วันอังคารที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2559

สมาธิที่ใช้ไม่ได้ นั่งแล้วเคลิ้มบ้าง นั่งแล้วเครียดบ้าง นั่งแล้วก็ฝันไปบ้างภาวนาจนยอมรับความจริงว่าตัวเราไม่มี ก็เป็นพระโสดาบัน ภาวนาต่อไปอีก รูปนี้ก็มีแต่ทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย เวทนานี้ก็เป็นทุกข์นะ ทั้งสุขทั้งทุกข์นี้แหละ เป็นสิ่งที่เสียดแทงใจทั้งสิ้นเลย ความสุขก็เสียดแทงจิตใจ ใครเห็นตัวนี้ได้บ้างแล้ว? ความสุขเป็นของเสียดแทงใจ ยกมือซิ... โอ้ สาธุนะ ไม่ใช่ง่ายนะ มีแต่คนเค้าวิ่งหาความสุข แต่เรารู้แล้วว่าความสุขเป็นเครื่องเสียดแทง เนี่ยเฝ้ารู้ไปนะจะเห็นเลย ไม่มีอะไร มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ใครเคยเห็นจิตที่ไหวๆเวลากระทบอารมณ์บ้าง? สังเกตไหมจิตมันไหวๆได้เอง ถ้าเราดูความไหวไปเรื่อยๆนะ ทั้งวัน ทั้งคืน ถ้าสติมันอัตโนมัติ มันเห็นความไหวอยู่ทั้งวันทั้งคืนนะ จะรู้เลยว่านอกจากทุกข์ ไม่มีอะไรเลย ทุกคราที่จิตไหว ทุกคราวของความทุกข์นั่นแหละ ใครเคยเห็นจิตไหวแล้วเป็นทุกข์ไหม ทุกข์ล้วนๆเลยนะ ทั้งวันทั้งคืนมีแต่ทุกข์เลย ไปดูหนัง จิตก็ไหว ก็ทุกข์อีก ไปฟังเพลง จิตไหว จิตก็ทุกข์อีก นั่งอยู่ดีๆลมพัดนะ กระทบผิวร่างกาย จิตก็ไหว แสงแดดส่องถูกเปลือกตา จิตก็ไหว ได้ยินเสียงพระเคาะระฆัง จิตก็ไหว แถมน้ำลายไหลด้วย (เสียงหัวเราะ) เนี่ยถ้าเราเห็นจิตที่ไหว ไหว ไหว ไหวนะ เวลามันกระทบอารมณ์แล้วไหวไปเรื่อยนะ จะเห็นเลย ทุกข์จริงๆเลย เพราะมันไหวทั้งวัน มันไหวทั้งคืนนะ สะเทือนอยู่อย่างนั้นน่ะ ธาตุขันธ์นี้สะเทือนนะ ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย สั่นสะเทือนอยู่ตลอดเวลาเลย ดูไปดูไปนะ โอ้ ทุกข์ทั้งนั้นเลย ทุกข์จนทนแทบไม่ไหวนะ ถ้าเมื่อไหร่รู้สึกทุกข์จนดูต่อไปจะไม่ไหวแล้ว ไม่ดูมันก็ไม่ได้มันเห็นตลอดเวลา ถ้ามันถึงจุดนี้นะ เวลาต้องการพักเนี่ย มีที่เดียวคือการทำสมถะนะ แต่ถ้าเห็นจิตไหวๆ แล้วก็หลงไปบ้าง แล้วมาเห็นไหวๆ อันนี้ไม่จำเป็นน่ะ ยังไม่เห็นทุกข์แท้จริง ตอนที่ไหวๆอยู่น่ะก็ทุกข์ ตอนที่เผลอไปไม่ทุกข์ เลยตอนหลังจิตจะน้อมไปทางเผลอ จิตจะน้อมไปทางไม่ดูทุกข์ ใครเคยเป็น ภาวนาแล้วจิตไปอยู่ว่างๆ ไม่ยอมดูกายดูใจ ไหนยกมือซิมีไหม... นี่เพราะว่ามันหนีทุกข์นะ วิธีเวลาถ้ามันไหวๆเราเห็นเป็นทุกข์เนี่ย ไม่ใช่หนีด้วยการทำไม่รับรู้มัน ทำเป็นไม่รับรู้มัน เราจะเวียนอยู่ในวัฏฏะไม่เลิก ถ้ามันไหวๆแล้วเราทนไม่ไหวแล้วนะ เหน็ดเหนื่อยมากนะ ทำความสงบจิต พอทำความสงบ ความไหวเนี่ยมันจะลดความรุนแรงลง พอมันลดความรุนแรง เราก็คอยรู้คอยดูไป เนี่ยมาเนิบๆมาช้าๆ พอดูไปดูไป มันก็จะค่อยเร็วขึ้นๆนะ ไหววิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืน ก็ทำความสงบเข้ามาอีก เนี่ยจิตจะมีแรง สุดท้ายจิตจะรู้เลยว่า มีแต่ทุกข์ทั้งนั้นเลย ความปรุงแต่งเกิดขึ้นทีไร ความทุกข์เกิดขึ้นทุกที ความปรุงแต่งทั้งหลายสงบเสียได้ ความพ้นทุกข์ก็เกิดขึ้น เคยได้ยินไหม “อนิจจา วะตะ สังขารา อุปปาทะวะยะธัมมิโน อุปปัชชิตวา นิรุชฌันติ เตสัง วูปะสะโม สุโขฯ” สังขารทั้งหลายสงบเสียได้เป็นสุข สังขารเนี่ยทำงาน ไหว วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนนะ วัฏฏะหมุนอยู่ในใจเราเนี่ย วิ้บๆๆๆ ทั้งวันทั้งคืนเลย เราเฝ้ารู้เฝ้าดูไป อย่าไปเกลียด อย่าไปหนีไป ถึงหนีมันนะมันก็ยังไหวอยู่อย่างนี้ แต่เราไม่เห็น เราไม่เห็นทุกข์เห็นโทษ ไม่หนีมัน ไม่น้อมใจไปว่างๆหนีมัน เห็นไหววับๆๆ ไปอย่างนี้ ถ้าทนไม่ไหวก็ทำความสงบเข้ามา มีกำลังใจมีเรี่ยวมีแรงแล้ว ดูมันอีก สติมันจะอัตโนมัตินะมันจะเห็นเนี่ย ไหวยิบยับๆ เห็นทั้งวัน มันเห็นทั้งวันเห็นทั้งคืนด้วย สมาธิ จิตตั้งมันอยู่ อันนี้เป็นสมาธิชนิดจิตตั้งมั่นถึงเห็นมันไหววิบวับ แล้วเวลาจะพักน่ะ ใช้สมาธิชนิดสงบ คือใช้สมถะ ไม่ใช่พักด้วยจิตที่ตั้งมั่นนะ แต่พักด้วยจิตที่สงบอยู่ในอารมณ์อันเดียวเป็นที่พัก งั้นสมถะเอาไว้พักผ่อน พอพักผ่อนพอสมควร มีเรี่ยวมีแรงสดชื่นแล้วก็มีจิตที่ตั้งมั่นแล้ว ดูธาตุดูขันธ์มันทำงาน ฝึกจนมันอัตโนมัติไปหมดเลยนะ สติระลึกถึงความไหวของจิตเนี่ย ทั้งวันทั้งคืนโดยที่ไม่เจตนา จิตก็ตั้งมั่นเป็นผู้รู้ผู้ดูนะ แถมยังได้รับความชุ่มฉ่ำของสมาธิของสมถะมาช่วยเหลือด้วย ใจไม่แห้งผากเกินไป ถ้าไม่มีสมถะช่วยด้วยจะแห้ง แห้งสุดขีดเลย แห้งผากเลยนะ เนี่ยอาศัยสิ่งเหล่านี้นะ ฝึกไปจนเป็นอัตโนมัติ พอมันอัตโนมัติแล้วคราวนี้เลิกไม่ได้ การปฏิบัตินะหยุดไม่ได้เลิกไม่ได้ แต่พักได้ด้วยสมถะ มีเท่านี้เอง เนี่ยทำมากเข้าๆ ปัญญามันพอนะ จิตมันรู้แจ้งเลยว่า จิตนี้เป็นทุกข์จริงๆ จิตนี้หาสาระแก่นสารไม่ได้ มีแต่ความไม่เที่ยง กระเพื่อมไหวอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา จิตนี้ทำงานเอง ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอะไร ถ้าได้อย่างนี้ มันรวมเข้ามานะ ก่อนที่มันจะเข้าใจเนี่ยจิตจะรวมเข้าอัปปนาสมาธิเลย ทั้งๆที่ชาตินี้ไม่เคยหัดเข้าฌานเลยนะ เนี่ยหัดเจริญสติอยู่อย่างพวกเราเนี่ย คอยดูไป ถึงเวลาทำในรูปแบบบ้างอะไรบ้างนะ ทุกวันทำไปเพื่อให้มีแรง แล้วก็เจริญสติดูกายดูใจมันทำงานไป พอถึงขั้นละเอียดมันจะถึงความไหว ยิบยับๆในจิตนี่แหละ ก็ดูไปเรื่อยถึงมันพอนะ จิตจะเข้าอัปปนาสมาธิเอง เข้ารวมมาเองเลย แล้วมันจะมาตัดกิเลสข้างในใจเรานี้ ถัดจากนั้นออกจากสมาธิมาแล้ว พ้นจากระบวนการของอริยมรรคอริยผลแล้ว ทบทวนดู กิเลสอะไรล้างแล้ว กิเลสอะไรยังไม่ล้าง แต่ตอนทบทวนต้องระวังอย่างหนึ่ง บางคนจิตรวมเข้าสมาธิแล้วมีอาการแปลกๆ นึกว่าเกิดมรรคผล ไม่เกิดนะ มันเป็นอาการหลอกต่างๆนานาซึ่งเยอะมากเลยที่จะหลอก พอออกมาแล้วเนี่ย จิตค้างสมาธิออกมาด้วย ออกจากสมาธิแล้วจิตค้างความนิ่งออกมา จิตจะนิ่งๆ อย่างสมมุติว่าจิตนิ่งอยู่อย่างนี้ทั้งวันเลย จะไม่มีกิเลสโผล่เลย แล้วบอกว่าดูแล้วไม่มีกิเลสแล้ว บรรลุแล้ว ที่จริงไม่ใช่หรอก ไปประคองจิตไว้ ไปรักษาจิตไว้ เมื่อเราไปประคองไว้นะ ไม่มีกิเลสนะ แต่พอปล่อยเท่านั้นล่ะ กิเลสจะมาเลย งั้นเวลาจะดูจิตว่าล้างกิเลสหรือยังนะ อย่าประคองจิตให้นิ่ง อย่าประคองจิตนะ ปล่อยจิตให้เป็นธรรมชาติ สมัยที่ยังภาวนาไม่เป็นอย่างนั้นเลย ปล่อยให้จิตมันทำงานปกติ ถ้าเห็นได้อย่างนั้นนะถึงจะดูตัวจริงออกว่ากิเลสนั้นยังมีหรือไม่มี กิเลสตัวไหนล้างแล้ว ตัวไหนยังไม่ล้าง จะเห็นด้วยตัวเองได้ แต่ถ้าประคองจิตนิ่งๆนะ แล้วก็บอกว่าดูแล้วไม่มี อันนั้นไม่ใช่นะ สำหรับผู้ที่ผ่านมรรคครั้งที่หนึ่งสองสาม อาสวะที่แหวกออกไปจะกลับเข้ามาห่อหุ้มปกคลุมจิต อย่างฉับพลัน ทีนี้ถ้าเราไม่นิ่งนอนใจ เราก็คอยรู้เท่าทันจิตใจของเราต่อไป เสร็จแล้วมันจะพ้นสติปัญญาเราไม่ได้หรอก ตัวผู้รู้เนี่ย บางท่านก็จะเห็นว่ามันไม่เที่ยง มันผ่องใสอยู่ ผ่องใสอยู่ทั้งวันทั้งคืนนะ ถึงจุดหนึ่งมันหมองได้ คือมันไม่เที่ยง บางท่านพอเห็นว่าไม่เที่ยงก็ปล่อยวางได้ อย่างนี้เรียกว่า เป็นประเภทหลุดพ้นที่เรียกว่า อนิมิตตวิโมกข์ เห็นแต่ว่าเกิดแล้วดับๆ ตัวผู้รู้ก็เกิดดับ บางท่านเห็นว่ามันเป็นทุกข์ พวกที่ทรงสมาธิมากๆ จะเห็นว่ามันเป็นทุกข์ เพราะถ้าท่านไม่เห็นว่าจิตผู้รู้เป็นทุกข์­นะ จะไม่ยอมปล่อย เพราะสมาธิมากตัวผู้รู้มีแต่ความสุขนะ ถ้าปัญญาแก่รอบจริงๆจะเห็นเลย เป็นตัวทุกข์ ทุกข์แบบไม่มีอะไรเหมือน พอเห็นว่าตัวผู้รู้ก็เป็นทุกข์ จิตมีอันเดียวนะ คือจิตที่เป็นทุกข์ มีแต่ทุกข์มากกับทุกข์น้อย ไม่ใช่ว่าจิตมีทุกข์บ้างสุขบ้าง แต่เดิมเคยเข้าใจว่าจิตนี้ ถ้ารู้ตัวเป็นผู้รู้แล้วมีความสุข ถ้าเป็นผู้หลงแล้วมีความทุกข์ เข้าใจผิด แต่เมื่อไรสติปัญญาแก่รอบ ตัวจิตเองนั้นแหละตัวทุกข์ล้วนๆ จะปล่อยวาง ตรงคำสอนของพระพุทธเจ้าแล้ว ท่านสอนบอกว่า ขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ เป็นทุกข์ล้วนๆนะ ไม่ใช่ทุกข์บ้างสุขบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น