วันพฤหัสบดีที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2559

รักและสามัคคีกันไว้ ต้านภัยร่วมกัน ไม่แบ่งชนชั้นเชื้อชาติศาสนางานหลักของเราจริงๆคืองานยกระดับจิตใจขึ้นไป ชีวิตของเราเนี่ยสั้นนิดเดียว มีเวลาไม่มาก โดยเฉลี่ยของคนยุคนี้ก็อายุประมาณสามหมื่นวัน สามหมื่นวันเนี่ยฟังแล้วเยอะนะ จริงๆไม่เยอะเท่าไหร่ สามหมื่นวันเนี่ยเราเอาไปนอนเสียหมื่นวันแล้วๆ เหลือสองหมื่นวัน สองหมื่นวันเนี่ยเราเอาไปทำมาหากินเสียเกินครึ่ง เหลือนิดเดียวแล้วนะ แล้วยังจะเอาเวลาที่เหลืออีกนิดเดียวเนี่ยเอาไปเที่ยวไปเล่นเพลิดเพลินสนุกสนาน ไม่เหลือเวลาที่จะเอาไปพัฒนาตัวเองแล้วนะ เพราะฉะนั้นเราต้องตั้งเป้าเอาไว้ให้ดีเลย ชาตินี้ต้องได้พระโสดาบัน ตั้งเอาไว้อย่างนี้ ใครว่าโลภก็โลภล่ะวะ เอาไว้ก่อนแหละ ตั้งเป้าไว้ก่อน ชาตินี้ขอเป็นพระโสดาบันให้ได้นะ ชาวพุทธต้องเอาอย่างนั้นเลยนะ ไม่ใช่ขอทำบุญทำทาน นั่งภาวนาทำสมาธิ อีกแสนๆชาติข้างหน้าค่อยให้ได้ธรรมะ โง่น่ะสิ ธรรมะของพระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เนิ่นช้าปานนั้นนะ ธรรมะของพระพุทธเจ้าให้ผลรวดเร็วมากเลย ถ้ารู้จักปฏิบัติที่ถูกต้อง ปฏิบัติได้สมควรแก่ธรรม ทำให้ถูกต้องก่อน แล้วก็ทำให้พอ แค่นี้เอง ไม่เนิ่นช้าเท่าไหร่หรอก มันจะยากอะไรในการเรียนรู้ความจริงของกายของใจตัวเอง การปฏิบัติธรรมจริงๆก็คือการเรียนรู้กายรู้ใจของตัวเองเท่านั้นเองถ้ารู้เห็นความจริงแล้ว กายนี้ใจนี้ไม่ใช่ตัวเรา ตัวเราไม่มี แค่นี้ก็เป็นพระโสดาบันแล้ว ถ้าเห็นความจริงนะว่า กายนี้เป็นทุกข์ล้วนๆ หมดความยึดถือในกาย ก็ได้พระอนาคาฯ หมดความยึดถือในจิต เขาก็สมมุติเรียกว่า “พระอรหันต์” มันมีแต่เรื่องเรียนรู้กายเรียนรู้ใจตั้งแต่ต้นจนจบเลยของการปฏิบัติ มันไม่ใช่เรื่องยากอะไร กายของเราก็มีอยู่แล้ว จิตใจของเราก็มีอยู่แล้ว เราก็แค่คอยรู้คอยดูบ่อยๆ ว่าจริงๆกายนี้เป็นตัวเราหรือไม่เป็น จิตนี้เป็นตัวเราหรือไม่เป็น คอยรู้คอยดูอยู่บ่อยๆ ความจริงมันจะแสดงตัวให้ดูอยู่แล้ว ไม่ได้ยากเท่าที่คิดหรอก ฆราวาสก็ทำได้นะ ไม่ใช่ฆราวาสทำไม่ได้ สมัยพุทธกาลฆราวาสได้ธรรมะเยอะแยะเลยนะ ถมเถไป เพราะฉะนั้นพวกเรานะ ตอนนี้ปรารภความเพียร ต้องรู้ว่าเราจะต้องปฏิบัตินะ ถ้าชีวิตของเราไม่ปฏิบัติ ชีวิตของเราไร้คุณค่า เราไม่ได้ต่างกับหมากับแมวอะไรนะ มีชีวิตอยู่ กินแล้วก็สืบพันธุ์ แล้วก็นอน แล้วก็เที่ยวเล่นเห่าหอนสนุกสนานอะไรอย่างนั้น จะได้อะไรขึ้นมา ชีวิตมันควรจะมีคุณค่ากว่านั้น พระพุทธเจ้าท่านสอนอย่างนี้นะ บอกว่า อดีตก็ล่วงไปแล้วนะ อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ให้มีสติอยู่กับปัจจุบันนี้ ไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนอยู่กับปัจจุบัน ท่านบอกว่าอย่าตามอาลัยอาวรณ์ไปถึงอดีตนะ อย่ากังวลไปถึงอนาคต ให้อยู่กับปัจจุบัน เพราะว่าอดีตก็ล่วงไปแล้ว อนาคตก็ยังมาไม่ถึง ปัจจุบันน่ะมันมีจริง ให้เรามีสติอยู่กับปัจจุบันนี้แหละ มีสติอยู่กับปัจจุบันไม่หลงเพลินไป ร่างกายเคลื่อนไหวรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวรู้สึกนะ เรียกว่าเราไม่ประมาท เรามีสติอยู่ มีสติเป็นไปในกาย มีสติเป็นไปในจิตใจ ตามรู้อยู่ในกาย ตามรู้อยู่ในใจ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า คนที่ทำได้อย่างนี้นะ แม้จะมีชีวิตอยู่เพียงวันเดียวหรือคืนเดียวเนี่ย ก็ควรชมแล้ว มีชีวิตร้อยปี แต่หลงร้อยปี ไม่ควรชมเลยนะ คนส่วนใหญ่มีชีวิตเท่าไหร่ กี่ปี มันก็หลงอยู่เท่านั้นปีแหละนะ เพราะฉะนั้นพวกเรามาหัดให้มามีสติรู้สึกกายมีสติรู้สึกใจนะ ถ้ามีชีวิตอยู่ได้วันเดียว พระพุทธเจ้าก็ชมแล้ว ให้พระพุทธเจ้าชมดีกว่าให้คนอื่นชมนะ คนอื่นชมบางทีมันแกล้งชม พระพุทธเจ้าชมเนี่ย ของดีของวิเศษแน่นอนเลย พวกเราก็มีโอกาสได้รับคำชมของพระพุทธเจ้าทุกๆคนนะ เพราะเรามีสติรู้อยู่กับปัจจุบันเรื่อยไป แค่วันเดียวท่านก็ชมแล้ว เพราะฉะนั้นเรามีโอกาสนะที่จะได้รับคำชมของพระพุทธเจ้า มีโอกาสที่จะได้ชื่อว่าเป็นลูกแท้ๆของพระพุทธเจ้า ไม่ใช่ลูกแบบหลอกๆมาเกาะกินพระพุทธเจ้าอยู่นะ ลูกเกาะกินพระพุทธเจ้าเยอะนะ หาผลประโยชน์จากพระศาสนาอะไรพวกนี้ มีเยอะแยะ เพราะฉะนั้นเราต้องปฏิบัติธรรมให้สมควรแก่ธรรม ปรารภความเพียรนะ ชีวิตอย่าปล่อยให้ล่วงเปล่าๆ ต้องปฏิบัติ วิธีปฏิบัติ ปฎิบัติอะไร ก่อนจะลงมือปฏิบัติ ฝึกสติเสียก่อน ถ้ามีสติก็จะมีศีล มีสติก็จะมีสมาธิ มีสติก็มีโอกาสที่จะเกิดปัญญา มีสติ ต้องฝึกสติ ถ้าขาดสติซะตัวเดียวเนี่ย ศีลสมาธิปัญญาหายหมดเลย งั้นต้องมาให้มีสติ นี้ท่านสอนมาเป็นลำดับเลยนะ ที่จะไม่เนิ่นช้า มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เจริญสติ วิธีเจริญสติ สติเป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในกาย เป็นเครื่องระลึกรู้ ว่ามีอะไรเกิดขึ้นในจิตใจ สติเกิดจากถิรสัญญา “ถิร” คนไทยใช้คำว่า เสถียร คือมันมั่นคง มันหนักแน่น แน่วแน่นะ คือรู้อย่างถิรสัญญาหมายถึงว่า มันรู้อยู่ถี่ๆ รู้อยู่บ่อยๆนะ รู้จนรู้อัตโนมัติ รู้จนจิตจำสภาวะได้แม่น เรียกว่ามีถิรสัญญา สัญญาเป็นตัวความจำ ถิรสัญญาคือจำได้แม่นยำ จำได้แม่นยำในสภาวะของกาย จำได้แม่นยำในสภาวะของใจ พอสภาวะทางกายเกิดขึ้น สติจะเกิดขึ้น พอจำสภาวะทางจิตได้แม่น เช่นจำได้ว่าโลภเป็นยังไง โกรธเป็นไง หลงเป็นไง พอความโลภเกิดขึ้น สติจะเกิดเอง จะระลึกขึ้นได้แล้วว่า ความโลภเกิดแล้ว ถ้าจิตจำความโกรธได้แม่น พอความโกรธเกิด สติก็จะเกิดเอง อ้อ ความโกรธเกิดขึ้นแล้ว พวกเราหัดรู้สภาวะให้มาก ร่างกายเคลื่อนไหว คอยรู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวคอยรู้สึก คอยรู้สึกไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายคู้ ร่างกายเหยียด รู้สึก ร่างกายยืนเดินนั่งนอน คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์เกิดขึ้นในกาย คอยรู้สึก ความสุขความทุกข์ในกายหายไป ก็คอยรู้สึก มีความสุขความทุกข์ความเฉยๆเกิดขึ้นในใจ ก็รู้สึก ความสุขความทุกข์ความเฉยๆดับไปจากจิตใจของเรา ก็รู้สึก มีกุศลเกิดในใจ ก็คอยรู้สึกนะ มีอกุศลเกิด โลภโกรธหลงเกิดขึ้นในจิตใจของเรา ก็คอยรู้สึก แล้วจิตวิ่งไปที่ตา คอยรู้สึก จิตวิ่งไปที่หู คอยรู้สึก จิตวิ่งไปคิด คอยรู้สึก จิตวิ่งไปเพ่ง คอยรู้สึก เนี่ยเราคอยรู้สึกอยู่ในกาย คอยรู้สึกอยู่ในใจอย่างนี้บ่อยๆ ต่อไปพอร่างกายขยับ อย่างเรากำลังเผลออยู่ ขยับตัวปั๊บ ไม่ได้เจตนาขยับ เพราะร่างกายเราขยับอยู่ทั้งวันอยู่แล้ว กำลังเผลอๆอยู่ เกิดขยับตัวกริ๊กเดียวเท่านั้นเอง สติมาแล้ว รู้สึกตัวขึ้นมาแล้ว รู้เลยเห็นร่างกายมันเคลื่อนไหวอยู่ จิตมันเป็นคนดูขึ้นมา ตรงที่เห็นร่างกายมันเคลื่อนไหว จิตเป็นคนดู ได้สมาธิมาแล้ว การมีสติฝึกให้มาก จำสภาวะให้แม่น แล้วสติจะเกิดเอง สตินั้นเป็นอนัตตา เช่นเดียวกับสภาวะธรรมทั้งหลายทั้งปวง จิตก็เป็นอนัตตา สั่งให้มีสติไม่ได้ สติมีเหตุ สติถึงจะเกิด สติไม่มีเหตุ สติไม่เกิด เพราะงั้นเราต้องทำเหตุของสติ คือการหัดรู้สภาวะเนืองๆ จะจำสภาวะได้แม่น เช่นความสุขเกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความทุกข์เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความโลภความโกรธความหลง เกิดขึ้นในใจ คอยรู้ ความสุขความทุกข์ เกิดขึ้นในกาย คอยรู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหายใจ คอยรู้ คอยรู้สึกอยู่เรื่อยๆ แล้วสติจะเกิดเอง ทันทีที่สติเกิดจิตจะเป็นกุศล เมื่อจิตเป็นกุศลอย่างเรารู้ว่าความโกรธมา พอสติระลึกได้ปุ๊บนะ ความโกรธจะดับทันทีเลย ความโกรธหรือกิเลสทั้งหลายเนี่ย จะเกิดร่วมกับสติไม่ได้ กุศลกับอกุศลไม่เกิดขึ้นพร้อมกัน เหมือนแสงสว่างกับความมืดนั้น ไม่เกิดด้วยกัน แสงสว่างดับไป ความมืดก็ปรากฎขึ้น แสงสว่างปรากฎขึ้น ความมืดก็ดับไป อันนี้ก็เหมือนกุศลอกุศลทั้งหลาย กิเลสเหมือนความมืดนะ สติเหมือนแสงสว่าง ทันทีที่แสงสว่างเกิด ความมืดก็ดับไป มันจะไม่เกิดร่วมกัน งั้นพอเราฝึกสติบ่อยๆเนี่ย กิเลสเกิดอะไรขึ้นที่จิต สติจะรู้ทันอัตโนมัติเลย โกรธแล้วนะ รู้ทันเลย โกรธ ความโกรธจะดับ เมื่อความโกรธดับ ศีลจะเกิดขึ้น เราจะไม่ทำผิดศีลเพราะความโกรธ ผิดศีลเพราะความโกรธทำอะไรได้บ้าง ไปฆ่าเค้าไปตีเค้าใช่มั้ย ไปทำลายทรัพย์สินเค้า ไปแกล้งขโมยของเค้า ไปลักขโมยเค้าเนี่ยไม่ใช่เกิดจากโลภอย่างเดียวนะ เกิดจากโกรธก็ได้ ทำลายทรัพย์สินเค้า ขโมยเค้า ไปเป็นชู้กับเค้าเพราะความโกรธก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเพราะราคะ เกลียดไอ้คนนี้มาก ไปหลอกจีบลูกสาวมันจีบเมียมันอะไรงี้ เนี่ยทำผิดศีลได้ โกรธขึ้นมาก็ไปด่าเค้า หรืิอไม่ก็ไปพูดเพราะๆ หลอกให้เค้าเหลิง เสียผู้เสียคนไปเลยอย่างนั้นก็ได้ พูจเท็จด้วยความโกรธก็ได้ โกรธขึ้นมาไปกินเหล้าได้มั้ย กินเหล้าเนี่ยเป็นตัวรองแล้วนะ ตัวนี้เป็นตัวกระตุ้นให้ขาดสติมากขึ้น เพราะงั้นถ้าโกรธจริงๆ มันจะไปผิดศีล ๔ ข้อแรกนะ โลภขึ้นมาก็ผิดศีล ๔ ข้อได้ หรือโลภขึ้นมาไปกินเหล้าได้ ก็ผิดศีล ๕ ได้ หลงขึ้นมาก็ผิดศีลได้ทุกข้ออีกแหล่ะ เพราะงั้นถ้าเมื่อไหร่ กิเลสเกิดที่จิต เรารู้ไม่ทัน กิเลสครอบงำจิตได้ โอกาสทำผิดศีลเนี่ยจะมี ถ้ากิเลสเกิดขึ้นที่จิต เรามีสติรู้ทัน กิเลสดับไป โอกาสทำผิดศีลนั้นไม่มี เพราะงั้นถ้ามีสติ จะมีศีล มีสติแล้วก็มีสมาธิได้ ถ้าคอยรู้ทันความฟุ้งซ่าน สมาธิกับความฟุ้งซ่านเป็นสิ่งตรงข้ามกัน ความฟุ้งซ่านเป็นกิเลส สมาธิเป็นธรรมที่เป็นกลางๆ จิตที่มีกิเลสมีสมาธิก็มี จิตที่เป็นกุศลมีสมาธิก็มีสมาธิไม่ใช่กุศลเสมอไป แต่สติเป็นกุศลเสมอไปนะ ความฟุ้งซ่านเป็นอกุศลแน่นอน ถ้าเวลาใจฟุ้งซ่าน ใจฟุ้งซ่านคือใจวิ่งไปทางตา วิ่งไปทางหู เปลี่ยนอารมณ์ไปเรื่อยๆอย่างรวดเร็วนะ แส่ส่ายหาอารมณ์ไปเรื่อย เรียกว่าจิตฟุ้งซ่าน ถ้าเรามีสติรู้ทันว่าจิตกำลังฟุ้งซ่านอยู่ จิตจะสงบอัตโนมัติ การที่จิตแส่ส่ายออกไปทางตาหูจมูกลิ้นกายใจนั้นตลอดเวลาเนี่ย แทบจะเป็นอยู่ตลอดเวลา มันแส่ส่ายทางไหนมากที่สุดรู้มั้ย แส่ส่ายทางใจมากที่สุด คือหนีไปคิดมากที่สุด วันหนึ่งๆเนี่ย จิตหลงไปคิดเนี่ยเกิดบ่อยที่สุด จิตหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงไปรู้สัมผัสทางกายเนี่ย มีเป็นคราวๆ จิตหลงไปคิดเนี่ยแทบจะยืนพื้นเลย พอหลงไปดูก็ต่อด้วยหลงคิด หลงไปฟังก็ต่อด้วยหลงคิด ไม่มีอะไรเลยก็หลงคิดด้วยตัวของตัวเองได้ จิตที่หลงคิดก็คือจิตฟุ้งซ่านนั่นแหล่ะ เป็นจิตฟุ้งซ่านที่เกิดบ่อยที่สุด เพราะงั้นให้้เรามีสติ รู้ทันจิตที่หลงคิดเนี่ย ดีที่สุดเลย ถ้าจิตหลงไปคิดปุ๊บ เรารู้ทันนะ ความหลงคิดดับ จิตจะตั้งมั่นขึ้นอัตโนมัติ สมาธิเกิดอัตโนมัติเลย ไม่จำเป็นต้องไปนั่งทำฌาน ทำกสิณอะไรนะ เสียเวลา ถ้าทำได้ก็ทำ ทำไม่ได้ไม่จำเป็นเลย แค่รู้ทันว่าจิตหลงไปคิด สมาธิก็เกิดแล้ว งั้นมีสติก็จะได้สมาธินะ พอจิตตั้งมั่นขึ้นมาแล้ว ก็เจริญปัญญาต่อ เห็นกายมันทำงาน ร่างกายยืนเดินนั่งนอน ไม่ใช่เรายืนเดินนั่งนอนนะ เห็นเป็นรูปธรรมอันนึง เห็นเหมือนหุ่นยนต์ตัวนึงมันทำงาน จิตใจเดี๋ยวสุขเดี๋ยวทุกข์ เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย เห็นแต่สภาวะธรรม ความสุขก็เป็นสภาวะธรรม จิตใจที่ไปรู้ความสุขเข้าก็เป็นสภาวะธรรม ความทุกข์ก็เป็นสภาวะธรรม จิตใจที่รู้ความทุกข์เข้าก็เป็นสภาวะธรรม เห็นแต่สภาวะธรรม ไม่มีคนไม่มีสัตว์ ไม่มีเราไม่มีเขานะ เห็นไปเรื่ิอยๆ แล้วสภาวะธรรมทั้งหลาย เราก็จะเห็นไปอีก ในที่สุดก็เข้าใจเลย สภาวะธรรมทั้งหลาย จะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ตาม มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับ บังคับไม่ได้นะ เกิดดับไปนี่ก็เป็นอนิจจัง สิ่งซึ่งยังมีอยู่ยังไม่ดับไปนะ ยังมีอยู่นะ ก็ถูกบีบคั้นเพื่อจะให้ดับไป นี่เรียกว่าทุกขัง แล้วสิ่งทั้งหลายจะเกิดหรือจะดับ เป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามสั่ง นี่เรียกว่าอนัตตา ก็ฝึกอย่างนี้ การที่เราคอยเห็นกายเห็นใจเนี่ย ไม่เที่ยง เป็นทุกข์้ เป็นอนัตตา นั่นเรียกว่าการเจริญปัญญา หรือการทำวิปัสสนากรรมฐาน ถ้าเราทำได้ ๗ ประการนี้ มักน้อย สันโดษ วิเวกไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร มีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เจริญปัญญาอยู่ ธรรมะตัวที่ ๘ จะมา ความไม่เนิ่นช้า เราจะไม่เนิ่นช้า แต่ถ้าขาด(๗ ข้อ)ข้างหน้านี้ เนิ่นช้าแน่นอน เพราะงั้นบางคนทำไมภาวนาเร็ว บางคนภาวนาช้า ยุ่งกับคนอื่นทั้งวัน ยังไงก็ช้า ขี้เกียจไม่เคยภาวนาเลย ยังไงก็ช้า วันๆเอาแต่โลภนะ อยากโน่นอยากนี่ไปเลย ไม่เคยควบคุมความอยากของตัวเองเลย ยังไงก็ช้า ไม่ยอมเจริญสติเลย ยังไงก็ช้า จิตฟุ้งซ่านตลอดเลย ยังไงก็ช้า ไม่แยกรูปแยกนาม ไม่เห็นกายเห็นใจแสดงไตรลักษณ์ ยังไงก็ช้า เพราะงั้นถ้าเราทำธรรมะ ๗ ประการนี้ได้ มักน้อย สันโดษ ไม่คลุกคลี ปรารภความเพียร เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญา เราจะได้ธรรมะในเวลาอันไม่เนิ่นช้า ๗ วัน ๗ เดือน ๗ ปี มีจริงๆ ไม่ใช่ไม่มี งั้นพวกเราไปทำเอานะ ไปทำ ปรับพฤติกรรมที่ถ่วงตัวเองให้ไม่เจริญน่ะ เลิกๆไป แล้วก็ตั้งหน้าตั้งตาภาวนาไป เจริญสติไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น