วันเสาร์ที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

จิตจะวางการรับรู้ทางทวารทั้งห้าแล้วทวนกระแสเข้าหาธาตุรู้

วิถีแห่งความรู้แจ้ง


ความในใจ
เพื่อนนักปฏิบัติจำนวนมากให้ความรักความเมตตาแวะเวียนไปสนทนาธรรมกับผู้เขียนเสมอ ส่วนมากมักถามถึงแนวทางปฏิบัติที่ผู้เขียนดำเนินมา เป็นเหตุให้ผู้เขียนต้องพูดคุยในเรื่องเดิมๆ อยู่แทบทุกวัน ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อทุ่นแรงตนเอง หากเพื่อนนักปฏิบัติท่านใดต้องการทราบแนวทางปฏิบัติของผู้เขียน อ่านแล้วคงพอทราบได้ จะช่วยให้การสนทนาสั้นลง เป็นการประหยัดเวลาได้ทั้งสองฝ่าย

พระปราโมทย์ ปาโมชโช วันที่ 30 กรกฎาคม 2545

ใจความ
1. สิ่งใดคือจุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา  -  ความพ้นทุกข์สิ้นเชิง

2. ความทุกข์คืออะไร  -  ความไม่สบายกาย และความไม่สบายใจ หรือทุกข์ที่เนื่องด้วยกาย และทุกข์ที่เกิดจากจิต เช่นความแก่ เจ็บ ตาย การเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบ การพลัดพรากจากสิ่งที่ชอบ ว่าโดยย่ออุปาทานขันธ์(ภพ)คือทุกข์

3. ความทุกข์เกิดจากอะไร  -  ตัณหา ซึ่งมีที่มาจากความไม่เข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ (อวิชชา)

4. ทางแห่งความดับทุกข์  -  มรรคมีองค์ 8 หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา ย่อลงเป็นการเจริญสติ ซึ่งเป็นเครื่องมือเฝ้าสังเกตการณ์จนเข้าใจความเป็นจริงของธรรมชาติ เมื่อเห็นตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย คลายกำหนัดแล้วหลุดพ้น และย่อมรู้ว่าหลุดพ้นจากกิเลสและทุกข์แล้ว

5. การเจริญสติคืออะไร  -  คือการระลึกรู้ (ข้อ 6) ถึงสภาวธรรม(ข้อ 7)ที่กำลังปรากฏ(ข้อ 8) ตามความเป็นจริง(ข้อ 9)

6. การระลึกรู้ทำอย่างไร  -  แทบทุกคนระลึกรู้ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ แค่รู้ไปตามธรรมชาติโดยไม่เติมแต่งสิ่งใดลงไปในการรู้นั้น ก็จะรู้สภาวธรรมได้ / สภาวธรรมรู้ง่ายกว่าที่คิดไว้มากนัก

7. สภาวธรรมคืออะไร  -  คือรูปธรรมและนามธรรมอันเป็นปรมัตถธรรมที่ประกอบกันขึ้นเป็นร่างกายจิตใจอันเป็นที่ตั้งแห่งกองทุกข์นี้ ไม่ใช่สิ่งที่เป็นความคิดฝันหรือจินตนาการเอาเอง

8. ที่กำลังปรากฏหมายถึงอะไร  -  หมายถึงสภาวธรรมที่ปรากฏเป็นอารมณ์ปัจจุบันในขณะจิตต่อหน้านี้ ผู้ปฏิบัติต้องไม่หน่วงอาลัยถึงสภาวธรรมในอดีต และไม่กังวลถึงสภาวธรรมในอนาคต

9. ตามความเป็นจริงหมายถึงอะไร  -  หมายถึงรู้สภาวะตรงตามที่มันเป็น และไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะเหล่านั้นด้วยความอยาก(ตัณหา) และความเห็นผิด(ทิฏฐิ)

10. ระลึกรู้แล้วได้อะไร  -  1. ได้ความอยู่เป็นสุขในปัจจุบันของจิตผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน 2. ได้ความละอายและเกรงกลัวต่อบาป 3. ได้ความสมบูรณ์แห่งศีล 4. ได้ความตั้งมั่นของจิตหรือสัมมาสมาธิ 5. ได้สัมมาทิฏฐิ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และเข้าใจธรรมชาติ 6. ได้ความเบาบางจางคลายจากความยึดถือทั้งหลาย และ 7. ได้ความหลุดพ้นและความรู้เกี่ยวกับความหลุดพ้น



ขยายความ



1. จุดมุ่งหมายของพระพุทธศาสนา

1.1 พระพุทธศาสนาเป็นศาสตร์แขนงหนึ่งที่มุ่งตอบปัญหาที่ว่า ทำอย่างไรเราจะเข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้

1.2 คนทั้งหลายมักมองข้ามเรื่องความพ้นทุกข์ เพราะไม่เห็นความจริงของชีวิตว่า ที่เราต้องดิ้นรนกระเสือกกระสนอยู่ทุกวันนี้ ก็เพื่อหนีทุกข์กันทั้งนั้น แม้แต่การศึกษาศาสตร์สาขาอื่นๆ ก็ด้วยความหวังว่า จะได้ใช้เป็นวิชาชีพ หรือสร้างความบันเทิงใจ หรือเป็นประโยชน์อย่างอื่น อันเป็นการผ่อนคลายความทุกข์ของชีวิตนั่นเอง ซึ่งศาสตร์เหล่านั้นเป็นสิ่งจำเป็นควรแก่การศึกษา แต่หากเข้าใจพุทธศาสตร์ซึ่งมุ่งแก้ทุกข์โดยตรงด้วย ก็ย่อมช่วยให้ชีวิตมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

1.3 บางคนอาจมองเลยไปอีกว่า พระพุทธศาสนามองโลกแง่ร้ายเกินไป คือมองว่าชีวิตมีแต่ความทุกข์ ประเด็นนี้ต้องขอแขวนไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพราะถ้าอธิบายกันในขณะนี้ก็จะกลายเป็นข้อถกเถียงทางปรัชญาไป



2. ความทุกข์คืออะไร

2.1 พระพุทธศาสนามองความทุกข์ไว้อย่างลึกซึ้งและหลายแง่มุม มากกว่าความทุกข์ที่พวกเรารู้จักกันทั่วๆ ไป กล่าวคือ

2.1.1 ทุกขเวทนา คือความทุกข์ทั่วไปที่พวกเรารู้จักกันอยู่แล้ว ได้แก่ความทุกข์กายทุกข์ใจนั่นเอง สำหรับผู้ที่ไม่เคยเจริญสติอาจรู้สึกว่า นานๆ ทุกขเวทนาจึงเกิดขึ้นสักครั้งหนึ่ง แต่ผู้ที่เจริญสติอยู่จะพบว่า ทุกขเวทนาเกิดขึ้นบ่อยมาก เช่นถ้าเรามีสติรู้กายอยู่ จะพบว่าความทุกข์เหมือนสัตว์ร้ายที่วิ่งตามทำร้ายเราอยู่ตลอดเวลา ทำให้ต้องคอยเปลี่ยนอิริยาบถ ต้องกิน ต้องดื่ม ต้องขับถ่าย ต้องเช็ดล้าง ต้องเกา ฯลฯ แทบไม่ได้หยุดพักเลย บางคราวมีความป่วยไข้อันเป็นความบีบคั้นที่รุนแรง และท้ายที่สุดเมื่อหมดกำลังวิ่งหนีทุกข์ เราก็จะถูกความทุกข์ทำร้ายเอาจนตาย

ยามใดที่ทุกขเวทนาบรรเทาลง เราจะรู้สึกว่าเป็นสุข แต่ไม่นานเลย ความทุกข์ก็ตามมาทันอีกคราวหนึ่ง

หากมีสติรู้อยู่ที่จิตใจก็จะพบว่า จิตของเราเกิดความเครียดขึ้นแทบตลอดเวลา ยามใดมีความเครียดน้อยลงก็รู้สึกเป็นสุข ยามใดมีความเครียดมากขึ้นก็รู้สึกเป็นทุกข์

2.1.2 ทุกขลักษณะ ทุกข์ชนิดนี้ไม่ใช่ความทุกข์ในความหมายทั่วไปที่ใครๆ ก็รู้จัก แต่มันเป็นลักษณะทั่วไปของสิ่งที่เป็นสังขาร(คือร่างกายจิตใจและสิ่งปรุงแต่งทั้งหลาย) ที่ว่า สังขารทั้งหลายไม่อาจคงทนอยู่ได้ตลอดไป ดังนั้น ตามความหมายนี้ กระทั่งความสุขก็มีลักษณะเป็นความทุกข์เช่นกัน คือมีความทนอยู่ไม่ได้ เรื่องทุกขลักษณะนี้จะเห็นชัดขึ้น เมื่อได้ลงมือเจริญสติแล้ว ในชั้นนี้จึงควรทราบไว้เพียงนี้ก่อน

2.1.3 ทุกขสัจจ์ ทุกข์ชนิดนี้เป็นทุกข์ที่ลึกซึ้งกว่าทุกข์อย่างอื่น เพราะเป็นการมองความทุกข์อย่างพระอริยบุคคล หากเราฟังธรรมอย่างผิวเผินอาจรู้สึกว่าทุกขสัจจ์ไม่ใช่เรื่องที่ลึกซึ้งอะไรนัก เพราะพระพุทธเจ้าทรงสอนว่า ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย เป็นทุกข์ การประสบกับสิ่งที่ไม่รัก การพลัดพรากจากสิ่งที่รัก และความไม่สมปรารถนา เป็นทุกข์ ความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน ความไม่สบายกาย ความไม่สบายใจ ความคับแค้นใจ ก็เป็นทุกข์ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ใครๆ ก็ทราบว่าเป็นความทุกข์เช่นกัน

ความลึกซึ้งของทุกขสัจจ์อยู่ตรงที่ว่า

2.1.3.1 มีสภาวะที่เป็นทุกข์ แต่ไม่มีผู้เป็นทุกข์ เพราะพระอริยบุคคลย่อมเห็นความจริงว่า ในโลกนี้ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่ธรรมชาติบางอย่างที่มารวมตัวกันเข้าชั่วคราว แล้วโลกสมมุติเรียกว่าสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา เท่านั้นเอง ซึ่งธรรมชาติที่ว่านั้นก็คือรูป(ธรรม)และนาม(ธรรม)ทั้งหลายนั่นเอง

2.1.3.2 ลำพังมีรูปและนามมาประกอบกันแล้ว ก็ยังไม่ทำให้ทุกข์เกิดขึ้น ต่อเมื่อมีความอยากและความยึดมั่นเกิดขึ้นแล้วนั่นแหละ ทุกข์จึงเกิดขึ้น กล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อเกิดความอยาก/ความยึดถือก็เกิดภพหรือความมี/ความเป็นขึ้นมา แล้วก็ต้องทุกข์เพราะความมี/ความเป็นนั้น เช่นเมื่อยึดรูปนามกลุ่มหนึ่งว่าเป็นตัวเรา และยึดรูปนามกลุ่มอื่นว่าเป็นสามี/ภรรยาของเรา ก็จะต้องทุกข์เพราะความเป็นภรรยา/สามี ถ้าเป็นนักศึกษาก็ทุกข์อย่างนักศึกษา เป็นอาจารย์ก็ทุกข์อย่างอาจารย์ เป็นพ่อแม่ก็ทุกข์อย่างพ่อแม่ เป็นนักปฏิบัติธรรมก็ทุกข์อย่างนักปฏิบัติธรรม เป็นต้น พระพุทธเจ้าท่านจึงทรงสอนว่า ภพ(อุปาทานขันธ์)ทั้งปวง ล้วนแต่เป็นทุกข์ทั้งสิ้น

การเจริญสติเป็นทางสายเดียวที่จะทำให้เรารู้แจ้งถึงสัจจธรรมเหล่านี้ได้

2.2 ความทุกข์ที่พระพุทธศาสนาสอนให้มุ่งปฏิบัติเพื่อให้พ้นไปในเบื้องต้นได้แก่ความทุกข์ทางใจที่เกิดจากความถือมั่นในรูปธรรมและนามธรรมทั้งปวง หรือทุกขสัจจ์นี่เอง ซึ่งความยึดมั่นถือมั่นเกิดจากความไม่เข้าใจลักษณะที่แท้จริงของรูปและนามที่ว่าไม่เที่ยง เป็นทุกข์(ลักษณะ) และเป็นอนัตตา ส่วนทุกขเวทนาทางกายในชาติปัจจุบันเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จำเป็นต้องแก้ไขตามสถานการณ์เป็นคราวๆ ไป โดยอยู่ในสภาพที่ว่า แม้กายทุกข์ แต่ใจไม่ทุกข์ด้วย



3. ความทุกข์เกิดจากอะไร

3.1 ทุกขสัจจ์เกิดจากสมุทัย ซึ่งได้แก่ตัณหาหรือความทะยานอยากของจิตที่รักสุขและเกลียดทุกข์ จึงเข้าไปยึดถือรูปและนามทั้งปวง เพราะอยากให้มี หรือเป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อให้มีสุข หรือไม่อยากให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อหนีทุกข์

3.2 ความอยากเกิดขึ้นก็เพราะความไม่รู้จักธรรมชาติตามความเป็นจริงว่า (1) ในธรรมชาติไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่รูปและนามเท่านั้น กระทั่งตัวเราก็ไม่มีอยู่จริง (2) รูปและนามมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ ไม่อยู่ในบังคับของใคร (3) รูปและนามมีเหตุปัจจัยให้เกิด ต้องแปรปรวนไปตามเหตุ และถ้าเหตุดับมันก็ดับ  (4) ความยึดถือในรูปและนามจะนำทุกข์มาให้ (5) ความไม่ยึดถือรูปและนามว่าเป็นตัวตนของตนจะทำให้ความทุกข์ไม่เกิดขึ้น เพราะปราศจากตัวตนที่จะเข้าไปรองรับความทุกข์ทั้งหลาย

3.3 สรุปแล้ว ความทุกข์เกิดจากจิตเข้าไปหลงอยากหลงยึดในรูปและนาม ที่จิตหลงอยากหลงยึด ก็เพราะจิตไม่รู้ความเป็นจริงของธรรมชาติทั้งหลายนั่นเอง



4. ทางแห่งความดับทุกข์

4.1 เมื่อทราบแล้วว่าความทุกข์เกิดจากอะไร ย่อมไม่เป็นการยากที่จะทำความเข้าใจว่า ความดับทุกข์เกิดจากอะไร ซึ่งก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการดับความอยาก(ตัณหา) โดยแก้ที่ความหลงผิดหรือความไม่รู้จักธรรมชาติที่แท้จริงนั่นเอง สมดังพระพุทธวัจนะที่ว่า เมื่อรู้ตามความเป็นจริงย่อมเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด(โลภะ/ตัณหา) เมื่อคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นย่อมรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว ชาติ(ความเกิด)สิ้นแล้ว พรหมจรรย์(การศึกษาปฏิบัติธรรม)อยู่จบแล้ว

4.2 การจะให้จิตรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ การมีสติ (ในบทความนี้ สติหมายถึงสติและสัมปชัญญะ แต่ที่ไม่ได้แยกแยะรายละเอียดของสติกับสัมปชัญญะในชั้นนี้ ก็เพราะต้องการให้ผู้แรกสนใจพระพุทธศาสนา ศึกษาได้โดยไม่ซับซ้อนนัก)เฝ้าระลึกรู้ สภาวธรรม ที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริง นี่เป็นเหตุผลที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว ทำนองเดียวกับเมื่อเราอยากเห็นรูปภาพตรงหน้า เราก็ลืมตาขึ้นดูตรงๆ เลยทีเดียว ทั้งนี้ พระศาสดาทรงยืนยันว่า การเจริญสตินี้แหละคือทางสายเดียวที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ เพราะการถอดถอนตัณหาและทิฏฐิ(ความเห็นผิดจากความจริง)ในโลกคือรูปนามเสียได้

4.3 พวกเราบางคนได้ยินคำสอนที่ว่า ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ได้แก่การเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 รวบย่อลงมาก็คือการศึกษาปฏิบัติในเรื่องศีล สมาธิ และปัญญา สิ่งที่ได้ยินมานี้ถูกต้องเช่นกัน แต่ควรทำความเข้าใจให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า การเจริญอริยมรรคหรือการรักษาศีล การทำสมาธิ และการเจริญปัญญา ชนิดไหนที่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง และชนิดไหนไม่เกื้อกูลต่อความรู้แจ้ง

4.4 แท้จริงการบำเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลาย เป็นสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงยกย่อง พระองค์เองก็ทรงบำเพ็ญบารมีมามากมายก่อนที่จะตรัสรู้(เข้าใจธรรมตามความเป็นจริงด้วยพระองค์เอง) เช่นทรงบำเพ็ญทานอย่างยิ่งยวดเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระเวสสันดร บางชาติทรงถือศีลแบบยอมสละชีวิต บางชาติทรงทำสมาธิจนได้อภิญญา 5 เมื่อตายแล้วได้ไปเกิดในพรหมโลก บางชาติเช่นพระชาติที่เป็นมโหสถบัณฑิตก็ทรงสะสมปัญญาบารมีอย่างยิ่งยวด แต่เหตุใดพระองค์จึงไม่ทรงตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในพระชาติเหล่านั้น กลับมาทรงตรัสรู้เอาในพระชาติสุดท้าย และทรงตรัสรู้ด้วยการเจริญอานาปานสติ จริงอยู่ถ้าพระองค์ไม่ทรงบำเพ็ญพระบารมีให้เต็มเปี่ยม พระองค์ย่อมไม่สามารถตรัสรู้ได้ด้วยพระองค์เอง แต่ถ้าทรง

บำเพ็ญพระบารมีโดยไม่ทรงเจริญสติ พระองค์ก็ทรงตรัสรู้ไม่ได้เช่นกัน ทั้งนี้เพราะการบำเพ็ญบารมีทั้งหลาย เป็นการปรับพื้นฐานทางจิตใจของพระองค์ให้พร้อมสำหรับการแสวงหาหนทางเจริญสตินั่นเอง ตัวอย่างเช่น เพราะพระองค์เคยฝึกสละพระโอรสธิดาและพระชายาเพื่อพระโพธิญาณในพระชาติที่เป็นพระเวสสันดรมาแล้ว จึงทรงเข้มแข็งพอที่จะสละพระนางพิมพาและพระราหุลซึ่งเป็นที่รักยิ่ง เพื่อไปแสวงหาพระโพธิญาณ เป็นต้น

4.5 การทำความดีทั้งหลาย ทั้งทาน ศีล สมาธิ และการเจริญปัญญาบางระดับ ไม่ได้เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม เพียงแต่นำความสุขมาให้ด้วยกุศลวิบากหรือผลแห่งความดีเท่านั้น และบางกรณีเมื่อทำความดีอยู่ จิตกลับพลิกไปเป็นอกุศลก็ได้ด้วย ตัวอย่างเช่น

4.51 การทำทาน หากทำโดยไม่ประกอบด้วยสติปัญญาก็อาจเป็นการพอกพูนกิเลสให้หนาหนักยิ่งขึ้น เช่นทำไปด้วยมิจฉาทิฏฐิว่า "เรา" ทำทานแล้ว เมื่อ "เรา" เกิดในชาติต่อไป "เรา" จะได้เสวยผลทานนี้ หรือเราจะได้บรรลุมรรคผลนิพพานเพราะการทำทานนี้ หรือทำไปด้วยความโลภว่า เราทำทานนี้ ขอให้ได้รับดอกผลมากมายอย่างนี้ๆ เป็นต้น

4.5.2 การถือศีล หากไม่มีสติปัญญากำกับย่อมเป็นการง่ายที่ผู้ถือศีลจะกลายเป็นการถือศีลในลักษณะสีลัพพตปรามาส(ถือศีลบำเพ็ญพรตอย่างงมงาย) เช่นหลงผิดว่า การบำเพ็ญข้อวัตรที่กดข่มจิตใจมากๆ จะทำให้กิเลสเบาบางลง หรือยิ่งถือศีลก็ยิ่งพอกพูนกิเลส เช่นเกิดมานะมากขึ้น คือเกิดความสำคัญมั่นหมายว่า เราดีกว่าคนอื่นเพราะเราถือศีล ส่วนคนอื่นเลวกว่าเราเพราะไม่มีศีล เป็นต้น

4.5.3 การทำสมาธิ หากไม่ประกอบด้วยสติปัญญา ยิ่งทำสมาธิจิตยิ่งน้อมเข้าหาความสงบหรือความสุขสบาย หรือเกิดมิจฉาทิฏฐิคือความเห็นผิดมากขึ้นๆ ด้วยอำนาจของโมหะและราคะ เช่นทำสมาธิแล้วเกิดความเคลิบเคลิ้มขาดสติ หรือเกิดนิมิตต่างๆ มากมาย บางคนถึงขนาดเห็น"นิพพาน"เป็นบ้านเมืองหรือเป็นดวงแก้ว บางคนเกิดความรู้ความเห็นต่างๆ แล้วหลงภูมิใจอยู่กับความรู้เหล่านั้น เป็นต้น

4.5.4 การเจริญปัญญา หากไม่ประกอบด้วยปัญญาสัมมาทิฏฐิ จำแนกไม่ออกระหว่างสมถะกับวิปัสสนา ก็เป็นการง่ายที่จะหลงทำสมาธิแล้วคิดว่ากำลังเจริญปัญญาอยู่ เช่นบางท่านมุ่งใช้ความคิดพิจารณาสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา วัตถุสิ่งของ ผู้คน ฯลฯ ให้เป็นไตรลักษณ์ การกระทำเหล่านั้นเป็นเพียงการทำสมถกรรมฐาน เป็นไปเพื่อความสงบของจิต บางครั้งแทนที่จะเกิดความสงบ อาจเกิดความฟุ้งซ่านแทนก็ได้ บางคนยิ่งคิดพิจารณาไตรลักษณ์ มานะอัตตากลับยิ่งพอกพูนขึ้นก็มี ทั้งนี้เพราะไตรลักษณ์นั้น คิดเอาไม่ได้ แต่ต้องประจักษ์ชัดถึงสภาวะที่แท้ของรูปธรรมและนามธรรม ด้วยความมีสติ และด้วยจิตที่มีความตั้งมั่น(สัมมาสมาธิ) จึงจะเห็นไตรลักษณ์ด้วยปัญญาได้จริง

4.6 การทำความดีที่เกื้อกูลต่อการรู้ธรรม ต้องเป็นการทำดีที่เกื้อกูลต่อการเจริญสติที่ถูกต้อง หรือเจืออยู่ด้วยสติปัญญาในขณะที่ทำความดีนั้น เช่น

4.61 การทำทาน ควรมีสติปัญญากำกับจิตใจของตนไว้ ทั้งก่อนทำ ระหว่างทำ และหลังทำ หากเป็นการกระทำด้วยศรัทธาที่ประกอบด้วยปัญญา ทำแล้วตนเองหรือผู้อื่นไม่เดือดร้อนก็ควรทำตามความเหมาะสม หรือทำแล้วจิตใจแช่มชื่นเบิกบาน ก็มีสติระลึกรู้ความสุขความเบิกบานนั้นไป การทำทานจึงเป็นเครื่องมือฝึกการเจริญสติได้เหมือนกัน แต่ถ้าทำด้วยความเมาบุญด้วยอำนาจโลภะและโมหะ ทานนั้นก็ไม่เกื้อกูลใดๆ ต่อการเจริญสติ

4.6.2 การรักษาศีล ศีลบริสุทธิ์ได้ยาก หากไม่มีสติกำกับอยู่ที่จิต แต่หากมีสติกำกับรู้อยู่ที่จิตใจตนเอง ศีลชนิดที่เรียกว่า อินทรียสังวรศีล ย่อมเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ กล่าวคือเมื่อโทสะเกิดขึ้นก็มีสติรู้ว่าโทสะเกิดขึ้น โทสะย่อมครอบงำจิตไม่ได้ ศีลข้อ 1 ก็เกิดขึ้นเต็มบริบูรณ์เพราะจิตไม่คิดฆ่าหรือทำร้ายใคร ถ้าโลภะเกิดขึ้นแล้วมีสติรู้ทัน ย่อมไม่ทำผิดศีลข้อ 2 และข้อ 3 โดยอัตโนมัติ เป็นต้น

4.6.3 การทำสมาธิ สัมมาสมาธิหรือความตั้งมั่นของจิตเป็นองค์ประกอบหนึ่งของอริยมรรคมีองค์ 8 ดังนั้นสมาธิในพระพุทธศาสนาจึงต้องประกอบด้วยองค์มรรคอื่นๆ ด้วย เช่นต้องมีสติและปัญญากำกับอยู่เสมอ สมาธิที่ขาดสติปัญญา เป็นสมาธิที่ให้ความสุขหรือของเล่นอื่นๆ ได้ก็จริง แต่ไม่มีประโยชน์ต่อการเจริญสติ เพราะจิตไม่ตั้งมั่นจริง และเมื่อจิตไม่ตั้งมั่น ศีลและปัญญาก็ไม่อาจเกิดให้บริบูรณ์ได้

4.6.4 การเจริญปัญญา การเจริญปัญญาที่ถูกถ้วนสมบูรณ์ที่สุดจะกล่าวในหัวข้อเกี่ยวกับการเจริญสติต่อไป ส่วนในหัวข้อนี้จะกล่าวเฉพาะการเจริญปัญญาในขั้นต้น ได้แก่การศึกษาปริยัติสัทธรรม ซึ่งขาวพุทธแม้จะเป็นนักปฏิบัติก็ไม่ควรทอดทิ้ง อย่างน้อยควรเรียนให้รู้หลักการขั้นพื้นฐานของพระพุทธศาสนาไว้บ้าง มิฉะนั้นอาจกลายเป็นผู้นับถือลัทธิศาสนาอื่นๆ ทั้งที่คิดว่าตนเป็นชาวพุทธก็ได้

4.7 การเจริญศีล สมาธิ ปัญญา ซึ่งดูว่ามีหลายอย่างนั้น ถ้าเจริญสติได้ถูกต้อง ศีล สมาธิและปัญญาจะเกิดขึ้นเอง เช่นในหนังสืออรรถกถาธรรมบท กล่าวถึงภิกษุรูปหนึ่งไปทูลลาสิกขาจากพระพุทธเจ้าเพราะรักษาศีลจำนวนมากไม่ไหว พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ท่านเจริญสติแทนการตามรักษาศีลจำนวนมาก ท่านทำแล้วสามารถทำศีลของท่านให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้ ทั้งยังบรรลุมรรคผลนิพพานได้ด้วย หรือหากเรามีสติจนสามารถระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏได้จริงๆ ในขณะนั้นเราจะเกิดสัมมาสมาธิโดยอัตโนมัติ คือจิตจะเกิดความตั้งมั่นแล้วมีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏโดยไม่เข้าไปหลงแทรกแซง สิ่งที่ตามมาก็คือปัญญาที่รู้จักสภาวะของรูปและนาม รู้ถึงความเป็นไตรลักษณ์ของรูปและนาม และรู้ได้แม้กระทั่งอริยสัจจ์ 4 ปัญญาเหล่านี้เกิดจากการเจริญสติด้วยจิตที่มีสัมมาสมาธิทั้งสิ้น ดังนั้นจะกล่าวว่า การปฏิบัติตามทางแห่งความพ้นทุกข์ จะต้องเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 ก็ได้ ย่อลงมาเป็นการเจริญไตรสิกขาคือศีล สมาธิและปัญญาก็ได้ หรือถ้าย่อลงให้ถึงที่สุด การเจริญสตินั้นแหละคือการเจริญไตรสิกขาและมรรคมีองค์ 8



5. การเจริญสติคืออะไร

5.1 ดังที่ได้กล่าวแล้วว่า พระพุทธศาสนาอธิบายว่า ความทุกข์เกิดจากความอยากและความยึดถือในรูปและนาม ซึ่งมีรากเหง้ามาจากความไม่รู้สภาวธรรม(รูปนาม)ทั้งหลายตามความเป็นจริง ดังนั้นการที่จะทำลายความอยากและความยึดถือในรูปนามทั้งหลาย จึงต้องขจัดความไม่รู้ ด้วยการมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับรูปนามนั้น

5.2 การทำปัญญาหรือความรู้ให้เกิดขึ้นนั้น พวกเราเคยชินที่จะเรียนรู้ด้วยวิธีการเก่าๆ ได้แก่ (1) การรับถ่ายทอดความรู้หรือประสบการณ์ของผู้อื่นด้วยการอ่านและการฟัง และ (2) การขบคิดใคร่ครวญในเรื่องนั้นๆ ซึ่งวิธีการทั้ง 2 นี้ใช้ได้สำหรับการเรียนรู้วิชาการอื่นๆ แต่การทำความเข้าใจพระพุทธศาสนา จำเป็นต้องอาศัยการหาความรู้โดยอีกวิธีการหนึ่ง เพิ่มเติมจาก 2 วิธีแรกคือ (3) การเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของรูปและนามตามความเป็นจริง ทั้งนี้เพราะการรับฟังความรู้ของท่านผู้อื่นให้เราได้เพียงความจำ ส่วนการคิดให้เราได้เพียงความคิด ทั้งความจำและความคิดอาจไม่ใช่ความจริงก็ได้ แต่ทั้งนี้ในเบื้องต้น เราต้องศึกษาหลักธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้าด้วยการอ่านและการฟัง แล้วนำมาคิดใคร่ครวญเพื่อให้รู้ถึงแนวทางของการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของรูปและนามได้อย่างถูกต้องต่อไป

5.3 การแสวงหาความรู้ด้วยการอ่าน การฟัง และการคิด เป็นเรื่องธรรมดาๆ ที่พวกเรารู้จักกันดีอยู่แล้ว ในที่นี้จึงจะข้ามไปกล่าวถึงการแสวงหาความจริงด้วยการเจริญสติ อันได้แก่ การเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ของรูปและนาม โดย การระลึกรู้ (ข้อ 6) ถึงสภาวธรรม(ข้อ 7)ที่กำลังปรากฏ(ข้อ 8) ตามความเป็นจริง(ข้อ 9)



6. การระลึกรู้ทำอย่างไร

6.1 มนุษย์โดยทั่วไปสามารถระลึกรู้ปัจจุบันอารมณ์ได้อยู่แล้วตามธรรมชาติ เช่นในขณะนี้ยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอนก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความสุข หรือความทุกข์ หรือเฉยๆ ก็ทราบได้ ในขณะนี้มีความรัก โลภ โกรธ หลง สงสัย ฟุ้งซ่าน หดหู่ เกียจคร้าน ศรัทธา วิริยะ หรือมีความสงบ ฯลฯ ก็ทราบได้ แต่ มนุษย์ละเลยที่จะเฝ้ารู้อารมณ์เหล่านั้น รวมทั้งนึกไม่ถึงด้วยว่าการเจริญสติที่แท้จริง ก็คือการใช้จิตใจที่เป็นธรรมชาติธรรมดานี้เองไปรู้อารมณ์ แต่มักเกิดความเข้าใจผิดว่า การเจริญสติหรือการระลึกรู้นั้น เป็นสภาพอะไรอย่างหนึ่งที่พิเศษเหนือธรรมดา ดังนั้นแทนที่จะใช้จิตใจธรรมดาไปรู้อารมณ์ พวกเรากลับพยายามสร้าง "รู้" แบบผิดธรรมดาขึ้นมาแทน

6.2 การบ่งชี้สภาวะว่า การมีสติ หรือการมี รู้ ที่ถูกต้องเป็นอย่างไรนั้น เป็นเรื่องยากมาก เพราะเพียงแต่เราเติมความคิดเห็นของเราลงไปว่ามันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ เราก็จะเริ่มเข้าใจผิดทันที แต่หากเรามาพูดกันถึงสภาวะของการรู้ที่ไม่ถูกต้องเสียก่อน (ซึ่งล้วนแต่เกิดจากตัณหาหรือความอยาก และทิฏฐิหรือความเห็นผิดทั้งหลาย) เราก็จะเข้าใจถึงสภาวะรู้ที่ถูกต้องได้ไม่ยากนัก สภาวะผิดพลาดที่สำคัญได้แก่

6.2.1 รู้ ไม่ใช่ไม่รู้ (เผลอ/ลืมตัว) 

6.2.1.1 สภาวะรู้ เป็นสิ่งที่ตรงข้ามกับสภาวะไม่รู้ อันได้แก่ความเหม่อ ความเผลอความลืมตัว ความใจลอย หรือความฝันกลางวัน นั่นเอง เป็นสภาวะของการปล่อยจิตใจให้หลงเพลิดเพลินไปตามอารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย แม้กระทั่งเพลินไปในโลกของความคิดฝันและจินตนาการของตนเอง ตัวอย่างเช่นเมื่อตามองเห็นรูปบางอย่างแล้วเกิดจำได้ว่านั่นเป็นรูปผู้หญิงสวย/ผู้ชายหล่อ ก็มัวหลงเพลินมองตามอย่างลืมเนื้อลืมตัว หรือเมื่อนั่งอยู่คนเดียว ก็ใจลอยคิดฟุ้งซ่านไปเรื่อยๆ โดยไม่รู้ชัดว่าคิดอะไร เป็นต้น

6.2.1.2 สภาวะที่เรียกว่าเผลอหรือลืมตัวนี้ เป็นสภาวะที่เราลืมร่างกายของตนเองเหมือนกับว่ามันหายไปจากโลก รวมทั้งลืมจิตใจของตนเอง คือในขณะนั้นจิตใจจะมีสุขหรือทุกข์ จะดีหรือชั่วอย่างไรก็ไม่สามารถจะรู้ได้ กล่าวได้ว่าในเวลาที่เราเผลอหรือขาดสตินั้น เราไม่สามารถรู้กาย เวทนา จิต และธรรมได้นั่นเอง

6.2.1.3 ขณะใดที่เราเผลอ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเผลออยู่ ขณะนั้นความเผลอจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังเผลอ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.2 รู้ ไม่ใช่คิด 

6.2.2.1 สภาวะรู้ ไม่เหมือนกับสภาวะคิด ในขณะที่คิดนั้น เรารู้เรื่องที่กำลังคิดเป็นอย่างดี แต่เราลืมตัวเองคล้ายกับเวลาที่เผลอนั่นเอง การรู้เป็นการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ต่างๆ ตามที่มันเป็นจริง ในขณะที่การคิด เป็นการคาดว่าความจริงมันน่าจะเป็นอย่างไร (แต่ทั้งนี้หากมีกิจจำเป็นต้องคิด เช่นต้องคิดเพื่อการเรียนหรือการทำงาน เราก็ต้องคิดไปตามหน้าที่ของตน)

6.2.2.2 นักปฏิบัติจำนวนมากไม่เข้าใจการเจริญสติ โดยมีความสำคัญผิดว่าการคิดหรือการตรึกตรองเรื่องกายและใจตนเอง ว่า "เป็นอสุภะ ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา" เป็นการทำวิปัสสนา แท้จริงการเจริญสติหรือการเจริญวิปัสสนาจะต้องรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ไม่ใช่การคิดถึงสภาวธรรมนั้นๆ เพราะความคิดของปุถุชนย่อมปนเปื้อนด้วยอคติเสมอๆ หรือคิดอยู่ในจุดยืนของความเห็นผิดหรือมิจฉาทิฏฐิชนิดต่างๆ เช่นคิดว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยงแต่จิตนี้เที่ยง พอร่างกายนี้ตายลงจิตก็ออกจากร่างไปเกิดใหม่ หรือคิดว่าตัวเรามีอยู่ แต่พอตายลงก็สูญไปเลย เป็นต้น

การคิดพิจารณาไม่ใช่วิปัสสนา ดังที่หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์องค์หนึ่งของผู้เขียน (ท่านเป็นศิษย์อาวุโสของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโต) สอนไว้ว่า "การคิดพิจารณากายว่าเป็นอสุภะก็เพื่อแก้นิวรณ์(เป็นสมถะ) การคิดพิจารณาความตาย(มรณสติ) และการคิดพิจารณากายว่าเป็นธาตุเป็นขันธ์ ก็เพื่อแก้อาการของจิตบางอย่าง(เป็นสมถะ)เช่นกัน ต่อเมื่อใดปฏิบัติจนถึงจิตถึงใจตนเอง จึงได้แก่นสารของการปฏิบัติธรรม"

6.2.2.3 ขณะใดที่เราคิด แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งอกตั้งใจคิดอยู่ ขณะนั้นความคิดจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังคิด ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.3 รู้ ไม่ใช่การตั้งท่าปฏิบัติ

6.2.3.1 รู้ไม่มีการตั้งท่าก่อนจะรู้ แต่นักปฏิบัติเกือบร้อยละร้อย เมื่อคิดจะปฏิบัติธรรมก็ต้องรีบตั้งท่าปฏิบัติเพราะไปแปลความหมายของ "การปฏิบัติ" ว่าเป็น "การกระทำ" ทั้งที่การรู้นั้น ไม่ต้องทำอะไรมากกว่าการรู้เข้าไปตรงๆ ตามธรรมชาติธรรมดา เช่นเดียวกับเมื่อเราต้องการดูภาพตรงหน้า เราก็ทำแค่ลืมตาขึ้นดูเท่านั้น หรือเมื่อถูกยุงกัด เราก็แค่รู้ว่าคันเท่านั้น สภาวะรู้ที่เป็นธรรมชาตินั้นเรามีอยู่แล้ว แต่เพราะไม่เข้าใจหลักการเจริญสติ เราจึงตั้งท่าปฏิบัติ เหมือนนักวิ่ง 100 เมตรที่กำลังเข้าเส้นสตาร์ท คือเกร็งทั้งกายและจิตใจ แทนที่จะรู้อารมณ์ไปอย่างสบายๆ ตามธรรมชาติธรรมดา

6.2.3.2 เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติมักบังคับใจตนเอง และเริ่มสร้างพฤติกรรมของจิตบางอย่าง เช่นการใช้สติจ้องมองดูจอภาพในใจของตน แล้วเที่ยวควานหา (scan) อยู่ในจอภาพนั้น เพื่อหาอะไรสักอย่างเอามาดู หรือการส่งจิตออกไปนิ่งอยู่ข้างหน้า แล้วคอยดูสิ่งที่กำลังปรากฏขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นความผิดพลาดอย่างยิ่ง เพราะเป็นการปฏิบัติไปด้วยตัณหาคือความอยากจะปฏิบัติธรรม และทิฏฐิคือความเห็นผิดว่าการปฏิบัติธรรมจะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ เพื่อให้"เรา"รู้ธรรม

6.2.3.3 เมื่อคิดปฏิบัติธรรม นักปฏิบัติบางท่านที่นิยมใช้รูปหรือกายเป็นอารมณ์กรรมฐาน มักเริ่มด้วยการแทรกแซงพฤติกรรมตามธรรมชาติของกาย เช่นเมื่อคิดจะรู้ลมหายใจก็เข้าไปควบคุมจังหวะการหายใจ เมื่อคิดจะรู้ความเคลื่อนไหวของร่างกายก็ไปกำหนดจังหวะการเคลื่อนไหวของมือ เท้า และท้องบ้าง การกระทำเหล่านี้ไม่ผิด ถ้าเป็นการทำสมถะหรือต้องการใช้กายเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติก่อนพัฒนาไปสู่การรู้ที่แท้จริง แต่ถ้าจงใจก่อพฤติกรรมทางกายโดยคิดว่านั่นคือการเจริญสติ และรู้ไม่ทันตัณหาและทิฏฐิที่กำลังครอบงำจิตจนก่อพฤติกรรมดังกล่าวขึ้นมา นั่นก็เป็นความผิดพลาดที่ร้ายแรงมากอีกประการหนึ่ง

6.2.3.4 ความจริงแล้วถ้าเราจะเจริญสติหรือ รู้ อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด เราไม่จำเป็นต้องตั้งท่าอะไรเลย ไม่ว่าทางจิตหรือทางกาย เช่นเมื่อตาเห็นรูปก็รู้รูป(สี)นั้น หากจิตเกิดปฏิกิริยายินดียินร้ายต่อรูปก็รู้ทันอีก หรือขณะนี้อยู่ในอิริยาบถใดก็รู้ไปเลย เช่นเมื่อยืนอยู่ก็รู้ว่ายืนอยู่ ยืนแล้วเมื่อยอยากเปลี่ยนอิริยาบถก็รู้ทันความอยากของตนเอง รู้ทันแล้วจะเปลี่ยนอิริยาบถเพราะมันจำเป็นก็ได้ หรือจะไม่เปลี่ยนอิริยาบถเพื่อดูความจริงของทุกขเวทนาไปก่อนก็ได้ หรือนั่งอยู่เฉยๆ เกิดความคิดแล้วจิตเป็นกุศลหรืออกุศลอย่างใดก็รู้ไปเลยก็ได้ เป็นต้น

6.2.3.5 อย่างไรก็ตาม หากนักปฏิบัติคนใดไม่สามารถรู้ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดาได้ก็ไม่ต้องตกใจ ในเบื้องต้นจะตั้งท่าปฏิบัติเสียก่อนก็ได้ เช่นถ้าจิตฟุ้งซ่านนักก็ทำความสงบเข้ามาก่อน แต่ต้องระวังอย่าให้เคลิ้มลืมตัว และอย่าให้เครียดขึ้นได้ ให้รู้อารมณ์อันใดอันหนึ่งไปอย่างสบายๆ จะเป็นอารมณ์อะไรก็ได้ แม้กระทั่งการรู้คำบริกรรมก็ได้ เมื่อจิตใจสงบสบายแล้วจึงค่อยระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของจิตใจไปตามธรรมชาติธรรมดาอีกชั้นหนึ่ง หรืออาจจะเริ่มจากการรู้ท้องพองยุบ รู้การเดินจงกรม รู้การเคลื่อนไหวมือเป็นจังหวะ ฯลฯ รวมความแล้วในเบื้องต้นจะทำกรรมฐานใดก็ได้ แล้วจึงค่อยพัฒนาไปสู่การรู้แบบไม่ตั้งท่า หรือไม่จงใจต่อไป

6.2.3.6 ขณะใดที่เราตั้งท่าปฏิบัติ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังตั้งท่า ขณะนั้นการตั้งท่าจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังตั้งท่า ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.4 รู้ ไม่ใช่กำหนดรู้

6.2.4.1 รู้ไม่ใช่การกำหนดรู้ หรือการตรึกพิจารณาถึงอารมณ์ว่าเป็นรูปนาม แต่เป็นการระลึกรู้(มนสิการ)ปัจจุบันอารมณ์ไปตามธรรมชาติธรรมดา นักปฏิบัติจำนวนมากคิดว่า รู้คือการกำหนดรู้ เพราะมักได้ยินคำพูดเกี่ยวกับการกำหนดรู้รูปนาม หรือการกำหนดรู้ปัจจุบันอารมณ์ จึงคิดว่า การรู้ต้องมีการกระทำ คือการกำหนด หรือการพิจารณาด้วย ดังนั้นพอรู้อารมณ์แล้วจึงรีบบริกรรมต่อท้ายการรู้ทันที เช่นยกหนอ ย่างหนอ โกรธหนอ เสียงหนอ ฯลฯ นี่คือการบริกรรมไม่ใช่การรู้ (เบื้องต้นอาจจำเป็นสำหรับบางท่านที่ต้องบริกรรมก่อน แต่พึงทราบว่าจะหยุดการปฏิบัติอยู่เพียงขั้นการตามบริกรรมไม่ได้ เพราะยังไม่ใช่วิปัสสนา) หรือบางท่านนิยมการพิจารณากำกับซ้ำลงไปอีกชั้นหนึ่ง ซึ่งก็ไม่ใช่การรู้เช่นกัน เช่นเมื่อตาเห็นรูปตามธรรมชาติแล้ว ก็จงใจพิจารณารูปซ้ำลงไปอีก ว่า "รูปนี้เป็นเพียงสี ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ฯลฯ" หรือพิจารณาว่า "สีเป็นรูป รู้เป็นนาม" อันเป็นการกระทำด้วยความจงใจกำหนด และเป็นการกระทำตามหลังการรู้อารมณ์ที่เป็นปัจจุบัน จึงยังไม่ใช่การรู้ที่บริสุทธิ์ตามธรรมชาติธรรมดา

6.2.4.2 ขณะใดที่เรากำหนดรู้ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจกำหนดรู้ ขณะนั้นการกำหนดรู้จะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังกำหนดรู้ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.5 รู้ ไม่ใช่เพ่ง 

6.2.5.1 รู้ไม่ใช่การเพ่ง แต่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบเพ่ง แม้แต่คนที่ไม่ชอบทำสมถะเพราะอยากเจริญวิปัสสนาอย่างเดียว ก็มักเพ่งโดยไม่รู้ทันจิตใจของตนเอง แท้จริงการเพ่งเป็นสภาวะที่สืบเนื่องมาจากการจงใจและการตั้งท่าปฏิบัติ คือพอคิดถึงการปฏิบัติก็จงใจปฏิบัติ แล้วเกิดการตั้งท่าปฏิบัติ มีอาการสำรวมกายใจเข้ามาให้มั่นคง ถัดจากนั้นจึงเพ่งหรือจดจ้องอย่างเอาเป็นเอาตายต่ออารมณ์ทั้งหลาย เป็นผลให้ลืมตัว และบางคนจิตใจด้านชา ไม่สามารถเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์ตามที่ควรจะเป็น หรือบางคนพอรู้กิเลสใดก็เพ่งใส่ พอกิเลสนั้นดับไป(เพราะเหตุของมันดับ) ก็เกิดความสำคัญผิดว่า เราสามารถดับกิเลสได้ทุกครั้ง หรือบางคนพอรู้อารมณ์แล้ว ก็หลงเพ่งจ้องเอาสติตามจี้อารมณ์ที่เคลื่อนหนีลึกเข้าไปภายใน นี่ก็เป็นการเพ่งเหมือนกัน แต่เป็นการตามเพ่งความปรุงแต่งที่เคลื่อนไหวได้ในจิตใจตนเอง อนึ่งการเพ่งนี้ถ้าไม่จงใจรุนแรงเกินไป ก็ทำให้จิตสงบเป็นการทำสมถะหรือสมาธิได้เช่นกัน แต่ไม่ใช่สัมมาสมาธิซึ่งจำเป็นสำหรับการทำวิปัสสนา

6.2.5.2 วิธีทำความรู้จักกับการเพ่งไม่ยากเลย ลองยกนิ้วหัวแม่มือของตนเองขึ้นมา แล้วเพ่งจ้องให้จิตใจจดจ่ออยู่ที่นิ้วนั้นอย่างเดียว เพียงไม่นานจะรู้สึกว่า เราเห็นแต่นิ้วหัวแม่มือเท่านั้น เพราะจิตจดจ่ออยู่ที่จุดเดียวนั้นด้วยความจงใจอันเกิดจากโลภะ ในขณะนั้นเห็นแต่นิ้ว กายจะเป็นอย่างไรก็ไม่ทราบ เวทนาคือความรู้สึกจะสุขหรือทุกข์ก็ไม่ทราบ จิตจะเป็นกุศลหรืออกุศลก็ไม่ทราบ จิตเคลื่อนไปอยู่ที่หัวแม่มือก็ไม่ทราบ รวมความแล้วจะทราบได้เฉพาะหัวแม่มือ แต่ไม่ทราบ กาย เวทนา จิต ธรรม ขอให้ผู้ปฏิบัติจำสภาวะของการเพ่งไว้ให้ดี เวลาที่เจริญสติรู้อารมณ์ที่เป็นรูปธรรมหรือนามธรรม ก็ให้สังเกตรู้ทันใจตนเอง อย่าให้หลงไปเพ่งจ้องรูปหรือนามนั้นเหมือนที่จ้องหัวแม่มือตนเอง มิฉะนั้นจะเป็นการหลงทำสมถะ ทั้งที่คิดว่ากำลังทำวิปัสสนาคือรู้รูปนามอยู่

6.2.5.3 ขณะใดที่เราเพ่ง แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังเพ่งอยู่ ขณะนั้นการเพ่งจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังเพ่ง ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.6 รู้ ไม่ใช่น้อม

6.2.6.1 รู้ไม่ใช่การน้อม เพราะอาการน้อมก็เป็นอีกอาการหนึ่งที่นักปฏิบัติจำนวนมากชอบทำกัน มันเป็นการเสแสร้งแกล้งทำขึ้นมาเมื่อคิดว่าจะปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกับการเพ่ง เพียงแต่การเพ่งมุ่งจะรู้อารมณ์อันเดียวให้ชัดและพยายามตรึงอารมณ์นั้นไว้ ส่วนการน้อมเป็นการหลีกหนีอารมณ์เข้าหาความสงบสุขเคลิบเคลิ้มลืมเนื้อลืมตัว เพราะต้องการให้จิตสงบ กลายเป็นการปฏิบัติด้วยโลภะ จนจิตเกิดราคะเพลิดเพลินในความสงบสุข หรือเกิดความซึมเซาคือถีนมิทธะขึ้น วันใดซึมได้ที่หรือเคลิ้มได้ที่ก็สำคัญผิดว่าวันนั้นปฏิบัติดี วันใดปฏิบัติแล้วไม่ซึมหรือเคลิ้มก็เสียใจว่าวันนั้นปฏิบัติได้ไม่ดี การน้อมจิตนี้นักปฏิบัติบางท่านจะมีอุปกรณ์ช่วยคือการเปิดเทปธรรมะคลอไปด้วยระหว่างนั่งสมาธิ จะช่วยน้อมจิตให้ซึมได้ที่คือครึ่งหลับครึ่งตื่นได้โดยเร็ว

6.2.6.2 ขณะใดที่เราน้อมจิตเข้าหาความสงบ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังน้อมจิตอยู่ ขณะนั้นการน้อมจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังน้อม ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.2.7 รู้ ไม่ใช่จงใจรู้อะไร

6.2.7.1 รู้ไม่ใช่จงใจจะรู้อะไร ดังนั้นถ้านักปฏิบัติคนใดถามว่า ที่สอนให้รู้นั้น ควรจะรู้อะไร หรือควรจะรู้ตัวทั่วพร้อมคือรู้ทั้งตัวตั้งแต่ปลายผมถึงพื้นเท้า ผู้ที่ยังสงสัยเช่นนี้แสดงว่ายังไม่รู้จักการรู้ที่แท้จริง เพราะการรู้แท้จริงนั้น ไม่มีความจงใจว่าจะเลือกรู้สิ่งหนึ่งแล้วไม่รับรู้สิ่งอื่นๆ เนื่องจากความจงใจเหล่านั้นเป็นไปเพราะตัณหาและทิฏฐิล้วนๆ

6.2.7.2 การรู้คือสภาพที่จิตตื่นขึ้นจากโลกของความคิดความฝัน ทั้งนี้คนส่วนใหญ่จะตื่นเฉพาะร่างกายแต่ใจยังหลับฝันอย่างที่เรียกว่าฝันกลางวัน ภาวะรู้คือภาวะที่จิตตื่นจากความฝัน จิตมีความตื่นตัวพร้อมที่จะรับรู้อารมณ์ทั้งปวงที่เข้ามากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ เมื่อรู้อารมณ์แล้ว ก็พร้อมที่จะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองต่ออารมณ์นั้นตามธรรมชาติ และยิ่งกว่านั้นก็คือ สามารถรู้เท่าทันปฏิกิริยาตอบสนองเหล่านั้นได้เป็นอย่างดีด้วย รู้ชนิดนี้ไม่มีความจงใจว่าจะต้องรู้อารมณ์ใด แต่อารมณ์ใดปรากฏทางทวารใดก็รู้อารมณ์นั้นอย่างถูกต้อง เป็นปัจจุบัน โดยไม่หลงไปกับอารมณ์นั้น นี่แหละคือความรู้ตัวทั่วพร้อม ไม่ใช่รู้ตัวทั้งตัวเพราะนั่นเป็นความจงใจเพ่งความรู้สึกไปจับที่กายทั้งกาย

6.2.7.3 ขณะใดที่เราจงใจ แล้วเกิดรู้ตัวว่ากำลังจงใจอยู่ ขณะนั้นความจงใจจะดับไป และจะเกิดสภาวะของความรู้ตัวขึ้นมาแทนที่ทันที ดังนั้นเพียงแค่รู้ว่ากำลังจงใจ ก็เกิดการรู้ที่ถูกต้องแล้ว

6.3 สรุปแล้ว ขณะใดพยายามจะรู้ หรือแสวงหาการรู้ที่ถูกต้อง (แม้กระทั่งการพยายามรักษารู้ให้ต่อเนื่อง ดูข้อ 6.6) ขณะนั้นเราจะพลาดไปสู่ความหลงผิดทันที เพราะการกระทำใดๆ ที่เกินจากการรู้ตามปกติ อันเป็นการกระทำด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐินั่นแหละ เป็นเครื่องปิดกั้นความสามารถในการระลึกรู้อารมณ์ซึ่งมีอยู่แล้วเอาไว้อย่างสนิทที่สุด ดังนั้นไม่ควรพยายามทำให้ถูก ขณะใดรู้ว่ารู้ผิด ขณะนั้นจะเกิดการรู้ที่ถูกต้องโดยอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่มีนักปฏิบัติจำนวนมากทีเดียวที่แม้จะได้ฟังคำสอนเกี่ยวกับการเจริญสติหรือการระลึกรู้ แต่ก็ยังปฏิเสธที่จะระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏไปตามธรรมชาติ เพราะมีความคิดเอาเองว่า ตนเองยังมีบุญวาสนาน้อยขอทำบุญทำทานไปก่อน หรืออินทรีย์ตัวนั้นตัวนี้ยังอ่อนเกินไป หรือยังไม่สมดุลกันจะต้องพัฒนาอินทรีย์ก่อน เช่นจะต้องเพิ่มปัญญาให้สมดุลกับศรัทธา เพิ่มสมาธิให้สมดุลกับวิริยะ ทั้งนี้เพราะไม่ทราบว่า หากเจริญสติหรือรู้ได้แล้ว นั่นแหละจะทำให้อินทรีย์ทั้งหลายแก่กล้ายิ่งขึ้นและสมดุลกันด้วย

6.4 สภาวะรู้ที่ถูกต้องจะเกิดได้ง่าย ด้วยการเกื้อกูลของสติและสัมมาสมาธิ กล่าวคือ

6.4.1 หากจิตสามารถจดจำสภาวธรรมต่างๆ ได้แม่นยำ เช่นจำสภาวะของความรัก โลภ โกรธ หลง ปีติ สุข ฯลฯ ได้แม่นยำ เมื่อสภาวะเหล่านั้นปรากฏขึ้นก็จะเกิดสติรู้เท่าทันอย่างรวดเร็วเพราะเคยรู้เคยประจักษ์ชัดอยู่ก่อนแล้ว ส่วนสภาวธรรมใดไม่รู้จักคุ้นเคย ก็ต้องใช้เวลาเรียนรู้ไปช่วงหนึ่งก่อน จนจดจำสภาวะนั้นได้แม่นยำแล้ว จึงเกิดสติรู้ได้ง่าย

6.4.2 หากจิตมีสัมมาสมาธิ จะช่วยให้สภาวะรู้ถูกต้องง่ายขึ้น จิตที่มีสัมมาสมาธิคือจิตมีลักษณะตั้งมั่นทรงตัวไม่หวั่นไหวเลื่อนไหลไปตามอารมณ์ที่ปรากฏทางทวารทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) มีความสงบระงับคือไม่ฟูหรือแฟบไปตามอารมณ์ มีความเบาสบายแต่ไม่ใช่เบาหวิวเหมือนจะลอยไปในอากาศ มีความอ่อนโยนนุ่มนวลไม่แข็งกระด้างแกร่งเกร็ง มีความพร้อมและความว่องไวที่จะรับรู้อารมณ์ไม่ถูกกดข่มให้นิ่งเฉยซึมทื่อหรือเคลิบเคลิ้มติดสุขเหมือนคนติดยาเสพติด และมีความซื่อตรงต่อหน้าที่การรู้อารมณ์ไม่เข้าไปแทรกแซงอารมณ์เหมือนผู้พิพากษาที่ทำงานโดยไม่ลำเอียงเข้าข้างโจทก์หรือจำเลย

จิตที่มีสัมมาสมาธิสามารถเกิดขึ้นได้ไม่ยาก หากเข้าใจธรรมชาติที่ว่า จิตปกติธรรมดาที่ไม่ถูกอารมณ์ครอบงำ หรือนัยหนึ่งจิตที่มีศีลนั่นแหละคือจิตที่มีสัมมาสมาธิอยู่ในตัวเอง อย่างไรก็ตามหากจิตของผู้ใดยังไม่มีสัมมาสมาธิจริงๆ ก็สามารถฝึกฝนอบรมได้ โดยในเบื้องต้นให้ตั้งใจรักษาศีลภายนอกเสียก่อน คือรักษาศีล 5 และศีล 8 เป็นต้น จากนั้นจึงฝึกฝนจิตให้มีศีลภายในด้วยการฝึกสมาธิ อันได้แก่การมีสติระลึกรู้อารมณ์อันเดียวโดยต่อเนื่อง อารมณ์นั้นจะเป็นอะไรก็ได้ที่ไม่ยั่วกิเลส เช่นการกำหนดลมหายใจ การกำหนดจังหวะเดินจงกรม การกำหนดจังหวะเคลื่อนไหวมือ การกำหนดความเคลื่อนไหวของท้อง และการกำหนดคำบริกรรม เป็นต้น ให้จงใจกำหนดรู้อารมณ์นั้นอย่างสบายๆ อย่าเคร่งเครียดหรือตั้งใจมากนัก ถึงตรงนี้จิตมีทางแยกที่จะดำเนินไปได้ 2 ทางคือ

6.4.2.1 หากโมหะหรือโลภะเข้าแทรก จิตจะเกิดความอ่อนแอน้อมเข้าหาความสงบสบาย เกิดความเคลิบเคลิ้มบ้าง เกิดนิมิตต่างๆ บ้าง นี้เป็นทางของมิจฉาสมาธิ

6.4.2.2 หากในขณะที่กำหนดรู้อารมณ์อยู่นั้น ผู้ปฏิบัติมีสติตื่นตัวอยู่เสมอๆ ถ้าจิตขาดสติทิ้งอารมณ์กรรมฐานเผลอไปคิดเรื่องอื่นก็รู้ทัน หากจิตเกิดการเพ่งอารมณ์ก็รู้ทัน หากจิตสักว่ารู้อารมณ์ก็รู้ทัน ทั้งนี้ ธรรมชาติจิตของบุคคลทั่วไปมักฟุ้งซ่านหลงไปตามอารมณ์นั้นบ้าง อารมณ์นี้บ้าง โดยไม่รู้เท่าทัน จึงต้องหัดรู้อารมณ์อันเดียวก่อน พอจิตเคลื่อนจากอารมณ์นั้นก็ให้คอยรู้ทัน ด้วยวิธีนี้เอง ในเวลาไม่นานผู้ปฏิบัติก็จะเริ่มรู้ทันจิตใจที่ส่งส่ายไปตามอารมณ์ต่างๆ พอรู้ทัน จิตก็หยุดการส่งส่ายแล้วตั้งมั่นอยู่โดยไม่ได้บังคับ ถัดจากนั้นเมื่อมีอารมณ์ใดปรากฏ จิตก็จะรู้ทันโดยสักว่ารู้ คือไม่เข้าไปแทรกแซงหรือหลงและไหลตามอารมณ์นั้นไป

หากจะกล่าวว่าอาการกำหนดรู้(ด้วยตัณหาและทิฏฐิ)เป็นเครื่องมือของการทำสมถะ ส่วนอาการระลึกรู้หรือรู้ทัน(อย่างสักว่ารู้)เป็นเครื่องมือของการทำวิปัสสนา ก็กล่าวได้

6.5 หากจะจำแนกสภาวะรู้ออกให้แจ่มชัดก็สามารถกล่าวได้ว่า รู้ คือการเจริญอริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง กล่าวคือ

6.5.1 จิตรู้เป็นจิตที่ตั้งมั่น เป็นตัวของตัวเองไม่ถูกความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ใดๆ ครอบงำ นั่นคือจิตที่มีสัมมาสมาธิ

6.5.2 จิตรู้เป็นจิตที่ว่องไวควรแก่การงาน คือเมื่ออารมณ์กระทบทางทวารใด สัมมาสติจะระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงทันที

6.5.3 จิตที่ตั้งมั่นเป็นสัมมาสมาธิจะเป็นจิตที่รู้ตัว ซึ่งความรู้ตัวนั้นเป็นตัวสัมมาทิฏฐิหรือสัมปชัญญะ(ชนิดที่เรียกว่าอสัมโมหสัมปชัญญะ) แต่ถ้าจิตไม่ตั้งมั่น จิตจะเลื่อนไหลตามอารมณ์ ถูกอารมณ์ครอบงำและไม่รู้ตัว เมื่อไม่รู้ตัวก็ไม่สามารถรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงได้แจ่มชัด ไม่เห็นความเกิดดับของรูปนาม และไม่เห็นอริยสัจจ์ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา

6.5.4 จิตที่มีสติ สมาธิ ปัญญาอบรมอยู่ ย่อมมีความคิดที่ถูกต้องหรือสัมมาสังกัปปะ และส่งผลให้สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะและสัมมาอาชีวะบริบูรณ์ด้วย

6.5.5 การพากเพียรเจริญสติอยู่นั้น ย่อมเป็นการคุ้มครองอินทรีย์อันเป็นการปิดกั้นบาปอกุศลทั้งปวง และเป็นการทำให้กุศลธรรมทั้งหลายเจริญขึ้น นี้คือสัมมาวายามะ

6.6 ในเมื่อการรู้คือการเจริญอริยมรรค ดังนั้นเราควรทราบว่า กิจต่อการรู้หรือการเจริญอริยมรรคได้แก่การทำให้เจริญ หรือทำให้เกิดบ่อยๆ คือให้มีสติบ่อยที่สุด แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าให้มีสติยาวนานที่สุดเป็นนาที เป็นชั่วโมง หรือเป็นวัน เพราะสติเองเป็นเจตสิกธรรมที่เกิดดับไปทีละขณะพร้อมกับจิต ดังนั้นเราจะทำสิ่งที่ไม่เที่ยงให้เที่ยงอยู่นานๆ ไม่ได้ แต่ทำให้เกิดบ่อยๆ ได้ เหตุใกล้ที่ทำให้สติเกิดบ่อยก็คือการสามารถจดจำสภาวะของธรรมะต่างๆ ได้มากและแม่นยำ (ต้องจำตัวสภาวะได้ ไม่ใช่จำชื่อและลักษณะตามตำราได้เท่านั้น) เมื่อสภาวธรรมอันใดเกิดขึ้น สติจึงสามารถระลึกรู้เท่าทันได้อย่างรวดเร็ว จนรู้ได้บ่อยแบบถี่ยิบ แล้วอกุศลก็จะมีโอกาสเกิดน้อยลงตามลำดับ จนหมดโอกาสเกิดในที่สุด

6.7 ในข้อ 6.2 ได้กล่าวถึงสภาวะที่ไม่ใช่รู้ไปแล้ว ในข้อนี้จะได้กล่าวถึง องค์ธรรมของจิตที่เป็นจิตรู้ อันเป็นเครื่องช่วยตรวจสอบได้อีกชั้นหนึ่งว่า การรู้ในขณะนี้ถูกต้องแล้วหรือไม่ องค์ธรรมดังกล่าว เช่น

6.7.1 จิตรู้ได้แก่จิตที่เป็น มหากุศลจิต ชนิดที่ประกอบด้วยปัญญา (ญาณสัมปยุตต์) และเกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องชักชวนหรือหาทางทำให้เกิดขึ้น (อสังขาริก) ดังนั้น

6.7.1.1 ขณะใดจิตมีอกุศล ขณะนั้นยังไม่มีจิตรู้ที่ถูกต้องสมบูรณ์

6.7.1.2 ขณะใดจิตมุ่งใช้กำลังมากกว่าปัญญา เช่นออกแรงดิ้นรนหาทางละทุกข์หรืออกุศล หรืออยากรักษาสุขหรือกุศล ขณะนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.1.3 ขณะใดมีความพยายามอย่างหนึ่งอย่างใดที่จะทำให้จิตรู้เกิดขึ้น ขณะนั้นพลาดจากรู้เสียแล้ว เพราะจิตรู้นั้น ยิ่งอยากยิ่งไม่ได้ ยิ่งแสวงหายิ่งไม่เจอ

6.7.2 จิตรู้เป็นเพียงจิตที่มนสิการคือกระทำอารมณ์ไว้ในใจ หรือทำใจให้รู้อารมณ์เท่านั้น ไม่ใช่เผลอ คิด ตั้งท่า กำหนด เพ่ง ฯลฯ (ดูข้อ 6.2) สภาวะของมนสิการนั้นเป็นการรู้ที่ ไร้น้ำหนัก บางเฉียบ และเงียบกริบ ไม่มีความจงใจหรือเจตนาจะรู้ด้วยอำนาจของตัณหาและทิฏฐิใดๆ ทั้งสิ้น

6.7.3 จิตรู้ต้องประกอบด้วยโสภณสาธารณเจตสิก หรือสภาวธรรมที่เกิดร่วมกับจิตที่ดีงาม องค์ธรรมที่นำมาสังเกตจิตได้ง่ายได้แก่

6.7.3.1 อโลภะ คือจิตในขณะนั้นไม่มีความอยาก ความโลภ หรือความกระหาย แม้แต่ในการแสวงหาธรรม ถ้าขณะใดจิตเกิดความอยากปฏิบัติ จงใจปฏิบัติ หรือพอใจในความสุขและกุศล ขณะนั้นมีโลภะ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง



6.7.3.2 อโทสะ คือจิตในขณะนั้นไม่ความขุ่นข้องขัดใจในอารมณ์ใดๆ ถ้าขณะใดจิตเกลียดทุกข์หรืออกุศล พยายามละทุกข์หรืออกุศล ขณะนั้นมีโทสะ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.3 ความเป็นกลางในอารมณ์ (ตัตรมัชฌัตตตา) คือจิตปราศจากความยินดียินร้าย ไม่มีอคติต่ออารมณ์คือไม่พยายามรักษาอารมณ์บางอย่าง หรือพยายามละอารมณ์บางอย่าง ถ้าขณะใดจิตหลงยินดียินร้าย หรือกวัดแกว่งไปตามความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ ขณะนั้นจิตไม่เป็นกลาง จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.4 ความสงบระงับ (ปัสสัทธิ) คือเมื่อจิตรู้อารมณ์ใดก็รู้ด้วยความสงบระงับ ไม่แส่ส่ายดิ้นรนไปตามอารมณ์นั้นๆ แม้ตัวอารมณ์ที่เป็นความรู้สึกต่างๆ เมื่อถูกรู้แล้วก็สงบระงับเพราะไม่ถูกเติมเชื้อให้ฟุ้งซ่านหรือดิ้นรนมากขึ้น หากจิตรู้อารมณ์แล้วเกิดความแส่ส่ายต่างๆ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.4 ความเบา (ลหุตา) คือจิตรู้จะเบาสบาย ไม่มีน้ำหนักใดๆ เกิดขึ้นเพราะการรู้อารมณ์แม้แต่น้อย ขณะใดปฏิบัติแล้วเกิดความหนักหรือมีน้ำหนักขึ้นในใจแม้แต่เพียงนิดเดียว (ทั้งนี้รวมถึงน้ำหนักที่ติดลบคือความรู้สึกเบาหวิวผิดธรรมชาติทั้งหลายด้วย) แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.5 ความอ่อนโยนนุ่มนวล (มุทุตา) คือจิตรู้จะเป็นจิตที่อ่อนโยนนุ่มนวล ไม่แข็ง ไม่กระด้าง ถ้าปฏิบัติแล้วเกิดความรู้สึกแข็งกระด้าง แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.6 ความควรแก่การงาน (กัมมัญญตา) คือจิตรู้เป็นจิตที่พร้อมสำหรับการเจริญวิปัสสนา ไม่ถูกเจือปนครอบงำด้วยนิวรณ์ใดๆ (แต่ถ้านิวรณ์เกิดขึ้นก็สามารถรู้ชัดและเอานิวรณ์นั่นแหละมาเป็นทุกขสัจจ์ที่ถูกรู้ คือมีนิวรณ์ รู้นิวรณ์ แต่นิวรณ์ไม่ครอบงำจิต แบบนี้ก็ใช้ได้เหมือนกัน) แต่หากจิตถูกครอบงำด้วยนิวรณ์ จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.7 ความคล่องแคล่ว (ปาคุญญตา) คือจิตรู้จะมีสติปราดเปรียวคล่องแคล่ว ขณะใดรู้สึกเฉื่อยเนือย ซึมเซา เกียจคร้าน แสดงว่าพลาดจากรู้เสียแล้ว จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.3.8 ความซื่อตรง (อุชุกตา) คือจิตจะทำหน้าที่รู้อารมณ์อย่างซื่อๆ ตรงๆ ไม่ทำหน้าที่เกินกว่าการรู้อารมณ์ หากจิตไม่ทำหน้าที่รู้ไปอย่างซื่อๆ ตรงๆ แต่พยายามเสพย์หรือแทรกแซงอารมณ์ด้วยอำนาจของกิเลส จิตดวงนั้นไม่ใช่จิตรู้ที่ถูกต้อง

6.7.4 จิตรู้เป็นจิตที่ประกอบด้วยปัญญา / ปัญญินทรีย์ / สัมปชัญญะ / อโมหะ คือสามารถเจริญวิปัสสนาอยู่โดยรู้ชัดว่า จะทำอะไร(จะเจริญสติ) เพื่ออะไร(เพื่อความเข้าใจสภาวธรรมตามความเป็นจริง) จะทำอย่างไร(จะเฝ้ารู้ปัจจุบันอารมณ์ตามความเป็นจริง) และจะเจริญสติอยู่ด้วยความรู้สึกตัว ไม่หลงไม่เผลอตามอารมณ์ใดๆ ไปด้วยอำนาจของโมหะ



7. สภาวธรรมคืออะไร

7.1 การเจริญสติที่ถูกต้องจะต้องระลึกรู้ถึงอารมณ์ปรมัตถ์ หรือเอาปรมัตถธรรมมาเป็นอารมณ์เครื่องรู้ของจิตเครื่องระลึกของสติ ปรมัตถธรรมนี้บางท่านเรียกว่าสภาวธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่มีอยู่จริงตามธรรมชาติ 4 ประการคือ รูป(ธรรมชาติที่แตกสลายได้เมื่อถูกกระทบด้วยความร้อนความเย็นเป็นต้น) จิต(ธรรมชาติที่รู้อารมณ์) เจตสิก(ธรรมชาติอันเป็นส่วนประกอบจิต) และนิพพาน(ธรรมชาติที่พ้นความปรุงแต่ง พ้นทุกข์ พ้นกิเลสสิ้นเชิง) จะเจริญสติโดยไประลึกรู้สิ่งที่เป็นความคิดความฝัน(สมมุติบัญญัติ)ไม่ได้ เพราะความคิดความฝันทั้งหลายเป็นเพียงภาพลวงตาที่ไม่ได้มีอยู่จริง

7.2 เราสามารถระลึกรู้ธรรมชาติทั้ง 4 ประการได้ด้วยทวารทั้ง 6 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ คือตัวรูปธรรมนั้นรู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ส่วนนามธรรมรู้ได้ด้วยใจ

7.3 การรู้รูปทำได้ทุกๆ ทวารดังนี้คือ

7.3.1 รูปที่เรารู้ได้ด้วยตานั้นมีมากมายนับไม่ถ้วนว่ากี่แสนกี่ล้านรูป เช่นผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ เสือ ลิง ปลา นก ทะเล แม่น้ำ ภูเขา ต้นไม้ ดอกไม้ อัญมณี ฯลฯ แต่ในจำนวนรูปที่นับจำนวนไม่ถ้วนนั้น เอาเข้าจริงสิ่งที่ตามองเห็นก็คือสีเท่านั้นเอง แล้วอาศัยสัญญาคือความจำได้หมายรู้เข้ามาปรุงแต่งจิต จึงเกิดการจำแนกว่า กลุ่มสีอย่างนี้เรียกว่าผู้หญิง ผู้ชาย … อัญมณี สีจึงเป็นรูปตัวจริงที่เรารู้ได้ด้วยตา

7.3.2 รูปที่เรารู้ได้ด้วยหูก็คือเสียง รูปที่รู้ได้ด้วยจมูกคือกลิ่น รูปที่รู้ได้ด้วยลิ้นคือรส รูปที่รู้ได้ด้วยกายมี 3 ชนิดคือ ธาตุไฟหรือความเย็น-ร้อน ธาตุดินหรือความอ่อน-แข็ง และธาตุลมหรือความตึง-ไหว

7.3.3 รูปที่รู้ได้ด้วยใจมีจำนวนมากกว่ารูปที่รู้ได้ด้วยตา หู จมูก ลิ้น และกาย ได้แก่ปสาทรูป 5 หรือประสาทสำหรับรับสัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น และกาย กับรูปละเอียดหรือสุขุมรูป 16 เช่นรูปคือสารอาหาร รูปที่กำหนดเพศ รูปคือการเคลื่อนไหวกายและวาจาเพื่อสื่อความหมาย เป็นต้น

7.4 สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจนอกจาก รูปจำนวนมาก (21 รูป) ตามข้อ 7.3.3 แล้ว ยังมีอีกหลายอย่างคือ (1) เจตสิก 52 ชนิด เช่น สุข ทุกข์ อุเบกขา ความจำได้หมายรู้ โลภะ โทสะ โมหะ ปีติ ศรัทธา วิริยะ ปัญญา ฯลฯ (2) จิต คือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ 89 หรือ 121 ดวง (3) นิพพาน และ (4) บัญญัติธรรม หรือสิ่งที่เป็นความคิดความฝันซึ่งไม่มีตัวจริง (อ้างอิงอภิธัมมัตถวิภาวินี) ใจจึงเป็นอายตนะที่รู้อารมณ์ได้กว้างขวางหลากหลายที่สุด

7.5 ถ้าจะกล่าวอย่างง่ายๆ การเจริญสติจะต้องระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ซึ่งเป็นตัวแท้หรือตัวจริงของธรรมชาติ ไม่ใช่ไปรู้สิ่งที่คิดนึกเอาเอง(บัญญัติธรรม) เช่นเมื่อเราเข้าใกล้กองไฟ ความร้อนที่รู้ได้ทางกายนั่นแหละคืออารมณ์ปรมัตถ์ ส่วนคำพูดว่าร้อนๆ เป็นสมมุติบัญญัติ ผู้ปฏิบัติมีหน้าที่รู้ถึงความร้อนที่มากระทบกาย ไม่ใช่ไปใช้ความคิดว่าไฟเป็นของร้อน เหมือนไฟกิเลสหรือไฟนรก เป็นต้น นอกจากนี้ จำเป็นต้องทราบด้วยว่าอารมณ์ชนิดใดรู้ได้ทางทวารใด เช่นถ้าจะกำหนดอิริยาบถคือรู้รูปยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องรู้ด้วยใจ ไม่ใช่รู้ด้วยตาหรือด้วยกาย เป็นต้น

7.6 ในทางปฏิบัติจริงมีประเด็นเกี่ยวกับสภาวธรรมที่ควรทราบอีกบางอย่างคือ

7.6.1 จิตย่อมรู้อารมณ์ทั้งที่เป็นปรมัตถ์และบัญญัติ จะเจาะจงเลือกรู้อย่างหนึ่งอย่างใดตามความอยากไม่ได้ ดังนั้นขณะใดจิตระลึกรู้อารมณ์ปรมัตถ์ก็รู้ทัน ขณะใดจิตรู้อารมณ์บัญญัติก็รู้ทัน เพราะแม้แต่พระอรหันต์ท่านก็ย่อมรู้อารมณ์ทั้ง 2 ชนิด ไม่ใช่รู้เฉพาะอารมณ์ปรมัตถ์อย่างเดียว

7.6.2 ในการเจริญวิปัสสนานั้น ผู้ปฏิบัติจะเริ่มต้นด้วยการมีสติระลึกรู้รูปหรือนามอย่างใดก่อนก็ได้แล้วแต่ความถนัด คือจะเลือกเจริญสติปัฏฐานหมวดใดก่อนก็ได้ และไม่จำเป็นต้องรู้รูปนามหรือเจริญสติปัฏฐานให้ครบทุกชนิด แค่รู้เพียงรูปหรือนามอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นรู้ธาตุดิน (สิ่งที่แข็ง-อ่อน) จนเห็นธาตุดินทั้งในกายและนอกกายเป็นอนัตตา หรือรู้กุศลและอกุศลที่กำลังปรากฏ เพียงเท่านี้ก็พอแล้ว หากพยายามทำสติปัฏฐานทุกหมวด/ทุกบรรพ นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังจะเกิดความฟุ้งซ่านเพราะความจับจดในการปฏิบัติได้ด้วย



7.6.3 แม้ในเบื้องต้น ผู้ปฏิบัติอาจต้องจงใจระลึกรู้สภาวธรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเป็นเครื่องรู้เครื่องอยู่ของจิต(วิหารธรรม)ไปก่อนก็จริง แต่ในขั้นที่สติพัฒนามากขึ้นจนเป็นมหาสติคือสติอัตโนมัติแล้ว ผู้ปฏิบัติจะเลือกรู้อารมณ์ไม่ได้ หากมีอารมณ์ปรากฏทางทวารใดสติก็รู้ชัดทางทวารนั้น โดยจิตจะระลึกรู้ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ หรือธัมมารมณ์ หรือรู้ กาย เวทนา จิต หรือธรรม ไปตามธรรมชาติทีละขณะ มิหนำซ้ำผู้ปฏิบัติยังจะได้พบความจริงด้วยว่า จะบังคับให้จิตรู้เฉพาะอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งไม่ได้ เพราะจิตเองก็เป็นอนัตตาคือเป็นของที่บังคับเอาตามใจอยากไม่ได้



8. ที่กำลังปรากฏหมายถึงอะไร

8.1 การมีสติระลึกรู้สภาวธรรมทั้งหลายนั้น มีหลักสำคัญว่า ต้องรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏเป็นปัจจุบันเท่านั้น ไม่ใช่ตามคิดถึงสิ่งที่ล่วงมาแล้ว หรือคิดล้ำไปถึงสิ่งที่ยังมาไม่ถึง ทั้งนี้พระพุทธศาสนาเน้นการทำประโยชน์ในปัจจุบันเป็นสำคัญ ดังที่พระศาสดาทรงแสดงไว้ในภัทเทกรัตตสูตร (พระไตรปิฎก 14/527) ความว่า

บุคคลไม่ควรคำนึงถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว ไม่ควรมุ่งหวังสิ่งที่ยังไม่มาถึง

สิ่งใดล่วงไปแล้ว สิ่งนั้นก็เป็นอันละไปแล้ว

และสิ่งที่ยังไม่มาถึง ก็เป็นอันยังไม่ถึง

ก็บุคคลใดเห็นแจ้งธรรมปัจจุบัน ไม่ง่อนแง่น ไม่คลอนแคลนในธรรมนั้นๆ ได้

บุคคลนั้นพึงเจริญธรรมนั้นเนืองๆ ให้ปรุโปร่งเถิด

พึงทำความเพียรเสียในวันนี้แหละ

ใครเล่าจะรู้ความตายในวันพรุ่ง

เพราะว่าความผัดเพี้ยนกับมัจจุราชผู้มีเสนาใหญ่นั้น ย่อมไม่มีแก่เราทั้งหลาย

พระมุนีผู้สงบย่อมเรียกบุคคลผู้มีปรกติอยู่อย่างนี้

มีความเพียร ไม่เกียจคร้านทั้งกลางวันและกลางคืน นั้นแลว่า ผู้มีราตรีหนึ่งเจริญ ฯ

8.2 ตัวอย่างเช่น ถ้าในขณะนี้มีความโกรธ ก็รู้ถึงสภาวะของความโกรธที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่โกรธเพื่อนเมื่อวานนี้แล้วมาวันนี้เพิ่งนึกได้ว่าโกรธ จากนั้นก็นั่งเสียใจว่าไม่น่าโกรธเพื่อนเลย อาการเช่นนี้ล้วนแต่ไม่เป็นปัจจุบัน คือขณะที่โกรธเมื่อวานนี้ก็ไม่รู้ ขณะนี้กำลังเสียใจที่โกรธเพื่อนก็ไม่รู้อีกเพราะมัวคิดถึงเรื่องเมื่อวาน หรือพอนึกได้ว่าโกรธเพื่อนไปเมื่อวาน ก็คิดว่าจะต้องไปง้อเพื่อนสักหน่อย จากนั้นก็กังวลว่าเราไปง้อแล้วเขาจะคืนดีไหมหนอ นี่ก็เป็นความกังวลในปัจจุบันที่เราไม่รู้ทัน เพราะมัวคิดถึงอนาคตเสีย

8.3 ธรรมชาติของจิตย่อมรู้อารมณ์ได้ทีละอย่างเท่านั้น และหน้าที่ของผู้ปฏิบัติก็คือการระลึกรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏในปัจจุบันจริงๆ อย่าพยายามหน่วงอารมณ์ที่เป็นอดีตไว้ดูนานๆ เพราะกลัวไม่เห็นไตรลักษณ์ ตัวอย่างเช่นเมื่อตาเห็นสีกลุ่มหนึ่งก็ให้รู้สีนั้นตามที่มันเป็นจริง เพราะสีนั้นเป็นปัจจุบันอารมณ์ที่เรียกว่ารูปารมณ์ ต่อมาสัญญาเกิดจำรูปได้ว่านั่นเป็นรูปคนรักของเรา จิตเกิดความชอบใจอันเป็นราคะขึ้น ความชอบใจนั้นเป็นอารมณ์ใหม่ที่รู้ด้วยใจ(ธัมมารมณ์) หน้าที่ของผู้ปฏิบัติคือรู้เข้าไปที่สภาวะของความชอบใจที่กำลังปรากฏนั้น ไม่ใช่ย้อนกลับไปคิดพิจารณารูปคนรัก ว่าเป็นปฏิกูลอย่างนั้นอย่างนี้เพื่อละราคะ เพราะรูปคนรักกลายเป็นอดีตไปแล้ว ส่วนราคะเป็นอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังแสดงความตั้งอยู่และดับไปให้เรารู้ได้ เป็นต้น

8.4 เมื่อกล่าวว่าให้เรารู้อารมณ์ปัจจุบัน บางคนอาจเกิดความสับสนว่า ถ้าเช่นนั้นชาวพุทธคงไม่สามารถวางแผนงานในอนาคตได้ การคิดเช่นนี้ไม่ถูกต้อง ในยามใดเรามีหน้าที่ต้องวางแผนงานก็ต้องวางแผนงาน แม้แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ทรงพิจารณาล่วงหน้าทุกเช้าว่า วันนี้ท่านควรแสดงธรรมโปรดใคร ด้วยเรื่องอะไร โปรดแล้วจะเกิดผลอย่างไร นับว่าท่านเป็นนักวางแผนชั้นเลิศ คือ (1) ทรงกำหนดบุคคลเป้าหมาย (2) กำหนดวิธีการ (3) กำหนดเนื้อหาธรรมที่จะสื่อสารกับผู้นั้น และ (4) พิจารณาถึงผลประโยชน์ที่บุคคลนั้นจะได้รับด้วย ผู้ปฏิบัติต้องรู้จักเลือกใช้ธรรมให้ถูกกาละเทศะ ยามใดมีหน้าที่วางแผนก็ต้องวางแผน มีหน้าที่เรียนก็ต้องเรียน มีหน้าที่ทำงานก็ต้องทำงาน จุดใดควรเจริญสติก็เจริญสติ จุดใดต้องใช้สมาธิในการทำงานก็ใช้สมาธิ จุดใดควรใช้ความคิดพิจารณาไตร่ตรองก็ต้องใช้ความคิด ไม่ใช่เจริญสติรวดเดียวโดยไม่รู้จักทำความสงบใจหรือใช้ความคิดพิจารณาตามหน้าที่ของตน

8.5 มีข้อควรสังเกตประการหนึ่งก็คือ คำว่าปัจจุบันนั้นไม่ได้หมายถึงวันนี้ ชั่วโมงนี้ นาทีนี้ หรือแม้กระทั่งวินาทีนี้ แต่หมายถึง การระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏต่อหน้าต่อตาเราในขณะจิตนี้ ซึ่งเป็นเวลาที่สั้นที่สุดจนทำอะไรมากเกินกว่ารู้ไม่ได้



9. ตามความเป็นจริงหมายถึงอะไร

9.1 เรื่องในข้อ 6 มุ่งทำความเข้าใจว่า จิตที่รู้ได้ถูกต้องนั้นมีสภาพอย่างไร ข้อ 7 เป็นการทำความเข้าใจเกี่ยวกับสภาวธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ข้อ 8 เป็นการชี้ว่าการรู้ต้องรู้สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบัน ส่วนหัวข้อนี้ เป็นเรื่องที่ว่า เมื่อรู้สภาวธรรมที่เป็นปัจจุบันได้แล้ว ต้องระลึกรู้สภาวธรรมนั้น ตามความเป็นจริงเท่านั้น คือรู้สภาวะตรงตามที่มันกำลังเป็นอยู่ และไม่เข้าไปแทรกแซงสภาวะเหล่านั้นด้วยตัณหาและทิฏฐิใดๆ ทั้งสิ้น

9.2 นักปฏิบัติจำนวนมากพอพบเห็นสภาวธรรมใดๆ เข้า ก็มักไม่ระลึกรู้สภาวธรรมนั้นตามความเป็นจริง เนื่องจากถูกครอบงำด้วย ตัณหาและทิฏฐิ ทำให้การรับรู้ไม่บริสุทธิ์ ตัวอย่างเช่น

9.2.1 เมื่อรู้อกุศลธรรมก็พยายามละ เช่นเมื่อพบว่าจิตฟุ้งซ่าน ก็พยายามบริกรรมพุทโธบ้าง บริกรรมฟุ้งซ่านหนอบ้าง เพื่อให้หายฟุ้งซ่าน เมื่อพบว่าจิตมีกามราคะก็พยายามพิจารณาอสุภะ เมื่อพบว่าจิตมีโทสะก็พยายามแผ่เมตตา หรือเมื่อพบว่าจิตเป็นทุกข์ก็พยายามละทุกข์นั้นด้วยวิธีการต่างๆ ฯลฯ การกระทำเหล่านี้เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น

9.2.1.1 เพราะเกิดความเห็นผิดเนื่องจากเคยได้ยินคำสอนว่า ให้ละความชั่วบาปทั้งปวง พอพบเห็นอกุศลธรรมจึงพยายามละ หารู้ไม่ว่าการเจริญสตินั้นเลยขั้นการละบาปและการเจริญกุศลให้ถึงพร้อมมาแล้ว แต่เป็นขั้นการทำจิตให้ผ่องแผ้วเหนือดีเหนือชั่ว หรือบางท่านตีความคำสอนของพระศาสดาคลาดเคลื่อน เช่นอ่าน มหาสติปัฏฐานสูตร ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน นีวรณบรรพ แล้วเข้าใจว่าพระศาสดาทรงสอนให้รู้และละนิวรณ์ด้วย จึงเข้าใจผิดว่าการเจริญสติที่แท้จริงมีทั้งการรู้และการละสภาวธรรม จะรู้อย่างเดียวไม่ได้

9.2.1.2 เพราะไม่ทราบว่า กิจต่อทุกขสัจจ์ได้แก่การรู้ ไม่ใช่การละ เมื่อพบทุกข์จึงพยายามละทุกข์ อันเป็นการกระทำที่สอดคล้องกับจิตใจที่รักสุขเกลียดทุกข์

9.2.1.3 เพราะไม่เข้าใจหลักการเจริญวิปัสสนาที่ให้รู้สภาวธรรมตรงตามความเป็นจริง จนรู้ว่าธรรมทั้งหลายไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา และบังคับเอาตามใจอยากไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงแล้วจิตจึงปล่อยวาง แล้วพ้นทุกข์ได้ด้วยการปล่อยวาง

9.2.1.4 เพราะคุ้นเคยกับการทำสมถะ หรือคิดว่าการปฏิบัติธรรมคือการทำความสงบเท่านั้น สมถะให้ความสุขได้ประณีตยิ่งกว่ากามสุข ผู้ทำสมถะมีความสงบในจิตใจบ้าง เกิดความรู้ความเห็นต่างๆ เป็นเรื่องสนุกและน่าภูมิใจบ้าง จึงเป็นที่นิยมยกย่องกันมากในหมู่นักปฏิบัติ ดังนั้นพอพบธรรมอันใดเป็นข้าศึกต่อความสงบ จึงพยายามละธรรมอันนั้น

9.2.2 เมื่อรู้กุศลธรรมก็พยายามรักษาหรือพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยหวังว่าเมื่อพัฒนาให้ดีได้อย่างต่อเนื่องแล้ว จิตจะหลุดพ้นในสักวันหนึ่งข้างหน้า เพราะพระอรหันต์คือ "คนที่จิตใจดีเลิศนิรันดร" ทัศนะเช่นนี้ผิดพลาดมาก เพราะจิตก็ดี กุศลเจตสิกก็ดี เป็นสังขารทั้งสิ้น ย่อมมีความแปรปรวนและบังคับบัญชาไม่ได้ เมื่อรู้ความจริงเช่นนี้แล้วต่างหาก จิตจึงปล่อยวางความยึดมั่นจิต แล้วหลุดพ้นเพราะความไม่ถือมั่น ไม่ใช่หลุดพ้นเพราะทำจิต ซึ่งเป็นสิ่งไม่เที่ยง ให้เที่ยงได้

9.2.3 เกิดความไม่มั่นใจว่า การเฝ้ารู้เพียงเท่านี้จะได้ผลเพียงพอแก่การรู้ธรรม จึงต้องพยายามเพิ่มประสิทธิภาพของการรับรู้นั้น ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น

9.2.3.1 การช่วยคิดพิจารณาสภาวธรรมที่กำลังถูกรู้นั้น เช่นเมื่อรู้โทสะก็พยายามคิดว่าโทสะไม่ดี นำความทุกข์มาให้ โทสะมีโทษมากอย่างนั้นอย่างนี้ เป็นต้น

9.2.3.2 การเพ่งจ้องอย่างเอาเป็นเอาตายต่อสภาวธรรมนั้น เพื่อจะรู้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หรือเพื่อเพ่งให้ดับ หรือบางทีถึงกับตามจ้องจนลืมตัวถลำเข้าไปในจิตส่วนลึกซึ่งในขณะนั้นยังรู้อารมณ์อันนั้นได้อยู่ แต่เป็นการรู้แบบคนที่ชะโงกดูสิ่งของในน้ำจนตนเองตกน้ำแล้วยังไม่รู้ตัวว่าตกน้ำ ก็มี

9.2.3.3 การลดปมด้อยซึ่งเกิดจากการคิดเอาเองว่า เรายังขาดคุณธรรมอย่างนั้นอย่างนี้ เช่นขาด ทาน สัจจะ ทมะ ขันติ จาคะ เนกขัมมะ ศรัทธา วิริยะ สติ หิริ โอตตัปปะ ศีล สมาธิ ปัญญา ฯลฯ จะต้องเพิ่มคุณธรรมเหล่านั้นให้เพียงพอและสมดุลกับคุณความดีอื่นๆ เสียก่อนจึงจะเจริญสติได้ แท้จริงถ้ามีความรู้ความเข้าใจ(มีสัมมาทิฏฐิ)จนรู้จักเจริญสติได้แล้ว คุณธรรมฝ่ายดีทั้งหลายจะเกิดขึ้นได้โดยง่าย หากมุ่งเพิ่มบารมีต่างๆ โดยละเลยการเจริญสติ ก็เหมือนคนที่เตรียมเสบียงเพื่อเดินทางไกล แต่ไม่ยอมก้าวเท้าออกจากบ้านสักที อีกกี่ปีก็ไปไม่ถึงจุดหมายที่หวังไว้

9.3 เหตุผลที่ต้องรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงก็เพราะว่า เราจำเป็นต้องรู้ความเป็นจริงของสภาวธรรมเหล่านั้น ไม่ใช่ต้องการดัดแปลงหรือควบคุมสภาวธรรมเหล่านั้น ทั้งนี้ตามหัวข้อที่ 3 และ 4 ของบทความนี้ก็ได้กล่าวไว้แล้วว่า ความไม่รู้จักสภาวธรรมตามความเป็นจริงทำให้เกิดตัณหาอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ หากทำลายความไม่รู้เสียได้ ตัณหาจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นได้อีก

9.4 การพยายามเข้าไปแทรกแซงการรู้สภาวธรรมจะก่อให้เกิดความหลงผิดหนักยิ่งขึ้น เช่นเมื่อกิเลสคือความฟุ้งซ่านเกิดขึ้น แล้วผู้ปฏิบัติพยายามละกิเลสนั้น ด้วยการบริกรรมว่า "ฟุ้งซ่านหนอๆ" ไม่นานความฟุ้งซ่านก็จะดับไปได้ (เพราะการบริกรรมไปยับยั้งความคิดอันเป็นต้นตอของความฟุ้งซ่าน) ผู้ปฏิบัติก็จะเกิดความสำคัญผิดว่า กิเลสเป็นสิ่งที่บังคับควบคุมได้(เป็นอัตตา) หรือจิตนี้เป็นตัวตนของเราที่สั่งได้ตามใจชอบ(เป็นอัตตา) ยิ่งปฏิบัติยิ่งชำนาญในการเพ่งจ้องหรือบริกรรมแก้กิเลส ความหลงผิดก็ยิ่งพอกพูนก่อให้เกิดมานะอัตตามากกว่าเก่าเสียอีก รวมทั้งไม่มีโอกาสรู้ข้อเท็จจริงว่า ธรรมใดเกิดจากเหตุ ถ้าเหตุดับธรรมนั้นก็ดับ กลายเป็นว่าเราดับธรรมนั้นได้ตามใจชอบเพราะเราฝึก"วิปัสสนา"จนเก่งแล้ว

9.5 โดยธรรมชาติของปุถุชนแล้ว อกุศลจิตเกิดอยู่แทบตลอดเวลา ส่วนกุศลจิตเกิดขึ้นน้อยมาก เช่นเรามักนั่งใจลอยทีละนานๆ อาจจะเป็นชั่วโมงๆ (ด้วยอำนาจของโมหะ) จึงเกิดระลึกรู้ทันว่ากำลังใจลอยอยู่ ขณะใจลอยนั้นจิตเป็นอกุศล แต่ขณะที่มีสติรู้ทันและความใจลอยดับไปโดยอัตโนมัตินั้น จิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว (ทันทีที่เกิดสติ/รู้ อกุศลจะดับไปเอง เมื่อมีสติ/รู้ จึงไม่มีอกุศลจะให้ละ แต่สิ่งที่ถูกละไปได้แก่อนุสัยหรือกิเลสที่ซ่อนลึกอยู่ในจิตใจ ด้วยเหตุนี้แหละ หน้าที่ของเราจึงมีเพียงการรู้ ไม่ต้องละกิเลสเพราะในขณะที่มีสติบริบูรณ์นั้น ไม่มีกิเลสจะให้ละ แม้แต่ความทุกข์ก็ไม่ต้องไปคิดละมัน หากมันมีเหตุมันก็เกิด หากหมดเหตุมันก็ดับ หน้าที่ของเราคือรู้ทุกข์เท่านั้นก็พอแล้ว) จุดอ่อนของผู้เจริญสติก็คือจับหลักการเจริญสติได้ไม่แม่นยำ จิตจึงพลิกไปเป็นอกุศลอีกได้ในพริบตาเดียว คือพอเกิดความรู้ตัวเพียงวับเดียว แล้วก็อาจหลงคร่ำครวญถึงอดีตว่า "ตายละ เราหลงมาตั้งชั่วโมงหนึ่งแล้ว อย่างนี้จะเอาดีในทางธรรมได้อย่างไร" หรือเกิดห่วงกังวลถึงอนาคตว่า "ทำอย่างไรเราจะไม่หลงไปเหมือนที่เคยหลงมาแล้ว" การพยายามทำอะไรมากกว่ารู้ไปตามธรรมดาทีละขณะๆ นี้แหละ เป็นความผิดพลาดอย่างสำคัญทีเดียว

9.6 การรู้นั้น หากบริสุทธิ์บริบูรณ์ถึงขีดสุดจะมีสภาพที่เรียกว่า "สักว่ารู้" เป็นสภาวะรู้อารมณ์ที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริงอย่างแท้จริง โดยไม่เติมแต่งสิ่งใดลงในการรับรู้นั้นแม้แต่น้อย เช่น (1) ไม่เติมความจงใจที่จะคิดคำนึงถึงสภาวธรรม(อารมณ์)นั้นๆ ว่า "นี้คือรูป นี้คือนาม ชื่อนี้ๆ ทำกิจอย่างนี้ มีผลอย่างนี้ มีเหตุใกล้อย่างนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน ไม่งาม และที่กำลังรู้อยู่นี้ก็เป็นสักว่ารู้" และ (2) ไม่เติมความจงใจที่จะหมายรู้จิตแม้แต่น้อย

เจตน์จำนงหรือความจงใจที่จะหมายรู้(อารมณ์)ของใจ ซึ่งครอบคลุมทั้งการหมายรู้อารมณ์และการหมายรู้จิตนี้เอง เป็นอาหารหรือเป็นปัจจัยให้เกิดการกระทำกรรมหรือก่อพฤติกรรมทางใจ (และพฤติกรรมทางกายในขั้นต่อมา) ที่เรียกว่า "การปฏิบัติธรรม" หรือ "การทำกรรมฐาน" ขึ้น สิ่งที่อยู่เบื้องหลังของการเกิดความจงใจก็คือความไม่รู้(อวิชชา)ว่าการกระทำเช่นนั้นจะก่อภพก่อชาติและก่อทุกข์ขึ้นมา และเพราะยางใยแห่งความยึดจิต จึงอยากให้จิตหลุดพ้น จึงต้องเที่ยวแสวงหาธรรม ความปรุงแต่งเหล่านี้ได้ปิดบังธรรมชาติอันบริสุทธิ์ที่ปราศจากตัวตน(นิพพาน)ไว้ ทั้งที่นิพพานนั้นไม่เกิดไม่ตายมาแต่ไหนแต่ไรแล้ว แต่ความปรุงแต่งได้ปิดกั้นญาณทัสสนะของเราไว้ไม่ให้ประจักษ์ถึงนิพพานอันเป็นอมตธาตุได้

อาการ สักว่ารู้ นั้นเกิดเพราะจิตมีปัญญารู้แจ่มแจ้งแล้วว่า ความทะยานอยาก การแสวงหา การปรุงแต่งใดๆ แม้กระทั่งความจงใจที่จะหมายรู้อารมณ์เพื่อทำกรรมฐาน ล้วนเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ จิตจึงหยุดความคิดนึกปรุงแต่ง (แต่ความคิดอาจจะหยุดหรือไม่ก็ได้ จิตจะไม่สนใจบังคับให้หมดความคิด) หยุดการแสวงหา และหมดพฤติกรรมอาการของจิตอย่างสิ้นเชิง จิตเข้าถึงสภาพรู้ที่เป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายอย่างแท้จริง นี้คือจุดที่มหากุศลเต็มบริบูรณ์แล้ว

9.7 เมื่อปราศจากความจงใจที่จะหมายรู้อารมณ์แต่รู้อารมณ์(ปรมัตถ์) และปราศจากความจงใจที่จะหมายรู้จิตแต่รู้จิต การปรุงแต่งภพชาติหรือความเป็นตัวตนของจิตก็มีขึ้นไม่ได้ ผู้ปฏิบัติที่อินทรีย์แก่รอบแล้วก็จะพบเห็นว่า ธรรมชาติอย่างหนึ่งมีอยู่ เป็นความว่างจากตัวตนและความปรุงแต่งอย่างแท้จริง ที่สุดแห่งทุกข์คือนิโรธหรือนิพพานปรากฏเฉพาะหน้าอยู่ตรงนี้เอง

อนึ่งจิตที่บริสุทธิ์กับนิพพานเป็นธรรมคนละอย่างกัน คือจิตที่บริสุทธิ์เป็นธรรมชาติรู้ที่ปราศจากตัวตน ไร้รูปลักษณ์ ขนาด ขอบเขตและที่ตั้ง แต่ก็ยังเป็นของที่ตกอยู่ในกลุ่มธรรมที่ต้องเกิดดับ ส่วนนิพพานซึ่งเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ ปราศจากตัวตน ไร้รูปลักษณ์ ขนาด ขอบเขตและที่ตั้งเช่นกัน แต่นิพพานเป็นอารมณ์ที่จิตไปรู้เข้าโดยไม่มีผู้ครอบครองเป็นเจ้าของนิพพาน และพ้นจากความเกิดดับ

สภาวะ สักว่ารู้ ส่งผลให้ไม่มีตัวตนและถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้จริง สมดังคำสอนของพระบรมศาสดาที่ประทานแก่ท่านพระพาหิยะว่า

ดูกร พาหิยะ ในกาลใดแล

เมื่อท่านเห็นจักเป็นสักว่าเห็น เมื่อฟังจักเป็นสักว่าฟัง

เมื่อทราบจักเป็นสักว่าทราบ เมื่อรู้แจ้งจักเป็นสักว่ารู้แจ้ง

ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มี

ในกาลใด ท่านไม่มี ในกาลนั้น ท่านย่อมไม่มีในโลกนี้

ย่อมไม่มีในโลกหน้า ย่อมไม่มีในระหว่างโลกทั้งสอง

นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์ ฯ

(พาหิยสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 25/49)



10. ระลึกรู้แล้วได้อะไร

10.1 ผู้ปฏิบัติจำนวนมากเมื่อได้ยินคำสอนว่า "ให้มีสติระลึกรู้สภาวธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง" แล้วอาจเกิดความสงสัยว่า การปฏิบัติเพียงเท่านี้จะมีประโยชน์อะไรในเมื่อการปฏิบัติที่ยากลำบากกว่านี้ ยังไม่ช่วยให้รู้ธรรมได้ แท้จริงการเจริญสติเป็นสิ่งวิเศษอัศจรรย์ที่สุด วิเศษถึงขนาดที่พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่า นี้เป็นทางสายเดียวที่นำไปสู่ความบริสุทธิ์ได้ และได้ผลเร็วด้วย บางคนภายใน 7 วัน บางคนภายใน 7 เดือน และบางคนภายใน 7 ปี ก็มี

10.2 พวกเราไม่จำเป็นต้องจินตนาการว่าการเจริญสติมีประโยชน์อย่างใดบ้าง เพราะพระศาสดาทรงประทานคำชี้แนะไว้แล้วดังต่อไปนี้คือ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เมื่อ (1) สติสัมปชัญญะมีอยู่ (2) หิริและโอตตัปปะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสติและสัมปชัญญะ

เมื่อหิริและโอตตัปปะมีอยู่ (3) อินทรียสังวรชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยหิริและโอตตัปปะ

เมื่ออินทรียสังวรมีอยู่ (4) ศีลชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยอินทรียสังวร

เมื่อศีลมีอยู่ (5) สัมมาสมาธิชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยศีล

เมื่อสัมมาสมาธิมีอยู่ (6) ยถาภูตญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยสัมมาสมาธิ

เมื่อยถาภูตญาณทัสนะ มีอยู่ (7) นิพพิทาวิราคะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยยถาภูตญาณทัสนะ

เมื่อนิพพิทาวิราคะมีอยู่ (8) วิมุตติญาณทัสนะชื่อว่ามีเหตุสมบูรณ์

ย่อมมีแก่บุคคลผู้สมบูรณ์ด้วยนิพพิทาวิราคะ

(สติสูตร พระไตรปิฎกเล่มที่ 23/187)

10.3 จากพระพุทธวัจนะดังกล่าวจะเห็นได้ว่า บรรดาคุณความดีชั้นเลิศทั้งหลายจะสมบูรณ์ได้ ก็เพราะความมีสติสัมปชัญญะเป็นต้นเหตุ กล่าวคือ

10.3.1 หิริและโอตตัปปะ (ได้แก่ความละอายและความเกรงกลัวต่อบาป) เมื่อใดมีสติสัมปชัญญะ ย่อมรู้เท่าทันการเกิดขึ้นของกิเลสทั้งหลาย และรู้ถึงพิษภัยของกิเลสได้ด้วยว่ากิเลสนำความทุกข์ความเดือดร้อนมาสู่จิตใจอย่างไร จิตใจย่อมละอายและเกรงกลัวต่อบาป โอกาสที่จะทำอกุศลกรรมหนักๆ จึงไม่มี อนึ่งหิริและโอตตัปปะนี้เป็นเทวธรรม คือเป็นธรรมที่ทำคนให้เป็นเทวดาได้

10.3.2 อินทรียสังวร (ได้แก่ความสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ที่เมื่อกระทบรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสและธัมมารมณ์แล้ว หากไม่สำรวมระวัง บาปอกุศลก็จะครอบงำจิตได้) ผู้ใดมีสติสัมปชัญญะ มีความละอายและความเกรงกลัวต่อบาปแล้ว ย่อมเกิดความสำรวมระวังอินทรีย์โดยอัตโนมัติทีเดียว อนึ่งการมีสติระลึกรู้สภาวธรรมเมื่อตา หู จมูก ลิ้น กายและใจกระทบอารมณ์นี้เอง ก็คือการเจริญวิปัสสนากรรมฐานที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว

10.3.3 ศีล (ได้แก่ความเป็นปกติของจิต) เมื่อมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันการกระทบอารมณ์ทางทวารทั้ง 6 อยู่ จิตย่อมไม่ถูกอกุศลครอบงำ พ้นจากความยินดียินร้ายต่ออารมณ์ จิตก็เข้าถึงความเป็นปกติธรรมดาหรือศีล ซึ่งจิตที่เป็นปกตินี้เองมีคุณสมบัติคือความผ่องใส(ประภัสสร) จิตจะมีลักษณะรู้ ตื่น และเบิกบานโดยอัตโนมัติ ซึ่งหากเคยพบจิตอย่างนี้จะทราบดีว่า สามารถอยู่เป็นสุขในปัจจุบันได้เป็นอย่างดี อนึ่งศีลสามารถส่งผลให้มีความสุข มีโภคทรัพย์ และถึงนิพพานได้ เพราะจิตยิ่งเป็นปกติเท่าใด ความปรุงแต่งยิ่งน้อยลงเท่านั้น หากจิตพ้นความปรุงแต่ง จิตย่อมสามารถรู้อารมณ์นิพพานซึ่งอยู่เหนือความปรุงแต่งได้

10.3.4 สัมมาสมาธิ (ได้แก่ความตั้งมั่นของจิต ซึ่งได้กล่าวไว้แล้วในข้อ 6.4 ของบทความนี้) โดยธรรมชาติแล้ว จิตที่มีศีลนั่นแหละเป็นจิตที่มีสัมมาสมาธิ และจิตที่มีสัมมาสมาธิก็คือจิตที่มีศีล เพราะศีลกับสัมมาสมาธิเป็นเครื่องขัดเกลาส่งเสริมซึ่งกันและกัน เหมือนเราล้างมือขวาด้วยมือซ้าย และล้างมือซ้ายด้วยมือขวา อนึ่งการเจริญสัมมาสมาธินี้ย่อมส่งผลให้ผู้ปฏิบัติบางท่านเข้าถึงความสงบในระดับฌานได้ ซึ่งให้ความสุขในปัจจุบัน และส่งผลให้ผู้นั้นเข้าถึงกำเนิดในพรหมโลกได้ด้วยหากยังไม่เข้าถึงนิพพานในชีวิตนี้

10.3.5 ยถาภูตญาณทัสนะ (ได้แก่การมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับรูปนามถูกต้องตามความเป็นจริง ภูตในที่นี้หมายถึงรูปนาม/ขันธ์ 5 ไม่ใช่ผีตามความหมายในภาษาไทย) การรู้เห็นความจริงเป็นส่วนของปัญญา ซึ่งปัญญามีสัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิด คือเมื่อจิตตั้งมั่นเป็นกลางและมีสติระลึกรู้อารมณ์(รูปนาม) ก็จะเห็นรูปนามตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่อยากจะให้เป็น(ด้วยตัณหา) หรือตามที่คิดว่าน่าจะเป็น(ด้วยทิฏฐิ)

10.3.6 นิพพิทาวิราคะ (ได้แก่ความเบื่อหน่ายคลายกำหนัด) เมื่อรู้จักรูปนามตามความเป็นจริงแล้ว จิตย่อมเกิดความเบื่อหน่ายเอือมระอา(นิพพิทา)ต่อรูปนามทั้งหลาย เพราะเห็นความไม่มีสาระแก่นสาร สภาวะของนิพพิทาไม่ใช่ความเบื่ออย่างโลกๆ ที่เป็นการเบื่อทุกข์แต่อยากได้สุข นิพพิทานั้นเห็นทั้งทุกข์และสุข ทั้งดีและชั่ว น่าเอือมระอาเสมอกัน เมื่อเกิดนิพพิทาแล้วจิตย่อมเกิดวิราคะอันเป็นสิ่งตรงข้ามกับตัณหา ได้แก่การหมดความดิ้นรนทะยานอยากที่จะปฏิเสธทุกข์หรือแสวงหาสุข จิตจะเข้าถึงความเป็นกลางต่อสังขารอย่างแท้จริง เพราะรู้ชัดแล้วว่า (1) ในธรรมชาติไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา มีแต่รูปธรรมและนามธรรม  (2) รูปธรรมและนามธรรมมีลักษณะเป็นไตรลักษณ์ คือไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาหรือไม่อยู่ในบังคับของใคร (3) รูปธรรมและนามธรรมมีเหตุปัจจัยให้เกิด แปรปรวนไปตามเหตุ และถ้าเหตุดับมันก็ดับ และ (4) รู้ว่าความยึดถือในรูปธรรมและนามธรรมจะนำทุกข์มาให้ นี้คือการรู้อริยสัจจ์ในสายเกิด

10.3.7 วิมุตติญาณทัสนะ (ได้แก่ความรู้แจ้งเกี่ยวกับสภาวธรรมแห่งความหลุดพ้นจากเพลิงทุกข์และเพลิงกิเลส) เมื่อจิตเป็นกลางต่อสังขาร จนรู้แจ้งอริยสัจจ์แล้ว จิตจะก้าวกระโดดอย่างฉับพลันไปสู่ความหลุดพ้น โดยผู้ปฏิบัติไม่ได้จงใจจะให้เป็นไปเช่นนั้น เป็นการประจักษ์ต่อนิโรธสัจจ์ หรือนิพพาน อันเป็นจุดหมายปลายทางของการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา

ผู้ปฏิบัติที่ได้พบอารมณ์นิพพานด้วยการบรรลุมรรคผลถึง 4 ครั้งแล้ว ย่อมพ้นทุกข์พ้นกิเลสสิ้นเชิง ได้รับบรมสุขอันเนื่องจากจิตพ้นจากความเสียดแทงทั้งปวง อนึ่งผู้ที่เคยพบนิพพานแล้วในขณะที่เกิดมรรคผล อาจพบนิพพานได้อีกเพื่อเป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบันด้วย 2 วิธีการคือ (1) การไม่มนสิการ(ใส่ใจ)ถึงสังขารทั้งหลาย พอจิตวางอารมณ์ที่เป็นสังขารก็จะไปรู้อารมณ์นิพพาน หรือ (2) การมนสิการถึงอารมณ์นิพพานโดยตรง ทั้ง 2 อย่างนี้เป็นประโยชน์สุขในปัจจุบันที่ได้มาด้วยการเจริญสติเท่านั้น

10.4 สรุปแล้ว สตินี้แหละยิ่งเกิดบ่อยยิ่งดี นอกจากการเจริญสติแล้วไม่ใช่ทางหรืออริยมรรคที่แท้จริง คำสอนใดที่มุ่งปรุงแต่ง(กุศล)เพื่อแก้ความปรุงแต่ง(อกุศล) คำสอนนั้นเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า (แต่อาจจำเป็นในเบื้องต้นสำหรับบางคน) คำสอนใดให้เจริญสติรู้ทันความปรุงแต่ง(ทั้งกุศลและอกุศล)จนพ้นจากความปรุงแต่ง(ทั้งกุศลและอกุศล) คำสอนนั้นเป็นทาง(มรรค)ตัดตรงเข้าถึงความพ้นทุกข์สิ้นเชิง(นิโรธ/นิพพาน)

ครูบาอาจารย์พระป่าทั้งหลายซึ่งเป็นพ่อแม่ครูอาจารย์ของผู้เขียน เช่นหลวงปู่ดูลย์ อตุโล หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี หลวงพ่อพุธ ฐานิโย และหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ เป็นต้น ท่านก็เน้นนักหนาให้ผู้เขียนเจริญสติคือรู้ไว้ บางท่านยกหัวใจคำสอนของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ มาสอนผู้เขียนว่า หลวงปู่มั่นท่านสอนว่า "ทำสมาธิ(ความสงบ)มากก็เนิ่นช้า คิดพิจารณามากก็ฟุ้งซ่าน สิ่งสำคัญที่สุดของการปฏิบัติคือการเจริญสติในชีวิตประจำวันนี้ จะเดินจงกรมก็ต้องเดินด้วยความมีสติ นั่งสมาธิก็ต้องนั่งด้วยความมีสติ ทำสิ่งใดก็ต้องทำด้วยความมีสติ เพราะเมื่อใดมีสติเมื่อนั้นมีความเพียร เมื่อใดขาดสติเมื่อนั้นขาดความเพียร" ผู้เขียนก็ได้อาศัยคำสอนของพ่อแม่ครูอาจารย์ดังกล่าวนี้เป็นแนวทางปฏิบัติตลอดมา……..

โดย  พระปราโมทย์ ปาโมชโช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น