วันพุธที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

สภาวะความไม่ปรุงเมื่อรู้จักรูปนาม และรู้จักลักษณะของจิตที่เป็นกุศลกับอกุศล และรู้จักลักษณะของจิตที่ ตั้งมั่นกับจิตที่ไม่ตั้งมั่นแล้ว ก็ให้ตามรู้รูปนามเนืองๆ ด้วยจิตที่เป็นกุศลและตั้งมั่นเป็นกลาง เมื่อตามรู้เนืองๆ ก็ย่อมรู้จักและจดจำสภาวะของรูปนามได้ มากและแม่นยำยิ่งขึ้น สติก็จะยิ่งเกิดได้บ่อยและรวดเร็วยิ่งขึ้นๆ ทั้งนี้สติเป็นความระลึกได้ถึงสภาวธรรมคือรูปนามที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้จงใจจะรู้ ส่วนความจงใจรู้นั้นไม่ใช่สติ แต่เป็นการกำหนดหรือเพ่งจ้องด้วยแรงผลักดันของตัณหาหรือโลภะ 5.2.3 สติจะทำหน้าที่อารักขาคือรักษาจิตจากบาปอกุศลทั้งปวง ดังนั้นทันทีที่สติเกิดขึ้น อกุศลย่อมเป็นอันถูกละไปแล้ว และกุศลได้เจริญขึ้นแล้ว เมื่ออกุศลไม่มี มีแต่กุศล จิตในขณะนั้นย่อมเป็นจิตในฝ่ายกุศล และเมื่อจิตเป็นกุศล จิตย่อมปราศจากความทุกข์หรือโทมนัสเวทนา เพราะโทมนัสเวทนาเกิดร่วมกับอกุศลจิตเท่านั้น จิตจะมีได้เฉพาะโสมนัสเวทนาและอุเบกขาเวทนา ซึ่งอุเบกขาเวทนาก็นับเนื่องเข้าในความสุขได้ด้วย เพราะจิตพ้นจากความบีบคั้นของโทมนัสเวทนา ดังนั้นทันทีที่สติเกิดขึ้น ความสุขย่อมเกิดขึ้นแล้ว 5.2.4 ความสุขเป็นเหตุใกล้ให้เกิดสมาธิ และเมื่อความสุขนั้นเกิดจากการมีสติระลึกรู้สภาวะของรูปนามโดยไม่มีความจงใจจะรู้ สมาธิอันนี้จึงเป็นสัมมาสมาธิ คือความตั้งมั่นชอบในอารมณ์ฝ่ายกุศลที่ประกอบด้วยสติปัญญา ได้แก่ความตั้งมั่นในการรู้อารมณ์รูปนาม 5.2.5 สัมมาสมาธิเป็นเหตุใกล้ให้เกิดปัญญา เนื่องจากเมื่อจิตมีสัมมาสมาธิ หรือมีความตั้งมั่นใน การรู้อารมณ์รูปนาม จิตย่อมสามารถเจริญวิปัสสนาอันเป็นการตามรู้รูปนามตามความเป็นจริงได้เนืองๆ จนเกิดปัญญาหรือความเข้าใจความเป็นจริงของรูปนาม ว่ารูปนามไม่เที่ยงคือเกิดแล้วก็ดับไป เป็นทุกข์คือถูกบีบคั้น และไม่ใช่ตัวตนคือบังคับไม่ได้และไม่ใช่สัตว์บุคคลตัวตนเราเขา ทั้งนี้การเจริญวิปัสสนาก็คือการเจริญสติปัฏฐานเพื่อให้เกิดปัญญารู้และเข้าใจลักษณะของรูปนามตามความเป็นจริง 5.2.6 ปัญญามีหน้าที่ทำลายความหลงผิด โดยปัญญาเบื้องต้นจะทำลายสักกายทิฏฐิหรือความเห็นผิดว่ารูปนาม/ขันธ์ 5 คือตัวเรา ซึ่งผู้ที่ละความ เห็นผิดนี้ได้คือผู้ที่เป็นพระโสดาบัน เมื่อปัญญาแก่ กล้ามากขึ้นเป็นปัญญาขั้นกลางจะทำให้จิตของผู้ปฏิบัติเกิดความรู้ว่า ถ้าจิตส่งส่ายออกยึดถืออารมณ์ ทางตา หู จมูก ลิ้น และกายแล้ว จิตจะเกิดความทุกข์ขึ้น จิตของผู้ปฏิบัติในขั้นนี้จึงไม่แสวงหากามคุณอารมณ์ และพึงพอใจที่จะหยุดอยู่กับความสุขสงบภายใน โดยไม่ต้องจงใจรักษาจิตให้สงบตั้งมั่นแต่อย่างใด ผู้ที่ดำเนินมาถึงขั้นนี้คือผู้ที่ เป็นพระอนาคามี และเมื่อปัญญาแก่รอบเป็นปัญญาชั้นสูงหรือวิชชา ก็จะทำลายอวิชชาหรือความไม่รู้อริยสัจจ์ได้อย่างราบคาบ คือทำลายความไม่รู้ทุกข์ คือไม่รู้ว่ารูปนามนั่นแหละเป็นทุกข์ ไม่ใช่รูปนามเป็นทุกข์บ้างสุขบ้างอย่างที่เคยเข้าใจมา แม้แต่ตัวจิตผู้รู้เองก็เป็นของไม่เที่ยงจะทำให้เที่ยงไปไม่ได้ เป็นทุกข์จะทำให้เป็นสุขไปไม่ได้ และเป็นอนัตตาคือไม่อยู่ในอำนาจบังคับก็จะบังคับไม่ได้ เมื่อรู้ทุกข์แจ่มแจ้งแล้วสมุทัยคือความดิ้นรน ทะยานอยากของจิตที่จะแสวงหาความสุขและหลีกหนีความทุกข์ ก็เป็นอันหมดสิ้นไปอย่างอัตโนมัติ เพราะเมื่อไม่ยึดถือกระทั่งจิตแล้วจะดิ้นรนเพื่อให้จิตเป็นสุขถาวรไปทำไมกัน ยิ่งดิ้นรน ก็ยิ่งทุกข์ซ้ำซ้อน คือทุกข์เพราะมีขันธ์แล้วไม่พอ ยัง ทุกข์เพราะมีกิเลสตัณหาเพิ่มขึ้นมาอีกชั้นหนึ่ง เมื่อจิตปล่อยวางจิตหรือขันธ์ทั้งปวงแล้ว จิตก็ประจักษ์ ถึงนิโรธคือความสิ้นทุกข์ เพราะสิ้นขันธ์ และสิ้นภาระทางใจที่จะต้องแบกหามขันธ์อันเป็นของหนักเครื่องกดถ่วงจิตใจที่เคยแบกหามมาตลอด เวลาที่เดินทางในสังสารวัฏ จิตเข้าถึงความสงบสันติอันแจ่มจ้าบริบูรณ์เต็มเปี่ยมอยู่ต่อหน้าต่อตานี้ เอง ความสงบสันตินี้ไม่ใช่ภพอันหนึ่งที่มีการเข้าและการออก แต่เป็นสภาวะแห่งความสิ้นกิเลส และสิ้นขันธ์ที่เคยแบกหามไว้ในใจนั่นเอง และผู้ปฏิบัติ จะรู้ว่าการรู้ทุกข์ ละสมุทัย และมีนิโรธเป็นอารมณ์ นี้เองคือมรรคที่แท้จริง ส่วนการประพฤติปฏิบัติใดๆ ที่เคยทำมาเป็นเพียงต้นทางของมรรคเท่านั้น กล่าวอย่างรวบรัดก็กล่าวได้ว่า สภาวะที่ขาดจากความปรุงแต่งนั่นแหละคือมรรคที่แท้จริง ส่วนการ อบรมศีล สมาธิ และปัญญาที่ผ่านมาเป็นเพียงความ ปรุงแต่งเพื่อให้เข้าถึงความไม่ปรุงแต่งเท่านั้นเอง เมื่อปราศจากอวิชชา จิตย่อมปราศจากกิเลส คือตัณหาอันเป็นความดิ้นรนทะยานอยากของ จิต เมื่อจิตปราศจากตัณหา การทำกรรมทางใจหรือ ภพย่อมมีไม่ได้ เมื่อไม่มีภพ ชาติหรือความปรากฏ แห่งขันธ์หรือรูปนามทั้งหลายย่อมมีไม่ได้ เมื่อไร้รูปนามย่อมไร้ทุกข์ นิพพานคือความพ้นจากทุกข์หรือความพ้นจากรูปนามก็จะปรากฏขึ้น ต่อหน้าต่อตานั้นเอง ทั้ง 6 ขั้นตอนนี้คือทางสายกลาง อันเป็นทาง แห่งความพ้นทุกข์ ซึ่งเริ่มจากการตามรู้กาย การตามรู้ใจ จนถึงฝั่งแห่งนิพพานอันเป็นที่สุดแห่งทุกข์ในที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น