่องจากความอยากได้เป็นไปแก่กล้าหนักเข้า เพราะเหตุนั้น พระองค์ถูกถอดออกจากความเป็นพระราชา โดยพระสหาย เสนาบดี และประยูรญาติของพระองค์เอง และคนอื่นๆ ต่อจากนั้นต้องสละราชสมบัติ ถูกเนรเทศออกไปจากแว่นแคว้นของพระองค์โดยประชาชน ต้องรับทุกข์ทรมานอันใหญ่หลวง เนื่องจากเนื้อสัตว์เป็นต้นเหตุ โอ, มหาบัณฑิต! ก็ในปัจจุบันชาตินี้เอง เขาเหล่านั้นซึ่งเคยชินเกินไปในการกินเนื้อสัตว์ ในมาตรฐานนี้ เมื่อความอยากเป็นไปรุนแรงเข้า ก็กินเนื้อคนได้ (ในยามขาดแคลน) ย่อมเป็นผู้ละโมบในการกิน และเป็นเหมือนยักษ์ปีศาจร้าย ครั้นถึงอนาคตชาติหน้า เพราะอำนาจจิตติดฝังแน่นในการอยากกินเนื้อ เขาย่อมตกไปสู่กำเนิดแห่งสัตว์กินเนื้อเป็นอาหาร เช่น สิงโต เสือ สุนัขป่า สุนัขไน แมว สุนัขจิ้งจอก นกเค้า และ ฯลฯ โอ, มหาบัณฑิต! มิใช่เพราะเนื้อจะเป็นของต้องกิน หรือการฆ่าเป็นของต้องทำก็หามิได้ ในกรณีนั้นๆ ส่วนมากทั้งหมดเป็นเพราะการเห็นแก่เงิน จึงฆ่าสัตว์ที่มีชีวิต ถึงแม้จะเป็นสัตว์เชื่องและปราศจากอันตรายแต่อย่างใด ก็ได้ถูกฆ่า การฆ่าเพราะเหตุอื่นนั้นมีน้อยที่สุด มันเป็นการทรมานใจเขามาก ในเมื่อใจเต็มไปด้วย ความอยากกินเนื้ออย่างแรงกล้า คนก็กินเนื้อคนได้อยู่เสมอ จะต้องกล่าวไปทำไมกะเนื้อสัตว์ เนื้อนก ฯลฯ ส่วนมากที่สุด เนื่องจากความโง่เง่าเข้าใจผิด มนุษย์จึงได้รับกรรม ความกระวนกระวายใจ โดยความอยากในเนื้อสัตว์ คนฆ่านก ฆ่าแกะ และปลา โดยใช้ข่ายหรือเครื่องกล การฆ่ามันเหล่านั้นซึ่งเป็นสัตว์ที่เชื่องและหาอันตรายมิได้ นั่นก็เพื่อหวังจะให้ได้เงิน โอ, มหาบัณฑิต! ในกรณีแห่งอาหาร ที่เราได้บัญญัติแก่สาวกนั้น มิใช่เป็นเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งเลย ซึ่งเป็นของควรกิน สัตว์ซึ่งเป็นของไม่ควรกิน ไม่เป็นเหตุควรถูกกิน ไม่ใช่สิ่งที่ควรสมมุติว่าควรกิน ในอนาคตกาล ในหมู่สงฆ์ของเราจะเกิดมีคนบางคน ซึ่งกำลังสมาทานข้อปฏิบัติแห่งบรรพชิต และกำลังปฏิญาณตนเป็นศากยบุตร กำลังครองผ้ากาสาวพัสตร์สีแดงหม่น จะเป็นผู้มัวเมาและประกอบตนคลุกเคล้าอยู่ในความเพลิดเพลิน เขาจะมีจิตที่เต็มไปด้วย ความปรารถนาลามก บัญญัติข้อปฏิบัติที่ผิดแบบแผนขึ้นใหม่ เขาเหล่านั้น เป็นผู้อยากเสพเพราะติดรส และจะเรียบเรียงพระคัมภีร์ให้มีข้อความเท็จ อันจะเป็นเครื่องยืนยัน และโต้แย้งอย่างพอเพียง สำหรับการกินเนื้อสัตว์กัน เขาจะบัญญัติสิ่งที่ตถาคตมิได้บัญญัติไว้ เขาจะกล่าวข้อความที่ส่งเสริมการกินเนื้อสัตว์ เขาจะกล่าวว่าเรา ตถาคตได้บัญญัติไว้ในเรื่องนี้ เช่นนี้ และว่าเราตถาคตนับมันเข้าไว้ ในสิ่งทั้งหลายที่ควรกิน และว่าพระภควันต์ก็ได้ทรงเสวยเนื้อสัตว์โดยพระองค์เอง แต่ โอ, มหาบัณฑิต! เรามิได้เคยบัญญัติเนื้อสัตว์ไว้ในสูตรใดๆ หรือกล่าวว่ามันเป็นของควรกิน หรือนับมันเข้าในประเภทของดีที่ควรกิน โอ, มหาบัณฑิต! อริยสาวกทั้งหลาย ไม่บริโภค แม้แต่สิ่งที่คนธรรมดาชอบกินนิยมกันว่าดี เขาเหล่านั้นจะมาบริโภคเนื้อและเลือด ซึ่งเป็นของควรปฏิเสธได้อย่างไรเล่า? เหล่าสาวกของตถาคต เป็นผู้เดินตามแนวแห่งสัจธรรม คนผู้มีปัญญาเป็นเครื่องคิดค้นของตนเอง และบรรดาพุทธศาสนิกชนทั้งหลายอื่นๆ (แห่งพระพุทธเจ้าองค์อื่นๆ) ก็เป็นเช่นเดียวกัน เขาเหล่านั้นมิใช่ผู้กินเนื้อสัตว์ พระตถาคตเจ้าทั้งหลายในกาลก่อนๆ ก็เป็นดังนั้น… พระตถาคตเจ้าทั้งหลาย มีสัจธรรมเป็นพระกายของพระองค์ ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ด้วยสัจธรรม ไม่ทรงดำรงกายด้วยเนื้อสัตว์ ท่านเหล่านั้น ไม่เคยเสวยเนื้อสัตว์อย่างใดๆ เลย พระองค์ทรงเพิกถอนความอยากในโลกียวัตถุได้ทั้งหมดแล้ว ท่านเหล่านั้นปราศจากมลจิต อันเป็นมูลแห่งความทุกข์ ท่านเต็มเปี่ยมไปด้วยปรีชาญาณอันไม่ข้องขัด ในอันจะหยั่งทราบสิ่งซึ่งเป็นกุศลและอกุศล ทรงทราบสิ่งทั้งปวง เห็นแจ้งสิ่งทั้งปวง พระองค์ทรงมองไปที่สรรพสัตว์คล้ายกับเป็นบุตรของพระองค์เอง ทรงประกอบด้วยมหาเมตตากรุณาคุณ โดยทำนองเดียวกันนี้ เราตถาคตเห็นสรรพสัตว์เช่นเดียวกับบุตรของเราเอง เราจะบัญญัติให้สาวกของเรา บริโภคเนื้อลูกของเราได้อย่างไรเล่า? และเราเองก็จะบริโภคมันได้อย่างไรเล่า? มันไม่มีข้อควรสงสัยเลยในเรื่องว่า เราได้บัญญัติให้สาวกบริโภค หรือเราได้บริโภคมันโดยตนเองหรือไม่" (ในที่สุด ได้ตรัสคำที่ผูกเข้าเป็นคาถา ซึ่งจะยกมาในที่นี้แต่บางคาถา มีใจความว่า: ) โอ, มหาบัณฑิต! พระชินวรได้ตรัสไว้แล้วว่า สุรา เนื้อ และหอมกระเทียม เป็นสิ่งที่พุทธศาสนิก หรือมหาพุทธศาสนิกใดๆ ไม่ควรบริโภค (๑) บรรพชิตควรเว้นเสมอ จากเนื้อสัตว์ หัวหอม และนานาประเภทแห่งเครื่องดื่มอันมึนเมา กระเทียม และหัวผักกาด (๕) เขาผู้ฆ่าสัตว์ชนิดใดๆ ก็ตาม เพื่อเงิน และเขาผู้ซึ่งจ่ายเงินซื้อเนื้อนั้น ทั้งสองพวกชื่อว่าเป็น ผู้ประกอบอกุศลกรรม และจักจมลงในนรกโรรุวะ และนรก ฯลฯ (๙) เราบัญญัติห้ามเนื้อสัตว์ไว้ในข้อความ แห่งคัมภีร์เหล่านี้ คือ ๑. หัสติกักสยะ ๒. มหาเมฆะ ๓. นิรวาณางคลี มาลิกา และ ๔. ลังกาวตารสูตร (๑๖) อันเดียวกันกับที่ ความถูกผูกพันเป็นข้าศึกของความหลุดพ้นเป็นอิสรภาพ, เนื้อสัตว์ สุรา และ ฯลฯ ก็เป็นข้าศึกของนิรวาณ (คือนิพพาน) ฉะนั้น (๒๐) ดังนั้น เนื้อสัตว์ซึ่งเป็นของดูน่ากลัวแก่สรรพสัตว์ และเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติเพื่อวิมุติ จึงเป็นของไม่ควรกิน นี่คือธงชัยแห่งอารยชน (๒

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น