วันเสาร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2560

จิตรวมเข้าอัปปนาสมาธิ

ที่มาไฟล์จาก: http://www.ybat.org


วันอาทิตย์ที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒
ณ ห้องปฏิบัติธรรม ชั้น ๔ ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ
ถอดเทปและจัดอักษร โดย เจนจิรา นวมงคลกุล และ กวี บุญดีสกุลโชค

ขอความสุขความเจริญจงมีแก่สาธุชนทุกๆ ท่าน
วันนี้เป็นโอกาสอันเป็นมงคล มงคลในศาสนาพุทธนะ
ไม่ใช่มงคลมั่วๆซั่วๆ ท่านกำหนดไว้ชัดเจนเลยว่า
อะไรบ้างที่เป็นมงคล อย่างเวลาเรามาเจอกันนี้มีมงคลหลายข้อ
อันแรกเลยได้เห็นสมณะ ได้นั่งใกล้ ได้ฟังธรรม
มงคลสำคัญนี่ก็คือฟังธรรม ฟังธรรมแล้วต้องเอาไปปฏิบัติให้ได้
เมื่อกี๊หลวงพ่อ56+546+อยู่ห้องข้างๆได้ยิน มีท่านโฆษกบอกว่า
พวกเราต้องตั้งเป้าหมายนะ เราต้องได้ธรรมะในชีวิตนี้
เราอย่าไปวาดภาพว่า มรรคผลนิพพานนี้เป็นของที่ไกลเกินตัว
มรรคผลนิพพานไม่ไกลนะ มันไกลสำหรับคนซึ่งไม่รู้จักวิธี
มรรคผลนิพพานจริงๆอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา
นิพพานเนี่ยไม่เคยหายไปไหนเลย แต่มรรคผลเนี่ยต้องทำให้เกิด
ต้องพัฒนาใจจนวันหนึ่งเกิด ส่วนนิพพานนะไม่ต้องเกิด
นิพพานมันเกิดอยู่แล้ว นิพพานมีอยู่แล้ว
นิพพานไม่เคยหายไปไหน นิพพานอยู่ต่อหน้าต่อตาเรา
เมื่อไหร่เราเห็นนิพพานครั้งแรก เราก็จะได้เป็นพระโสดาบัน
อย่างตอนนี้เราอยู่กับนิพพานนะ แต่เราไม่เห็น
เพราะอะไร เพราะใจเราไม่มีคุณภาพพอ
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นกิเลสตัณหา เรียกว่า “วิราคะ”
ใจของคนซึ่งยังมีกิเลสตัณหา มันก็ไม่เห็นนิพพาน
นิพพานเป็นสภาวะที่สิ้นความปรุงแต่ง เรียกว่า “วิสังขาร”
ใจของคนที่ยังปรุงแต่ง ก็ไม่เห็นนิพพาน
พวกเราปรุงแต่งทั้งวัน รู้สึกมั้ย ใจเราฟุ้งซ่านทั้งวันนะ
เดี่ยวปรุงดี เดี๋ยวปรุงชั่ว เดี๋ยวปรุงว่างๆขึ้นมา สารพัดจะปรุง
นิพพานพ้นจากความปรุงแต่งไป แต่ใจที่ปรุงแต่งก็จะไม่เห็นนิพพาน
นิพพานนั้นพ้นจากรูป จากนาม จากกาย จากใจ
ไม่ยึดถือกาย ไม่ยึดถือใจเมื่อไหร่ก็จะเห็นนิพพาน
ถ้ายังยึดถือกาย ยึดถือใจอยู่ ก็ไม่เห็นนิพพานนะ
งั้นถ้าเราค่อยๆพัฒนาใจของเรา จนมันหมดกิเลสตัณหา
หมดความดิ้นรนปรุงแต่ง หมดความยึดถือในรูปในนามในกายในใจ
ถึงไม่อยากจะเห็นนิพพานก็จะเห็น
เพราะนิพพานนะ อยากเห็นก็ไม่เห็นหรอก
แต่หมดกิเลสเมื่อไหร่ หมดความปรุงแต่งเมื่อไหร่
หมดความยึดถือในกายในใจเมื่อไหร่ มันเห็นของมันเอง

ทางนี้ตั้งหัวข้อให้หลวงพ่อเทศน์ “ทางพ้นทุกข์ ก.ไก่ถึงฮ.นกฮูก”
รู้สึกว่าหลวงพ่อจะเริ่มจาก ฮ.นกฮูกมาหา ก.ไก่ แล้วละนะ (คนฟังฮา)
เอา ฮ นกฮูก ก่อนก็แล้วกันนะ .....คือเราเป็นคนรุ่นใหม่
เราจะทำอะไร จะทำเพื่ออะไร จะทำอย่างไร เราต้องรู้ชัด
ถ้าเราจะไปสู่นิพพาน อย่างน้อยชาตินี้เป็นพระโสดาบันให้ได้นะ
ถ้าเป็นพระโสดาบันแล้ว วันหนึ่งข้างหน้ายังไงก็ต้องเป็นพระอรหันต์
พระโสดาบันไม่ยากเกินไป เราต้องมาดูคุณสมบัติของพระโสดาบันก่อนนะ
พระโสดาบันคือท่านผู้เห็นความจริงว่า “ตัวเราไม่มี”
เรียกว่า “ละสกายทิฐิ”ได้ ท่านเห็นว่าตัวเราไม่มีนะ
ในกายนี้ ในใจนี้ ไม่มีตัวเรา กายนี้ใจนี้ก็ไม่ใช่ตัวเรา
ไม่มีตัวเรานอกเหนือจากกายจากใจนี้อีก
สิ่งที่เรารู้สึกว่าเป็นตัวเราอยู่ตลอดเวลา ก็คือกายนี้ใจนี้เท่านั้นแหละ
รูปนาม ขันธ์๕ อายตนะ๖ ธาตุ๑๘ แล้วแต่จะเรียกนะ
รวมความง่ายๆ ก็คือ รูปกับนาม คือกายกับใจนี่เอง
เราเห็นว่ามันเป็นตัวเรา ถ้าเมื่อไหร่เราสามารถพัฒนาจิตใจ
จนเราเห็นความจริงนะว่าตัวเราไม่มีหรอก กายนี้ไม่ใช่เราใจนี้ไม่ใช่เรา
ไม่มีเราในกายในใจนี้ ไม่มีเรานอกเหนือกายนอกเหนือใจนี้
เราก็จะได้เป็นพระโสดาบัน เป็นผู้เที่ยงต่อการตรัสรู้ในวันข้างหน้า
วันหนึ่งก็เป็นพระอรหันต์ เหมือนคนตกลงในกระแสน้ำนะ
น้ำพัดพาไปนะ วันหนึ่งไปถึงทะเล

ทำยังไงเราถึงจะสามารถเห็นได้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรานะ
พระพุทธเจ้าท่านเคยสอนบอกว่า คนในศาสนาอื่นเค้าสามารถเห็นได้ว่า
กายไม่ใช่เรา มีแต่คำสอนของพระพุทธเจ้าเท่านั้นนะ ถึงจะพัฒนาจิตใจเรา
จนเราเห็นความจริงว่า จิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเรา 

อย่างคนที่เรียนกับหลวงพ่อนะ ซักเดือนสองเดือนเนี่ย
สามารถเห็นได้แล้วว่ากายไม่ใช่เรา แต่ส่วนมากก็ยังเห็นว่าจิตเป็นเราอยู่
ถ้าวันใดเห็นว่าจิตก็ไม่ใช่เรา ไม่มีเราในกาย ไม่มีเราในจิต
ก็ได้ธรรมะ เป็นปลอดภัย ไม่ไปอบายละ ชีวิตมีความสุข
มีความสงบ มีความมั่นคง กิเลสหายไปหลายสิบเปอร์เซ็นต์

ทีนี้ทำยังไง เราจะสามารถเห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรานะ
เรามาดูของจริง การดูของจริงของกายของใจเรียกว่า
“การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน”
การเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ต้องเห็นความจริงของกายของใจ
ไม่ใช่เห็นกายเห็นใจนะ พวกเราอย่าตื้น บางคนตื้นเกินไป
คิดว่าแค่รู้กาย แค่รู้ใจก็คือการทำวิปัสสนากรรมฐาน....ไม่ใช่
วิปัสสนากรรมฐานต้องเห็นความจริงของกายของใจ
ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา 

อนิจจังก็คือสิ่งซึ่งมันเคยมีแล้วมันไม่มี
สิ่งซึ่งเคยไม่มีมันกลับมีขึ้นมานี่เรียกว่า อนิจจัง
ทุกขัง คือ มันทนอยู่ไม่ได้นะ
มันถูกสภาวะที่เป็นเหตุเป็นปัจจัยของมันเนี่ยเคลื่อนไหวเปลี่ยนไป
พอเหตุของมันเปลี่ยนนะ ตัวมันทนอยู่ไม่ได้นะ ถูกบีบคั้น
ทนอยู่ไม่ได้ในภาวะอันใดอันหนึ่ง เรียกว่า ทุกขัง
อนัตตา ก็คือ มันจะเกิดขึ้น มันจะตั้งอยู่ หรือมันจะดับไป
เป็นไปเพราะเหตุ ไม่ใช่เพราะเราสั่ง เราบังคับไม่ได้
อยู่นอกเหนือการบังคับ นี่เรียกได้ว่าอนัตตา

ถ้าสามารถเห็นได้ว่า กายนี้ใจนี้เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
เห็นเพียงมุมใดมุมหนึ่ง ไม่ต้องเห็นทั้งสามอย่าง
เห็นเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จิตก็สามารถปล่อยวาง
ความยึดถือกายยึดถือใจได้ในที่สุด แต่ในเบื้องต้นก็จะเห็นก่อนว่า
กายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา ถึงจะเห็นว่าไม่ใช่เราแต่ก็ยังไม่ปล่อยวาง

พระโสดาบันเนี่ย ท่านเห็นความจริงแล้วว่าตัวเราไม่มี
กายนี้ไม่ใช่เรา ใจนี้ไม่ใช่เรา กายนี้เป็นวัตถุธาตุที่ยืมโลกมาใช้
จิตใจก็เป็นธาตุเรียกว่าธาตุรู้ ธาตุรู้เนี่ยเกิดดับๆ
สืบเนื่องกันไปเรื่อยๆ ก็ไม่ใช่ตัวเรา แต่ท่านยังยึดถืออยู่นะ
ยังเห็นว่า กายนี้ใจนี้ยังนำความดีงามมาให้ได้ ยังรักมันอยู่
ยังนำความสุขมาให้ได้ ต้องเจริญสติต่อไปอีกนะ รู้กายรู้ใจๆ เรื่อยไป
ถึงวันหนึ่ง ถึงจะเห็นความจริงว่า กายนี้ใจนี้มีแต่ทุกข์ล้วนๆ
ทุกข์เพราะไม่เที่ยง ทุกข์เพราะทนอยู่ไม่ได้ ถูกบีบคั้น
ทุกข์เพราะว่าไม่ใช่ตัวเรา บังคับมันไม่ได้ อยู่นอกเหนืออำนาจบังคับ
ถ้าเห็นอย่างนี้นะก็จะปล่อยวาง ปล่อยวางเป็นพระอรหันต์


พระโสดาบันเนี่ยไม่ได้ยากเท่าไหร่ แค่รู้ว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรา
ไม่มีเราในกายในใจ แต่ยังยึดถืออยู่ ทำไมไม่เห็นว่าเป็นเรา
แล้วยังยึดถือได้ คล้ายๆ คนที่ยืมของคนอื่นเค้ามาใช้นะ
สมมุติหลวงพ่อไปยืมรถยนต์ ของคุณอนุรุธมาใช้ซักคันนึง
โอ้...รถคันนี้มันโก้จังนะ เรามีแต่รถกระบะ นี่รถเค้าสวย
ยืมมาใช้นาน จนหลงไปว่าเป็นรถของเราเอง ยืมเค้ามานาน
จนเราคิดว่าเป็นของเราเอง เหมือนกายนี้ใจนี้ เรายืมของโลกมาใช้
ยืมมานานจนสำคัญผิดว่าเป็นของเราเอง วันหนึ่งเป็นพระโสดาบัน
รู้แล้วว่ากายนี้ใจนี้เป็นของโลกนะไม่ใช่ของเรา ไม่มีเราหรอก
ก็จะคล้ายๆคนขี้งกอ่ะ รู้แล้วว่ารถคันนี้ไมใช่ของเรานะ แต่มันดีนะ
เอาไว้ก่อน เพราะฉะนั้นพระโสดาบันยังมีอารมณ์ขี้งกอยู่
ยังไม่ปล่อยวางกายวางใจจริงนะ ต้องมาเรียนรู้กายรู้ใจให้หนักเข้าอีก
ดูไปเรื่อย วันหนึ่งเกิดปัญญาขึ้นมา ก็เห็นมันเป็นแต่ทุกข์ล้วนๆเลย
ไม่ใช่ของดีของวิเศษอีกต่อไป ก็ยอมคืนเจ้าของ คืนให้โลกไป

นี่ ฮ นกฮูกนะ มีหลัง ฮ นกฮูกอีก after ฮ นกฮูก
คือภาวะซึ่งมันสิ้นทุกข์ไปแล้วนะ จิตใจซึ่งมันสิ้นทุกข์ไปแล้วนะ
มันจะบอกว่ามีความสุขมันก็ไม่เหมือนนะ มันไม่รู้จะเทียบกับอะไร
มันสุขเพราะไม่มีอะไรเสียดแทง เป็นสุขเพราะเป็นอิสระ
จิตใจปลอดโปร่งโล่งเบาอยู่ทั้งวันทั้งคืน ทั้งหลับทั้งตื่นนะ
มันมีแต่ความสุขอย่างงั้น สุขเพราะพ้นความปรุงแต่ง
สุขเพราะพ้นกิเลส สุขเพราะไม่มีภาระที่จะต้องไปยึดถืออะไร 
ใจมันโล่ง อย่างถ้าเรายึดอะไรซักอย่าง เราก็มีภาระ
ยกตัวอย่างนะ ตรงนี้มีผ้าอยู่ชิ้นหนึ่ง เอาอะไรดีล่ะที่จะไม่แตกง่าย
เอานี่ก็แล้วกัน ระหว่างแก้วน้ำกับผ้านี่ อันไหนหนักกว่ากัน
(หลวงพ่อถือใช้มือหนึ่งถือแก้วน้ำและอีกมือหนึ่งถือผ้าไว้)
แก้วน้ำใช่มั้ย ถ้าหลวงพ่อวางแก้วน้ำลงเนี่ย
ระหว่างแก้วน้ำกับผ้า อันไหนจะหนักกว่ากัน
เห็นมั้ยแก้วน้ำมันหนักของมัน ไม่เกี่ยวกับเรา....ใช่มั้ย
ถ้าเรายึดผ้าไว้ เราก็หนักเพราะผ้า ขันธ์นี้เหมือนกันนะ
ขันธ์นี้เป็นของหนัก ขันธ์นี้เป็นภาระโดยตัวของมันเอง
เหมือนแก้วน้ำเนี่ย มันหนักโดยตัวของมันเองอยู่แล้ว
แต่ถ้าเราไม่ไปหยิบฉวยขึ้นมา มันไม่หนัก
ใจของพระอรหันต์ ใจที่ภาวนามาเต็มเปี่ยมแล้วนะ
มันไม่ยึดถืออะไร เพราะฉะนั้นมันไม่หนักเพราะอะไรอีกแล้ว
หมดภาระที่จะต้องแบกหาม เพราะฉะนั้นอย่าไปวาดภาพ
พระอรหันต์ เหมือนคนพิกลพิการนะ ต้องซึม เซื่องๆ ซึมๆ
ทำอะไรก็ไม่ได้นะ กระดุกกระดิกมาก ก็บอกมีตัณหานะ
อะไรอย่างนี้ มากไปนะอันนั้นมันคนพิการนะ
ดูพระอรหันต์สมัยพุทธกาลนะ บางองค์เจอท้องร่องกระโดดเลย
อย่างพระสารีบุตรเนี่ย ไม่มาย่องๆ เลยนะ กระโดดเลย

พวกเรานะพากเพียรนะ เจริญวิปัสสนา ได้เป็นพระโสดาบัน
ก็มีความสุขมากมาย ได้เป็นพระอรหันต์มีความสุขที่สุดเลย
มีความสุขแล้วก็พ้นกิเลส พ้นความปรุงแต่ง พ้นความเสียดแทง
พ้นภาระนะ มีความสุขเป็นอิสรภาพ

ทีนี้มาถึงวิธีการนะ มีวิธีการเริ่ม ก ไก่
ว่า ฮ นกฮูกไปแล้ว ต่อมาเริ่มที่ ก ไก่ ทำยังไงเราถึงจะสามารถ
เห็นความจริงของกายของใจว่าไม่ใช่ตัวเรา ในความเป็นจริงแล้ว
กายนี้ใจนี้ ไม่ใช่ตัวเรามาตั้งแต่ไหนแต่ไร เพราะฉะนั้น
การภาวนา การทำวิปัสสนากรรมฐานเนี่ย
ไม่ใช่การโปรแกรมจิต ให้เชื่อว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เรานะ
ไม่ใช่สะกดจิต ไม่ใช่โปรแกรมจิต
ความจริงไม่ใช่เรามาตั้งแต่แรกแล้ว แต่โง่ไปคิดว่าเป็นเราเอง
นี่แหละความโง่คือความไม่รู้ หรือ อวิชชานี่เองนะ
ถ้าวันใดหมดความโง่ คือ หมดอวิชชา รู้ความจริง
เค้าเรียกว่ามีวิชชานะ ก็ไม่เห็นว่ามีเรา ถ้ามีวิชชาแจ่มแจ้งจริงๆ
ก็รู้เลยไอ้สิ่งที่นึกว่าเป็นเรานั้น คือ ขันธ์๕ นั้น
เป็นแต่ตัวทุกข์ล้วนๆ ถ้าเห็นขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ล้วนๆนะ
เนี่ยเรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ ละสมุทัย
คือหมดความอยาก ที่จะให้กายให้ใจเป็นสุข
หมดความอยาก จะให้กายให้ใจพ้นทุกข์
เพราะรู้ว่ามันพ้นทุกข์ไปไม่ได้ เพราะรู้ว่ามันสุขไปไม่ได้
มันเป็นตัวทุกข์ มันจะพ้นจากทุกข์ได้ยังไง
เหมือนไฟเป็นของร้อน ทำยังไงมันก็ร้อน
ขันธ์นั้นเป็นตัวทุกข์ ทำยังไงก็เป็นตัวทุกข์
ไม่ใช่ทำขันธ์ให้เป็นตัวสุขขึ้นมา
แต่ใจที่ฉลาด ใจที่รู้ความจริงแล้ว มันไม่ยึดถือขันธ์ 
เหมือนอย่างแก้วน้ำเป็นของหนัก ถ้าใจไม่ยึดมันก็ไม่ทุกข์
ไม่ใช่ว่าเราจะมาโปรแกรมจิตให้เชื่อว่าขันธ์เป็นทุกข์
ความจริงนั้นมันเป็นทุกข์อยู่แล้ว เราจะมาดูความจริงให้ได้
อะไรที่ปิดบังความจริงไว้ การที่เราจะรู้กายรู้ใจ
ของตัวเองให้ได้นั้นน่ะ ขั้นแรกเลยต้องรู้กายรู้ใจ
อะไรทำให้เราลืมกายลืมใจทั้งวัน ......เราขาดสติ
รู้สึกมั้ย เราไปหลงคิดทั้งวัน พอตื่นนอนขึ้นมา
เราก็คิดเรื่องโน้นคิดเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ ขณะที่เราหลง
ไปอยู่ในโลกของความคิด เรียกว่าเราหลงอยู่กับสมมุติบัญญัติ
สมมุติบัญญัตินะปิดบังปรมัตถ์คือ ปิดบังความจริง
ปิดบังตัวรูปตัวนาม ขณะใดใจลอย ขณะนั้นมีร่างกาย
ก็เหมือนไม่มี ขณะใดใจลอย ขณะนั้นมีจิตใจอยู่ก็ลืมมันไป
มัวแต่สนใจคนอื่น สนใจสิ่งอื่น สนใจสิ่งภายนอก
ลืมที่จะรู้สึกกายลืมที่จะรู้สึกใจ การที่ลืมรู้สึกกายรู้สึกใจนี่แหละ
เรียกว่าขาดสติ

งั้นเครื่องมือตัวแรกในการทำวิปัสสนานี่ เรียกว่า สติ
สตินั้นสำคัญมาก จิตที่เป็นกุศลทั้งหลาย
จะต้องประกอบด้วยสติเสมอ สติมีหลายระดับ
สติทั่วๆไปอย่าง อยากฟังธรรมะ จิตเป็นกุศลนะ จิตดวงนี้มีสติ
แต่สติอันนี้ไม่ใช่สติปัฏฐาน ไม่ใช่สติที่จะทำให้เราพ้นโลกได้
มันเป็นแค่สติธรรมดา อย่างอยากทำบุญ อยากใส่บาตร
อยากทำสังคมสงเคราะห์ อยากจัดให้คนมาฟังเทศน์เยอะๆ
อะไรอย่างนี้มีสตินะ แต่ว่าเป็นสติอย่างโลก จะเกื้อกูลให้เรา
อยู่ในโลกอย่างมีความสุขเท่านั้นเอง แต่สติข้ามโลกเนี่ย
ต้องสติเรียนรู้กาย สติเรียนรู้ใจ สติรู้กาย สติรู้ใจ เรียกว่า
สติปัฏฐาน ถ้าเมื่อไหร่ลืมกาย เมื่อไหร่ลืมใจ
เค้าเรียกว่าขาดสติ (ปัฎฐาน) มีสติธรรมดาได้
แต่ว่าขาดสติปัฏฐาน ถ้าไม่ได้ทำสติปัฏฐานเนี่ย ไม่สามารถ
บรรลุมรรคผลนิพพานได้นะ เพราะทางสายเอก ทางสายเดียว
เพื่อความบริสุทธิ์หลุดพ้นเนี่ย คือการเจริญสติปัฏฐาน
มีสติรู้กาย มีสติรู้ใจบ่อยๆ นี่ตัวที่หนึ่งนะ เราต้องมีสตินะ

ตัวที่สอง เราต้องมีสัมมาสมาธิคือ มีใจที่ตั้งมั่น สัมมาสมาธิเนี่ย
เป็นตัวที่อาภัพมาก คนไม่ค่อยรู้จัก เพราะเราไม่รู้จักสัมมาสมาธินี่เอง
เราภาวนากันแทบล้มแทบตาย เราจึงไม่บรรลุมรรคผลจริงๆ
อย่างบางคนภาวนาไปนะ เกิดอาการวูบๆวาบๆ ลืมเนื้อลืมตัวอะไร
ก็บอกบรรลุมรรคผลแล้ว ไม่ใช่นะ ไม่ใช่มรรคผลอย่างนั้น
กลับมาไม่นานกิเลสก็กลับมาอีกนะ มรรคผลถ้าเกิดจริงๆแล้ว
ล้างกิเลสไปแล้ว จะไม่กลับอีกเลย ขาดสูญไปเลย
งั้นถ้าเราภาวนาวูบๆ วาบๆ ไปแล้ว เราบอกว่าบรรลุแล้วๆ
ไม่ใช่ของจริงนะ ของจริงมันต้องล้างกิเลสได้จริง
ทำไมพวกเรามีสตินะ เราจะหายใจออกเราก็รู้สึก หายใจเข้าเราก็รู้สึก
ท้องพองก็รู้ ท้องยุบก็รู้ เดินจงกรมยกเท้าย่างเท้านะ รู้หมดเลย
แต่ทำไมมันขาดอะไร ทำให้ไม่เกิดมรรคผลที่แท้จริง
กลายเป็นเกิดสมถะนะ อย่างเรารู้ลมหายใจนะ
จิตสงบ จิตสว่าง จิตสบายขึ้นมานะ หรือสว่างจ้าขึ้นมา
อยากรู้อยากเห็นอะไรนะส่งจิตไปดู รู้เห็นทั่วโลกธาตุ
นี่ออกไปรู้ข้างนอกไม่กลับมารู้กายรู้ใจตัวเอง ใช้ไม่ได้จริง
หรือเดินจงกรมอยู่แล้วตัวลอย ตัวเบา บางคนลอยจริงๆนะ
ลอยจริงๆ ลอยจากพื้นเลยนะ บางคนตัวเบาๆ บางคนตัวพองๆ
ขนลุกขนชัน สิ่งเหล่านี้เป็นปีตินะ ปีตินี้มันมีเกิดจากสมาธินะ
เกิดจากการที่เราไปเพ่งอารมณ์อันเดียวอย่างต่อเนื่อง
อย่างเรารู้ลมหายใจ จิตเราแนบอยู่กับลม รู้ท้องพองยุบ
จิตเราไปแนบอยู่ที่ท้อง ไปเดินจงกรมจิตไปแนบอยู่ที่เท้า
บางคนเลยเท้าออกไปอีก บางคนจิตไปอยู่ที่พื้น เดินจงกรมแล้ว
รู้ว่าพื้นเย็น พื้นร้อน พื้นอ่อน พื้นแข็ง อันนี้ลืมเป้าหมาย
ลืมวัตถุประสงค์ของการปฎิบัตละ เราปฎิบัติเพื่อละการเห็นผิด
ว่ากายกับใจเป็นเรา กลับไปเรียนเรื่องพื้น พื้นไม่เป็นเราอยู่แล้ว
มีใครรู้สึกพื้นเป็นตัวเรา มีมั้ย ก็ไม่มีหรอกนะนอกจากเพี้ยนจริงๆ
งั้นอย่าให้เกินกายเกินใจออกไปนะ คอยรู้สึกกาย รู้สึกใจ รู้สึกยังไง
รู้สึกตามความเป็นจริงนะ

หลักของวิปัสนากรรมฐานไม่ยากหรอก ให้มีสติรู้กายรู้ใจ
ตามความเป็นจริงเท่านี้เอง ให้มีสติรู้กายรู้ใจ ตามความเป็นจริงนะ
มีสติ ตัวนี้บอกแล้วต้องเป็นสติที่รู้กายรู้ใจ สติแปลว่าอะไร
สติแปลว่าความระลึกได้ พวกเราอย่าแปลสติว่ากำหนดนะ
กำหนดมันมาจากภาษาเขมร แผลงมาจากคำว่ากดเอาไว้
กดเอาไว้ ข่มเอาไว้ บังคับเอาไว้ ควบคุมเอาไว้
หน้าที่ของเราคือระลึกรู้ ทำยังไงสติถึงจะเกิด สติเกิดเพราะถิรสัญญา
ถิรสัญญา คือการที่จิตจำสภาวะได้แม่น ถ้าจิตจำสภาวะได้แม่น
พอสภาวะที่จิตจำได้แล้วเกิดขึ้นนะ สติคือความระลึกได้
ก็จะระลึกขึ้นมาเองโดยไม่ได้เจตนาระลึก
เราต้องพัฒนาตัวที่หนึ่งนะ มีสติ เพื่อว่าเราจะได้มีสติรู้กายรู้ใจ
ตามความเป็นจริง อันนี้คือ วิปัสสนา
ความเป็นจริงของกายของใจคือ ไตรลักษณ์ มีสติค่อยๆฝึก หัดรู้สภาวะ
ไปทำกรรมฐานอะไรซักอย่างหนึ่งก็ได้แล้วแต่จริตนิสัยนะ
อย่างทางยุวพุทธฯ ชอบดูพองยุบ ใช้พองยุบนี่แหละมาพัฒนาให้เกิดสติ
ทำได้มั้ย ทำได้ แต่ถ้ามัวแต่เอาจิตไปเพ่งอยู่ที่ท้อง ท้องพองท้องยุบ
จะได้สมถะนะ ได้จิตสงบเฉยๆ ไม่มีสติที่แท้จริงที่จะมาระลึกรู้
มันกลายเป็นการเพ่ง เมื่อไหร่เพ่งตัวอารมณ์นะ ภาษาแขกเรียกว่า
อารัมมณูปนิชฌาน อารัมมณู อารัมม ก็คืออารมณ์นั่นเอง
ถ้าไปเพ่งตัวอารมณ์เมื่อไหร่เมื่อนั้นทำสมถะ
ถ้าเป็นลักขณูปนิชฌานนะไปรู้ลักษณะ เพ่งลักษณะ
ถึงจะเป็นวิปัสสนานะ รู้ไตรลักษณ์นะ ถึงเป็นวิปัสสนา
เราต้องมีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ไม่ใช่เพ่งกายเพ่งใจ 


เบื้องต้นทำกรรมฐานซักอันนึง ใครเคยพุทโธ ก็หัดพุทโธไป
ใครเคยรู้ลมหายใจก็รู้ไปนะ ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูไป ไม่ผิดนะ
เหมือนกันหมดเลย ใช้ได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นชาวพุทธเรา
อย่าโง่ทะเลาะกันเองนะ อย่ามาเถียงกันว่าพุทโธดีหรือว่าหายใจดี
หรือว่าพองยุบดี มันดีด้วยกันนั่นแหละนะ จริตนิสัยคนแต่ละคน
ไม่เหมือนกัน เราจะมาบังคับทุกคนให้ทำกรรมฐานอย่างเดียวกันนะ
มันไม่ได้ผลหรอก กรรมฐานนั้นต้องทำให้พอเหมาะพอควร
กับแต่ละคน ทางใครทางมันนะ นี่หลวงพ่อเรียนจากหลวงปู่ดูลย์
หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อท่านก็สอนอย่างนึง สอนครูบาอาจารย์
องค์อื่นท่านก็สอนอีกอย่างนึง แต่ละคนไม่เหมือนกัน สอนฆราวาส
แต่ละคนๆ ก็สอนไม่เหมือนกัน เพราะอะไร เพราะท่านสอนให้ตรง
กับจริตนิสัยของแต่ละคน อย่างหลวงพ่อทำสมถะมาตั้งแต่เด็ก
มันจะมีตัวผู้รู้อยู่นะ บางท่านไม่มีตัวผู้รู้ ไม่ได้เคยฝึกสมถะนะ
แต่ละคนก็ฝึกไม่เหมือนกัน แต่ท่านจะสอนต่อยอดให้ อย่างหลวงพ่อ
เคยทำสายสมถะนะ หายใจเข้า “พุท” ออก “โธ” อันนี้สมถะ
จนจิตสงบนะ จิตสงบแล้วเราไม่รู้จะทำอะไรต่อ
หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อบอกว่า ให้พุทโธไปนะ จนจิตมัน
วูบรวมลงไป แล้วมีสติตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตไปเลย
บางคนไม่ต้องทำให้จิตรวมก่อน ตามรู้ไปเลย แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก
งั้นพวกเราอย่าไปปรามาสซึ่งกันและกันนะ ว่าสำนักไหนดีกว่าสำนักไหน
อย่างทุกวันนี้การดูจิตบูม จะมาบอกว่าดูจิตนี้ดีกว่าดูกาย นี่โง่ละ
มันเหมาะกับแต่ละคนๆต่างหากล่ะ

ถ้ากรรมฐานชนิดเดียว ชนิดใด ชนิดหนึ่ง สามารถใช้ได้กับทุกคน
พระพุทธเจ้าต้องสอนไว้แล้วล่ะ นี่ท่านไม่ได้สอนเลย
ท่านสอนกรรมฐานเอาไว้ เยอะแยะไปหมดเลย เพราะจริตนิสัยคน
ไม่เหมือนกัน เราต้องใจกว้างนะ ยอมรับ เรียนรู้ความแตกต่าง
ความแตกต่างในการปฏิบัติของแต่ละคนเนี่ย 

อย่าให้นำไปสู่ความแตกแยก อันนั้นโง่ที่สุดเลย
ชาวพุทธมีหน้าที่ต้องผนึกกำลังกัน ต่อสู้อะไร ต่อสู้กับกิเลสนะ
กิเลสตัณหาน่ะ ครองใจของเราอยู่ตลอดเวลา แล้วมันครองโลกด้วย
งั้นเราต้องรู้นะว่าเรามีเป้าหมายอันเดียวกันนะ คือพ้นทุกข์ของตัวเอง
และช่วยคนอื่นด้วย พระพุทธเจ้าถึงบอกว่า ให้ทำประโยชน์ตน
ประโยชน์ผู้อื่น ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท
ถ้าจะทำประโยชน์คนอื่นอย่างเดียว ไม่ทำของตัวเอง
ก็เรียกว่าประมาทนะ ทำของตัวเองอย่างเดียว
ไม่สนใจคนอื่นก็ใจแคบไปหน่อย งั้นเราก็ทำหน้าที่ของเรา

เบื้องต้นพวกเราทำกรรมฐานที่เราคุ้นเคย ใครเคยพุทโธ
ก็พุทโธ ใครเคยหายใจก็หายใจ ใครเคยดูท้องพองยุบก็ดูไป
ใครเคยขยับมืออย่างหลวงพ่อเทียน ก็ขยับไป
ใครเคยรู้อิริยาบท ๔ ก็รู้ไป ยืน เดิน นั่ง นอน
ใครเคยดูเวทนาอย่างสายโคเอ็นก้า ท่านโคเอ็นก้าสอนทำสมาธิ
แล้วมาดูเวทนาก็ดูเวทนาได้
ใครเคยดูจิต บางคนปฏิบัติด้วยการดูจิตเข้าไปตรงๆ
ตามรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิต ก็ใช้ได้เหมือนกัน
ถ้าเห็นว่าเดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็โกรธ เดี๋ยวจิตก็หลง
เดี๋ยวจิตฟุ้งซ่าน เดี๋ยวจิตหดหู่

เราเบื้องต้นทำกรรมฐานซักอันนึงนะ ยกตัวอย่างเลย สมมุติ
เราดูท้องพองยุบ วิธีดูท้องพองยุบที่ถูกเนี่ยไม่ใช่เพ่งท้อง
ไม่ได้กำหนดไปเรื่อยๆ นะ ว่าพองอย่างนั้นยุบอย่างนี้
นั่นเป็นสมถะกรรมฐาน ถ้าเมื่อไหร่ยังเจือด้วยการคิด
เมื่อนั้นไม่ขึ้นวิปัสสนานะ วิปัสสนาจริงๆ ต้องเลยขั้นการคิดไป
การคิดเนี่ยให้ปัญญาเราได้แค่สัมมสนญาณ
สัมมสนญาณยังไม่ขึ้นอุทยัพยญาณ
อุทยัพยญาณ คือการเห็นความเกิดดับของรูปของนาม
ถึงจะเป็นวิปัสสนา ต้องเห็นสภาวะที่เกิดดับ ไม่ใช่คิดเอาว่า
มันเกิดดับนะ สมมุติเราเห็นรูปมันพองเห็นรูปมันยุบ
ถอนความรู้สึกว่า มันเป็นท้องของเราพอง ท้องของเรายุบนะ
รู้สึกไปเลย รูปมันแค่พอง รูปมันแค่ยุบนะ ดูมันไปอย่างนี้
ใจเป็นคนดู ต้องมีใจเป็นคนดูรูปนะ การปฏิบัติเนี่ย
การจะเจริญวิปัสสนานะ เบื้องต้นที่สุดเลยคือ
นามรูปปริจเฉทญาณ เคยได้ยินใช่มั้ย
เรียนยุวพุทธฯ น่าจะเคยได้ยินนะ นามรูปปริจเฉทญาณ
นามรูปปริจเฉทญาณไม่ใช่แค่เรียนว่า รูปพองก็อันนึง
รูปยุบก็อันนึง รูปยกก็อันนึง รูปย่างก็อันนึง
อันนั้นมันแยกรูปกับรูปไม่ใช่แยกรูปกับนามนะ
งั้นเราต้องหัดแยกรูปกับนามให้ได้ก่อน
เห็นร่างกายมันพอง เห็นร่างกายมันยุบ ใครเป็นคนเห็น
จิตเป็นคนเห็น เราค่อยๆ ฝึกไปนะ คนไหนรู้ลมหายใจไป
ก็รู้ลมหายใจไป เห็นร่างกายหายใจออก เห็นร่างกายหายใจเข้า
ใครเป็นคนเห็น จิตเป็นคนเห็นนะ บางคนดูจิต จิตมันโลภ
จิตมันโกรธ จิตมันหลง ใครเป็นคนเห็น จิตมันเป็นคนเห็น
ว่ามันมีโลภ มีโกรธ มีหลงขึ้นมา
นี่เราค่อยๆ ฝึกนะ ฝึกค่อยๆ แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา
ตัวเราก็คือไอ้ก้อนนี้นะ ค่อยๆ แยกออกมา แยกเบื้องต้นเลย
ก็แยกเป็นสองอัน รูปกับนาม เห็นรูปที่พอง รูปที่ยุบอยู่
รูปที่หายใจอยู่ รูปที่ยืน เดิน นั่ง นอน อยู่ รูปที่หยุดนิ่ง
รูปที่เคลื่อนไหว เป็นสักแต่ว่ารูปนะ จิตเป็นคนรู้คนดู
จิตแยกออกมาอยู่ต่างหาก ตอนนี้คนที่เรียนกับหลวงพ่อ
แล้วจิตที่แยกออกมาเป็นผู้รู้ ผู้ดู เห็นร่างกายอยู่ต่างหากเนี่ย
มีนับไม่ถ้วนล่ะ ใช้เวลาไม่นานหรอก แต่ถ้าเราทำผิดนะ
เราเพ่งเอาๆ ดูลมก็เพ่งลม ดูท้องก็เพ่งท้อง
ให้จิตแนบลงไปในลม จิตแนบลงไปในท้องนะ
กี่ปีกี่ชาติมันก็อยู่แค่นั้นนะ ต้องค่อยๆ ฝึกนะ ทำตัวเป็นผู้ดูให้ได้

ศาสนาพุทธสอนให้เราทำวิปัสสนา
วิปัสสนาคือ การเห็นความจริงอย่างยอดเยี่ยม อย่างวิเศษ
คือเห็นจนเป็นไตรลักษณ์ ให้เรารู้ เราเห็น
ไม่ใช่ให้เราเข้าไปแทรกแซงบังคับนะ งั้นเราคอยดูกาย
เห็นกายมันทำงาน ใจมันเป็นคนดูนะ เห็นเวทนาเกิดขึ้นในกาย
เวทนาก็สักว่าสิ่งที่ถูกรู้ถูกดู เป็นสิ่งที่ผ่านมาผ่านไป จิตเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ
ความสุข ความทุกข์ เกิดขึ้นนะในจิต จิตก็เป็นผู้ดู
เห็นความสุขเกิดขึ้นในจิตแล้วก็ผ่านไป เห็นความทุกข์เกิดขึ้น
แล้วก็ผ่านไป นี่ฝึกอย่างนี้ไปเรื่อยๆ กิเลสเกิดขึ้นมานะ ความโลภ
ความโกรธ ความหลง ความฟุ้งซ่าน ความหดหู่ ความลังเลสงสัย
ความอิจฉา ความกังวล ความกลัว กิเลสนานาชนิดเกิดขึ้นในใจเรา
ก็แค่รู้ไป เราจะเห็นกิเลสผ่านมาผ่านไป เหมือนคนเดินผ่านหน้าบ้าน
เราหัดดูไป ดูอยู่ในกาย ดูอยู่ในใจ เบื้องต้นเอาอันเดียวก่อน
แต่เบื้องปลายมันจะรู้ทั้งหมด ร่างกายเคลื่อนไหวมันจะรู้สึก
จิตเคลื่อนไหวมันจะรู้สึก มันจะรู้ได้ทั้งหมด แต่เบื้องต้น
เอาอันเดียวก่อนนะ อย่างหลวงพ่อ แต่ก่อนหลวงพ่อหายใจ
หายใจไปแล้วก็พุทโธบ้าง ไม่พุทโธบ้างนะ เห็นร่างกายหายใจ
วันที่ไปเรียนจากหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้มาดูจิตตัวเองนะ
เราค่อยๆดูไปเรื่อย นั่งรถไฟกลับมาจากสุรินทร์
เอ... จิตมันต้องอยู่ในร่างกาย เราจะคอยรู้อยู่ในร่างกายเนี่ย
รู้มาถึงกรุงเทพฯนะ ใกล้ๆจะถึงกรุงเทพฯล่ะ
มันเห็นร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งนะ จิตเป็นคนดูร่างกายที่หายใจอยู่
อย่างเราพยักหน้าเนี่ยเห็นมั้ย ร่างกายมันเคลื่อนไหว
จิตเป็นคนรู้ว่ามันพยักหน้า เราจะเห็นเลยว่า ร่างกายมัน
แยกอยู่ต่างหาก ความสุขความทุกข์มันก็แยกไปอยู่ต่างหาก
กิเลสหรือกุศลทั้งหลาย มันก็แยกออกไปอยู่ต่างหาก
จิตมันอยู่ต่างหากนะ เราค่อยๆ ฝึกไป มีสติตามรู้มันไปเรื่อย
พอเราแยกขันธ์ได้แล้ว กายส่วนกาย เวทนาส่วนเวทนา
สังขารที่เป็นกุศล อกุศล ส่วนของสังขาร
จิตที่เป็นคนรู้ ส่วนของจิต พอแยกออกไปได้แล้ว
เราจะดู สภาวะธรรมแต่ละตัวๆ จะไม่มีตัวเรา ร่างกายเนี่ย
ถ้ามันอยู่ต่างหาก จิตมันไม่เข้าไปสำคัญมั่นหมาย
ร่างกายมันก็ไม่เคยบอกว่ามันเป็นตัวเรา มีใครเคยรู้สึกมือ
มือของใครบอกว่า นี่มือของฉันบ้างมีมั้ย มือของใครบอกบ้างว่า
นี่คือมือของฉัน มันไม่เคยบอกเลยนะ แต่เราบอกเอาเอง
เราคิดเอาเอง เราสำคัญมั่นหมายเอาเอง ถ้าเราแยกกายออกไป
จิตเป็นคนดูอยู่ เราจะเห็นเลย ร่างกายที่เคลื่อนไหวอยู่
มันไม่เป็นตัวเรามาตั้งแต่แรกแล้ว เพราะอะไร
เพราะจิตไม่ไปหลงอยู่ในโลกของความคิด ไม่ได้คิดหนี่ แค่รู้สึกๆ
รู้สึกถึงร่างกาย มันก็เห็นร่างกายไม่ใช่เรา รู้สึกถึงเวทนา
ความสุข ความทุกข์ ทางกายทางใจ ก็จะเห็นว่าเวทนา
ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ทางกายทางใจไม่ใช่เรา
เป็นแค่สภาวธรรมที่แปลกปลอมเข้ามา หรือดูจิตดูใจนะ
จิตเราก็จะเห็นนะ จิตมีราคะก็อันนึงนะ ราคะไม่ใช่จิตนะ
ราคะเป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามาในจิต มาแล้วก็ผ่านไป
ก็กลายเป็นจิตไม่มีราคะ โทสะก็มา โทสะก็ไม่ใช่จิตนะ
เป็นสิ่งที่แปลกปลอมเข้ามา พวกเราค่อยๆ ฝึกไปนะ
อย่างใจมันโกรธขึ้นมาก็รู้ทันใจที่โกรธเนี่ย ดูไปเรื่อย
เราจะเห็นเลยว่าความโกรธไม่ใช่ใจหรอก ความโกรธไม่ใช่จิตหรอก
จิตเป็นคนรู้ว่าโกรธ จิตไม่เคยโกรธเลยนะ

นี่เราค่อยๆ ฝึกนะ แยกสิ่งที่เรียกว่าตัวเรา ออกไปเป็นส่วนย่อยๆ
ศาสนาพุทธเนี่ย เป็นศาสนาที่ประหลาด มีวิธีการเรียนที่เรียกว่า
วิภัชวิธี ซึ่งคนอื่นคงไม่ค่อยจะมีหรอก ไม่เคยเห็น
วิภัช แปลว่า แยก เหมือนเราอยากเห็นความจริงนะว่า
ห้องนี้ไม่มีจริงนะ เราต้องมารื้อดู เห็นมั้ยมันเป็นหลังคา
มันเป็นหลอดไฟ มันเป็นปาร์เก้เนี่ย พอถอดออกมาเป็นชิ้นๆ
ปาร์เก้ก็ไม่ใช่ห้องนี้ หลอดไฟก็ไม่ใช่ห้องนี้ เหมือนมีรถยนต์หนึ่งคัน
เราว่ามีรถยนต์จริงๆ จับรถยนต์มาถอดเป็นชิ้นๆ เราจะพบว่า
มันไม่มีรถยนต์หรอก มันเป็นอะไหล่เล็กๆ จำนวนมากมารวมกัน
สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี้เหมือนกันนะ ถ้าเราถอดออกด้วยสติปัญญา
เราก็เห็น ร่างกายก็อยู่ส่วนหนึ่ง เวทนาก็อยู่ส่วนหนึ่งนะ
สังขารที่เป็นกุศล อกุศลอยู่ส่วนหนึ่ง จิตก็อยู่ส่วนหนึ่ง
พอเห็นอย่างนี้ได้ เราจะเห็นเลยแต่ละส่วนๆไม่ใช่ตัวเราหรอกนะ
ที่มันเป็นตัวเราขึ้นมา เพราะมันมารวมกันเข้า เหมือนรถยนต์
มันเป็นรถยนต์นะ เพราะอะไหล่มันมารวมกันอยู่นะ
สิ่งที่เรียกว่าตัวเรานี่ มันก็เกิดจากขันธ์ทั้งหลายมันมารวมตัวกันเข้า
งั้นเราจะเรียนจนค่อยๆ แยกขันธ์ออกไป ร่างกายอยู่ส่วนหนึ่งนะ
ฟังแล้วเหมือนยาก จริงๆไม่ยากหรอก
อย่างเดินไปนะ หรือหายใจไปอย่างนี้ เห็นร่างกายมันหายใจ
ใจเป็นคนดู ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ไม่นานก็เห็นนะ
ร่างกายที่หายใจอยู่ ร่างกายที่ยืน เดิน นั่ง นอนอยู่
ไม่ใช่เราหรอกนะ ค่อยๆ ฝึกอย่างนี้นะ ปัญญามันเกิด
หรือดูจิตดูใจเราจะเห็นเลย จิตที่โลภเกิดแล้วก็หายไป
จิตที่โกรธเกิดแล้วก็หาย จิตทุกชนิดเกิดแล้วก็หายไป
ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไป จิตจริงๆ ก็เป็นแค่ธรรมชาติรู้
โลภ โกรธ หลง เป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป มันมีเหตุมันก็เกิด
หมดเหตุมันก็ดับ บังคับมันไม่ได้นะ จะเห็นอย่างนี้เรื่อยๆ
ตัวจิตเองก็เกิดดับ เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็จิตเป็นผู้คิด
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นผู้เพ่ง เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวก็เผลอไปนะ
ใครรู้จักเผลอบ้าง เผลอมีเยอะใช่มั้ย สัตว์โลกทั้งหลายเผลอ
ตลอดเวลานะ ส่วนนักปฏิบัติทั้งหลายเนี่ยเพ่งตลอดเวลานะ
คอยดูให้ดีเหอะ ถ้าเมื่อไรใจเรานิ่งๆ (หลวงพ่อทำหน้าเพ่งให้ดู)
นี่เพ่งเบาๆ ถ้าเพ่งดุเดือดขึ้นก็อย่างนี้(หลวงพ่อทำหน้าเพ่งให้ดูอีกครั้ง)
นี่เพ่งให้ลืมโลกไปเลยนะ เราคอยดูไป เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้คิด
เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้รู้ เดี๋ยวจิตก็เป็นผู้เพ่ง มันเกิดดับหมุนเวียน
เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่มีตัวเรา จิตที่เป็นผู้รู้ก็ไม่ใช่เรานะ
จิตที่เป็นผู้คิดก็ไม่ใช่เรา จิตที่เป็นผู้เพ่งก็ไม่ใช่เรา นี่เราตามดู

สรุปง่ายๆ ขั้นแรกทำกรรมฐานขึ้นซักอันนึงนะ เราก็เห็นแต่ร่างกาย
หายใจ ใจเป็นคนดู หรือเห็นความสุข ความทุกข์ผ่านมาผ่านไป
ใจเป็นคนดู เห็นกิเลสผ่านมาผ่านไป ใจเป็นคนดู ตัวใจเอง
เดี๋ยวก็เป็นผู้รู้ ผู้ดู เดี๋ยวก็เป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้หลง เนี่ยดูไปเรื่อย
แต่ละขันธ์ๆ แต่ละตัวๆ ล้วนแต่เกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้นเลยนะ
จิตที่โกรธอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย จิตที่โลภอยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย
จิตที่สุข จิตที่ทุกข์ อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย เนี่ยการที่เราตามดูขันธ์
แต่ละขันธ์เค้าทำงานของเค้าไป ดูสภาวะธรรมแต่ละตัวๆนะ
คล้ายๆ เราแยกอะไหล่รถยนต์ ที่ชื่อว่าตัวเรานี้ ออกมาเป็น
ชิ้นเล็กชิ้นน้อย แต่ละชิ้นไม่มีตัวเรา ตามรู้ตามดูต้องคิดมั้ยว่าไม่ใช่เรา
ไม่ต้องคิดนะ จะเห็นของจริงเลยไม่มีเราหรอก เพราะฉะนั้น
วิปัสสนาไม่ใช่การคิดเอานะ

สรุปง่ายๆ พูดหลายสรุปล่ะ หลวงพ่อต้องสรุปบ่อยเพราะ
เล่น ก ไก่ ยัน ฮ นกฮูกเนี่ย ถ้าไม่สรุปเป็นช่วงๆนะ ฟังแล้ว
ก็ลืมหมดล่ะนะ อันแรกเลยนะทำกรรมฐานขึ้นซักอันนึง
ดูกายทำงาน ดูใจทำงาน ดูเฉยๆ อย่าเข้าไปแทรกแซง
ตามรู้ตามดูไปด้วยใจที่เป็นกลาง อย่าไปเพ่ง อย่าไปจ้องไว้นะ
การดูเนี่ย โดยเฉพาะการดูจิตดูใจนะ อย่าเริ่มต้นด้วยความอยาก
หรือการปฏิบัติธรรม ก็อย่าเริ่มด้วยความอยาก พวกเราที่ปฏิบัติ
แล้วล้มเหลวไปไม่รอด เพราะเราเริ่มด้วยความอยากนะ เช่น
อยากเดินจงกรม ไม่เห็นว่าอยากนะ เดินแทบเป็นแทบตาย
เดินหลายชั่วโมง เดินเสร็จแล้วก็ภูมิใจ กูเก่งๆ กูทนกว่าคนอื่นนะ
นี่เดินแล้วกิเลสหนากว่าเก่าอีก แสดงว่าล้มเหลวล่ะนะ
หรือนั่งนะ นั่งโต้รุ่งได้แล้วก็ กูเก่งขึ้นมานะ นั่งโต้รุ่งแล้วนั่งทนๆไป
นั่งทรมานกาย นั่งทรมานใจ ทำอัตตกิลมถานุโยคไปเรื่อยๆนะ
ไม่ได้ประโยชน์อะไรหรอกได้แต่ทน ทนเสร็จแล้วก็กูเก่งขึ้นมาซะอีก
แทนที่จะเห็นว่าไม่มีกูนะ งั้นเราดูเล่นๆไป ดูกายเค้าทำงาน
ดูใจเค้าทำงาน อย่าเริ่มต้นด้วยความอยาก ยกตัวอย่างง่ายๆ อย่างเรา
อยากดูจิต พออยากดูจิตนะ เราจะคอยจ้อง ไหนตอนนี้จิตเป็นยังไง
จ้องๆๆๆ เที่ยวหาใหญ่นะ พอหาๆไปเจออะไรซักอย่าง ก็เพ่งเลย
คราวนี้เพ่ง งั้นอย่างเราจะดูจิตดูใจ หรือเราจะทำกรรมฐาน
อย่าเริ่มต้นด้วยความอยาก อย่าให้โลภะครอบนะ
กิเลสเนี่ยเป็นสหชาตปัจจัยของกรรม หมายถึงว่ามันเกิดร่วมกัน
เกิดพร้อมๆ กัน ตราบใดที่ยังมีการกระทำด้วยอำนาจของกิเลสนะ
กิเลสก็ยังอยู่ ยกตัวอย่าง อย่างเราอยากจะเดินจงกรม ใจมีความอยาก
ใจมีกิเลส เราก็ไปเดินๆๆ เดินด้วยใจที่อยากนะ ในขณะนั้นความอยาก
ก็ยังอยู่ ความอยากมันเกิดร่วมกันกับ การกระทำกรรมฐานอันนั้น
สติแท้ๆจะไม่เกิด เพราะสติจะไม่เกิดร่วมกับอกุศล
งั้นตลอดเวลาที่เราทำไป ก็ทรมานตัวเองไปเรื่อย
ทรมานไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควรหรอก คอยรู้สึกตัวนะรู้สึกตัว

ศัตรูหมายเลข ๑ ของผู้ปฏิบัติก็คือขาดสติ พอรู้สึกตัวแล้วก็
ดูกายเค้าทำงาน ดูใจเค้าทำงาน ดูความจริงของเขา
เราจะดูความจริงของเค้าได้ ถ้าใจเราตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู
ไม่ใช่ผู้คิดผู้นึกผู้ปรุงผู้แต่ง ใจจะตั้งมั่นขึ้นมาได้นะ ค่อยๆ ฝึกไป
เห็นร่างกายเคลื่อนไหวใจเป็นคนดูอย่างเนี้ยะ ใจก็จะตั้ง
เห็นร่างกายพองร่างกายยุบใจเป็นคนดูค่อยๆ ฝึกไป มันมีใจที่เป็น
คนดูขึ้นมานะ ฝึกอย่างนี้เรื่อยๆ ต่อไปเราจะเห็นเลยสภาวะทั้งหลาย
ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับทั้งสิ้น
ไม่มีสภาวะใดๆเกิดแล้วไม่ดับ เวลาที่เราทำกรรมฐานเราไม่ได้ทำ
เพื่อเอาชนะขันธ์ ไม่ได้เอาชนะขันธ์นะ ยกตัวอย่างบางคนนั่ง
นั่งสมาธิปวดขา บอกจะนั่งเอาชนะเวทนา นั่งชนะเพื่ออะไร
เพื่อกูจะได้เก่งใช่มั้ย เราไม่ได้เรียนกรรมฐานเพื่อเอาชนะขันธ์นะ
เราไม่ได้เรียนกรรมฐานเพื่อจะบังคับไม่ให้จิตมีกิเลส
ไม่ใช่เพื่อสั่งให้จิตเกิดกุศล แต่เราจะเรียนกรรมฐานเพื่อให้เห็น
ความจริงของกายของใจ เราไม่ได้เรียนเพื่อบังคับกายบังคับใจ
นั่งกรรมฐานพอนั่งนานๆ มันเมื่อย เราก็ดูไปหัดดูไปนะ เห็นร่างกาย
อยู่ส่วนนึง ความเมื่อยอยู่ส่วนนึง จิตที่เป็นคนรู้ว่าเมื่อยอยู่อีกส่วนนึง
ค่อยๆดูไปแยกขันธ์ไป เดินจงกรมก็เห็นร่างกายมันเดินไปจิตเป็นคนดูไป
เดินไปเดินมา ดูไปดูมา ก็ลืมกายหนีไปคิดนะ รู้ทันว่าจิตหนีไปคิด


คอยรู้กายคอยรู้ใจบ่อยๆนะ สติมันจะเกิด แล้วใจมันจะตั้งมั่น
จะรู้ตอนที่ใจไหลไป ใจของเราไหลทั้งวัน
ใครรู้จักใจที่หลงไปทางตาบ้าง ไหลไปทางตาใครเคยเห็นมั้ยนะ
ถ้าไม่เคยเห็น เอ้าช่วยกันดู ดูคนนี้ก็แล้วกัน เนี่ยแกว่งกล้อง
ทุกคนช่วยกันจ้องคนนี้นะ ดูซิหล่อแค่ไหน คอยดูเค้าไว้นะ
เค้ากำลังใจสั่นนะดูเค้านะ สังเกตมั้ย ขณะที่เราจดจ่อไปดูเค้าเนี่ย
เราลืมตัวเราเองละนะ เนี่ยเราหลงไปแล้วนะ จิตเราหลงไป
เวลานั่งฟังหลวงพ่อสังเกตมั้ย จิตไหลไปคิดเป็นช่วงๆ
บางทีไปคิดเรื่องอื่น บางคนหนีข้ามไปฟิวเจอร์ปาร์คอะไรโน่น
เนี่ยให้เราคอยรู้ทันนะ จิตมันไหลไป ถ้าเมื่อไหร่เรารู้ทันว่า
จิตไหลไป จิตจะตั้งมั่น แต่จะตั้งชั่วขณะไม่เหมือนคนทรงฌาน
คนที่ทำฌานมา ออกจากสมาธิแล้ว จิตจะตั้งมั่นอยู่ได้อีกนานนะ
แต่เราไม่ได้ตั้งมั่นแบบนั้น เราก็ดูไปเป็นขณะๆ
ถ้ารู้ทันจิตที่ไม่ตั้งมั่นนะ จิตมันจะตั้งมั่นขึ้นมาเอง

นี่แหละหลักของการทำวิปัสสนา มีสติไม่ใช่ขาดสติลืมกายลืมใจ
ให้มีสติ มีสติแล้วก็แค่รู้กายรู้ใจ ไม่ใช่เพ่งกายเพ่งใจนะ
ไม่คิดเรื่องกายเรื่องใจ ไม่เพ่งกายเพ่งใจ รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง
ความจริงของกายของใจคือไตรลักษณ์
เราจะเห็นกายเห็นใจเป็นไตรลักษณ์เรียกว่ามีปัญญา ปัญญาคือ
การเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของกายของใจ ปัญญาจะเกิดได้
จิตต้องตั้งมั่น เราค่อยๆ ฝึกนะ เครื่องมือสำคัญมันมีสองตัว
อันหนึ่ง มีสติ วิธีให้เกิดสติก็คือหัดรู้สภาวะไปเรื่อย จิตโลภก็รู้
จิตโกรธก็รู้ จิตหลงรู้ ท้องพองก็รู้ ท้องยุบก็รู้ รู้สึกตัวไปเรื่อยรู้สึกๆนะ
พอมีสติแล้วเนี่ย อย่าไปเพ่ง ไม่ใช่ไปเพ่งท้อง จนจิตนิ่ง เพ่งมือจนจิตนิ่ง
บางคนจะหยิบแก้วน้ำนะ เพ่งใส่มือไปด้วย เพ่งๆๆนี่โลภะมันแทรก
แล้วนะ อยากดูเห็นมะ อยากปฏิบัติเนี่ยมันใช้ไม่ได้แต่แรกนะ 

เนี่ยมันเพ่ง เพ่งมากๆ เป็นพรหมลูกฟักนะ พอเพ่งร่างกายถึงขีดสุดเนี่ย
ได้ฌานที่ ๔ ฌานที่ ๔ เนี่ย ถ้าไม่สนใจความรู้สึกนะ จิตดับลงไป
เป็นพรหมลูกฟักนะ อสัญญสัตตาภูมิ เป็นสัตว์ประหลาดมี ๑ ขันธ์
พวกเราเป็นสัตว์ ๕ ขันธ์นะ ขันธ์ก็เยอะดีแล้ว ยังทำซะเหลือขันธ์เดียว
ใช้ไม่ได้นะ ค่อยๆ ฝึกเอานะ อย่าไปเพ่ง มีสติรู้กายรู้ใจอย่างที่เค้าเป็น
เรื่อยไป รู้ไปอย่างสบายๆ ดูเค้าทำงานไปอย่างสบายๆ

หลวงพ่อเล่าที่ตัวเองภาวนาให้ฟังก็ได้ หลวงพ่อภาวนามาตั้งแต่เด็ก
ตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ใครยังไม่เกิดมีมั้ย ๒๕๐๒ โอ้ส่วนใหญ่ยังไม่เกิด
แสดงว่าเราชราละ ภาวนาตั้งแต่ปี ๒๕๐๒ ไปเรียนจากท่านพ่อลี
วัดอโศการาม ท่านพ่อลีเป็นพระที่เก่งมากนะ ลูกศิษย์ท่านอาจารย์มั่น
แต่เราเด็กอ่ะ ไปเรียนท่านก็บอกให้หายใจเข้า“พุท”หายใจออก“โธ”นะ
เราก็ฝึกอย่างนี้ทุกวันเลย ฝึกทำแต่อย่างนี้ เราไม่รู้ว่าทำไปเรื่อยๆ
แล้วเมื่อไหร่มันจะได้มรรคได้ผล แต่คิดว่าทำไปเรื่อยๆ
แล้ววันหนึ่งจะได้ ที่จริงท่านสอนสมถะสอนพื้นฐานให้
ทำใจสงบใจตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดู แต่ถัดจากใจที่เป็นผู้รู้ผู้ดู
จะทำอย่างไรต่อทำไม่เป็นล่ะ เรียกว่าไม่มีอาจารย์ล่ะ
เรียนกับท่านได้ปีสองปีท่านก็สิ้น เราไม่มีอาจารย์เลย
ตอนนั้นครูบาอาจารย์อยู่อีสาน เราเด็กๆ ไม่มีปัญญาไปเรียนหรอก
จนอายุ ๒๙ อ่ะนะ ปี ๒๕๒๕ ล่ะอายุ ๒๙ ไปเจอหลวงปู่ดูลย์เข้า
หลวงปู่ดูลย์ท่านก็สอนนะให้ดูต่อไปเลย ดูจิตต่อไปเลย
เพราะเราเคยทำความสงบนะ จิตมันตั้งมั่นมาล่ะ มาให้ดูความ
เคลื่อนไหว ความเปลี่ยนแปลงดูจิตต่อไปเลย หลวงปู่ดูลย์ไม่เคย
ทำลายกรรมฐานเดิมของเรานะ ท่านต่อยอดให้ ถ้ากรรมฐานเดิม
ของเราไม่ผิด อย่างพวกเราเคยฝึกพองยุบ ก็ไม่ผิดนะ
แต่ว่าต้องต่อยอดให้เป็น ไม่ใช่พองยุบไปเรื่อยๆ แล้วก็เพ่งแต่ท้อง
จิตก็นิ่งบ้าง ลืมเนื้อลืมตัว บางคนหอบหิ้วกันไปหาหลวงพ่อนะ
มีพระก็มี โยมก็มีนะ เพ่งกันจนสติแตกแล้ว จนลืมเนื้อลืมตัว
มีพระองค์นึงไปนะน้ำลายไหลยืด ท่านไม่มีความรู้สึกตัวเลย
ทิ้งขันธ์ไปแล้ว โอ้ทิ้งขันธ์ พระอรหันต์อย่างนั้นอนาถเกินไป
ไม่มีใครเค้าเอาหรอกนะ ต้องรู้สึกตัวนะ นี่เราก็หัดดูนะ
พอใจสงบก็หัดตามรู้ตามดูมันเรื่อย
ตอนนั้นหลวงพ่อรับราชการอยู่ ข้าราชการชั้นดีตื่นนอนขึ้นมา
คิดว่าวันนี้วันจันทร์ จิตใจจะเป็นยังไงนึกออกมั้ย
สดชื่นจะได้ทำงานแล้วดีใจ๊ดีใจนะ (ผู้ฟังธรรมหัวเราะ)
หัวเราะเนี่ยแสดงว่ารู้ใจเรานะ ตื่นเช้าวันจันทร์
เฮ้อ วันจันทร์อีกแล้วเหรอ ถ้าตื่นเช้าวันอังคารขี้เกียจเยอะนะ
รู้สึกมั้ย ตื่นเช้าวันพุธ เซ้งเซ็งเรียกว่าวันพุธเนี่ยสุดเซ็งนะ
พอตื่นเช้าขึ้นมานึกได้ว่าวันนี้วันพฤหัส ใจเราจะเริ่มมีความสุขละ
พอถึงวันศุกร์นะ ตื่นเช้าขึ้นมาวันนี้วันศุกร์นิ ใจกระดี๊กระด๊านะ
ถ้า long weekend ด้วยนะ ยิ่งกระดี๊กระด๊าหนักกว่าเก่าอีก
เนี่ยตื่นนอนขึ้นมา แค่ใจคิดความรู้สึกก็เปลี่ยนนะ หลวงพ่อก็รู้ทัน
ใจที่เปลี่ยนแปลงเห็นมั้ย ใจมันคิดความรู้สึกก็เปลี่ยน ไปอาบน้ำ
สมมุติว่าอากาศหนาวๆ อาบน้ำในตุ่มเห็นมั้ย น้ำกระทบตัวเรา
ความจริงยังไม่ทันกระทบเลย ตาเราเห็นตุ่มน้ำในฤดูหนาวรู้สึกยังไง
สดชื่น? สดชื่นมั้ย หึหึ สยอง สยองรู้ว่าสยอง เห็นมั้ยตามมองเห็นรูป
ความรู้สึกเกิดที่ใจนี่ มีสติรู้ทันเห็นมั้ย ตอนแรกตอนตื่นนอนนี่ ใจมันคิด
คิดว่าวันนี้ๆๆ (คิดว่าเป็นวันไหนของสัปดาห์) ความรู้สึกก็เปลี่ยน
ก็มีสติรู้ทันที่ใจของเรา ตามองเห็นตุ่มน้ำสยอง ใจรู้ว่าสยองรู้ทันใจ
ตาเห็นรูป ความรู้สึกก็เปลี่ยนมีสติรู้ทัน น้ำมากระทบตัว ขันที่หนึ่งนี่
น่ากลัวที่สุด ใครเคยอาบน้ำในตุ่มหน้าหนาว มีมั้ย เด็กรุ่นนี้มันอาบ
แต่น้ำร้อนไม่ได้เรื่องอ่ะ ขาดรสชาติของชีวิต ขันที่สองน่ากลัว
น้อยกว่าขันที่หนึ่งนึกออกมั้ย ขันท้ายๆเนี่ยเริ่มดีใจล่ะ รู้สึกมั้ย
นี่แค่น้ำกระทบตัวเรานะ ความรู้สึกของเราก็เปลี่ยนไปเรื่อย
เรามีสติตามรู้ความรู้สึกที่เปลี่ยนแปลงนะ ไปกินข้าวตามองเห็น
เดินไปร้านอาหารในที่ทำงาน โอ้วันนี้มีของที่เราชอบทั้งนั้นเลย
ตามองเห็นเนี่ยใจก็ยินดี จมูกได้กลิ่นด้วย โอ้...อันนี้หอมนะ
มันกำลังผัดอะไรโช้งเช้งๆ น่ากิน เนี่ยใจมันเปลี่ยนแล้ว
มันตะกละขึ้นมารู้ว่าตะกละ เนี่ยกรรมฐานนะไม่ยากหรอก
เราสามารถฝึกได้ในชีวิตประจำวันของเรา ให้ตามันกระทบรูป
ให้หูมันกระทบเสียง ให้จมูกมันกระทบกลิ่น ให้ลิ้นมันกระทบรส
ให้กายมันรู้สึกกระทบสัมผัสไป ไม่ใช่ไปทำตัวให้ไม่มีความรู้สึกนะ
กระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กายไปเรื่อยๆตามธรรมชาติ
หรือใจของเราก็คิดนึกปรุงแต่งไปตามธรรมชาติ
ไม่ได้ห้ามคิดนะ ไม่ห้ามนะ ปล่อยให้มันทำงานไปตามธรรมชาติ
พอมันกระทบทางตา ความรู้สึกเปลี่ยน มีสติรู้ทัน
มันกระทบทางหู ความรู้สึกเปลี่ยนก็มีสติรู้ทัน
กระทบจมูกกระทบลิ้นกระทบกาย ความรู้สึกก็เปลี่ยนเราก็มีสติรู้ทัน
กระทบทางใจ ใจคิดเรื่องนี้มีความสุข ใจคิดเรื่องนี้มีความทุกข์
เราก็รู้ทันใจที่เปลี่ยนแปลง สุขบ้างทุกข์บ้าง คิดเรื่องนี้ดีใจ
คิดถึงเรื่องนี้เสียใจ คิดถึงคนนี้รักขึ้นมารู้ว่ารัก
คิดถึงคนนี้โกรธรู้ว่าโกรธนะ ให้รู้ทันใจของตัวเอง
หลวงพ่อเคยมีญาติผู้ใหญ่คนนึงนะแกเป็นคนจีนน่ะ
หลวงพ่อก็เป็นลูกครึ่งนะ ไม่ใช่ครึ่งคนครึ่งผีนะ เป็นลูกครึ่งนะ
มีญาติเรียกอาอี๊มาที่วัด อาอี๊ก็มานั่งฟังหลวงพ่อเทศน์นะ
มาอยู่วัดก็มาฟังๆ ไป วันนึงอาอี๊ก็บอกหลวงพ่อว่า
อาอี๊ภาวนาเป็นล่ะ อาอี๊เห็นพัดลมรู้ว่าพัดลม อย่าไปบอกแกนะ
เห็นพัดลมรู้ว่าพัดลม คนไม่ภาวนามันก็รู้ใช่มั้ย
อันนั้นเป็นกรรมฐานมั้ย ไม่เป็นนะ เห็นพัดลมแล้วอยากจะขโมย
กลับบ้าน รู้ว่าอยากเอากลับบ้าน อันนี้นะถึงจะเป็นนะ
ใจมันเปลี่ยนใจมันเกิดความชอบขึ้นมา เห็นพัดลมแล้วรู้สึก
เฮ้ยกระจอก วัดนี้ทำไมไม่ติดแอร์เหมือนยุวพุทธฯ นี่นะ ใจปรามาส
เลยรู้ว่าใจไม่ชอบเลยนะ มันร้อนเกินไป รู้ทันที่ใจตัวเอง
เราอย่าไปวาดภาพการปฏิบัติธรรมให้ยากเกินความจริงนะ
การปฏิบัติธรรมจริงๆเนี่ย ต้องหลอมรวมเข้ามา
ในชีวิตธรรมดาของเราให้ได้ เพราะชีวิตส่วนใหญ่ของเรา
อยู่กับโลกธรรมดานี้แหละ นานๆจะมาเข้าวัด นานๆจะมา
เข้าคอร์สสักครั้งนึง จะไปรอทำตอนเข้าวัดเข้าคอร์สนะ
ไม่ได้กินหรอก ถ้าอยู่กับโลกไม่เคยเจริญสติ
พอมาเข้าวัดเข้าคอร์สแล้วเพ่งทุกรายอ่ะ เพราะอยากดีก็เพ่งเอาๆ
เพ่งสุดท้ายก็เป็นแบบนี้นะ(หลวงพ่อทำหน้าเลียนแบบผู้ปฏิบัติที่เพ่ง)
เพ่งมากๆ บางคนก็อย่างนี้นะ บางคนก็อย่างนี้ โอ้เคยเห็นมั้ย
มันเพี้ยนไปหมดเลย ง่ายๆจำไว้นะ ธรรมะเป็นเรื่องธรรมดา
เราจะเรียนรู้ความเป็นธรรมดาของกายของใจ ไม่ใช่เรียนบังคับ
ให้ผิดธรรมดานะ ดูไปธรรมดาของกายเป็นยังไงคอยรู้สึกไป
ธรรมดาของใจเป็นยังไงคอยรู้สึกไป รู้สึกอยู่ในชีวิตอย่างนี้แหล่ะนะ

แต่ว่าถ้าใครอยากดีกว่านี้ถือศีลไว้ก่อน การมีศีลเนี่ยคือการจัด
ระเบียบชีวิตนะให้สงบให้เรียบร้อย มันจะเกื้อกูลให้จิตสงบง่าย
คนไม่มีศีลไม่สงบหรอก อย่างคนคิดจะขโมยเค้าไม่สงบหรอก
คนคิดจะไปฆ่าเค้าไม่สงบหรอกนะ ฆ่าเสร็จแล้วก็ไม่สงบอีกใช่มั้ย
ขโมยแล้วก็ไม่สงบอีกนะ หรือจะเป็นชู้กับเค้าจิตก็ไม่สงบ
เพราะฉะนั้นศีลเนี่ยนะมันจะช่วยจัดระเบียบชีวิตของเรา
ให้มันเรียบง่ายนะ สบายๆไม่เคร่งเครียด
พอเรามีศีลแล้วนะใจเราจะอยู่กับเนื้อกับตัวง่าย ใจตั้งมั่นง่าย
ถ้าเราไม่มีศีลนะ วอกแวกๆ คิดกลุ้มใจไปโน่นไปนี่เรื่อยๆ
ถ้ามีศีลอยู่ ใจก็อยู่กับเนื้อกับตัวไปนะ พอใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว
เราก็คอยตามรู้กายรู้ใจไป บางคนก็ดูกาย เห็นร่างกายเคลื่อนไหว
ใจเป็นคนดู บางคนก็ดูจิตดูใจไป
วิธีดูจิตก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบอารมณ์
ความรู้สึกใดแปลกปลอมขึ้นมารู้มัน แต่รู้ด้วยความเป็นกลางนะ
มีเงื่อนไขสำคัญมาก รู้ด้วยความเป็นกลาง เช่นกิเลสเกิดขึ้นมา
รู้ว่ามีกิเลส เช่น ความโกรธเกิดขึ้นรู้ว่าโกรธ
พอความโกรธเกิดขึ้น ใจเราไม่ชอบ ให้รู้ทันใจที่ไม่ชอบนี่นะ
ความไม่ชอบนี่คือความไม่เป็นกลาง ถ้าเมื่อไหร่ เราสามารถ
รู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตใจที่ตั้งมั่น
ด้วยจิตใจที่เป็นกลางได้นะ ปัญญาแท้ๆมันจะเกิด
เห็นกายไม่ใช่เรา ใจไม่ใช่เรา มันจะเห็นว่า
ทุกสิ่งนี้เป็นของชั่วคราว ความสุข ความทุกข์ กุศล อกุศล
ทั้งหลายนี้เป็นของชั่วคราวทั้งหมด
เราภาวนาจนเห็นว่าทุกอย่างชั่วคราว สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลาย
ชั่วคราวทั้งหมด ตรงนี้แหละ ใจจะเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง
ตัวนี้แหละคือสิ่งเรียกว่า สังขารุเบกขาญาน จิตมีปัญญานะ
เป็นกลางกับความปรุงแต่งทั้งหลาย สุข ทุกข์ ดี ชั่วทั้งหลายนี่
จิตเป็นกลางหมดเลย เพราะอะไร เพราะปัญญา
ไม่ใช่กลางเพราะการเพ่ง ไม่ใช่เป็นกลางเพราะกำหนดนะ
กำหนดแล้วเป็นกลางนี่ยังไม่ใช่ ตัวนี้ต้องเป็นกลางเพราะปัญญา
ถ้าเราตามรู้จิตใจของเราทุกวันๆ เราจะเห็นเลย
ความสุขอยู่ชั่วคราว แล้วก็หาย ความทุกข์อยู่ชั่วคราวแล้วก็หาย
โลภ โกรธ หลง อยู่ชั่วคราว แล้วก็หาย กุศลอยู่ชั่วคราวแล้วก็หายไป
ถ้าตามดูอย่างนี้นานๆไปนะ จิตมันยอมรับความจริงว่า
สิ่งใดเกิดขึ้นสิ่งนั้นดับไป ความสุขเกิดขึ้นจิตไม่หลงระเริง
ความทุกข์เกิดขึ้นจิตไม่กลุ้มใจ จิตมันจะเป็นกลาง
ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่มันไปรู้เข้า จิตที่มันเป็นกลางต่อทุกสิ่งทุกอย่าง
นี่นะ ตัวนี้เป็นตัวสำคัญ นี่เป็นคือประตูแห่งการบรรลุมรรคผล
พอมันเป็นกลางกับทุกสิ่งทุกอย่าง มันจะไม่ปรุงแต่งต่อ
อย่างถ้ามันไม่เป็นกลาง มันจะปรุงแต่งต่อ เช่น ความโกรธเกิดขึ้น
อยากให้หาย ก็ต้องหาทางทำให้หาย เห็นมั้ยปรุงแต่งต่อล่ะ
ความสุขเกิดขึ้นอยากให้อยู่นานๆ ต้องหาทางรักษา นี่ปรุงแต่งต่อ
มีการทำงาน แต่ถ้ามันเห็นทุกสิ่งทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับๆ
ไม่ปรุงแต่งต่อ จิตจะพ้นจากความปรุงแต่ง ตามรู้ตามดูจนมันพอ
สติ สมาธิ ปัญญาแก่รอบ จิตใจยอมรับความจริง ยอมรับไตรลักษณ์
ว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับ ถึงจุดนี้เนี่ย มันจะเป็นรอยแยก
พวกที่หวังพุทธภูมินะ ก็มีโอกาสจะเป็นพระโพธิสัตว์
ที่ได้รับคำพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า ไม่ใช่พยากรณ์จากหมอดูนะ
ต้องพยากรณ์จากพระพุทธเจ้า พวกที่ไม่ได้หวังจะเป็นพระโพธิสัตว์
แต่หวังความพ้นทุกข์นะ จิตมีโอกาสที่จะเกิดมรรคผลได้

เวลาที่จิตจะเกิดมรรคผลนั้น จิตจะรวมเข้าอัปนาสมาธิ
เพราะฉะนั้นเวลาท่านพูดถึงองค์มรรคเนี่ย สัมมาสมาธิ
ท่านจะพูดด้วยอัปนาสมาธิ ด้วยฌาน ๔
พวกเราตอนที่เจริญสติอยู่นี่เรียกว่า เจริญบุพพภาคมรรค
เบื้องต้นแห่งมรรคยังไม่เป็นฌานนะ
เราหัดเจริญสติอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างนี้ ถึงวันที่อริยมรรคจะเกิด
จิตจะรวมเข้าฌานโดยอัตโนมัตินะ จิตเวลาที่เกิดมรรคเกิดผล
จะไม่เกิดในจิตของคนธรรมดา นี่เรียกว่ากามาวจรจิต กามาวจรภูมิ
ไม่เป็นอย่างนั้น จะต้องเข้าฌานนะ เมื่อมันรวมเข้าไปแล้วมันจะเห็น
สภาวะธรรมนี่เกิดดับสองขณะหรือสามขณะ แต่ละคนไม่เท่ากันนะ
ถัดจากนั้นจิตจะวางการรู้อารมณ์ ทวนกระแสเข้ามาหาธาตุรู้
สิ่งที่ห่อหุ้มปกคลุมธาตุรู้อยู่นี่ ถูกอริยมรรคแหวกออกไป
แล้วก็มันจะไปเห็นนิพพานนะ นิพพานไม่ใช่ว่างเปล่า
นิพพานไม่ใช่โลกๆหนึ่ง พวกเรายังไม่เคยเห็น
เราก็วาดภาพสุดโต่งไปสองข้าง ข้างหนึ่งก็นิพพานเป็นโลกๆหนึ่ง
พวกนี้พวกสัสตะทิฐิ มีของที่เที่ยงคงที่
อีกพวกหนึ่งคิดว่านิพพานสูญไปเลย ขณะนั้นไม่มีอะไรเหลือเลย
กระทั่งสติ พวกนี้หลงไปล่ะ คิดว่านิพพานไม่มีอะไรเลย
นี่พวกอุจเฉททิฐินะ นิพพานมีนะ นิพพานมีสภาวะรองรับ
สภาวะของนิพพานคือสันติ คือความสงบนั่นเอง
สงบจากอะไร สงบจากกิเลส
สงบจากอะไร สงบจากความปรุงแต่ง
สงบจากอะไร สงบจากการแบกหามขันธ์นะ ดังนั้นเราภาวนานะ

เนี่ยจาก ฮ นกฮูก ไปหา ก ไก่ จาก ก ไก่ กลับมา ฮ นกฮูกล่ะ
เราจะเรียนได้แค่ไหน ป ปลาได้มั้ย หึๆๆ

เอ้าชั่วโมงนึงพอดีๆนะ
ให้หลวงพ่อเทศน์เรื่องนี้ยาวมากนะ เนื้อหามันยาวมากเลย
เทศน์รอบเดียวไม่จบหรอก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น