วันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559

วิญญาณว่าด้วยสัทธานุสารี และธัมมานุสารีบุคคล กรุงสาวัตถี. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จักขุวิญญาณไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา โสตวิญญาณ ฯลฯ ฆานวิญญาณ ฯลฯ ชิวหาวิญญาณ ฯลฯกายวิญญาณ ฯลฯ มโนวิญญาณ ไม่เที่ยง มีอันแปรปรวนเป็นอย่างอื่นเป็นธรรมดา ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวซึ่งธรรมเหล่านี้อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่า สัทธานุสารี ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลายธรรมทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมควรเพ่งด้วยปัญญา โดยประมาณอย่างนี้แก่ผู้ใด เรากล่าวผู้นี้ว่า ธัมมานุสารี ฯลฯ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ผู้ใดรู้เห็นธรรมเหล่านี้ อย่างนี้ เรากล่าวผู้นี้ว่าเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงที่จะตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า. จบ วิญญาณสูตร พระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๓ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๕ มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ ๒๐. กีฎาคิริสูตร สูตรว่าด้วยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในนิคมชื่อกีฎาคิริ ๔. ตรัสอธิบายถึงบุคคล ( ผู้ได้บรรลุคุณธรรม ) ๗ ประเภท พร้อมทั้งแจกรายละเอียด ดังต่อไปนี้:- (๑) อุภโตภาควิมุต ผู้พ้นโดยส่วนทั้งสอง ( อรรถกถาอธิบายว่า พ้นทั้งแจกรูปกายด้วยอรูปกายด้วยอรูปสมาบัติพ้นจากนามกายด้วยมรรค) ได้แก่ผู้ ถูกต้อง วิโมกข์อันสงบระงับด้วยกาย ( คือนามกาย ) สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา (๒) ปัญญาวิมุต ผู้พ้นด้วยปัญญา ได้แก่ผู้ ไม่ได้ถูกต้อง วิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพราะเห็นด้วยปัญญา ทั้งสองประเภทนี้ไม่ต้องทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทำการด้วยความไม่ประมาทอยู่แล้ว ( คือเป็นพระอรหันต์อยู่แล้ว ไม่เป็นไปได้ที่จะประมาทอีก ). (๓) กายสักขี ผู้ถูกต้องผัสสะแห่งฌานก่อนแล้ว จึงทำให้แจ้งนิพพานในภายหลัง. ได้แก่ผู้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย แต่สิ่งสิ้นอาสวะเพียงบางส่วน (๔) ทิฏฐิปัตตะ ผู้บรรลุเพราะเห็นธรรมด้วยปัญญา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับ ด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน เห็นธรรมที่ตถาคตแสดงแล้วอย่างแจ่มแจ้งด้วยปัญญา (๕) สัทธาวิมุต ผู้พ้นเพราะศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน มีศรัทธาตั้งมั่นในตถาคต (๖) ธัมมานุสารี ผู้แล่นไปตามธรรมะ ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย สิ้นอาสวะเพียงบางส่วน เพ่งพอประมาณซึ่งธรรมะที่ตถาคตแสดงแล้วด้วยปัญญา (๗) สัทธานุสารี ผู้แล่นไปตามศรัทธา ได้แก่ผู้มิได้ถูกต้องวิโมกข์อันสงบระงับด้วยนามกาย มีศรัทธามีความรักในตถาคต. ตั้งแต่กายสักขีถึงสัทธานุสารี รวม ๕ ประเภท เป็นพระอริยบุคคลที่ยังไม่ถึงขั้นพระอรหันต์ พระผู้มีพระภาคยังทรงสอนให้ทำการด้วยความไม่ประมาท เพราะทรงเห็นผลของความไม่ประมาท. (หมายเหตุ: พระอริยบุคคล ๗ ประเภทนี้ กำหนดด้วยคุณสมบัติพิเศษทางจิตใจที่ต่างกันเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ มีอธิบายไว้พิสดารในคัมภีร์วิสุทธิมรรค และอรรถกถาทั่วไป ในที่นี้จึงแสดงไว้พอรู้จักชื่อและคุณสมบัติตามควร ). ที่มา พระไตรปิฎก ฉบับประชาชน (อ.สุชีพ ปุญญานุภาพ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น