วันอาทิตย์ที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ถ้าสติปัญญาเราแก่รอบจริงๆ เห็นกายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ เลยนะ มันจะไม่เอากาม



ธรรมะจากพระผู้รู้

พระปราโมทย์ ปาโมชฺโช

ถาม: ฟังที่หลวงพ่อสอนแล้วเข้าใจยาก 
ไม่เข้าใจว่าไม่ต้องทำอะไร แค่รู้เฉยๆ จะได้มรรค ผล นิพพาน ได้อย่างไร 

ที่ฟังแล้วเข้าใจยากก็เพราะว่าเราไม่ค่อยได้ฟัง 
เราเคยศึกษาธรรมะเราก็ได้ยินแต่คำสอนว่าให้ทำอย่างนี้สิดี ให้ทำอย่างนี้สิ 
ให้ทำโน่นให้ทำนี่ ห้ามอันโน้นห้ามอันนี้ แล้วเราจะชิน 
ถ้าหลวงพ่อบอกว่า 
เอ้า ต่อไปนี้ห้ามทำอย่างนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า 
จงทำต่อไปนี้ หนึ่ง สอง สาม สี่ ห้า พวกเราจะรู้สึกเรียนง่าย 
แต่กรรมฐานชนิดที่ไม่ทำอะไร ฟังแล้วยาก 
ใจของเราเองมันปรุงแต่งทั้งวันทั้งคืน 
มันปรุงสุขปรุงทุกข์ ปรุงกุศลปรุงอกุศลตลอดเวลาเลย 
ไม่เคยหยุดการปรุงแต่งเลย 
เพราะฉะนั้นจะให้มันทำงานอะไรสักอย่างให้มันปรุงแต่งนี่มันยอมรับง่าย 
แต่จะให้มันรู้ทันความปรุงแต่งจนมันหมดความปรุงแต่งยากที่สุดเลย มันฝืนความรู้สึก 
หลายคนจะรู้สึกว่าก็ที่ผ่านมาปฏิบัติแทบเป็นแทบตายยังไม่ได้เลย รู้เฉยๆ มันจะได้หรือ 
เพราะฉะนั้นน้อยคนที่จะใจถึง มาคอยรู้กายมาคอยรู้ใจตัวเองตามความเป็นจริง 
ไม่ใช่ตามที่อยากให้เป็น

ส่วนมากเราจะรู้ด้วยความอยากให้เป็น 
เช่น อยากให้สุข อยากให้สงบ อยากให้ดี 
รู้ด้วยความอยาก สังเกตไหม มีความอยากขึ้นมาใจก็ดิ้นรน ดิ้นรน ใจก็ทุกข์ 
วนเวียนอยู่อย่างนี้เอง ยิ่งอยากก็ยิ่งดิ้น ยิ่งดิ้นก็ยิ่งทุกข์นะ 
ยิ่งทุกข์ยิ่งอยากอีก อยากให้หายทุกข์นะ ก็ยิ่งดิ้นอีก 
เพราะฉะนั้นเราจะวนเวียนจากการปรุงแต่งดิ้นรนไม่รู้จักเลิกหรอก 
การจะตัดวงจรของความปรุงแต่งหรือปฏิจจสมุปบาท 
ถ้าละอวิชชาได้ ตัณหาจะไม่เกิดอีก ความอยากจะไม่เกิด 
ตราบใดที่ยังละอวิชชาไม่ได้ 
ยังไม่รู้ความจริงของกายของใจเรียกว่าละอวิชชาไม่ได้ ตัณหาจะเกิดอีก 

เราเห็นว่ากายนี้ใจนี้คือตัวเรา เราไม่เห็นว่ากายนี้ใจนี้ไม่ใช่เราหรอก 
เป็นก้อนทุกข์เป็นตัวทุกข์เป็นธาตุ
ทางกายเป็นธาตุดินน้ำไฟลม ใจก็เป็นธาตุ เรียกวิญญาณธาตุ มโนธาตุ แล้วแต่จะเรียกกัน
เราเห็นว่าเป็นเรา พอเป็นเรา เราก็อยากให้มันดี อยากให้มันสุข อยากให้มันสงบ 
นี่พอความอยากเกิดขึ้น ใจก็ดิ้นรน 
คนไม่ฉลาดก็ดิ้นรนหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ 
ถ้าได้อยู่กับคนนี้แล้วจะดีมีความสุข ถ้าได้กินอันนี้จะมีความสุข 
ถ้าได้อยู่บ้านตรงนี้จะมีความสุข ดิ้นหาความสุขไปเรื่อย หาแล้วมันก็ไม่อิ่มมันก็ไม่เต็ม
อย่างพอเราอยากได้อะไร เราดิ้นรนนะ เหนื่อยแทบตายเลย พอได้มารู้สึกงั้นๆ แหละ
เดี๋ยวก็อยากอย่างอื่นต่อไปอีก ดิ้นรนไปตามความอยากนะ มันไม่อิ่มมันไม่เต็ม
พระพุทธเจ้าถึงบอกว่าแม่น้ำเสมอด้วยตัณหาไม่มี 
ตัณหาเป็นห้วงน้ำที่ใหญ่ที่สุด ทำยังไงก็ไม่เต็ม 
มันจะเพิ่มความอยากไปเรื่อยๆ นี่พวกที่ตอบสนองความอยาก 
ตอบสนองอัตตาตัวตนด้วยการแสวงหาอารมณ์ที่เพลิดเพลินพอใจ 
ไม่สามารถตอบสนองได้จริง ไม่เต็มไม่อิ่ม 

อีกพวกนึงมาฝึกจิตฝึกใจ มาฝึกกรรมฐาน มากำหนดกายมากำหนดใจ 
กำหนดไปเรื่อยๆ ถามว่าลึกๆ กำหนดเพื่ออะไร 
หวังว่าวันหนึ่งจะดีนั่นแหละ 
วันนึงจะบรรลุมรรคผลนิพพาน เราจะได้ดี เราจะได้มีความสุข 
ลึกลงไปก็คือตอบสนองความเป็นตัวเราอีกนั่นแหละ 
เพราะฉะนั้นหลงโลกไป หลงทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นี่เรียกว่าโลก 
หลงโลกออกไป ก็หวังว่าจะมีความสุข 
อุตส่าห์มาปฏิบัติธรรม มาบังคับกายบังคับใจ 
กำหนดกายกำหนดใจก็หวังว่าจะมีความสุข 
ตอบสนองความเป็นตัวตนนั่นเอง 
เพราะฉะนั้นสุดโต่งอย่างนี้ ดิ้นรนอย่างนี้ ไม่พ้นจริงหรอก 
บางคนภาวนา พยายามกำหนดนะ ตามองเห็นกำหนด หูได้ยินเสียงกำหนดลงไป
หวังว่ากำหนดมากๆ แล้วเวทนาจะไม่เกิด 
ถ้าไม่มีเวทนา ตัณหาจะได้ไม่มี ตัณหาไม่มี อุปาทาน ภพ ชาติ ทุกข์จะได้ไม่มี 
บางคนสอนกันอย่างนี้นะ สอนให้ดับเวทนา 
ลืมไปอย่างหนึ่งว่าเวทนาเป็นเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตทุกๆ ดวง 
ไม่มีใครดับเวทนาได้ ถ้าดับได้ก็ดับทุกขเวทนาได้ชั่วคราว ดับสุขเวทนาได้ชั่วคราว
เสร็จแล้วใจก็เฉยๆ เป็นอุเบกขาเวทนา 
พอมีอุเบกขาเวทนา โมหะก็แทรก 
พอโมหะแทรกเข้ามาใจก็ฟุ้งซ่าน หรือไม่ใจก็หดหู่ ใจก็ปรุงแต่งอีก 
เพราะฉะนั้นการจะตัดวงจรของภพของชาติ ไม่ได้ไปตัดที่เวทนา แต่ตัดที่อวิชชา
อวิชชาคือความไม่รู้อริยสัจจ์ 
อริยสัจจ์ข้อแรกคือทุกข์ ขันธ์ ๕ คือทุกข์ กายกับใจคือทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้

ในสติปัฏฐาน ๔ มันถึงเต็มไปด้วยคำว่ารู้ 
รู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้ธรรม เอาเข้าจริงก็คือการรู้ทุกข์นั่นเอง 
เพราะพระพุทธเจ้าสอนชัดๆ เลยว่าอุปาทานขันธ์ทั้งห้า ขันธ์ ๕ นี่เองคือตัวทุกข์ 
หน้าที่ต่อทุกข์คือการรู้ และบอกนี่คือทางสายเดียวด้วยนะ สติปัฏฐานเป็นทางสายเดียว
นอกจากการรู้ทุกข์แล้วไม่มีทางที่สองเพื่อความพ้นทุกข์อย่างแท้จริง 
พวกเราจะดิ้นรน บางคนประกาศสัจจะเลยนะว่าจะหาด้วยตนเอง 
หาได้เหมือนกันแต่ไม่ใช่วันนี้หรอก อีกกี่ภพกี่ชาติยังไม่แน่ 
ขนาดฟังธรรมะที่พระพุทธเจ้าบอกนะเดินตามยังยากเลย รู้สึกไหม 
เพราะมันฝืนความรู้สึก 
ถ้าบอกให้เราเข้าไปจัดการกับจิตใจตนเอง บังคับให้นิ่งเลยนะ แป๊บเดียวก็ทำเป็น ไม่ยาก
แต่บอกให้รู้กายตามความเป็นจริง ให้รู้ใจตามความเป็นจริง ยากที่สุดเลย 
เพราะมันไม่อยากเห็นความจริง มันอยากได้แต่ของไม่จริง 
เราไม่ได้อยากเห็นความจริงของกายของใจเลย 
ใครอยากเห็นไหมว่ากายนี้ใจนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุขนะ 
ใครอยากเห็นบ้าง กายกับใจไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี 
ตัวเรานอกเหนือจากกายจากใจก็ไม่มี ไม่มีใครอยากเห็นอย่างนี้ 
ทุกคนปรารถนาแต่ว่าทำยังไงตัวตนของเราจะสุขถาวร จะดีถาวร จะสงบถาวร 
เคยอ่านเรื่องกามนิต วาสิฏฐีไหม 
เรื่องกามนิตสมัยก่อนเรียกว่าเรื่องกามนิตนะ 
ตอนหลังๆ รู้สึกฟังแล้วไม่เพราะ กามนิต เลยเปลี่ยนเป็นเรื่องวาสิฏฐี 
กามนิตเที่ยวแสวงหาธรรมะ เที่ยวแสวงหาธรรมะเพื่อว่าตัวเองจะได้มีความสุขถาวร
กามนิตเที่ยวไปเรื่อยๆ จนเจอพระพุทธเจ้า 
ฟังพระพุทธเจ้าเทศน์ เรื่องไม่มีอัตตาตัวตนที่ถาวร กามนิตรับไม่ได้นะ รับไม่ได้เลย
จนกระทั่งผ่านไปนาน ตายแล้วไปเกิดในสวรรค์ 
สุดท้ายไปอยู่ในพรหมโลกเพราะสวรรค์ล่มลงไป 
สวรรค์ก็แตกดับไปเกิดในพรหมโลกเจอกับวาสิฏฐีอีก 
วาสิฏฐีเลยแสดงภาพของพระพุทธเจ้าให้ดู 
วาสิฏฐีเคยบวชเป็นภิกษุณี 
ที่บวชเป็นภิกษุณีเพื่อจะหนีออกจากบ้านไปตามหากามนิต จะหนีสามีนั่นแหละ 
พอกามนิตเห็นรูปพระพุทธเจ้าที่วาสิฏฐีเนรมิตให้ดูก็จำได้
ว่าคือพระแก่ๆ ที่เคยคุยกันในบ้านช่างปั้นหม้อนั่นเอง 
แต่เดิมคิดว่านี่คือสาวกปลายแถวซึ่งไม่เข้าใจคำสอนของพระพุทธเจ้า 
พระพุทธเจ้าคงสอนอะไรที่ชี้ทางให้สุขถาวรได้ 
นี่พระชรารูปนั้นกลับไปสอนว่าถาวรไม่มี มีแต่ทุกข์ไม่มีสุขนะ 
ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ สอนอย่างนี้อีก

พอกามนิตเห็นรูปนิมิตนี่แล้ว วาสิฏฐีทุ่มเทพลัง จนกระทั่งหมดพลังนะ ตายไป 
กามนิตรู้สึกว่า โอ้ ทุกอย่างไม่มีอะไรที่เที่ยงแท้ถาวรเลย 
ระลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า ทบทวนตัวตนไม่มี ไม่มีตัวตนที่ถาวรแล้ว 
วาสิฏฐีก็นิพพานไปก่อนแล้ว ในที่สุดเลยปลงตกนะ 
ยอมรับความจริงว่าตัวตนที่แท้จริงไม่มี 
เพราะฉะนั้นตัวตนไม่มีจะไปหาความสุขที่แท้จริงที่ไหน 
พอปล่อยวางตัวตน เข้าถึงความสุขที่แท้จริง 
คนแต่งเก่งนะ คนแต่งนี้เก่ง เอาธรรมะมาเขียนเก่ง 
พวกเราก็เหมือนกามนิตนะ เราอยากมีความสุขถาวร 
ภาวนาแล้วอยากได้อะไรที่มันดีๆ เราจะได้เป็นเจ้าข้าวเจ้าของครอบครองตลอดนิรันดร
สิ่งที่อยู่ตลอดนิรันดรมีแต่ทุกข์นะ มีแต่ทุกข์ 
เพราะฉะนั้นหัดภาวนา ตั้งอกตั้งใจนะ ฟังไป รู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง 
ปกติฟังหลวงพ่อนะ สองสามครั้งถึงจะรู้เรื่อง โดยเฉลี่ยสองสามครั้งจะรู้เรื่อง 
มีข้อยกเว้นเหมือนกัน บางคนจิตใจศึกษาอบรมมามากแล้ว ฟังทีเดียวปิ๊งเลยก็มี
บางคนฟังประโยคเดียวเข้าใจเลยก็มี บางคนฟังหลายปีไม่เข้าใจก็มีเหมือนกันแต่น้อย 
ที่ไม่เข้าใจเพราะคิดไม่เลิก ศึกษาแล้วก็เปรียบเทียบไปเรื่อย 
อาจารย์โน้นว่าอย่างนี้ อาจารย์นี้ว่าอย่างโน้น 
หลวงพ่อนั้นว่าอย่างนี้ หลวงแม่ว่าอย่างโน้นนะ ญาติโกโหติกาเยอะ ฟังมามาก 
ฟังแล้วก็เทียบไปเรื่อย เทียบเคียงไปเรื่อย คิดไปเรื่อย 
แทนที่จะรู้ลงในกายรู้ลงในใจ ก็เอาแต่คิดเอา ทำยังไงจะดีทำยังไงจะสุข 
คิดอย่างเดียวทำยังไงจะปฏิบัติถูก 
ก็พระพุทธเจ้าบอกตรงๆ แล้วให้รู้ ให้รู้ ให้รู้นะ 
ถ้าเกินจากรู้มันก็ไม่ถูกหรอก 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น