หากเรามองจาก ท้องฟ้า เราจะเห็น สิ่งที่เคลื่อนไหว ภายใต้ ของความคิดเรา ถ้าเรามองขึ้นไปจากใจเรา เราจะเห็น ทุกชีวิต กำลังดิ้นรน เพื่อ แสวงหา อาหาร เพื่อ หล่อเลี้ยง ชีวิตของตนเอง และ สิ่งที่ตนรัก และเป็นที่รัก ของตนเอง และแล้ว ทุกชีวิต ก็ พบว่า ความกระหายใคร่ ได้ ใคร่มี ใคร่เป็น หรือ ความทะยานอยาก นี่เอง ที่เป็นสาเหตุ ให้มนุษย์ ต้องเดินทางอยู่ ตลอดชีวิต ลองหยุดเดินทางด้วยยานพาหนะ แล้วหันมาเดินทาง ด้วยจิตวิญญาณ แล้วการ เดินทางไกล จะใกล้เข้าทุกขณะจิต หายใจเข้า ตามรู้ หายใจออก ตามรู้
วันเสาร์ที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559
วิธีเจริญวิปัสสนาด้วยอริยสัจสี่การที่จะเจริญวิปัสสนาภาวนาได้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพยายามทำสมาธิให้ได้เสียก่อน หากทำสมาธิยังไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดวิปัสสนาปัญญาขึ้น สมาธิจึงเป็นบันไดขั้นต้นที่ก้าวไปสู่การเจริญวิปัสสนาปัญญา เมื่อจิตของผู้ปฏิบัติตั้งมั่นในสมาธิจนมีกำลังดีแล้ว แม้แต่จะอยู่แค่เพียงอุปจารสมาธิ จิตของผู้ปฏิบัติก็ย่อมมีกำลังและอยู่ในสภาพที่นุ่มนวล ควรแก่การเจริญวิปัสสนาต่อไปได้ การทำสมาธิ โดยการกำหนดอิริยาบถทางกายทั้ง 4 ได้แก่ การยืน การเดินจงกรม การนั่ง ( พองยุบ,พุทโธ ฯลฯ) การนอน โดยใช้สติ-สัมปชัญญะ ตามดู รู้ทัน จิต ให้อยู่กับอิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น เมื่อ จิต แวบออกไปจากอิริยาบถนั้น ก็ กำหนดรู้ ตามอารมณ์ ที่ จิตไปรับรู้ แล้ว กลับมาอยู่ที่อิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้นต่อไป เมื่อทำเช่นนี้ได้เป็น สิบ, ร้อย, พัน, หมื่นๆ ครั้ง จิตจะเริ่มละจากอารมณ์ที่ไปเกาะยึดภายนอก กลับมารวมตัวกันทำให้มีกำลังและความละเอียดเพิ่มมากขึ้น เกิดเป็น สมาธิ กำลังสมาธิที่ได้ เราสามารถเลือกดำเนินไปในแนวทาง สมถภาวนา คือ การทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์เดียวนิ่งอยู่เช่นนั้น โดยใช้กรรมฐาน ๔๐ เป็นอารมณ์ ซึ่งผู้ปฏิบัติอาจจะใช้กรรมฐานบทใดบทหนี่ง ที่ถูกแก่จริตนิสัยของตนก็ย่อมได้ หรือ ดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาภาวนา โดยมีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ เรียกสั้น ๆ ว่า มีแต่รูปกับนาม สิ่งที่เป็นอารมณ์ของวิปัสสนานั้น มีแต่เพียงอย่างเดียวคือ "ขันธ์ ๕" (ที่ตั้งแห่งความยึดมั่นถือมั่น 5 อย่าง) ซึ่งนิยมเรียกกันว่า "รูป - นาม" โดย รูป มี ๑ ส่วน นาม นั้นมี ๔ คือ เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ในที่นี้ เป็นแนวทางดำเนินจิตเข้าสู่วิปัสสนาภาวนา เมื่อเรากำหนดรู้ทันจิตที่แวบออกไปคิด (ไปยึดติด-ปรุงแต่ง) เรื่องอื่นใด(อารมณ์ใด) นั้น จิตก็เหมือนถูกปลุกให้ตื่นจากที่ไปยึดหรือปรุงแต่งความคิดนั้น เมื่อไม่ไปยึดไว้ เรื่องที่คิดหรืออารมณ์นั้นๆ ก็จะจางหายไปเอง คือ เมื่อ เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็ดับไป ตามกฎไตรลักษณ์ นี่คือ วิปัสสนาภาวนาอย่างง่าย นั้นคือ การตามดู-รู้อารมณ์ –ละอารมณ์ของตนเองก่อน เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไปโดยใช้สติ-สัมปชัญญะ ตามดู รู้ทัน จิต ให้อยู่กับอิริยาบถที่ กาย ทำอยู่ในปัจจุบันนั้น และทุกครั้งที่ จิต แวบออกไปจากอิริยาบถนั้น ก็ กำหนดรู้ ตามอารมณ์ ที่ จิตไปรับรู้ แล้วละอารมณ์โดยเห็นตามจริงตามกฎไตรลักษณ์ เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไป ทำเช่นนี้ต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป จิตก็จะมีสมาธิและความละเอียดยิ่งขึ้นไปตามลำดับ สามารถกำหนดรู้อารมณ์นั้น ว่าเป็นนิวรณ์ธรรมใด (ความพอใจ , ฟุ้งซ่าน, …) เป็นอุปาทานใด (ธรรมารมณ์, ทิฐิ,…) เมื่อละอารมณ์นั้นแล้ว ก็กลับมาทำสมาธิต่อไป ทำเช่นนี้ต่อเนื่องหมุนเวียนกันไป เมื่อจิตได้รับการสอน รู้และละอารมณ์ จนสามารถแยกแยะอารมณ์ระหว่างจิตที่เป็นอิสระ กับ จิตที่เข้าไปยึดมั่นในรูป-นาม (จิตที่ทุรนทุราย เศร้าหมอง จิตที่ เป็นทุกข์) จะช่วยให้สามารถละวาง ด้วยความรู้ตามจริงตามหลักพระไตรลักษณ์ ได้ดีขึ้น จิตที่มีกำลัง ว่องไว ชำนาญจะสามารถแยกแยะ รูป-นาม ที่ผัสสะผ่านทางอายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) เห็นกระบวนการเกิดซึ่งอารมณ์เหล่านั้น การชักนำโดย โลภะ โทสะ โมหะ การเจริญวิปัสสนาก็โดยมีจิตพิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงว่า อันสภาวธรรมทั้งหลายอันได้แก่ขันธ์ ๕ นั้นล้วนแต่มีอาการเป็น พระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา เกิดนิพพิทาญาณ คือ ญาณเห็นด้วยปัญญาถึงความไร้สาระและเกิดความหน่ายต่อการปรุงแต่งทั้งหลาย (ไม่ใช่อารมณ์เบื่อ ไม่พอใจ ของคนขี้เกียจ เซ็ง) การเจริญสมาธิและวิปัสสนาควบคู่ต่อเนื่องกันไปตามที่กล่าวข้างต้นแล้วนั้น เป็นไปตามหลัก "สมาธิอบรมปัญญา" และ "ปัญญาอบรมสมาธิ" เมื่อใดที่จิตยอมรับสภาพความเป็นจริงว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตาจริง เรียกว่า จิตตกระแสธรรมตัดกิเลสได้ ปัญญาที่จะเห็นสภาพความเป็นจริงดังกล่าว ไม่ใช่แต่เพียงปัญญาที่จะนึกคิดและคาดหมายเอาเท่านั้น แต่เป็นการแจ้งในจิต ที่พระท่านเรียกว่า "ญาณทัสสนะ" เห็นเป็นเช่นนั้นจริง ๆ ซึ่งจิตที่ได้ผ่านการอบรมสมาธิมาจนมีกำลังดีแล้ว ย่อมมีพลังให้เกิดญาณทัสสนะหรือปัญญาที่รู้แจ้งเห็นจริงดังกล่าวได้ เรียกกันว่า "สมาธิอบรมปัญญา" คือสมาธิทำให้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น และเมื่อวิปัสสนาญาณเกิดขึ้นแล้ว ย่อมถ่ายถอนกิเลสให้เบาบางลง จิตก็ย่อมจะเบาและใสสะอาดบางจากกิเลสทั้งหลายไปตามลำดับ สมาธิจิตก็จะยิ่งก้าวหน้าและตั้งมั่นมากยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก เรียกว่า "ปัญญาอบรมสมาธิ" ทั้งสมาธิและวิปัสสนาจึงเป็นทั้งเหตุและผลของกันและกันและอุปการะซึ่งกันและกันจะมีวิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นโดยขาดกำลังสมาธิสนับสนุนมิได้เลย อย่างน้อยที่สุดก็จะต้องใช้กำลังของขณิกสมาธิเป็นบาทฐานในระยะแรกเริ่ม สมาธิจึงเปรียบเสมือนกับหินลับมีด ส่วนวิปัสสนานั้นเหมือนกับมีดที่ได้ลับกับหินคมดีแล้ว ก็ย่อมมีอำนาจถากถางตัดฟันบรรดากิเลสทั้งหลายให้ขาดและพังลงได้ การดำเนินจิตเข้าสู่ วิปัสสนาภาวนา ในทางปฏิบัตินั้น คือ การนำสมาธิที่ได้จากการเจริญสติ-สัมปชัญญะ ดังกล่าวมาตามดู-รู้อารมณ์ ตนเอง กำหนดรู้ แล้วละวาง ด้วยความรู้ตามจริงตามหลักพระไตรลักษณ์ คือ เป็นอนิจจัง ทุกขัง และอนัตตา ไม่มีสิ่งใดทนทานหรือตั้งอยู่ได้ มีความเสื่อมสลายและดับไปเป็นธรรมดา ทำให้เกิดความหน่าย (นิพพิทาญาณ) คลายความยึดมั่น ถือมั่นในอารมณ์นั้น หากกำลังสมาธิและวิปัสสนาญาณยังอ่อน ก็จะเห็นในรูป นิวรณ์ธรรม เราก็กำหนดรู้ แล้วละวางมาสู่อิริยาบถในปัจจุบัน เมื่อเรากำหนดรู้ทัน ว่าสิ่งที่เกิดเหล่านั้นเป็นอนิจจัง คือ ถ้าเราไม่ไปยึดหรือคิดฟุ้งซ่าน เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ก็ดับไปเอง การฝึกหัดเช่นนี้ทำให้เกิดความชำนาญในการรู้และละอารมณ์ เป็นญาณทัสสนะเบื้องต้นในการรู้ตามจริง การทำสมาธิและดำเนินจิตสู่วิปัสสนา (ภาคขยาย) อารมณ์ที่รู้ในเบื้องต้น เหตุเพราะสมาธิยังไม่มากพอ จะกำหนดรู้ได้เป็นเพียงนิวรณ์ธรรม, เป็นความนึกคิดที่ปรุงสำเร็จแล้ว, เป็นธรรมารมณ์……. ต่อเมื่อสมาธิจิตเริ่มมีกำลังและก้าวหน้า ก็พอจะกำหนดรู้ว่าความนึกคิดที่ปรุงสำเร็จแล้วนั้นเกิดจากอะไร? เป็นชนิดไหน? เช่น มานะ , ทิฐิ มีตัณหาช่วยให้มีรสชาติถูกจริตตามอุปาทานที่มีอยู่ มีโลภะ โทสะ โมหะ ชักจูงไปให้เกิดการปรุงนั้น อนึ่ง มานะ ทิฐิ ที่เกิดขึ้นนั้น มีเหตุอันเกิดจากความยึดมั่น ถือมั่น ยินดีพอใจ ในกองรูป(กาย)ของตนเอง จึงได้เกิดกิเลสดังกล่าวขึ้น การพิจารณาละกิเลสก็จะต้องพิจารณาละที่กายนี้เอง การพิจารณากาย ก็คือให้มีจิตใคร่ครวญให้เห็นตามสภาพความเป็นจริงที่ว่า อันร่างกายของคนเราแท้ที่จริงแล้วก็เป็นของปฏิกูล สกปรกโสโครก เป็นที่รวมฝังซากศพของบรรดาพืชและสัตว์ที่บริโภคเข้าไป ที่ขับถ่ายออกมาจากทวารทั้งหลายก็เป็นของที่สกปรกโสโครก นอกจากนั้นควรมีจิตใคร่ครวญถึงธาตุกรรมฐาน โดยพึงพิจารณาแยกให้เห็นความเป็นจริงที่ว่า อันที่จริงร่างกายของเราเองก็ดี ของผู้อื่นก็ดี ไม่ใช่ตัวเราของเราแต่อย่างใดเลย เป็นแต่เพียงธาตุ ๔ มาประชุม เกาะกุมรวมกันเพียงชั่วคราวเท่านั้นเอง ได้แก่ธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม และธาตุไฟ แล้วสิ่งเหล่านี้ก็ทนอยู่ในสภาพที่รวมกันเช่นนั้นไม่ได้ นานไปก็เก่าแก่แล้วแตกสลายตายไป ธาตุน้ำก็กลับไปสู่ความเป็นน้ำ ธาตุดินก็กลับไปสู่ความเป็นดิน ธาตุลมก็กลับไปสู่ความเป็นลม และธาตุไฟก็กลับไปสู่ความเป็นไฟตามเดิม เนื้อตัวร่างกายของเรา เมื่อได้แยกส่วนออกมาดูแล้ว ก็มิได้มีตัวตนที่ตรงไหนแต่อย่างใด เมื่อมีความคล่องแคล่วและละเอียด มากขึ้น ก็จะสามารถแยกแยะ รูป-นาม ที่ผัสสะผ่านทางอายตนะทั้ง 6 (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) จนเห็นกระบวนการเกิดของภพ ชาติ เริ่มจากอุปาทานเก่า ชักนำโดย โลภะ โทสะ โมหะ เกิดนึกคิดปรุงแต่ง (กิเลสปรุงจิต) หากเราไม่รู้เท่าทัน ในเวทนา ในตัณหา ความเพลินนั้น (จิตปรุงกิเลส-ธรรมารมณ์ที่ยินดีพอใจ) ก็จะเกิดอุปาทานใหม่ ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท เป็นการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นใน รูป-นาม เกิดความทุกข์ให้จิตต้องดิ้นรน ทุรนทุราย ด้วย ตัณหา ไปตามอุปาทานนั้น การแยกแยะอารมณ์ระหว่างจิตที่เป็นอิสระ กับ จิตที่เข้าไปยึดมั่นในรูป-นาม ซึ่งทำให้จิตต้องดิ้นรน ทุรนทุราย ทำให้รู้จักทุกข์ จะช่วยให้สามารถละวาง ด้วยความรู้ตามจริงตามหลักพระไตรลักษณ์ ได้ดีขึ้น ความก้าวหน้าของจิตที่ได้รับการอบรมมาดีแล้ว ทำให้เกิดวิปัสสนาญาณ จะทำให้การกำหนดรู้ มีความเท่าทันในเหตุมากขึ้น เช่น กำหนดรู้ได้ ตั้งแต่อายตนะภายใน ผัสสะกับ อายตนะภายนอก, ก่อนเกิดเวทนา, ก่อนเกิดโลภะ….ยังไม่นึกคิด….หรือเมื่อเริ่มนึกคิด… ไม่ไหลไปจนเป็นความนึกคิดที่ปรุงสำเร็จแล้ว(สังขารธรรม) ทั้งนี้การเท่าทันในเหตุ และละได้ในขั้นตอนไหนขึ้นกับความตั้งมั่นของสมาธิ และ ความฉลาดของจิตที่ได้รับการอบรมเพื่อละความยึดมั่นถือมั่นในรูปนาม นั้นเอง การพิจารณากายก็ดี ความเป็นธาตุทั้ง 4 ก็ดี ตลอดจนการกำหนดรู้ทุกข์ และเท่าทันใน กระบวนการเกิด อุปาทานภพ ชาติ ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท จะทำให้เกิด นิพพิทาญาณ คือ ญาณเห็นด้วยปัญญาถึงความไร้สาระและเกิดความหน่ายต่อการปรุงแต่งทั้งหลาย ส่งผลให้จิตอยู่กับปัจจุบันได้ดีขึ้น การเจริญสมาธิและวิปัสสนาควบคู่กันไปนี้ ตามหลัก "สมาธิอบรมปัญญา" และ "ปัญญาอบรมสมาธิ" ดังกล่าวข้างต้น จะทำให้การดำเนินจิตเข้าสู่ วิปัสสนาภาวนา มีความรวดเร็วและความละเอียดอย่างยิ่ง เมื่อจิตมีสมาธิตั้งมั่น ถอดถอนกิเลสให้เบาบาง เกิดวิปัสสนาญาณแล้ว สามารถกำหนดรู้ทันจิต ตามธรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะมีความว่องไวเท่าทันต่อกระบวนการเกิด ผัสสะ เวทนา ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท มีความละเอียดที่จะเห็นความยึดมั่นถือมั่นของจิตในอุปาทานเก่า(รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) เกิดผัสสะ เกิดเวทนา1(จากการกระทบของอายตนะภายใน-ภายนอกทั้ง 6)--> เกิดตัณหา ก่อเกิดอุปาทานใหม่ (ในขันธ์ทั้ง 5 นั้น) ดังพุทธดำรัสที่ว่า บุคคลเมื่อเสวย สุขเวทนา แล้วปล่อยให้ราคะนุสัยตามนอน เมื่อเสวยทุขเวทนา แล้วปล่อยให้ปฏิฆานุสัยตามนอน เมื่อเสวยอทุขมสุขเวทนา แล้วปล่อยให้ อวิชชานุสัยตามนอน แล้ว การกระทำให้ถึงที่สุดแห่งทุกข์ ไม่อยู่ในฐานะที่สามารถกระทำได้ อนึ่ง ควรทราบว่า เวทนา ที่เกิดกับใจ ไม่ใช่กิเลส หากแต่ความไม่รู้ ไปยึดว่าเป็นเรา เป็นตัวตนของเรา ทำให้เกิดกิเลส แม้แต่เมื่อจิตแจ้งในไตรลักษณ์ ถอดถอนอุปาทานหยาบไปจนละเอียดขึ้นเรื่อยๆได้ ยกขึ้นสู่สภาวธรรมใหม่ จิตที่ผัสสะกับธรรมที่แจ้งนั้น ก็ยังเกิดเวทนา2 ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ได้อยู่ หากแต่เป็นเวทนาขันธ์ที่ละเอียดขึ้น ยิ่งผัสสะกับธรรมที่ละเอียดมากขึ้น ก็ยิ่งต้องอาศัยวิปัสสนาญาณอันแก่กล้ามากขึ้นเพื่อที่จะละวาง ตราบใดยังมีตัณหาในรูป-นามอยู่ เป็นเหตุที่ยังเป็นไปเพื่อการเกิดอยู่ ตราบใดที่ยังไม่รู้จักทุกข์ ยังไม่แจ้งในไตรลักษณ์อย่างแท้จริง จึงต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานเพื่อให้รู้จักทุกข์จนถึงที่สุด เพื่อการปล่อยวาง ไม่อาลัยในตัณหานั้น ทำให้ตัณหาจางคลายจนดับสนิท คือ ความดับไม่เหลือของทุกข์ คลายความยึดมั่น ถือมั่น ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธ์ 5) การดำเนินในมรรคมีองค์ 8 ทำความเพียรให้ถึงความหลุดพ้น เป็นการกระทำโดยทางสายกลาง เท่าทันสัญเจตนา [จากอนุสัยที่ก่อขึ้น เพี่อเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณ] ทำให้เราเห็น เหตุเกิด-ดับ แห่งโลก ตามความเป็นจริง หากยังดำเนินอยู่(เสขบุคคล) แต่ถ้าไม่เท่าทันในเจตนา ก็จะเห็นการก้าวลงแห่งนามรูป เป็นปัจจัยให้เกิดสฬายตนะ และอื่นๆ ต่อเนื่องจนถึงภพ ชาติฯลฯ เป็นเหตุเกิดของ "เรา"ในโลก ทางแก้จึงเป็นการดำเนินทางสายกลาง เพื่อให้เห็นการเกิด-ดับ ทั้งภายนอก/ภายใน เมื่อหลงไปปรุงแต่ง(สัญเจตนาในอายตนะทั้ง 6) ก็ รู้ในความหลงนั้น สติเปรียบเหมือนทำนบ-เครื่องกั้นให้เห็นตามความจริง ปัญญา เป็นเครื่องนำออกจากกระแสนั้น เมื่อนั้นเมื่อถูกกระทบ ก็สักแต่ว่ารู้ พ้นจากความปรุงแต่งว่า"มี" หรือ "ไม่มี" เพราะ จิต ไม่มี (ความยึดมั่นถือมั่น) คือ จิตหลุดพ้น ถึงความเป็นธรรมชาติ ดังพุทธดำรัส เรื่องสัมมาทิฏฐิ ตามลิ้งค์นี้ http://www.jaisabuy.com/images/1200824889/SamaTitti.pdf อนึ่ง ควรทราบว่า เมื่อการดำเนินในมรรคมีองค์ 8 ถึงการเจริญให้มาก โดยเป็นอัธยาศัยแล้ว สัมปชัญญะและสติ จะเท่าทันในธรรมที่มากระทบทางอายตนะมากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ต้องกระทำเพื่อละวางอีก หากแต่กระทำเพื่อความรู้พร้อม เพราะการเจริญในมรรค เกิดความคล่องแคล่วชัดเจน จะกระทำด้วยความเป็นกลางมากขึ้นเรื่อยๆ จะเห็นสภาวะธรรมนั้นตามความเป็นจริง จะเห็นต่างจากที่เคยเห็น ไม่หลงในสิ่งที่เคยหลง สำหรับผู้ที่ยังดำเนินอยู่ ขณะทำความเพียรเมื่อ "มี" เราขี้นมา ก็จะเห็นว่าเป็นทุกข์ เห็นว่า ทุกข์นั้นเป็นเรื่องของโลก เกิด-ดับ ตามเหตุปัจจัย [ ทุกข์นั้น-โลกนั้นก็ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา โลกไม่มีในเรา-เราไม่มีในโลก] เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยจึงมีสังขาร เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ ฯลฯ ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งมวลนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้ ทุกข์นั่นแหละ เมื่อบังเกิดขึ้น ย่อมบังเกิดขึ้น ทุกข์เมื่อดับย่อมดับ 1 เมื่อผัสสะเพื่อจะให้เกิดเวทนา-ตัณหา-อุปาทาน(ใหม่) (ตามวงจรปฏิจจสมุปบาท), ก็ต้องอาศัยอุปาทาน(เก่า) ขันธ์5 เดิม(รูปขันธ์,เวทนาขันธ์,สัญญาขันธ์,สังขารขันธ์,วิญญาณขันธ์) เข้ามาเป็นปัจจัยปรุงแต่ง อันเนื่องจากความไม่รู้ของเรา (อวิชชา) 2 ธรรมที่เกิดโดยแท้จริงนั้น เหลือวิสัยที่จะบรรยายเป็นคำพูดได้ หากแต่เกิดรวดเร็วเป็นปัจจัยอาศัยกันและกัน เกินความสามารถของผู้เขียนที่จะบรรยายเป็นตัวอักษรได้ เชื่อว่าหากผู้ปฏิบัติท่านใดได้ถึงสภาวธรรมนี้แล้ว ก็คงไม่ต้องพึ่งหนังสือ หรือ ตำราใดๆ ผู้เขียนส่งท่านแต่เพียงเท่านี้ การรู้ถึงกระบวนการเหล่านี้ ทำให้เราเข้าใจในธรรม ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ไม่ว่าท่านจะบังเกิดขึ้นมาหรือไม่ ธรรมก็ตั้งอยู่เช่นนั้น เป็นการตั้งอยู่อย่างธรรมดา เป็นกฎตายตัวแห่งธรรมดา เป็นความที่เมื่อมีสิ่งนี้ๆ เป็นปัจจัย ย่อมมีสิ่งนี้ๆ เกิดขึ้น เมื่อปัจจัยดับลง สิ่งนั้นๆ ย่อมดับลง เป็นอิทัปปจยตา ช่วยให้เราเห็นเหตุ คือ ตัณหาได้ชัดเจน เมื่อแจ้งในเหตุแล้ว ก็ ควรละความรู้นี้เสีย (สัพเพ ธัมมา อนัตตา) เพื่อละเหตุ (คือตัณหา) นั้นต่อไป อย่าได้ยึดติดความยินดีพอใจ (ตัณหา) ในความรู้นั้น เกิดความล่าช้าในการปฏิบัติ ท้ายนี้ขออนุโมทนาให้ท่านเจริญในธรรม สิ้นอาสวะทั้งปวงด้วยเทอญ การเห็นธรรมในลักษณะข้างต้น เป็นการเห็นตามความเป็นจริง ว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง (อนิจจัง) มีความแปรปรวน ไม่สามารถตั้งอยู่ได้(ทุขขัง) ทั้ง กาย ใจ แสดงอาการไตรลักษณะให้ปรากฏ ผู้ที่เห็นธรรมตามนี้ ย่อมไม่น้อมไปหา ย่อมไม่ไปยึดในรูป นาม สังขารนั้น เพราะ เห็นว่านั่นไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา(อนัตตา) เพราะเมื่อไร ที่ไม่รู้ตามธรรมข้างต้น หลงเข้าไปยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้น ย่อมนำทุกข์ทางใจมาให้ หากเมื่อได้สดับรับฟังพุทธวจน์ และ เห็นว่า ตนเองมีอาการทุกข์ เนื่องจาก ไปยึดมั่นในสิ่งที่ไม่เที่ยงเหล่านั้น เมื่อละความพอใจในสิ่งนั้นได้ อาการไป-มาของจิต ย่อมไม่ปรากฏ เพราะเห็นเสียแล้วตามความเป็นจริง ขณะที่เห็นอริยสัจจ์ ถอดถอนความไม่รู้ ออกจากความหลง รูป นาม นั้น ก็แสดงอาการพระไตรลักษณ์ให้ปรากฏ จิตเดิมที่มีความไม่รู้ตามความจริง เมื่อสุดท้ายเห็นว่า แม้แต่ตัวมันเองก็แสดงอาการไตรลักษณะ ปัญญาจากการเห็น โดยไม่ยินดีในความรู้นั้น ทำให้จิตมีความรู้ตามความเป็นจริง จากการเห็นพระไตรลักษณ์ โดยตลอด ดับสนิทไม่เหลือของตัณหา เป็นอิสระจากสิ่งไม่จริง(สมมุติ)ที่เกิด-ดับ เหล่านั้น เป็น ผู้รู้ ผู้ตื่่น ผู้เบิกบาน เห็น โลกกลับเป็นของแปลก --------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- สุดท้ายนี้ขอยกพระพุทธพจน์มาเพื่อความเข้าใจ ให้ถ่องแท้ ดังนี้ ผู้ไม่เข้าไปหา ย่อมหลุดพ้น ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น ; ผู้ไม่เข้าไปหาเป็นผู้หลุดพ้น. ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอารูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย, มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้ ; ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาเวทนาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้, ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสัญญาตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้; ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณซึ่งเข้าถือเอาสังขารตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์. ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า “เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร” ดังนี้นั้น, นี้ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย. ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว; เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลงที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี. วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไปเพราะไม่ถูกปรุงแต่ง; เพราะหลุดพ้นไปก็ตั้งมั่น; เพราะตั้งมั่นก็ยินดีในตนเอง; เพราะยินดีในตนเองก็ไม่หวั่นไหว; เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน. ย่อมรู้ชัดว่า “ชาตินี้สิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้วกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก” ดังนี้. ( -ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๖/๑๐๕. ) พุทธพจน์
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น